ผลของสมถกัมมัฏฐาน

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558

 

 

ผลของสมถกัมมัฏฐาน

            เมื่อฝึกปฏิบัติ โดยการใช้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น จากสมาธิในระดับต้นที่เป็น ขณิกสมาธิ เมื่อได้หมั่นฝึกจิตบ่อยๆ จิตก็จะตั้งมั่นมากขึ้น จนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิแล้ว ถ้าหากไม่เลิกล้มกลางคัน หมั่นประคองรักษาสมาธิที่ได้นั้นไว้ ในที่สุดจิตก็ย่อมถึงความสงบตั้งมั่น ปักดิ่งในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แนบแน่นเต็มที่ จนเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิในระดับนี้ถือเป็นผลที่พึงหวังของการเจริญสมถกัมมัฏฐาน และเมื่ออัปปนาสมาธิเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตสงบจากกิเลส กิเลสในที่นี้ หมายถึง ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสระดับกลาง ที่เรียกว่า นิวรณ์ 5 ดังได้กล่าวไปแล้วในวิชาสมาธิ 3 ว่าประกอบด้วย

1.กามฉันทะ

2.พยาบาท

3.ถีนมิทธะ

4.อุทธัจจกุกกุจจะ

5.วิจิกิจฉา

 

(1) องค์ฌาน 5

            การที่กิเลสเหล่านั้นสงบลงไปได้ ไม่แสดงผลออกมา ก็เพราะสมาธิที่เกิดขึ้นนั้นย่อมมีองค์ธรรม ปรากฏเกิดขึ้นเป็นลำดับ และองค์ธรรมนี้เองที่ไปข่มกิเลสดังกล่าวไว้ องค์ธรรมที่เกิดขึ้นนี้ คือ

1) วิตก คือ การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ จดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อวิตก เกิดขึ้นแล้ว ย่อมข่มถีนมิทธนิวรณ์ คือ ความที่จิตหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่ง วิตกนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติ ไม่เกิดอาการง่วงหลับ เคลิบเคลิ้มในขณะทำสมาธิ

2) วิจาร คือ การประคองจิตให้มั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง และในขณะเดียวกันก็ขจัดวิจิกิจฉานิวรณ์ คือ ความที่จิตเกิดลังเลสงสัย วิจารนี้ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติไม่เกิดความสงสัยในสภาวธรรมที่ปรากฏ ว่าใช่นิมิตหรือไม่ใช่นิมิต แต่จะรู้ได้ด้วยตนเอง ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นสภาวธรรมภายในจริงๆ

 

            วิตกและวิจารนี้มีส่วนสนับสนุนกันในการยกจิตให้เข้าสู่สภาวะแห่งอัปปนาสมาธิ โดยเมื่อวิตก ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐานแล้ว วิจารก็ประคองจิตนั้นไว้ไม่ให้ตกไป แต่ถ้าวิตกไม่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ กัมมัฏฐาน วิจารก็ทำหน้าที่ไม่ได้ หรือเมื่อวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กัมมัฏฐานแล้ว ถ้าวิจารไม่ประคองจิตไว้ จิตนั้นก็จะตกไปสู่ภวังค์ตามเดิม ถ้าหากเปรียบเทียบลักษณะของวิตกและวิจารอาจเปรียบเทียบได้ดังนี้

1.วิตกเปรียบเหมือนเสียงระฆังที่ดังขึ้นครั้งแรก ส่วนวิจารเปรียบเหมือนเสียงครวญดังหึ่งๆ ของระฆังหลังจากการตีแล้ว

2.วิตกเปรียบเหมือนการกระพือปีกของนกที่บินขึ้นไปในอากาศครั้งแรก ส่วนวิจารเปรียบ เหมือนอาการที่นกนั้นกางปีกร่อนไปในอากาศ โดยไม่ต้องกระพือปีก

3. วิตกเปรียบเหมือนการโผลงไปยังดอกบัวของผึ้ง ส่วนวิจารเปรียบเหมือนการบินร่อนอยู่ ในส่วนเบื้องบนดอกบัวหลวงของแมลงผึ้ง ซึ่งโผลงบ่ายหน้าสู่ดอกบัวหลวงฉะนั้น4)

            วิจาร จึงมีลักษณะที่นิ่มและเรียบกว่าวิตก เพราะมีหน้าที่ประคองจิตไว้ในอารมณ์มิให้ตกไป

3) ปีติ คือ ความปลาบปลื้มใจ อิ่มเอิบใจในการเพ่งอารมณ์ที่วิตก ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และประคองจิตให้มั่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้

ปีติ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากความสงบของจิต ปีติอาจเกิดขึ้นได้แก่คนที่ทำสมาธิ แม้เมื่อจิต เริ่มสงบ ยังไม่ได้สมาธิ ในอรรถกถา ท่านแยกประเภทของปีติเป็น 5 ประเภท5)

 

1.ขุททกาปีติ คือ ปีติเล็กน้อย ได้แก่ ความยินดีที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย บางครั้งก็เกิดขนลุกซู่ทั่วร่างกาย บางทีก็เกิดผมตั้งชูชันขึ้น บางครั้งน้ำตาไหล แต่เกิดนิดหน่อยแล้วก็ดับไป

2.ขณิกาปีติ คือ ปีติชั่วขณะ ได้แก่ ความยินดีที่เกิดขึ้นชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบขึ้นตามร่างกายเหมือนฟ้าแลบ แต่เพียงพักเดียวก็ดับไป บางครั้งเกิดคันตามใบหน้าเหมือนมีมดหรือมีไรมาไต่ บางทีเนื้อตัวกระตุก เป็นต้น

3.โอกกันติกาปีติ คือ ปีติเป็นพักๆ ได้แก่ ความยินดีที่ทำให้อิ่มเอิบใจเป็นพักๆ รู้สึกซู่ลงมา ในกายเหมือนคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง บางทีเหมือนกับคนที่นั่งเรือไปในมหาสมุทรถูกคลื่น ทำให้รู้สึกโคลงเคลง เหมือนจะล้ม เป็นต้น

4.อุพเพงคาปีติ คือ ปีติโลดลอย ได้แก่ ความยินดีที่ทำให้รู้สึกโลดลอย แสดงอาการบางอย่างโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทานออกมา เป็นต้น หรือบางท่านมีตัวลอยขึ้นเหนือพื้น ซึ่งปรากฏว่ามีอยู่ในหมู่นักปฏิบัติทั้งในไทยและต่างประเทศ

5. ผรณาปีติ คือ ปีติซาบซ่าน ได้แก่ ความยินดีที่ทำให้รู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกาย ปีติตัวสุดท้ายเป็นปีติที่ท่านหมายถึงในองค์ฌาน

            ปีติทั้ง 5 ประการนี้ มักเกิดขึ้นแก่ผู้เจริญสมาธิ โดยปีติที่เกิดขึ้นในองค์ฌานเป็นผรณาปีติ ส่วนปีติ อีก 4 ชนิดที่เหลือย่อมเกิดขึ้นได้แก่ผู้เจริญสมาธิทั่วไป แม้ว่าจะไม่ได้ฌานก็ตามปีติ ขจัดพยาบาทนิวรณ์ คือ ความที่จิตคิดมุ่งมาดปรารถนาร้ายต่อผู้อื่น ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่คิด ผูกพยาบาทคิดร้ายผู้อื่น แต่จะเกิดเป็นความรู้สึกรักและปรารถนาดีกับทุกๆ คน

 

4) สุข คือ ความสุขใจ เมื่อจิตยกขึ้นสู่อารมณ์ ประคองจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นจนถึงขั้น เกิดปีติแล้ว ย่อมมีความสุข ปีตินั้นมีความยินดีอิ่มเอิบเกิดขึ้นด้วยอำนาจจิตที่ได้รับอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ส่วนสุข ได้แก่ การเสวยรสอันเกิดจากปีติ หากอุปมา ปีติเปรียบเหมือนความปลื้มใจ ของคนที่เดินทางกันดาร ในเมื่อได้เห็นหรือได้ข่าวถึงชายป่าหรือแหล่งน้ำ ส่วนสุขเปรียบเหมือน ความสบายของคนที่เดินทางกันดารนั้น ในเมื่อได้เข้าไปสู่ร่มเงาของหมู่ไม้ในป่า และในเมื่อได้ดื่มน้ำตามความต้องการแล้ว

            ความสุขในฌานนี้ เป็นความสุขที่เลิศ ไม่มีความสุขใดในขั้นโลกิยะจะเสมอเหมือนได้เลย คือ เป็นความสุขอย่างยิ่งที่เหนือกว่าความสุขทางโลกีย์ที่เกิดจากกิน กาม เกียรติ ซึ่งเป็นความสุขที่ ยังมีทุกข์เจือปนอยู่มาก เป็นความสุขที่มีเหยื่อล่อ เป็นความสุขที่เหมือนกับอาหารเจือด้วยยาพิษ ถ้าใคร บริโภคโดยไม่ใคร่ครวญให้ดี หรือโดยไม่มีคุณธรรมกำกับแล้ว จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้น แต่ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ แม้ไม่ถึงขั้นฌานก็เป็นความสุขที่น่าพึงใจ ถ้าใครได้พบความสุขชนิดนี้แล้วจะติดใจ และอิ่มใจไปนาน และความสุขนี้ก็ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น คุณธรรมพอกพูนขึ้น ดังนั้นผู้ฉลาดพึงแสวงหา ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ให้มาก

            ในขณะเดียวกันสุขก็ขจัดอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจไปด้วย ทำให้ผู้ปฏิบัติ ไม่เกิดความฟุ้งซ่านคิดไปในเรื่องราวต่างๆ แต่ใจจะแช่อิ่มอยู่ในสุขที่เกิดขึ้น จนบางครั้งอยากจะแบ่งความสุขที่เกิดขึ้นนี้ให้กับทุกคน และจะเกิดคำสามัญที่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใด ต่างก็พูด เหมือนกันว่า สุขจริงหนอ

 

5) เอกัคคตา คือ ความที่จิตเป็นสมาธิ แน่วแน่ในอารมณ์เดียว ไม่คำนึงถึงอารมณ์อื่น มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าจิตยังฟุ้งซ่านหรือมีอารมณ์เป็นสอง หรือยังไม่แนบแน่นในอารมณ์เดียว จิตก็ยังไม่รวมตัวเข้าเป็นหนึ่ง จึงยังไม่จัดว่าเป็นองค์ฌาน

            อาการของจิตเมื่อจะรวมเป็นเอกัคคตา จิตจะมีอาการตกวูบลง เหมือนตกจากที่สูง หรือตกลงไปในเหว บางครั้งเหมือนการลงลิฟต์ แล้วจิตก็จะรวมตัวเป็นหนึ่ง ซึ่งบางคนเมื่อเกิดอาการเช่นนี้ขึ้นก็ตกใจ เพราะไม่รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับตน เนื่องจากไม่เคยประสบมาก่อน จิตก็เลยถอนขึ้นมา ไม่อาจรวมตัว เป็นหนึ่งได้ บางคนถึงกับไม่ยอมนั่งต่อไป เพราะกลัวจะเป็นอันตราย ซึ่งถ้าเกิดอาการเช่นนี้ขึ้น ให้วางใจ ให้เป็นกลาง อย่าตกใจ อย่าดีใจ คอยประคองจิตเอาไว้ เหมือนคนประคองน้ำเต็มขันเดินไปไม่ให้หก เมื่อนั้นจิตก็จะรวมเองโดยอัตโนมัติ และองค์ฌานอีก 4 องค์ คือ วิตก วิจาร ปีติ และสุข ก็จะเกิดขึ้น อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นเอกัคคตาจึงมีความสำคัญมากในการทำสมาธิ เพราะเมื่อได้เอกัคคตาจิตแล้ว ความผ่องใส ความสุข ความเข้มแข็ง ความมีพลัง ความสามารถ และการที่จิตใช้งานได้เต็มที่ก็จะตามมา เอกัคคตา ย่อมขจัดกามฉันทะออกไป ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ใส่ใจ สนใจกับอารมณ์อื่นๆ แต่จะแน่วแน่อยู่กับอารมณ์เดียว

