กฎแห่งกรรมกับหลักสัมมาทิฏฐิ

วันที่ 05 กย. พ.ศ.2558

 

กฎแห่งกรรมกับหลักสัมมาทิฏฐิ

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทีปแห่งโลกและจักรวาล ทรงบังเกิดขึ้นเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่มวลหมู่สรรพสัตว์ เป็นนาถเอกของโลกและจักรวาล เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดไม่มีสิ่งใดเปรียบได้ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันแรกที่ปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงวันปรินิพพานนั้น ทรงบำเพ็ญเพียรสั่งสมบุญสร้างบารมีทำความเห็นของพระองค์ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แสวงหาและมุ่งตรงต่อหนทางสู่พระนิพพาน ทรงค้นพบเห็นทุกข์ เหตุทำให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ได้แก่ดับตัณหา และทางให้ถึงความดับทุกข์ และทรงรู้ว่าสรรพสัตว์ที่ยังประสบทุกข์อยู่เพราะมีความเห็นไม่ถูกต้องจึงสร้างกรรมชั่วแก่กันและกัน ดังนั้นจึงทรงปลูกฝังให้มนุษย์มีความเห็นถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการสร้างกรรมดีโดยตรง มีอยู่ 10 ประการ ดังนี้1)

1. การแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้อื่น เนื่องจากปัจจัยการดำรงชีวิตพื้นฐานมีอยู่ 4 อย่าง คือ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในฐานะที่ทุกผู้คนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงต้องช่วยเหลือกัน ใครมีก็แบ่งปันกันอยู่ แบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่แสดงความไร้น้ำใจต่อกัน เป็นการฝึกสละความโลภความตระหนี่ ปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่ามีการเอารัดเอาเปรียบกัน กักตุนสินค้าเพื่อค้ากำไรจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่รู้จักการแบ่งปันเพราะมองเป็นผลประโยชน์ผลกำไร นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 1 การให้ทานมีผลดีจริง

 

2. การสงเคราะห์ช่วยเหลือกันและกัน เนื่องจากสังคมรอบข้างตัวเรามีบุคคลหลายกลุ่ม จำเป็นต้องมีความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน เพราะเราอยู่ในโลกใบนี้เพียงลำพังไม่ได้หรือจะดีเพียงคนเดียวไม่ได้ต้องเป็นอยู่อย่างทัดเทียมกันจึงจะไม่เกิดปัญหาสังคม เพราะบางคนมีความเดือดร้อนทุกข์ยากลำบากทางฐานะเศรษฐกิจความเป็นอยู่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันของผู้ที่ฐานะความเป็นอยู่มั่งคั่งจะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือประคับประคอง เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ต่อไปได้ และมีโอกาสที่จะพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น แต่บ่อยครั้งที่พบเห็นผู้มีความเป็นลำบากถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีโอกาสทางการค้าการสังคม นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 2 ยัญที่บูชาแล้วมีผลดี หมายความว่า การสงเคราะห์ช่วยเหลือสังคมรอบตัวมีผลดีเป็นทางมาแห่งความดีทั้งตัวเราและผู้อื่น

 

3. การยกย่องบูชาบุคคลที่มีคุณงามความดี บุคคลที่ควรแก่การยกย่องบูชาเพราะมีอุปการะคุณทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเรา ได้แก่ บรรพบุรุษ บิดามารดา ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชา สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที เคารพยกย่องนับถือ เทิดทูน จับดีไม่จับผิดผู้อื่น ไม่คิดอิจฉาริษยา ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ซึ่งเป็นการปลูกฝังแบบปฏิบัติค่านิยมที่ดีงามแก่สังคม เด็กยุคใหม่เห็นก็จะถือปฏิบัติตาม แต่ค่านิยมของสังคมในปัจจุบันกำลังจะผิดไป หันไปเคารพนับถือความไม่ดีประการต่างๆ แต่กลับลืมบุคคลใกล้ตัวที่อุปการะเลี้ยงดูสั่งสอนอบรมบ่มนิสัยเรามา ดังที่เห็นประจำคือการทอดทิ้งบุพการีให้คนอื่นดูแล ปัดภาระไปให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหลานดูแล หรือผู้ใต้บังคับบัญชาคิดแย่งตำแหน่งหัวหน้า ศิษย์ไม่เคารพครูอาจารย์ เป็นต้น สังคมแบบนี้จะเต็มไปด้วยความแก่งแย่งชิงเด่นกลัวคนอื่นจะเหนือกว่า ไร้ความสงบสุขแตกแยกไม่สามัคคีกัน ด้วยประการทั้งปวงนี้เองที่ทำให้คนไม่เคารพยกย่องกัน ไม่คำนึงถึงว่าต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา อยากให้เขาทำอย่างไรกับเรา เราก็ทำแบบนั้นกับเขา นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 3 การบูชาบุคคลที่ควรบูชามีผลดีจริง คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้คนถือธรรมเป็นใหญ่จะได้เกิดกำลังใจในการทำความดี มวลมนุษยชาติรู้รักสมานสามัคคีปรองดองเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพงศ์วงตระกูล

 

4. กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไปแล้วมีผล ข้อปฏิบัติที่กล่าวข้างต้น เป็นการทำกรรมดี จึงได้ผลดีตามไปด้วย คือด้วยคุณงามความดีจึงได้รับการยกย่องส่งเสริมสนับสนุน เป็นที่เคารพนับถือเกรงใจต่อผู้อื่น เพราะหลักกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า “    ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นกฎที่เที่ยงธรรมที่สุดไม่ต้องตีความ ดังนั้นก่อนคิดทำสิ่งใดเราควรมีความรู้ในการตัดสินความดีความชั่ว ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มุ่งทำกรรมดีเป็นอาจิณก็สะท้อนให้เห็นว่าเขามีความเห็นถูกในเรื่องกฎแห่งกรรม ในทางกลับกันผู้ที่มุ่งทำกรรมชั่ว หรือทำกรรมดีผสมกรรมชั่วก็ตาม ก็สะท้อนให้เห็นว่าเขามีความเชื่อในเรื่องผลของการกระทำน้อยมากไปจนถึงไม่คิดว่ามีจริง เป็นเพียงกุศโลบายของผู้ใหญ่ นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 4 วิบากแห่งกรรมดีและกรรมชั่วมีผลจริง คือไม่จำกัดสถานที่ เวลา ของการให้ผลของกรรม เพราะเป็นกฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำ กฎแห่งเหตุและผลรองรับกัน กฎแห่งกรรมนี้เหมือนการตอกตะปูลงบนไม้ แม้ถอนตะปูออกก็ยังเหลือร่องรอย หมายความว่า สิ่งที่ผิดพลาดเมื่อกระทำไปแล้วถึงแม้จะตั้งใจทำความดี สิ่งที่ผิดพลาดก็ยังคงอยู่ไม่สามารถทำความดีลบล้างความชั่วที่เคยทำมาได้ ดีส่วนดี ชั่วส่วนชั่ว เหมือนน้ำผสมกับเกลือ น้ำมากเกลือก็ไม่เค็ม แต่เมื่อใดเกลือมากกว่าน้ำน้ำก็เค็ม

 

