กฎแห่งกรรมกับหลักการเวียนว่ายตายเกิด

วันที่ 05 กย. พ.ศ.2558

 

 กฎแห่งกรรมกับหลักการเวียนว่ายตายเกิด

            ดังที่ทราบกัน เมื่อกิเลสยังปรากฏอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นย่อมเสี่ยงต่อการสร้างกรรมทั้งดีหรือชั่ว เมื่อสร้างกรรมย่อมมีผลรองรับติดตามไปทุกที่ทุกสถานเหมือนเงาตามตัว บางทีให้ผลทันที หรือไม่ก็ไปให้ผลหลังจากละโลก และก็ให้ผลต่อไปเรื่อยๆ ตราบจนวันสิ้นกิเลสจึงหลุดจากกฎแห่งกรรมนี้ได้ ด้วยความเป็นเหตุเป็นผลเช่นนี้จึงทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารกันมาคนละไม่น้อยเลย และทุกท่านเคยเป็นมาทุกอย่าง ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ไปจนถึงกุ้ง หอย ปู ปลา ดังที่ยกอุปมาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไว้ในบทที่ 1 แล้ว ฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่สิ้นกิเลส ตราบนั้นก็ยังจะต้องสร้างกรรมต่อๆ ไป ผลของการกระทำก็จะเกิดขึ้นต่อๆ ไป ทำให้เกิดในชีวิตและสังคมที่หลากหลาย เช่น เกิดเป็นมนุษย์อยู่ในตระกูลดีบ้าง ตระกูลยากจนบ้าง บังเกิดในสวรรค์บ้าง บังเกิดในนรกบ้าง เป็นต้น ลักษณะ รูปแบบของการเกิดนี้ไม่แน่นอนแปรผันไปตามอำนาจกรรม ซึ่งทำหน้าที่สั่งให้ไปเกิดผลแบบนั้นแบบนี้ กรรมดีสั่งก็ไปเกิดในที่ดี กรรมชั่วสั่งก็ไปเกิดในที่ไม่ดี กรรมของแต่ละคนจะจำแนกให้มีผลเป็นไปแตกต่างกันเพราะทุกคนสร้างกรรมไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ตนใดกำหนดทิศทางชีวิตของผู้อื่นได้ กรรมของผู้นั้นต่างหากที่เป็นเจ้าของ จึงไม่มีเจ้ากรรมนายเวรแต่อย่างใด ดังที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอย่างมากในปัจจุบัน ว่าปัญหาสุขภาพร่างกาย ปัญหาฐานะความเป็นอยู่ทางสังคมคนนั้นรวยคนนี้จนไม่ทัดเทียมกัน เพราะเป็นการทดสอบจิตใจของมนุษย์โดยผู้มีอำนาจหรืออย่างไร ถ้าไม่จริง แล้วความจริงคืออะไรเกิดจากอะไร? คนนั้นว่าอย่างนี้ แต่อีกคนก็ว่าอีกอย่าง แก้ไขกันไปต่างๆ นานา สุดท้ายก็แก้กันไม่จบสิ้น เพราะแก้ไขที่ปลายเหตุกันทั้งนั้น และที่สำคัญชีวิตความเป็นอยู่จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกรรม ไม่ใช่ว่าชาตินี้รวยแล้วชาติหน้าจะรวยอีก ไม่แน่นอนเสมอไปถ้าประมาทในการดำรงชีวิต ดังที่ชอบคิดกันว่าเกิดมาชดใช้กรรมอย่างนั้น ก็ไม่ก่อให้เกิดความดีขึ้นมีแต่จะจมลง แต่ในทางกลับกัน คนจนในชาตินี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจนไปทุกชาติ ถึงแม้จะจนแต่ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตเดินตามรอยบัณฑิตนักปราชญ์ก็สามารถพลิกผันชีวิตให้กลับมาดีได้ ดังที่กล่าวไว้เราทุกคนหมุนเวียนเปลี่ยนตายเกิดมาแล้วทุกสถานภาพ

 

            จึงตั้งคำถามว่า ความไม่ประมาทในการดำรงชีวิตคืออะไร เป็นอย่างไร? ดังที่ทราบสิ่งที่ครอบงำทำให้เกิดความประมาท คือ กิเลส ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือจะเรียกว่าอวิชชาก็ได้ ทั้งหมดนี้มีไว้ทำลายความสามารถ ศักยภาพและคุณภาพของความเป็นมนุษย์ให้หมดสิ้น ความโลภทำให้ตระหนี่หวงแหนทรัพย์จึงทำให้เสื่อมจากทรัพย์สมบัติ ความโกรธทำให้เกิดความขุ่นเคืองพยาบาทปองร้ายจึงทำให้เสื่อมจากรูปสมบัติ คือ ความหล่อ ความสวย ผิวพรรณ ดูเวลาที่คนหล่อคนสวยเมื่อโกรธหน้าตาก็ดูไม่ได้เหมือนกัน ความหลงทำให้เกิดความคิดเห็นผิด หลงเชื่อ ความงมงายจึงทำให้เสื่อมจากคุณสมบัติ คือขาดสติปัญญา เมื่อหลักการแห่งเหตุและผลเป็นเช่นนี้ คราวที่พระพุทธองค์ตรัสรู้เห็นกิเลสตัณหาคือฉากหลังที่ครอบงำหมู่สัตว์ทั้งหมดไว้ในวัฏสงสารให้ดำรงชีวิตอย่างประมาทคือขาดสติยับยั้ง ทรงรู้แจ้งแทงตลอดเห็นอุปกรณ์ที่ใช้ครอบงำคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงทรงใช้พุทธวิธี2) แก้ไขความโลภด้วยทานทำให้มีทรัพย์สมบัติ แก้ไขความโกรธด้วยความเมตตาและรักษาศีลทำให้มีรูปสมบัติ แก้ไขความหลงด้วยสมาธิทำให้เกิดคุณสมบัติ จนเกิดเป็นพุทธิปัญญารู้แจ้งตามพระองค์ หมายความว่าพระธรรมคำสอน 84,000 พระธรรมขันธ์ สรุปเป็นหมวดทาน หมวดศีล หมวดสมาธิ หมวดปัญญา และทุกหมวดจัดเป็นมรรคมีองค์ 8 ทางปฏิบัติสายกลาง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และทั้งหมดสรุปรวมเป็นหนึ่งเดียวคือความไม่ประมาท ทรงเปรียบเหมือนรอยเท้าช้างเป็นที่ประชุมลงรวมของรอยเท้าสัตว์ทั้งปวง3) ซึ่งผู้ที่บังเกิดมาพรั่งพร้อมอยู่ในความพอเหมาะพอดีด้วยทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ และคุณสมบัติ จะทำให้สะดวกต่อการสร้างบารมีสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะถ้าไม่มีทรัพย์สมบัติแล้วเวลาทั้งชีวิตก็ไม่พอที่ จะหาทรัพย์ให้มีมากๆ หรือถ้าพิการ ปัญญาอ่อน ยิ่งสร้างความดีลำบากเข้าไปอีก เพราะลำพังดูรักษาตัวเอง ก็หมดเวลาเสียแล้ว ชีวิตบางคนเห็นทุกข์ก็จมอยู่กับทุกข์ แต่บางคนชีวิตอยู่สุขสบายกลับเห็นทุกข์ ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่ทรงเสวยราชสมบัติเพียบพร้อมทุกสิ่งแต่ทรงเห็นโทษภัยของสิ่งเหล่านั้น หรือว่าบางทีดีชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้ บางท่านรู้ว่าทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ เป็นความดีแต่ก็อ้างว่าไม่มีเวลาบ้าง ทำงานมาเหนื่อยแล้วอยากพักผ่อนบ้าง เห็นทางอยู่ข้างหน้าแต่ไม่เดินก็มี กลับไปเดินอีกทางตามที่ตนเองคิดว่าดี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะดีจริงอย่างที่คิดหรือไม่ ฉะนั้นจะต้องมีโยนิโสมนสิการ รู้จักจับแง่คิดมุมมอง การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทเพียงวันเดียวถือว่าได้ดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐมากกว่าการดำรงชีวิตอยู่ร้อยปีแต่อยู่อย่างประมาท4)
ในระหว่างการเวียนว่ายตายเกิดนั้นกฎแห่งกรรมของแต่ละชีวิตทำงานกันอย่างเต็มที่ ไม่หยุดพัก ได้โอกาสเมื่อไรจะส่งผลให้ทันที ดังจะเห็นได้ว่า ชีวิตของเราเองเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย กรรมดีให้ผลก็เป็นสุข เมื่อไรกรรมชั่วเบ่งบานเมื่อนั้นก็ทุกข์ระทมกันแสนสาหัส ซึ่งบุคคลที่เวียนเกิดมาเป็นมนุษย์มีลักษณะ 4 แบบ5) ดังนี้

1)บุคคลมืดมามืดไป คือ เกิดเป็นมนุษย์อยู่ในตระกูลตกต่ำประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อละโลกจึงไปสู่ทุคติภูมิ

2)บุคคลมืดมาสว่างไป คือ เกิดเป็นมนุษย์อยู่ในตระกูลตกต่ำแต่ใจไม่ตกต่ำ ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อละโลกจึงไปสู่สุคติภูมิ

3)บุคคลสว่างมามืดไป คือ เกิดเป็นมนุษย์อยู่ในตระกูลสูงแต่ใจตกต่ำ ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อละโลกจึงไปสู่ทุคติภูมิ

4)บุคคลสว่างมาสว่างไป คือ เกิดเป็นมนุษย์อยู่ในตระกูลสูงจิตใจสูง ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อละโลกจึงไปสู่สุคติภูมิ

 

มวลหมู่สรรพสัตว์มีมนุษย์เท่านั้นที่สามารถกำจัดกิเลสอาสวะ ยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะยุติวังวนแห่งชีวิตนี้ได้จะต้องผ่านกระบวนการฝึกหัดขัดเกลากาย วาจา และจิตใจ ตามหลักไตรสิกขาและดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 ยิ่งขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์ได้มากเท่าไรการเวียนว่ายตายเกิดก็น้อยลงไปตามนั้น

ผู้ที่สามารถหลุดพ้นจากกิเลส เพราะการรู้แจ้งอริยสัจ 4 ตามอริยมรรคนั้นจิตของท่านมุ่งตรงต่อหนทางหลุดพ้นคือพระนิพพานได้แก่พระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ท่านเหล่านี้ขจัดกิเลสจนเหลือน้อยเต็มที หากสามารถขัดเกลาจิตจนบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสได้อย่างสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษให้งอกเงยได้ต่อไปในปัจจุบันชาติ ทันทีที่ละสังขารจะเข้าสู่พระนิพพานทันทีไม่ต้องไปเวียนตายเวียนเกิดอีก ได้แก่พระอริยบุคคลชั้นสูง6) คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระอรหันตสาวก ฉะนั้นการได้เกิดเป็นมนุษย์แต่ยังไม่สามารถละกิเลสได้ก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกเช่นเดียวกับมวลหมู่สัตว์อื่นๆ ชีวิตก็วนเวียนตายเกิดซ้ำๆ แต่ไม่ซ้ำประเภท สัตวโลกต้องประสบทุกข์เพราะการเกิดมาต่อสู้กับกิเลส เสี่ยงต่อการสร้างกรรมและการรับผลกรรมเก่าๆ อยู่ร่ำไป ฉะนั้นมวลหมู่สัตว์ทั้ง มนุษย์ เทวดา สัตว์นรก ก็คือเพื่อนร่วมทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น จึงไม่ควรมองว่าเป็นศัตรูต่อกันและกัน เพราะศัตรูตัวจริงคือผู้ที่บังคับให้หมู่สัตว์ทั้งหมดเวียนว่ายตายเกิดไม่หลุดพ้น

ด้วยเหตุที่ว่า

“    ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจร้ายพูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขา”7)

จากการศึกษาพบว่าทุกอย่างล้วนมุ่งไปที่จิตใจ เช่นเดียวกับเรื่องกฎแห่งกรรมเคยมีผู้ถามพระพุทธองค์ว่า การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ อย่างไหนที่ทำไปแล้วมีโทษมากที่สุด ทรงตอบว่า มโนกรรมมีโทษมากกว่ากายกรรมและวจีกรรม ทรงอุปมาว่า หมู่บ้านที่มีผู้คนอยู่อาศัยเป็นร้อยเป็นพัน บุรษุคิดจะฆ่าคนในหมู่บ้านนี้ให้หมด แต่เมื่อลงมือเขาอาจจะฆ่าได้ไม่เกิน 10-50 คนเท่านั้น ถ้าไม่เหนื่อยเสียก่อน ก็ถูกเขาฆ่าตาย”8) ซึ่งทำให้เห็นชัดว่า จิตของคนเราคิดทำอะไรได้มากมายยิ่งใหญ่มหาศาล มากยิ่งกว่าการกระทำทางกายและทางวาจา เมื่อมนุษย์สามารถควบคุมตนอยู่ในศีลธรรมจึงไม่มีความจำเป็นด้วยประการทั้งปวงที่จะต้องตรากฎหมายออกกฎเกณฑ์มามากมายเพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และทุกปัญหาจะยุติลงได้เมื่อมนุษย์มีศีลธรรมประจำใจอันเป็นต้นเหตุทางมาแห่งความดีทั้งปวง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงจำเป็นจะต้องควบคุมจิตใจให้ดี สงบอยู่ในฐานที่ตั้งดั้งเดิมของจิต จิตใจจะดีได้กายกับวาจาจะต้องดีด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ต้องรักษาศีลและรักษาให้อยู่ในระดับที่ว่า แม้แต่คิดจะทำชั่วก็อย่าให้เกิดขึ้น ลักษณะแบบนี้เมื่อกายสงบจิตก็สงบ เมื่อเกิดกายและจิตสงบสมาธิจึงบังเกิด เมื่อสมาธิคือความตั้งมั่นแห่งจิตแน่วแน่มากเท่าไร แสงสว่าง คือปัญญาก็เกิดขึ้นมากเท่านั้น ทำปัญญาให้เกิดขึ้นมากเท่าไรก็จะรู้แจ้งเรื่องโลกและชีวิต กฎแห่งกรรมตรงไปตามความเป็นจริงมากเท่านั้น

-------------------------------------------------------------------

2) 1) ทรัพย์สมบัติ ได้แก่ ความร่ำรวย ความมั่งคั่ง 2) รูปสมบัติ ได้แก่ ความงดงามความสมบูรณ์พร้อมของอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ความหล่อ ความสวย ผิวพรรณ ความไม่พิการ 3) คุณสมบัติ ได้แก่ ความเฉลียวฉลาดไหวพริบปฏิภาณ สติปัญญา
3) ปฐมอัปปมาทสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 379 หน้า 479.
4) สหัสสวรรคที่ 1-8, ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 41 ข้อ 18 หน้า 415.
5) ปุคคลสูตร, สังยุตตนิกาย, สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 393 หน้า 502.
6) อรรถกถาอัจฉริยัพภูตสูตร, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 23 หน้า 53 ระบุระยะเวลาการสั่งสมบุญบารมีของพระอริยบุคคลชั้นสูงว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า 3 ประเภท คือ 1) ประเภทวิริยาธิก ทรงบำเพ็ญบารมีครบ 30 ทัศ เป็นเวลา 80 อสงไขยกัป เศษอีกแสนกัป 2) ประเภทสัทธาธิก ทรงบำเพ็ญบารมีครบ 30 ทัศ เป็นเวลา 40 อสงไขยกัป เศษอีกแสนกัป 3) ประเภทปัญญาธิก ทรงบำเพ็ญบารมีครบ 30 ทัศ เป็นเวลา 20* อสงไขยกัป เศษอีกแสนกัป ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าสั่งสมบุญบารมี 2 อสงไขยกัป เศษอีกแสนกัป / พระอัครสาวกตั้งความปรารถนาสั่งสมบุญบารมี 1 อสงไขยกัป เศษอีกแสนกัป / พระอรหันตสาวกสั่งสมบุญบารมีแสนกัปฟังธรรมเพียงบทหรือสองบทก็บรรลุธรรม
7) เรื่องพระจักขุปาลเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 40 หน้า 34.
8) อุปาลิวาทสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 20 ข้อ 64 หน้า 114.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014507766564687 Mins