 

(2) ฌาน 5

องค์ธรรมที่เกิดขึ้นนี้เองที่เป็นเครื่องแสดงภาวะจิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ ภาวะจิตที่เป็น อัปปนาสมาธินี้ อาจเรียกได้ว่า ฌาน คือ ภาวะที่จิตสงบประณีต เป็นสมาธิแน่วแน่เหนือกว่าสมาธิ ธรรมดา6) ซึ่งฌานมีหลายระดับ คือ

1) ฌานในขั้น รูปฌาน มี 4 ระดับ ได้แก่

1.ปฐมฌาน

2.ทุติยฌาน

3.ตติยฌาน

4.จตุตถฌาน

 

2) ฌานในขั้น อรูปฌาน มี 4 ระดับ ได้แก่

1.อากาสานัญจายตนะ

2.วิญญาณัญจายตนะ

3.อากิญจัญญายตนะ

4.เนวสัญญานาสัญญายตนะ

 

ในรูปฌาน ฌานที่เกิดขึ้นนั้นจะมีองค์ฌานที่เกิดขึ้นตามลำดับดังนี้7)

1.ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

2.ทุติยฌาน จิตประกอบด้วยองค์ฌาน 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

3.ตติยฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน 2 คือ สุข เอกัคคตา

4. จตุตฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน 2 คือ อุเบกขา (ความวางเฉย) เอกัคคตา

 

            อัปปนาสมาธิที่สูงขึ้นจะมีองค์ธรรมที่ประกอบร่วมกันอยู่น้อยกว่าองค์ฌานต้นๆ เนื่องจาก องค์ฌานในชั้นต้นๆ ยังมีภาวะที่ยังหยาบอยู่ องค์ฌานที่สูงขึ้นจึงละองค์ที่ยังหยาบไป เข้าสู่ภาวะที่สงบนิ่ง มากขึ้น ดังนั้นยิ่งฌานสูงมากขึ้น ประณีตมากขึ้น องค์ธรรมที่ประกอบร่วมประจำก็น้อยลงไปตามลำดับ

ภาวะของจิตในฌานจะเป็นภาวะที่สุขสงบ ผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ปราศจากนิวรณ์กิเลส ความหลุดพ้นจากนิวรณ์นั้น เป็นความหลุดพ้นที่เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ เป็นความหลุดพ้นด้วยอำนาจของสมาธิที่ข่มไว้ คือ จะหลุดพ้นจากกิเลสตลอดเวลาที่ยังอยู่ในฌาน แต่ถ้าออกจากฌานแล้ว กิเลสก็จะกลับมีได้อย่างเดิม

 

(3) อภิญญา

            นอกเหนือจากฌานที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมถกัมมัฏฐานแล้ว ยังอาจมีผลพิเศษที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากฌานนั้นด้วย คือ เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุฌาน 4 และเกิดวสีคือความชำนาญในฌานเหล่านั้นแล้ว พร้อมทั้งอนุโลมและปฏิโลม จิตก็อ่อนโยนควรแก่การงาน พร้อมที่จะทำกิจพิเศษซึ่งเป็นผลพิเศษเกิดขึ้น ในที่นี้เรียกว่า อภิญญา 5 ประกอบด้วย

1)อิทธิวิธี คือ ญาณที่มีลักษณะคือความสำเร็จของเรื่องที่อธิษฐานนั้นๆ ตามที่อธิษฐาน มี 3 ประการคือ

1.อธิษฐานิทธิ คือ ฤทธิ์ที่แสดงด้วยการไม่สละรูปเดิมของตนและกระทำรูปเดิมให้มาก มีร้อยคนพันคน ทำหลายคนให้เป็นคนเดียว ด้วยการเหาะไปทางอากาศ เดินทะลุกำแพง ดำดิน เดินบนน้ำเป็นต้น

2.วิกุพพนิทธิ คือ ฤทธิ์ที่แสดงด้วยการสละรูปเดิม เนรมิตตนให้เป็นเด็ก งู เสือ ช้าง ม้า เป็นต้นความต่างของอธิษฐานฤทธิ์ กับวิกุพพนฤทธิ์ คือ อธิษฐานฤทธิ์ บุคคลจะอธิษฐานโดยไม่เปลี่ยนร่าง แต่ในวิกุพพนฤทธิ์ บุคคลอธิษฐานเปลี่ยนร่างไปเป็นอย่างอื่น

3.มโนมยิทธิ คือ ฤทธิ์ที่แสดงด้วยการเนรมิตสรีระอื่นที่เหมือนกับตนโดยอาการทั้งหมดใน สรีระตน8)บันดาลร่างกายให้ใหญ่โตสุดประมาณได้ เมื่อเนรมิตร่างต่างๆ แล้วปรารถนาจะไปพรหมโลกด้วย กายเนรมิตนั้นก็ไปได้ และร่างเนรมิตนี้ย่อมบริบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทั้งมวล ความสามารถไม่มีขาดหายไป

 

2)ทิพพโสตญาณ คือ มีหูทิพย์ สามารถได้ยินเสียงที่เบาหรืออยู่ห่างไกลได้ โดยที่คนปกติไม่สามารถได้ยิน

3)เจโตปริยญาณ หรือปรจิตตวิชานนญาณ คือ สามารถรู้จิตใจของผู้อื่นว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่

4)ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือการระลึกชาติได้ว่าชาติที่แล้วเคยเกิดเป็นอะไรมาแล้ว

5)ทิพพจักขุญาณ หรือจุตูปปาตญาณ คือมีตาทิพย์ สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ไกลมากหรืออยู่ใน ที่กำบังได้ และสามารถรู้การจุติ และปฏิสนธิของสัตว์ได้ว่าตายไปแล้วนี้ ได้ไปเกิดเป็นอะไรอยู่ที่ไหน ในภพภูมิต่างๆ

 

ทิพพจักขุญาณ ย่อมทำให้เกิดญาณพิเศษ 2 ประการ คือ

1.ยถากัมมูปคญาณ เป็นญาณที่ทำให้รู้ว่าสัตว์ที่กำลังได้รับสุข หรือทุกข์นั้น เพราะได้ทำกรรมอะไรมาในอดีต

2.อนาคตังสญาณ เป็นญาณที่ทำให้รู้ความเป็นไปในอนาคตของสัตว์เหล่านั้นว่า เพราะกรรม นั้นๆ เมื่อเคลื่อนไปจากภพนี้แล้ว ย่อมไปสู่ภพภูมิใดต่อไป

 

------------------------------------------------------------------------

4) วินัยปิฎก มหาวรรค อรรถกถา มก. เล่มที่ 1 หน้า 252.
5) ขุททกนิกาย มหานิทเทส มก. เล่มที่ 65 หน้า 302-303.
6) พระภาวนาวิริยคุณ, พระแท้. 2545 หน้า 214.
7) มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 20 ข้อ 14 หน้า 15.
8) อภิธัมมัตถสังคหะ และปรมัตถทีปนี. พระคันธสาราภิวงศ์ แปล. สำนักพิมพ์ตาลกุด, 2546 หน้า 784.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020227201779683 Mins