5. โลกนี้ โลก คือ สังขารร่างกายจิตใจ คือหมู่สัตว์ ได้แก่ หมู่มนุษย์ หมู่เทวดา หมู่สัตว์นรก คือสถานที่อยู่อาศัย จากการศึกษากฎแห่งกรรมมาแล้ว จะทราบว่าความเป็นไปของหมู่สัตว์ทั้งปวงล้วนมาจากรากฐานคือกรรมที่เกิดจากการกระทำของตนที่คอยชักนำและบังคับให้เป็นไปตามกรรม จึงเลือกไม่ได้ว่าจะให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีที่มาไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ หรือหาเหตุผลรับรองไม่ได้ ดังนั้นนักศึกษาจึงต้องเข้าใจโลกนี้ให้ถูกต้องว่า โลกนี้มีที่มา คือ มีที่มาจากกรรมและผลของกรรม โลกนี้มีความไม่แน่นอนของสุขภาพร่างกาย ฐานะความเป็นอยู่ คือ มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นคง ไม่คงที่ วันนี้มีความเป็นอยู่ดีมีสุขแต่พรุ่งนี้อาจสิ้นเนื้อประดาตัว เหมือนเช่นนักพนันทั้งหลาย โลกนี้มีคุณ คือ เป็นความโชคดีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์มีกายหยาบสำหรับใช้ประกอบคุณงามความดีและบุญกุศลทั้งปวงได้อย่างเต็มที่ ต่างจากเทวดาหรือสัตว์เดรัจฉาน ที่ไม่สามารถประกอบความดีได้เต็มที่ อีกทั้งภพมนุษย์นี้ก็เหมาะสมแก่การสร้างกรรมดี เพราะเรามีสังคมรอบข้างที่จะคอยเป็นกัลยาณมิตรแนะนำประโยชน์ให้ได้ เช่น พระภิกษุสามเณร บิดามารดา ครูอาจารย์ เป็นต้น โลกนี้มีเวลาจำกัด คือ มนุษย์ทุกคนมีอายุไม่เท่ากัน มีอายุจำกัด มีความตายเป็นตัวกำหนดตัดรอน เพราะเกิดจากความแตกต่างกันของกรรมดีที่ทำให้อายุยืน กรรมชั่วที่ทำให้อายุสั้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องรีบสั่งสมความดีให้มากที่สุด ต้องไม่สร้างกรรมชั่วอีกเด็ดขาด ต้องขวนขวายทำความดีไม่อยู่เฉย นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 5 โลกนี้มี หมายความว่า โลกนี้มีคุณประโยชน์ให้เราได้อาศัยใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับประกอบคุณงามความดีทั้งปวง

 

6. โลกหน้า คือ ชีวิตหลังความตาย หมายความว่า หลังตายแล้วชีวิตไม่ดับขาดสูญ จิตของผู้นั้นยังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเพราะกิเลสยังครอบงำบังคับบัญชาอยู่ มีแต่สังขารร่างกายเท่านั้นที่เสื่อมทำลายไป ซึ่งชีวิตหลังความตายของผู้นั้นจะไปเกิดเป็นอะไรนั้นก็ถูกจำแนกให้แตกต่างกันด้วยอำนาจกรรม ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“    สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้”

ทำให้ทราบว่า ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานที่ถือกำเนิดอยู่ให้เห็นกันตอนนี้ล้วนเป็นการรับผลของกรรมทั้งดีและชั่วที่เคยทำกันไว้ ในอดีตชาติ คือ เป็นมรดกกรรมที่เราต้องรับเป็นทายาทสืบทอดต่อ ทุกชีวิตเมื่อละโลกนี้ไปแล้วยังต้องมีชีวิตหลังความตายต่อไปอีก และแต่ละชีวิตหลังจากตายจะถือกำเนิดใหม่เป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ หรือเผ่าพันธุ์สัตว์เดรัจฉานต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนกระทำไว้ คือ มีกรรมเป็นตัวนำไปกำเนิดในรูปแบบเผ่าพันธุ์ต่างๆ แล้วแต่กรรมจำแนก เช่น สมัยเป็นมนุษย์เจ้าชู้ชอบโกหกหลอกลวง เมื่อละโลกจึงไปเกิดเป็นลิง เป็นต้น และดำรงอยู่ในเผ่าพันธุ์นั้นด้วยกรรม จากจุดนี้มติทางวิทยาศาสตร์ที่ว่ามนุษย์มาจากลิงนั้นทางพระพุทธศาสนาไม่รับรองว่าเป็นเช่นนั้น เพราะกำเนิดมนุษย์กับกำเนิดสัตว์เดรัจฉานไม่เหมือนกัน ไม่มีการกลายพันธุ์กันได้ มีแต่กรรมจำแนกให้มีความใกล้เคียงกันทางสรีระเล็กน้อยเท่านั้น

 

โลกหน้า คือ สถานที่สถิตของชีวิตหลังความตาย จากผลพวงข้างต้น เมื่อมีสัตว์ไปเกิดมาเกิดจึงเกิดสถานที่รองรับ ตัวอย่างเช่นที่เราเห็นกันบนโลกใบนี้คือ จะเห็นมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานประเภทต่างๆ อาศัยอยู่รวมกัน เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็มีสถานที่ความเป็นอยู่แบบมนุษย์ เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีสถานที่ความเป็นอยู่แบบสัตว์เดรัจฉาน เช่น ปลาต้องอยู่ในน้ำจึงอยู่รอด แต่ถ้าขึ้นบกมาอยู่แบบมนุษย์ก็ตาย ในทางกลับกันมนุษย์มีความเป็นอยู่บนบกจึงอยู่รอด แต่ถ้ามนุษย์อยู่ในน้ำโดยการหายใจทางจมูกก็ตายสถานเดียว ฉะนั้นโลกหน้าจึงเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน คือ ไม่แน่นอนว่าจะต้องไปถือกำเนิดเป็นสัตวโลก ประเภทใด จะมีสถานที่ใดหรือมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร อาจจะเป็นโลกซึ่งอยู่ในจักรวาลอื่นก็ได้ แต่สิ่งที่ แน่นอนก็คือ เราจะต้องเกิดใหม่อีก เพราะเรายังไม่หมดกิเลส ดังนั้นจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องโลกหน้าให้ดี สรุปแล้วหนีไม่พ้นเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จึงควรเตรียมความพร้อมการไปสู่โลกหน้าหรือปรโลกเสียแต่วันนี้ ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ

1) มีศรัทธามั่นคงในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม

2) ตั้งใจทำทานอย่างเต็มกำลังของตน เปลี่ยนเงินทองคือทรัพย์หยาบให้เป็นทรัพย์ละเอียดคือบุญ (เพราะชีวิตหลังความตายมีบุญและบาปเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง)

3) ตั้งใจรักษาศีล 5 คือรักษาความเป็นปกติของมนุษย์อย่างเคร่งครัด

4) เพิ่มพูนปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คือ การเจริญสมาธิทำจิตให้ตั้งมั่น เพราะสมาธิก่อให้เกิดแสงสว่างแห่งปัญญาทำให้เกิดการรู้แจ้ง เหมือนเราเปิดไฟก็เห็นทุกอย่างไม่มีอะไรปิดบังเราได้ สว่างมากเท่าไรก็รู้แจ้งมากเท่านั้น เป็นปัญญารู้แจ้งไม่ใช่รู้จดรู้จำ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

 

เพราะฉะนั้น การไปสู่โลกหน้าหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะกิเลสควบคุมเราอยู่ จึงทำให้มีความไม่แน่นอนสำหรับการสู่โลกหน้าของเราว่าจะเป็นประการเช่นไร ดังนั้นใครที่เคยผิดพลาดทำกรรมชั่วมาก็ให้แล้วกันไปลืมมันอย่าไปนึกถึงเพราะอย่างไรก็กลับไปแก้ไขสิ่งที่ทำไม่ได้ เหมือนธนูที่ยิงออกจากแล่งไปแล้วรั้งกลับไม่ได้ คำพูดที่เปล่งออกไปแล้วเอากลับคืนไม่ได้ จึงควรทำตามหลักพระพุทธศาสนาคือไม่หวนนึกถึงสิ่งที่ผิดพลาด แต่ให้มองไปข้างหน้าแล้วทำวันนี้ให้ดีที่สุด นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 6 โลกหน้ามีอยู่จริง ผู้ละโลกขณะที่ยังไม่หมดกิเลส ยังจะต้องประสบกับชีวิตหลังความตายไม่ขาดสูญ

 

7.สำนึกพระคุณของมารดา มารดาคือพระอรหันต์ในบ้านของบุตร ปัจจุบันนี้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นที่มองข้ามพระคุณของท่าน บางทีเอาอกเอาใจเลี้ยงดูเพื่อนมากกว่ามารดาผู้ให้กำเนิด เพียงเพราะท่านพร่ำสอนเรามากกว่าใคร ทำให้บุตรเกิดความรำคาญคิดว่าท่านจู้จี้ขี้บ่นบ้าง ไม่ยอมปล่อยเป็นอิสระให้ทำอะไรตามชอบใจบ้าง แต่มาสำนึกดูให้ดีก็จะพบว่า ตลอดการอุ้มท้อง คลอดออกมาจนเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ท่านเลี้ยงดูเอาใจใส่เราอย่างดี หาอาหารให้กินทุกมื้อ ทำให้บุตรได้ทุกอย่าง ไม่ว่าด้วย สาเหตุอันใดของบุตรที่จะมองข้ามท่านไป อย่างน้อยขอให้นึกถึงพระคุณของมารดา 3 ประการ คือ

1) ท่านให้โอกาสเราได้มาอาศัยเกิดในครรภ์

2) ท่านให้ต้นแบบทางร่างกาย

3) ท่านเป็นต้นแบบทางจิตใจ

ปัจจุบันอบายมุขและยาเสพติดต่างๆ นานา เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้บุตรก่อกรรมหนักเพราะขาดสติยับยั้ง ดังในข่าวว่าบุตรฆ่ามารดาเพียงเพื่อขอเอาเงินไปซื้อยาเสพติดแล้วท่านไม่ให้ พระคุณของมารดามีมากเช่นนี้บุตรคนใดทำร้ายท่านจึงจัดเป็นอนันตริยกรรม เมื่อละโลกอนันตริยกรรมนี้จะนำไปเกิดในอเวจีมหานรกทันที ส่วนบุตรคนใดสำนึกในพระคุณของท่าน วิธีการตอบแทนพระคุณท่านที่ดีที่สุดไม่ใช่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือการมอบเงินให้ท่านเพียงอย่างเดียว บุตรต้องชักชวนแนะนำให้ท่านประพฤติธรรม คือ ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ แบบนี้ถือว่าตอบแทนพระคุณได้ถูกต้อง นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 7 มารดามีพระคุณ

 

8. สำนึกพระคุณบิดา ตัวอย่างผู้ที่สำนึกพระคุณของบิดา คือ พระเจ้าอชาตศัตรู พระองค์ทรงทำปิตุฆาตคือปลงพระชนม์ชีพพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา กล่าวกันว่าความรักของพระเจ้าพิมพิสาร ที่มอบให้นั้นมากยิ่ง แม้ฝีที่สกปรกยังใช้พระโอษฐ์ดูดเอาน้ำหนองออกให้ได้ เพราะทนไม่ได้ที่เห็นพระราชโอรสร้องไห้เพราะความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ภายหลังจากที่พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาตแล้ว ทุกค่ำคืนพระองค์ทรงเดือดร้อนใจเสวยไม่ได้บรรทมก็หวาดผวา เพราะได้สำนึกตอนที่มีพระราชโอรสของตนเอง จึงทรงสัมผัสได้ถึงความรักที่บิดามีต่อบุตร ด้วยเหตุนี้ บิดาจึงมีพระคุณมากไม่แพ้มารดา คือ ให้โอกาสเราได้เกิด เป็นต้นแบบทางร่างกาย และเป็นต้นแบบทางจิตใจ บุตรสำนึกในพระคุณของท่าน วิธีการตอบแทนพระคุณท่านที่ดีที่สุดไม่ใช่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือการมอบเงินให้ท่านเพียงอย่างเดียว บุตรต้องชักชวนแนะนำให้ท่านประพฤติธรรม คือ ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ แบบนี้ถือว่าตอบแทนพระคุณได้ถูกต้อง นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 8 บิดามีพระคุณ

 

9. มีการถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ คือ เกิดวันนั้นก็โตเต็มวัยวันนั้นไม่ต้องมีพัฒนาการทางร่างกายแบบมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานทั่วไป หมายถึง การถือกำเนิดในสวรรค์ เรียกว่า สุคติภูมิ การถือกำเนิดในอบาย ได้แก่ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เรียกว่า ทุคติภูมิ มีเหตุผลอยู่หลายประการที่จำเป็นต้องศึกษาเรื่องการถือกำเนิดแบบโอปปาติกะอย่างน้อย 2 ประการคือ

1) ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัว และความละอายที่จะกระทำบาปอกุศลใดๆ ทั้งปวงด้วยเหตุที่ขาดหิริโอตตัปปะนี้เองจึงทำให้มีสัตว์ไปบังเกิดในทุคติภูมิมากกว่าสัตว์ที่เกิดในสุคติภูมิ พระพุทธองค์ทรงอุปมาผู้ไปสุคติภูมิว่าน้อยเท่าเขาโค ส่วนผู้ไปทุคติภูมิมากเท่าขนของโค เมื่อเกิดในทุคติภูมินี้แล้ว การจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกยากเหมือนเต่าตาบอด ที่ทุกร้อยปีจะโผล่หัวพอดีบ่วงที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร อุปมามนุษย์ที่ละโลกแล้วจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกน้อยเท่ากับฝุ่นในเล็บมือ เมื่อเทียบกับฝุ่นในแผ่นดิน แม้แต่ผู้สามารถมาเกิดในสุคติภูมินี้แล้ว เมื่อละโลกก็อาจจะไปเกิดในทุคติภูมิมากเหมือนฝุ่นในแผ่นดิน ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเมื่อถือกำเนิดแล้วก็ก่อกรรมชั่วมากกว่ากรรมดีจึงทำให้พลัดกลับมาเกิดทุคติ-ภูมิได้อีก ขึ้นอยู่กับกรรมที่กระทำไว้ การทำหน้าที่ของหิริโอตตัปปะมีกระบวนการขั้นตอนยึดสติสะกดใจไม่ให้พลาดพลั้งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1.1) กรณีถูกบีบบังคับจากสิ่งเร้าภายนอก คือ ความเป็นอยู่ในรูปแบบสังคมทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับคนเป็นอันมากหลากหลายความคิดความเชื่อ อันจะนำไปสู่ความไม่เข้าใจกัน อาจร้ายแรงถึงขั้นทะเลาะวิวาทจนเป็นเหตุให้ทำลายชีวิตกันและกัน กรณีเช่นนี้จะต้องมีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ขุ่นมัว เพราะถ้าเกิดการโต้ตอบกันและกันจะทำให้เกิดผูกเวรต่อกัน คือ เอาตัวเองเข้าไปผูกกับเรื่องร้ายๆ นั้น เมื่อเวียนว่ายตายเกิดมาบรรจบกันเวรที่ผูกไว้ก็ออกฤทธิ์ทำให้เกิดการอาฆาตพยาบาทสร้างกรรมชั่วกันต่อไปไม่รู้จบ

1.2) กรณีถูกยั่วเย้าจากสิ่งเร้าภายนอก คือ อบายมุขต่างๆ นานา หลากหลายรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมายั่วเย้าให้คนอยากเสพอยากลอง ถ้ามีหิริโอตตัปปะก็จะห้ามใจตนเองได้เพราะรู้ว่าไม่ดีมีโทษทั้งชาตินี้ชาติหน้า

2) ทำให้เกิดกำลังใจในการสร้างบุญกุศล เพราะทราบแล้วว่าชีวิตหลังความตายมีอยู่ และมี 2 แบบ คือ แบบสุคติ กับแบบทุคติ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะประกอบกุศลกรรมเบื้องต้นเพื่อนำพาตนเองไปสุคติภูมิ เบื้องสูงคือบรรลุมรรคผลนิพพานพ้นจากอำนาจการควบคุมของกิเลสอาสวะ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

เพราะฉะนั้น จากการศึกษาทำให้นักศึกษาทราบว่า การเกิดแบบโอปปาติกะนี้เป็นได้เฉพาะกายละเอียด มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถรู้เห็นกระบวนการไปเกิดมาเกิดได้ จึงมีอิทธิพลส่งผลต่อความเชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า เรื่องกฎแห่งกรรมอย่างยิ่ง จะผิดจะพลาดก็อยู่ที่ตรงนี้ และเมื่อมีความรู้เรื่องโอปปาติกะแล้ว จะทำให้ไม่เกิดความประมาทพลั้งเผลอในการดำรงชีวิต เพราะมีจิตใจใฝ่ดีถึงแม้จะมีอุปสรรคก็ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมเสี่ยงกับการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อให้ตนเองสบาย จะพยายามฝ่าฟันอุปสรรคนั้นๆ และละเว้นความชั่วทั้งปวง โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ด้วยเหตุนี้จะทำให้เราตักเตือนสั่งสอนตนเองและแนะนำผู้อื่นได้ว่า ความชั่วแม้เพียงน้อยก็จะไม่ทำ แต่ความดีแม้เพียงน้อยก็จะทำให้เต็มที่เต็มกำลังสุดความสามารถ นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 9 โอปปาติกะหรือสัตว์ผุดเกิดขึ้นมี หมายความว่า เชื่อในเรื่องการทำความดีความชั่วมีผลทำให้บังเกิดในนรกสวรรค์ซึ่งเป็นภพภูมิที่อยู่ของพวกโอปปาติกะ

 

10. สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ผู้รู้แจ้งเรื่องโลกนี้โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามมีอยู่ คือ วิถีหนทางปฏิบัติสู่การบรรลุธรรมมีอยู่ ผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์จึงมีอยู่ เพราะตราบใดที่ยังมีผู้มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 เมื่อนั้นโลกจะไม่สิ้นจาก พระอรหันต์ ผู้ที่จะมีปัญญารู้แจ้งโลกนี้โลกหน้านั้นแยกเป็น 2 นัย ดังนี้

นัยที่ 1 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นัยที่ 2 คือ พระอรหันตสาวก

จากการศึกษาพบว่า เหตุที่ตรัสทิฏฐิข้อนี้ก็เพราะประสงค์ชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่รู้แจ้งโลกนี้โลกหน้ามีอยู่จริง ไม่ใช่มีแต่นักคิดนักวิจารณ์ บุคคลที่จะรู้แจ้งจะต้องเป็นสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแบบทุ่มเทชีวิตจิตใจทำอย่างจริงจัง มีอัธยาศัยในการสั่งสอนแนะนำ และความรู้แจ้งนี้ไม่ผูกขาดเฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง แต่มนุษย์ทุกคนมีความสามารถและมีศักยภาพที่จะทำได้ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยความเพียรและมีครูอาจารย์ผู้สั่งสอนชี้แนะถูกต้องตรงทางมรรคผลนิพพาน แต่เนื่องจากเราไม่มีโอกาสได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเหล่าพระอรหันตสาวก แต่ก็ยังพอมีพระอริยบุคคลทรงภูมิรู้ภูมิธรรมในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแสวงหาครูดีเช่นนี้ให้พบ เมื่อพบแล้วก็ปฏิบัติตามคำสอนท่านอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้เรามีความเข้าใจถูกต้องตามหลักปฏิบัติ นี้จัดเป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ 10 โลกนี้มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ชนิดที่ทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเองแล้วประกาศโลกนี้โลกหน้ามี

หลักการสัมมาทิฏฐิคือการสร้างปัญญานำไปสู่การตั้งเป้าหมายชีวิต 3 ประการ คือ ละชั่ว ทำดี และขัดเกลาจิตให้ผ่องใส เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอย่างถูกต้องเพราะเกิดความรู้ถูกเห็นถูกเข้าใจถูก และต้องตอกย้ำเป้าหมายชีวิตอยู่เสมอๆ มีตัวอย่างหลายท่านในพุทธกาลที่มีอุปนิสัยมีบุญบารมีพอที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ดำเนินชีวิตด้วยความประมาทในช่วงต้นเพราะคบคนพาลจึงทำให้โอกาสดีๆ เช่นนี้หลุดลอยไป

-------------------------------------------------------------------

1) พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), เข้าไปอยู่ในใจ, (กรุงเทพ : เชอรี่กราฟฟิค (1991),2546.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011095682779948 Mins