วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ความคิดขั้นที่ ๓

 

          เรื่อง : โค้ก อลงกรณ์

ความคิดขั้นที่ ๓

๑ .

ขณะนั่งรถผ่านพื้นที่การก่อสร้างอาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์ฯ ผมได้ยินคำถามชวนคิดคำถามหนึ่ง ทำให้นึกถึงบรรยากาศการสนทนาของชาวต่างชาติสองท่านที่ได้มากราบหลวงพ่อ

          ท่านแรกเล่าถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เขากำลังทำ เป็นโครงการสร้างที่พักตากอากาศติดชายทะเล ทั้งสวยงาม สงบ เป็นส่วนตัว มีความปลอดภัย นี่คือโครงการในฝันโครงการหนึ่งของเขา สร้างแค่เพียงไม่กี่หลัง แต่ละหลังตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ ๒๐ กว่าไร่

          พอฟังรายละเอียดรู้สึกว่าน่าสนใจ แต่พอทราบราคายิ่งน่าสนใจกว่า ลองทายสิครับว่าราคาหลังละเท่าไร

          หลังละประมาณพันกว่าเกือบสองพันเท่านั้นเองครับ เป็นราคาที่ถูกจริง ๆ ถูกต้อง จริง ๆ ครับ! ผมไม่ได้ฟังผิด หลังละประมาณพันกว่าเกือบสองพัน ล้านบาท เท่านั้น!

          ทราบราคาแล้ว ถ้ามีสตางค์ก็สนใจอยากซื้อ แต่ที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจกว่าก็คือ อะไรก็ไม่รู้เข้าไปดลจิตดลใจให้เขากล้าคิดกล้าฝันที่จะทำโครงการราคาสูงมหาศาลแบบนี้ เชื่อไหมครับว่า ตอนนี้เริ่มมีคนต่อคิวจองกันแล้ว

          ส่วนโครงการของอีกท่านคือการสร้างโรงเรียน ที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่ดินฟ้าอากาศดี อุดมด้วยอาหารการกินและความเป็นอยู่ที่ปลอดมลพิษ เขาฝันอยากเห็นคนรุ่นลูกรุ่นหลานมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ว่าแล้วเขาก็สร้างคลินิกพิเศษ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ คอยเฝ้าดูแลโครงสร้างร่างกายของนักเรียนทุกคน ให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แบบมากที่สุด

          และอีกแนวคิดหนึ่งที่เด่นมาก ๆ คือ การมุ่งเน้นฝึกพัฒนาด้านจิตใจ

          เขาสร้างศูนย์ฝึกสมาธิระดับนานาชาติ เชิญผู้นำด้านจิตใจที่มีชื่อเสียงระดับโลกมายังสถานที่แห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเหล่าบรรดาลูกศิษย์ จากทุกสารทิศทั่วโลก ก็จะเดินทางตามมาฝึกกัน ที่นี่ ทำให้เด็กนักเรียนได้ซึมซับบรรยากาศสิ่งดีงามอย่างต่อเนื่อง

          ผมว่าในอนาคตใครก็ตามเมื่อจบออกมาจากที่นี่ เขาจะเป็นบุคคลในอุดมคติที่ใคร ๆ ก็ใฝ่ฝัน คือเป็นผู้ที่มีรูปทรัพย์ภายนอกสมบูรณ์สวยงาม และยังร่ำรวยความสุขจากทรัพย์ภายในอีกด้วย

          หลังจากฟังโครงการทั้งสองแล้ว ผมพูดออกมาได้ไม่เกินสามคำ กล้าคิดเนอะ!

          นอกจากความกล้าคิดในเรื่องใหญ่ ๆ จะน่าสนใจแล้ว ระบบความคิดของท่านทั้งสองก็น่าสนใจไม่น้อย เมื่อพบเห็นสิ่งใดเขาจะไม่คิดแบบที่คนทั่วไปคิด ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ผมนึกถึงคำถามชวนคิด ที่ได้ยินเมื่อนั่งรถผ่านพื้นที่การก่อสร้างอาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์ฯ

๒.

สร้างใหญ่ไปทำไม? คือคำถามที่ได้ยินครับ

          คำถามนี้เมื่อก่อนหลวงพ่อต้องคอยตอบเป็นประจำว่า ที่ต้องสร้างใหญ่นั้น เพราะคนมาวัดเยอะ แล้วทำไมคนมาวัดเยอะ? ที่คนมาวัดเยอะก็เพราะเราไปเชิญชวนเขามา แล้วก็มีคำถามต่อมาตามมาเรื่อย ๆ ไม่จบ

          น่าแปลก! คำถามที่คนทั่วไปถามอย่างนี้ ไม่มีหลุดออกมาจากเศรษฐีทั้งสอง ไม่ใช่ว่า เขาไม่สงสัย ทัั้งสองก็สงสัย แต่ระบบความคิดของเขาที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ พอเกิดความสงสัยแล้ว เขาจะคิดหาคำตอบจากคำถามที่ตามมาไม่จบนั่นแหละครับ
หลวงพ่อสร้างใหญ่ไปทำไม? หลวงพ่อกำลังทำอะไร? ทำเพื่ออะไร? ทำไปทำไม? และ ฯลฯ

          จากประสบการณ์ที่เขาผ่านการคิดโครงการใหญ่ ๆ มามากต่อมาก ทำให้เข้าใจอะไรได้รวดเร็ว ดังนั้นเมื่อได้เดินทางมาดูศาสนสถานด้วยตัวเอง เขาก็พบคำตอบได้ไม่ยาก ยิ่งได้มาพบหลวงพ่อและสนทนาด้วยแล้ว ทำให้เห็นคุณค่าและเข้าใจลึกซึ้งในแต่ละโครงการของหลวงพ่อยิ่งขึ้น ทั้งสองก็พูดอะไรไม่ออก นอกจากสามคำนี้

คิดได้ไง! ทำได้ไง!

คิดได้อย่างไร ไม่ใช่ทึ่งในความใหญ่โตโอฬารของอาคารสถานที่ เพราะสิ่งก่อสร้างในโลกที่เขาเห็นมโหฬารกว่านี้มีมากมาย แต่ที่ทำให้เขาทึ่งและสงสัยคือ หลวงพ่อปลูกศรัทธาและรวมใจสาธุชนมหาศาลได้อย่างไร สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ

          ถ้าหากภาษาของผมคล่องกว่านี้ คงจะขออนุญาตกระซิบบอกเพื่อให้เขาหายสงสัยสั้น ๆ ว่า ทำไปเรื่อย ๆ ครับ!

สร้างใหญ่ไปทำไม?

          ที่ผมว่าเป็นคำถามชวนคิดนั้น ก็เพราะคำถามนี้คนอื่นเป็นผู้ถาม แต่ตอนนี้สลับกัน ผู้ที่ตอบคำถามกลับถามคำถามนี้เอง พอนั่งรถผ่านพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนที่เป็นทรงกลมของอาคารเริ่มปรากฏเป็นรูปร่างชัดเจนมากขึ้น ต้องยอมรับว่า อาคารที่เห็นนี้ใหญ่โตมโหฬารไม่ใช่เล่น แล้วหลวงพ่อก็พูดขึ้น สร้างใหญ่ไปทำไม? นี่คือคำรำพึงหรือเป็นคำถามที่ท่านถามจริง ๆ

ผมไม่แน่ใจ

          ท่านถามใคร แล้วถามให้ใครตอบ หรือว่าท่านถามตัวท่านเอง เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดว่า ตอนนี้ท่านกำลังคิดอะไรอยู่? ท่านอาจจะคิดว่า อายุท่านก็ล่วงเลยมาจะ ๗๐ ปีแล้ว ยังได้ยินเสียงเสาเข็มตอกไม่หยุด การก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จ อยากจะปลีกวิเวกก็ไม่อาจวางภารกิจที่ค้าง อยู่ได้ ไม่ทราบแน่ชัดว่าท่านกำลังคิดอะไร

          หากอยากรู้คงต้องคิดเป็นแบบเศรษฐีทั้งสองท่านนี้

          คิดอย่างไร ? คิดแบบคนมีบุญ คิดอย่างนี้ครับ!

๓.

การจะวัดว่าคนไหนคือคนมีบุญ เขาจะวัดกันที่ ๒ ระดับ

          ระดับแรกวัดกันที่โลกิยทรัพย์ หรือทรัพย์ภายนอก คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ในธุรกิจการงาน เพียบพร้อมด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ถือว่าผู้นั้นประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่ง

          หลวงพ่อบอกว่า ถ้าในระดับของผู้รู้ ยังต้องวัดกันอีกระดับ นั่นคือ ต้องได้อริยทรัพย์ภายใน คือมีพระธรรมกายปรากฏที่ศูนย์กลางกาย หรืออย่างน้อยก็ได้ดวงธรรมใส ๆ ด้วย ถ้าได้ครบทั้ง ๒ ขั้น ดังกล่าว จึงจะเรียกว่า ชีวิตได้ประสบความสำเร็จสมบูรณ์ครบ ๒๐๐ %

          ๒๐๐ % นี้ จึงเป็นสิ่งที่มหาเศรษฐีทั้งสองท่านสนใจ และคิดที่จะมาแสวงหาความสุขและความสำเร็จใน ๑๐๐ % ที่เหลือ แต่อุปสรรคของเขาก็คือ เวลา ภารกิจความรับผิดชอบมากมายเหลือเกิน จนเขาแทบไม่มีเวลาที่จะแบ่งให้กับการทำสมาธิตรงนี้ หลวงพ่อได้แนะนำทั้งสองท่านไปว่า ถ้าจะรอคอยความพร้อมทุกอย่างแล้วค่อยมาทำตรงจุดนี้คงยาก ทางที่ดีคือต้องทำควบคู่กันไป ทำให้มีความสุขทุก ๆ วัน ขึ้นชื่อว่าเป็นมิสเตอร์โปรเจกต์ด้วยแล้ว จะให้มีเวลาว่างนั้น คงยาก!

          ความสุขที่แท้จริงนี้ คือความสุขที่มนุษย์เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อยู่ที่ใครจะ เห็น และ ให้ ความสำคัญจุดนี้มากแค่ไหน

          ทุกครั้งเวลาที่เจอใครมีความคิดดี ๆ ผมมักจะขอหยิบยืมมาใช้บ้าง อย่างครั้งนี้ก็ขอนำระบบความคิดแบบเศรษฐีนักธุรกิจมาทดลองใช้

          ถ้าชีวิตคนเราประกอบไปด้วยความสำเร็จ ๒๐๐ %

          ร้อยเปอร์เซ็นต์แรกเป็นเรื่องของความสำเร็จภายนอก ซึ่งเราทุกคนต่างก็แข่งขันมุ่งหน้าไปในทิศทางนี้ แต่สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ไปถึงเส้นชัยมีเพียงกลุ่มคนแค่บางส่วนเท่านั้น

          การจะประสบความสำเร็จเส้นทางภายนอกนี้ ล้วนอาศัยปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ทั้งทุน ทีม สติปัญญา ความสามารถ และกำลังบุญ ซึ่งไม่มีอะไรจะรับประกันได้ว่า ที่เราทุ่มเททั้งชีวิต แม้จะลุยอย่างเต็มที่สุดความสามารถแล้วก็ตาม เราจะเป็นผู้หนึ่งของกลุ่มคนที่ไปถึงเส้นชัย ในขณะที่ความสำเร็จอีก ๑๐๐ % ที่เหลือ กลับไม่ค่อยมีใครสนใจ

          ถ้าเป็นสนามการแข่งขัน โอกาสที่เราจะชนะในสนามที่สองนี้มีสูงมาก เพราะคู่แข่งค่อนข้างบางตา แต่ถึงแม้คู่แข่งจะหนาแน่นเต็มสนาม โอกาสที่จะคว้าชัยชนะในสนามนี้ก็ยังมีสูงอยู่ ระหว่างเรากับเศรษฐีทั้งสองหรือไม่ว่าใครก็ตาม ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เราทุกคนต่างออกตัวที่จุดเริ่มต้น มืด และ เมื่อย เสมอภาคกัน มีสิทธิ์ครอบครองชัยชนะเท่าเทียมกันทุกคน ดังนั้นหากเราเริ่มมุ่งหน้ามาสู้ในสนาม ๑๐๐ % หลังตั้งแต่ตอนนี้ โอกาสประสบความสำเร็จมีความน่าจะเป็นสูงมาก

          ถึงแม้จะไม่มีอะไรรับประกันในชัยชนะที่อยากได้ แต่เราก็มั่นใจได้ว่า ใครก็ตามที่คิดแสวงหาความสุข และครอบครองความสำเร็จจากสมาธิแล้ว ย่อมไม่ประสบคำว่า ขาดทุน แน่นอน อย่างน้อยความสงบจากสมาธินี้ ก็เป็นพลังเสริมสำคัญ ที่ช่วยให้เราสู้ในสนามแรกได้ เต็มที่เต็มกำลังมากขึ้น และเมื่อเราพิชิตความสำเร็จเปอร์เซ็นต์ที่ ๒๐๐ ได้แล้ว เราอาจจะพบ คำตอบที่หลวงพ่อคิดก็เป็นได้

          สร้างใหญ่ไปทำไม?

๓ = ( ๒ + ๑ )

บางคนคิดเปลี่ยนงาน คิดเปิดร้านกาแฟ กำลังคิดศึกษาต่อ คิดเปลี่ยนแปลงชีวิต หรือคิดวางแผนรื้อผังความจน หรือกำลังมุ่งมั่นคว้าความสำเร็จสักอย่าง เราต่างมีโปรเจกต์ชีวิตในใจด้วยกัน ทั้งนั้น

          ระหว่างที่เราเดินทางไปตามความคิดฝัน เราจะไปพบจุด ๆ หนึ่ง ที่เปรียบเหมือนเป็นจุด วัดใจ ไม่ว่าจะด้วยความเหนื่อยล้า จะด้วยอุปสรรคที่มากมาย หรือด้วยอะไรก็ตาม ที่จุด วัดใจนี้ จะทำให้เราเริ่มสับสน ลังเล และไม่มั่นใจว่า จะเดินหน้า ถอยหลัง จะเอาอย่างไรต่อไปดี

          ความคิดต่าง ๆ จะเกิดขึ้นมากมาย

          ด้วยความที่ผมเจอความคิดทั้งหลายเหล่านี้จนคุ้น ผมเลยเรียกมันว่า ความคิดขั้นที่ ๓ พอเดินทางมาถึงจุดนี้เมื่อไร ผมจะใช้วิชาคณิตศาสตร์มาช่วยหาคำตอบ ด้วยการแก้สมการอย่างที่เห็นอยู่บรรทัดข้างบนครับ

          เมื่อตกอยู่ในภาวะความคิดขั้นที่ ๓ ผมจะนำเอาความคิดขั้นที่ ๑ กับความคิดขั้นที่ ๒ มาบวกกัน ใช้ผลลัพธ์ที่ได้นำทางไปสู่เป้าหมาย นั่นก็คือเมื่อมาถึงจุดวัดใจนี้ เราจะย้อนกลับไปคิดทบทวน ที่เราลงสนามมาเพราะอะไร มีจุดประสงค์อะไร เป้าหมายเรายังชัดเจนอยู่ไหม แล้วเกิดอุปสรรคอะไร แก้ไขได้ไหม ถ้าแก้ได้จะแก้อย่างไร พอแก้ไขได้แล้วก็เดินหน้าต่อ พอเจอจุด วัดใจอีก ก็แก้สมการอีก แล้วก็เดินหน้าของเราต่อไปเรื่อย ๆ

          จนในที่สุดก็เริ่มจับทางได้ว่า ความคิดขั้นที่ ๓ นี้ เป็นจุดคั่นระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลว ซึ่งประกอบขึ้นด้วยคำสามคำ อด ทน สู้! อด-ให้ได้, ทน-ต่อไป, สู้-ให้ไหว เราต้องอดทนสู้ และสู้อดทนกับความคิดช่วงนี้ ทุกครั้งที่เราต้องการให้โปรเจกต์ชีวิตในฝัน เป็นความจริง เราต้องอดทนสู้ ต้องเอาชนะ และต้องผ่านไปให้ได้

          จากบรรยากาศที่ได้ยินได้ฟังความกล้าคิดใหญ่ ทำให้ผมสรุปได้ว่า มหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งทุกคน ล้วนต้องผ่านขั้นตอนนี้มาด้วยกันทั้งนั้น

          บางทีชัยชนะและความสำเร็จที่ได้ อาจมาด้วยการไม่ต้องไปต่อสู้หรือแข่งขันกับใครที่ไหนเลย

          อยู่ที่ความคิดขั้นที่ ๓ ของตัวเราเองทั้งสิ้น!
............................

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 126 เมษายน ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล