ชาดก 500 ชาติ รวมนิทานชาดกพร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ชาดก 500 ชาติ : อรรถกถาชาดกรวมชาดก 500 ชาติพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก

ชาดก 500 ชาติ :: วิสสาสโภชนชาดก ว่าด้วย การไว้วางใจ


13-8-63-b---1r.jpg

วิสสาสโภชนชาดก ว่าด้วย การไว้วางใจ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการบริโภคด้วยความวางใจ เเละตรัสพระธรรมเทศนานี้ 


               ในสมัยนั้น พวกภิกษุโดยมากพากันวางใจ ไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ ที่หมู่ญาติถวาย เพราะคิดเสียว่า มารดาของพวกเราถวาย บิดาของพวกเราถวาย พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว น้า อา ลุง ป้า ถวาย คนเหล่านี้ สมควรจะให้แก่เรา แม้ในเวลาเป็นคฤหัสถ์มาแล้ว ถึงในเวลาเราเป็นภิกษุ ก็คงเป็นผู้สมควรจะให้ได้.


               พระศาสดาทรงทราบเหตุนั้น ทรงพระดำริว่า สมควรที่เราจะแสดงพระธรรมเทศนา แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้แล้ว รับสั่งให้เรียกประชุมภิกษุ แล้วตรัสว่า

 

                ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุต้องพิจารณาแล้วจึงค่อยทำการบริโภคปัจจัย ๔ แม้ที่พวกญาติพากันถวาย ด้วยว่าพวกภิกษุที่ไม่พิจารณาแล้วบริโภคเมื่อทำกาละ ย่อมไม่พ้นจากอัตภาพแห่งยักษ์และเปรต

 

                ขึ้นชื่อว่าการบริโภคปัจจัย ๔ ที่ไม่พิจารณานี้ เป็นเช่นกับการบริโภคยาพิษ แม้ที่คนคุ้นเคยกันให้แล้วก็ตาม แม้ที่คนไม่คุ้นกันให้แล้วก็ตาม ย่อมทำให้ตายได้ทั้งนั้น แม้ในครั้งก่อน สัตว์ทั้งหลายบริโภคยาพิษที่เขาให้ด้วยความพิศวาส ถึงความสิ้นชีวิตไปแล้ว.


               ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังนี้ :-


               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก คนเลี้ยงโคของท่านคนหนึ่ง ต้อนฝูงโคเข้าป่า บริเวณหนึ่งนั้นเต็มไปด้วยข้าวกล้า ตั้งคอกเลี้ยงโคอยู่ในป่านั้น และนำน้ำนมโคมาให้ท่านเศรษฐีตามเวลา ก็แลในที่ไม่ห่างคนเลี้ยงโคนั้น ราชสีห์ยึดเอาเป็นที่อยู่อาศัย เมื่อพวกโคซูบผอมไป เพราะหวาดหวั่นต่อราชสีห์ น้ำนมก็ใส.


               อยู่มาวันหนึ่ง คนเลี้ยงโคนำเอานมมาให้ ท่านเศรษฐีจึงถามว่า สหายโคบาลเป็นอย่างไรหรือ น้ำนมจึงได้ใส เขาแจ้งเหตุนั้น

 

                ท่านเศรษฐีถามว่า สหาย ก็ความปฏิพัทธ์ในอะไรๆ ของราชสีห์นั้นมีบ้างไหม?

 

                เขาตอบว่า มีครับนาย มันติดพันแม่เนื้อตัวหนึ่ง.

 

                ท่านเศรษฐีถามว่า แกสามารถจะจับแม่เนื้อนั้นได้ไหม?

 

                เขาตอบว่า พอจะทำได้ครับนาย ท่านเศรษฐีกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงจับมันให้ได้ เอายาพิษย้อมขนที่ตัว ตั้งแต่หน้าผากของมัน ขึ้นไปหลายๆ ครั้ง ทำให้แห้ง กักไว้สอง-สามวัน ค่อยปล่อยแม่เนื้อนั้นไป ราชสีห์นั้นจักเลียสรีระของแม่เนื้อนั้นด้วยเสน่หา ถึงความสิ้นชีวิตเป็นแน่ ทีนั้น เจ้าจงเอาหนังเล็บเขี้ยวและเนื้อของมันมาให้

 

               แล้วมอบยาพิษอย่างแรงให้ส่งตัวไป

 

               คนเลี้ยงโควางข่ายจับแม่เนื้อนั้นได้ด้วยอุบายแล้ว ได้กระทำตามสั่ง

 

                ราชสีห์เห็นแม่เนื้อนั้นแล้ว เลียสรีระของแม่เนื้อนั้นด้วยเสน่หาอย่างรุนแรง ถึงความสิ้นชีวิต.

 

               ฝ่ายคนเลี้ยงโค ก็เอาหนังเป็นต้น ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์.


               พระโพธิสัตว์ทราบเหตุนั้นแล้ว กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าเสน่หาในพวกอื่นไม่ควรกระทำ ราชสีห์ผู้เป็นมฤคราช ถึงจะสมบูรณ์ด้วยกำลังอย่างนี้ ก็เพราะอาศัยความติดพันด้วยอำนาจกิเลส เลียสรีระของแม่เนื้อทำการบริโภคยาพิษ ถึงสิ้นชีวิตไปแล้ว.

             
               บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น ดังนี้.

               ผู้ใดในกาลก่อน เคยเป็นภัยยังไม่เป็นที่มักคุ้นกับตน ไม่พึงวางใจ คือไม่พึงทำความมักคุ้นกับผู้ไม่คุ้นเคยนั้น ผู้ใดแม้ในกาลก่อน จะไม่เคยเป็นภัย เป็นผู้สนิทสนมมักคุ้นอยู่กับตน แม้ในผู้มักคุ้นกันนั้น ก็ไม่ควรวางใจ คือไม่พึงทำความสนิทสนมเลยทีเดียว.


               เพราะเหตุไร ?


               เพราะภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน ได้แก่ภัยนั่นแหละ ย่อมมาแต่ความคุ้นเคยทั้งในมิตร ทั้งในอมิตร อย่างไร ?


               เหมือนอย่างภัยของราชสีห์ เกิดแต่แม่เนื้อฉะนั้น คืออย่างเดียวกันกับภัยที่มาถึงกระชั้นชิดประจวบเข้าแก่ราชสีห์ จากแม่เนื้อที่ตนกระทำความวางใจด้วยอำนาจมิตตสันถวะ หรือ อีกนัยหนึ่ง เช่นเดียวกันกับแม่เนื้อที่ปรารถนาจะมาหา เข้าใกล้ราชสีห์ด้วยความพิศวาสดังนี้บ้าง.

             
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               มหาเศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

* * ชาดก 500 ชาติ แนะนำ * *

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล