วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ มาฆบูชา วันสถาปนาสันติภาพ

 

            ย้อนไปในสมัยพุทธกาล พระจันทร์วันเพ็ญเสวยมาฆฤกษ์ ค่ำคืนที่อบอวลด้วยกลิ่นศีล กลิ่นธรรม ของพระอรหันต์ขีณาสพ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ทรงอภิญญา ที่มานั่งอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระบรมศาสดา ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งต่างเดินทางมาประชุมกัน โดยมิได้นัดหมายทางวาจา แต่รู้กันด้วยญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ เพื่อมาน้อมรับคำสอนอันประเสริฐ ให้เป็นแม่บทในการเผยแผ่พระศาสนา และเป็นหลักในการสร้างสันติภาพโลกที่ยั่งยืน...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            แม้กาลเวลาจะเคลื่อนคล้อยไปแล้วนานกว่า ๒,๕๕๐ ปี แสงสว่างจากประทีปแห่งธรรมของ พระบรมไตรโลกนาถ ยังคงส่องสว่างในดวงใจของเหล่ามนุษยชาติเรื่อยมา

             วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ในปีที่มี อธิกมาส ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นับตั้งแต่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และเริ่มออกสั่งสอนโปรดชาวโลก จนมีพระพุทธสาวก ผู้บรรลุธรรม และทำหน้าที่ช่วยกันสร้างสันติภาพโลก ย่ำธรรมเภรีไปยังดินแดนต่างๆ อย่างกว้างขวาง ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ก็ได้เกิดเป็นวันแห่งความมหัศจรรย์ ทางพระพุทธศาสนา เพราะปรากฏว่าพระพุทธสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ต่างก็เดินทางมาเฝ้าพระพุทธองค์โดยมิได้นัดหมาย วันนี้จึง ได้รับการเรียกว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" คือ วันประชุมใหญ่อันประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

             ๑. พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นพุทธสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

             ๒. พระพุทธสาวกเหล่านี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ เป็นผู้ที่พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบทด้วยพระองค์เอง
            
            ๓. พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์

             ๔. วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ คือพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

 

 

            พร้อมกันนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ เพื่อประกาศอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธจะได้ยึดถือเป็นแม่บทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสร้างสันติภาพโลก อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ คือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ได้เข้าถึงเอกันตบรมสุข โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ดังนี้

ตอนที่ ๑ อุดมการณ์ของชาวพุทธ

            อุดมการณ์ข้อที่ ๑ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา ความอดทน คือ ความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง คนเราเมื่อเกิดมาแล้วต้องอดทน อดทนต่อความ ลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อความกระทบกระทั่ง และอดทนต่ออำนาจกิเลส

            อุดมการณ์ข้อที่ ๒ นิพพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม ทรงสอนให้อดทนในการปฏิบัติธรรมเพื่อปราบกิเลส ให้หมดสิ้นไป แล้วจะได้ไปเสวยสุขในพระนิพพานอันเป็นสุขล้วนๆ

             อุดมการณ์ข้อที่ ๓ น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าสมณะ หมายความว่า ผู้สงบหรือผู้ปรารถนาจะไปนิพพานต้องไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ต้องเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตา

ตอนที่ ๒ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

             หลักการข้อที่ ๑ สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการควบคุมกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่ไม่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว กล่าวโดยย่อ คือ รักษาศีลให้บริสุทธิ์

             หลักการข้อที่ ๒ กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญ กุศลให้ถึงพร้อม คือ ทรงสอนให้ทำความดีให้ ถึงพร้อมทั้ง ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ ความดีทั้ง ๑๐ ประการ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ทุ่มเททำให้เต็มที่
หลักการข้อที่ ๓ สจิตฺตปริโยทปนํ การกลั่นจิตทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

ตอนที่ ๓ วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

             วิธีการที่ ๑ อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ โจมตีใคร ไม่โจมตีศาสนาอื่น แต่ใช้ปัญญาบอกว่าพระพุทธศาสนาดีอย่างไร

             วิธีการที่ ๒ อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายใคร ไม่ใช้กำลังเพื่อไปบังคับให้ใครเชื่อ ไม่ทำร้าย ยึดหลักอหิงสาธรรม คือ ไม่เบียดเบียน ใช้ปัญญาในการอ้างเหตุผลจนกระทั่งเขาอยากลงมือปฏิบัติด้วยตัวเขาเอง

             วิธีการที่ ๓ ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร มีความสำรวมในศีลและมารยาทให้ดี

             วิธีการที่ ๔ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในการรับประทาน รวมไปถึงการใช้สอยปัจจัยสี่ จะได้เป็นทางมาแห่งความเคารพเลื่อมใสของผู้ได้พบเห็น

             วิธีการที่ ๕ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ นั่งนอนใน ที่สงบ นักปฏิบัติธรรมต้องรักความสงบและรักในการอยู่ในที่สงบ

             วิธีการที่ ๖ อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบ ความเพียรในอธิจิต ต้องหมั่นฝึกสมาธิ เพราะสมาธิ คือ แก่นของการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

 

 

            โอวาทปาฏิโมกข์ถือว่า เป็นเนติแบบแผน ในการกำหนดเส้นทางสู่สันติภาพให้บังเกิดขึ้น แก่โลกอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาตรัสรู้มากมายเพียงไร การเผยแผ่พระธรรม คำสั่งสอนก็ยังคงยึดหลักการเหล่านี้ ซึ่งจะเป็น หลักวิชชาที่จะทำให้มนุษย์ได้บรรลุธรรมได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต

             ด้วยเหตุนี้ ในวันมาฆบูชาของทุกปี เหล่า พุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลก ควรจะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ และไปทำบุญกุศลที่วัด พร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติธรรม ทั้งทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน รวมทั้งจุดมาฆประทีปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ใน วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ วัดพระธรรมกายจะจัดงานมาฆบูชา มีการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จุดโคมมาฆประทีป และเวียนประทักษิณเป็นพุทธบูชา จึงขอเรียนเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่านมาร่วมงานบุญ มาฆบูชาเพื่อสั่งสมบุญกุศลและสืบทอดประเพณีอันดีงามสืบไป..

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 52 กุมภาพันธ์ ปี 2550

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล