อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ

พระมหาสิริราชธาตุ รุ่นดูดทรัพย์ สำหรับ ผู้สร้างพระธรรมกายประจำตัวภายในมหาธรรมกายเจดีย์นั้น จะได้รับของที่ระลึกเป็นพระธรรมกายของขวัญ

อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ หลักฐาน "ธรรมกาย" ในพระพุทธศาสนา

 

หลักฐาน "ธรรมกาย" ในพระพุทธศาสนา

คำว่า "ธรรมกาย" มีปรากฏเป็นหลักฐานในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหลายแห่ง เท่าที่ปรากฏค้นพบคือ ในพระไตรปิฎก ๔ แห่ง ในอรรถกถา ๒๘ แห่ง ในฎีกา ๗ แห่ง ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ๒ แห่ง ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา ๓ แห่ง ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ๑ แห่ง ในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ๑ แห่ง ในหนังสือพระสมถวิปัสสนาแบบโบราณ ๑ แห่ง ในที่นี้จะนำมาแสดงที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์ต่างๆ พอสังเขป

หลักฐานในพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎกฉบับบาลีอักษรไทย (๒๕๒๕) ซึ่งจัดพิมพ์โดยมหามกุฎราชวิทยาลัย มีปรากฏคำว่า "ธรรมกาย" อยู่ ๔ แห่ง โดยส่วนใหญ่อยู่ในพระสูตร คือ

แห่งแรก ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้า ๙๒ ฉบับบาลี ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้กล่าวถึง "ธรรมกาย" ว่า


"ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฐ อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ พฺรหฺมกาโย อิติปิ ธมฺมภูโต อิติปิ พฺรหฺมภูโต อิติปิ ฯ"


("ดูก่อน วาเสฏฐะ อันว่า คำว่า "ธรรมกาย" ก็ดี "พรหมกาย" ก็ดี "ธรรมภูต" ก็ดี ผู้ที่เป็นธรรมก็ดี หรือ "พรหมภูตะ" ผู้ที่เป็นพรหมก็ดี นี้แหละเป็นชื่อของเราตถาคต")


จากข้อความนี้แสดงว่า ในประโยคดังกล่าว เป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับสามเณรวาเสฏฐะว่า "ธรรมกาย" คือชื่อหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นสามารถจะกล่าวถึงพระนามของพระพุทธองค์ว่าคือ "พระธรรมกาย"

แห่งที่สองในขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๓๒ ข้อ ๒ หน้า ๒๐ บรรทัดที่ ๙ ฉบับบาลี ปี ๒๕๒๕ ได้กล่าวถึงว่า

"...ภวนฺติ ปจฺเจกชินา สยมฺภู มหนฺต ธมฺมา พหุธมฺมกายา..."


("พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้สยมภู ทรงเป็นผู้มีธรรมะอันใหญ่ มี "ธรรมกาย" มาก)


จากข้อความนี้แสดงว่า แม้ในพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ทรงมีธรรมกาย ดังนั้นลักษณะที่เหมือนกันของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย คือมีธรรมกาย


แห่งที่สาม ในขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๓๒ ข้อ ๑๓๙ หน้า ๒๔๓ บรรทัดที่ ๑ ฉบับบาลี ปี ๒๕๒๕ ได้กล่าวถึง "ธรรมกาย" ว่า


"...ธมฺมกายญฺจ ทีเปนฺติ เกวลํ รตนากรํ วิโกเปตํ น สกฺโกนฺตีโก ทิสฺวา นปฺปสิทติ ฯ"


("บุคคลใดยัง "ธรรมกาย" ให้สว่างแล้วทั้งสิ้น อันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งหลาย อันบุคคลทั้งหลายไม่มีผู้ใดจะทำร้ายได้ ใครเล่าเมื่อเห็นแล้วจะไม่ปลาบปลื้มยินดีนั้น ไม่มี")


จากข้อความนี้แสดงว่า การที่บุคคลสามารถเห็นหรือทำ "ธรรมกาย" ให้มีในตนแล้วย่อมจะมีความปลาบปลื้มยินดี


เมื่อเปรียบเทียบทั้งสามประการข้างต้น กล่าวได้ว่า "ธรรมกาย" คือลักษณะของผู้บรรลุธรรม โดยในประโยคแรกเป็นการบรรลุธรรมหรือคุณสมบัติของผู้ตรัสรู้ธรรมในระดับของผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในประโยคที่สองเป็นระดับพระปัจเจกพุทธเจ้า ส่วนในประโยคที่สาม ระบุว่าบุคคลทั่วไปก็สามารถที่จะเข้าถึงและบรรลุธรรมหรือเห็นธรรมกายภายในตนได้


แห่งที่สี่ ในขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๓๓ ข้อ ๑๕๗ หน้า ๒๘๔ บรรทัดที่ ๑๒ ฉบับบาลี ปี ๒๕๒๕ ได้กล่าวถึง "ธรรมกาย" ไว้ว่า


"สํวทฺชโตยํ สุคต รูปกาโย มยา ตว อานนฺทิโย ธมฺมกาโย มม สํวทฺธิโต ตยา ฯ"


("ข้าแต่พระสุคต รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันยังให้เติบโตแล้ว แต่ "พระธรรมกาย" อันน่ารื่นรมย์ของหม่อมฉัน พระองค์ให้เติบโตแล้ว")


จากข้อความนี้แสดงว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระนางมหาปชาบดีได้เป็นผู้ให้การเลี้ยงดูให้พระองค์เจริญเติบโต แต่พระพุทธองค์ก็ประดุจได้เลี้ยงดูพระนางตอบแทนด้วยการทำให้ "ธรรมกาย" เกิดขึ้นในตัวพระนาง ทั้งนี้พระนางมหาปชาบดีเป็นพระอรหันตเถรี จึงกล่าวได้อีกว่า "ธรรมกาย" ก็เป็นลักษณะหนึ่งของการเป็นพระอรหันต์ แต่เนื่องจากพระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกายมหาบุรุษ ส่วนกายของพระนางมหาปชาบดีเป็นกายของสตรี ดังนั้นธรรมกายจึงมิใช่กายเนื้อภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้ "ธรรมกาย" จึงเป็นกายภายในซึ่งบุคคลผู้นั้นสามารถเห็นได้ด้วยตนเองเมื่อเข้าถึง


หลักฐานในคัมภีร์และที่มีจารึกในที่ต่างๆ

บุคคลใดไม่มีความสงสัยว่า ตถาคตเจ้าได้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว และธรรมกายนั้นย่อมไม่มีการเกิด ไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ ไม่มีการตาย คงที่แน่นอน สงบตลอดกาล บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ถึงพร้อมด้วยพุทธคุณทั้งปวง จะนับจะประมาณมิได้ ประหนึ่งเม็ดทรายในท้องพระแม่คงคาฉะนั้น สมบูรณ์ไปด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ แต่ไม่ปรากฏต่อสายตาของคนทั้งปวง "ธรรมกาย" ของพระตถาคตเจ้า เมื่อยังไม่พ้นจากกิเลสย่อมถูกกล่าวถึงในนามของตถาคตครรภะ


"ธรรมกายนั้นย่อมเที่ยงแท้แน่นอนที่สุด เป็นสุขล้วนๆ เป็นตัวตนคือ เป็นอัตตาที่แท้จริงบริสุทธิ์ที่สุด ผู้ใดได้เห็นธรรมกายของตถาคตในลักษณะนี้แล้ว ย่อมถือว่าเห็นถูก"

(คัมภีร์ศรีมาลาเทวี สีหนาทสูตร)

"สมฺภารวิสฺตรวิภาวิตธรฺมกาย

สมฺโภคนิรฺมฺมิติวปุรฺภควานุวิภกฺต :"

คำแปล "พระผู้มีพระภาค ผู้ประกอบด้วย "พระธรรมกาย" อันพระองค์ยังให้เกิดขึ้นแล้วอย่างเลิศ ด้วยการสั่งสม (บุญบารมี) ทั้งสัมโภคกายและนิรมาณกาย"
 
(ศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ จารึกเป็นภาษาสันสกฤต)

นโมวุทฺธายนิรฺมมาณ (ธรฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย)

ภาวาภาวทฺวยาตีโต (ทฺวยาตุมาโยนิราตฺมก :)

คำแปล "ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระพุทธเจ้า ผู้มีนิรมาณกาย "ธรรมกาย" และสัมโภคกาย ผู้ล่วงพ้นภาวะและอภาวะทั้งสอง ผู้มีอาตมันเป็นสอง และหาอาตมันมิได้"
 
(ศิลาจารึกที่เมืองพิมาย พิมพ์เป็นเล่มชื่อ จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗)

"...อันว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ ผู้ทรงพระสวัสดิภาคย์เป็นอันงามนั้น พระองค์มีพระรูปพระโฉม พระสรีรกายอันวิจิตรด้วยทวัตติงสะมหาบุรุษลักษณะ (ลักษณะสำหรับพระมหาบุรุษ ๓๒) และพระอสีตยานุพยัญชนะ ๘๐ ทัศ ประเสริฐด้วย "พระธรรมกาย" อันบริบูรณ์ด้วยแก้ว อันกล่าวแล้วคือ พระสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง..."
 
(คัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ประมาณ พ.ศ.๑๐๐๐)

"ธรรมกาย เป็นทางเอกที่ไร้รูป (ขันธ์ ๕) ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่ขบคิดด้วยปัญญาไม่ได้" พระอาจารย์ปรากฏรูปขึ้นยามไร้รูป สร้างชื่อขึ้นยามไร้ชื่อ สร้างประโยชน์เพื่อไปมาอิสระ ไม่มีติดขัด ไม่เกี่ยวข้องแม้ใยไหม กิเลสไม่สามารถมาย้อมเกาะจิตใจได้ และในยามปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง จะได้พบท่านอาจารย์ใหญ่ ปรากฏธรรมจักขุ เห็นธรรมกายที่ใส บริสุทธิ์"
"...มาเถอะกัลยาณมิตรทั้งหลาย เรื่องประพฤติธรรมนี้ ต้องเริ่มที่ใจของเรา ไม่ว่าเวลาใดๆ ตรึกนึกภาวนา ทำใจตนเองให้ใสบริสุทธิ์ ปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง เห็น "ธรรมกาย" ของตนเอง เห็นจากพุทธะที่อยู่ในใจของเรา ทำตนให้หลุดพ้น รักษาศีลด้วยตนเอง เริ่มต้นผิดจากนี้ไปไม่ได้..."
(คัมภีร์ ลิ่ว จู่ ถั๋น จิง วู้ ซื่อ สมัยราชวงศ์ถัง)

...สพฺพญฺญูตญาณปวรสีลํ นิพฺพานรมฺมณํ ปวรวิลสิ


ตเกส จตูถชานาปวร ลลาต วชฺชิรสมาปตฺติ ปวรอุ...


...อิมํ ธมฺมกายพุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญาเณน


สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนปฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํ ฯ


คำแปล พระพุทธลักษณะคือ "พระธรรมกาย" มีพระเศียรอันประเสริฐคือ พระสัพพัญญุตญาณ มีพระเกศางามปรเสริฐคือพระนิพพาน อันเป็นอารมณ์แห่งผลสมาบัติ มีพระนลาฏอันประเสริฐคือจตุตถฌาน มีพระอุณาโลมอันประเสริฐ ประกอบด้วยพระรัศมีคือพระปัญญาในมหาวชิรสมาบัติ...


พระพุทธลักษณะคือ พระธรรมกายนี้ อันโยคาวจรกุลบุตรผู้มีญาณอันกล้า เมื่อปรารถนาซึ่งภาวะแห่งตน เป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกเนืองๆ ฯ

 


(หลักศิลาจารึกพระธรรมกาย จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๒
พบที่พระเจดีย์วัดเสือ อ.เมือง จ.พิษณุโลก)

"...จึงตั้งจิตต์พิจารณาดูธรรมกายในรูปกาย ด้วยการดำเนินในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ จนจิตต์รู้แจ้งแทงตลอดรูปธรรมและนามธรรมได้แล้ว จักมีตนเป็นที่พึ่ง จักมีธรรมเป็นที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้"


อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า.. "พระโยคาวจรผู้รู้ว่าธรรมกายดำรงอยู่ในหทัยประเทศแห่งสรรพภูติ ทำให้หมุนดังว่าหุ่นยนต์ ท่านจึงตั้งใจเจริญพระวิปัสสนาญาณ เพื่อให้ถึงธรรมกาย เป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมโดยสิ้นเชิง ถึงสถานอันสงบระงับ ประเสริฐเที่ยงแท้ เพราะความอำนวยของธรรมกายนั้นเป็นอมตะ..."

 


(หนังสือพระสมถวัปัสสนากรรมฐานแบบโบราณ)

**นอกจากนี้หลักฐานอื่นที่ยืนยันคำสอนเรื่อง "ธรรมกาย" ยังมีปรากฏอยู่ในที่อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะนำมาเสนอในโอกาสต่อๆ ไป**
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล