วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” 
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

 

ตอนที่ ๔
จรรยาข้อที่ ๗-๘

 

         “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับ           ยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

 


อยู่บ้านท่านอย่าดูดาย

 

ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหน ไปทำงานกับใคร
อย่าเป็นคนเกียจคร้าน อย่าทำตัวเป็นผู้อาศัย
ขอให้ทำเหมือนเจ้าของบ้าน
คือช่วยกันเป็นหูเป็นตา สิ่งใดจะเป็นอันตรายต่อชีวิต
ทรัพย์สิน หรือภาพพจน์ของส่วนรวม
หรือความสะอาดเรียบร้อย
ก็ต้องใส่ใจดูแลแก้ปัญหาอย่างนุ่มนวล
ไม่กระทบกระทั่ง แต่อย่านิ่งดูดาย
จะบานปลายกลายเป็นปัญหาร้ายแรง

 

๗. อยู่บ้านท่านอย่าดูดาย

    นี่ท่านเขียนย่อจากคำพังเพยประโยคเต็ม ๆ ว่า “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น…” ที่จริงวัวควายอะไรจะปั้นให้เล่นก็ไม่มีหรอก เป็นแต่คำเปรียบเทียบ ตามเจตนาที่กล่าวก็มีความหมายว่า ไม่ให้เกียจคร้าน และเพิกเฉยในกิจการบ้านเรือนของนายนั่นเอง ความโดยละเอียดท่านบรรยายไว้ว่า 

    อีกประการหนึ่ง เช่น คำบุราณท่านว่า “อยู่บ้านท่านอย่าดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น” เช่นนี้เป็นต้นก็ควรจะรฦกและกระทำ ที่จริงวัวควายอะไรจะปั้นให้เล่นก็หาไม่ดอก เป็นแต่คำเปรียบเทียบ ความเจตนาที่กล่าวก็หมายความว่าไม่ให้เกียจคร้าน และเพิกเฉยในกิจการบ้านเรือนของนายนั้นเอง

    เพราะฉะนั้น เราควรต้องมีความเพียร หมั่นดูแลทำกิจการงานของท่านว่าจะสกปรกรกรานอยู่อย่างไร ควรทำต้องทำ และสิ่งใดจะอันตรายด้วยอันใด ต้องระวังต้องคิดต้องทำ ฤๅว่าเจ้าหน้าที่เขามี ถ้าหากว่าจะเสียลงก็ต้องทำและป้องกัน ฤๅตักเตือนแก่เจ้าหน้าที่ อย่าเพิกเฉยเลยละ จะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่นั้นไม่ควร และสิ่งของอันใดที่แหลมคมกีดขวางทางอยู่ ฤๅจะตกหล่นหลุดหักมาถูกท่าน ลูกท่าน หลานท่าน ฤๅใคร ๆ ก็ดี เราต้องคิดป้องกันและเก็บแอบให้พ้นอันตราย ด้วยลูกหลานท่านเป็นเด็ก ปราศจากสติระวังตัว จะถูกต้องเข้าเป็นอันตรายเช่นนี้เป็นต้น เราต้องระมัดระวัง ดูแลด้วยจึงจะดี

    อีกข้อหนึ่งมีชุกชุมนักที่ปราศจากสติหรือหนักปาก กล่าวคือคนหนึ่งฤๅหลายคนก็ดีเดินไปข้างหน้า ฤๅยืนอยู่ไม่รู้สึกระวังคนที่เดินไปข้างหลัง ถือของที่หลุดล้มพลัดแพลงตกหล่นได้ง่าย ไม่บอกกล่าวคนข้างหน้าให้รู้ตัว เขาวัดเหวี่ยงฤๅหันเหมาถูกเข้าให้ของนั้นอันตรายเสียหายไปเช่นนี้ ก็เป็นความผิดคิดไม่รอบคอบอันไม่สมควร ๆ ตนจะบอกกล่าวคนข้างหน้าและคนที่ยืนนั้นให้รู้สึกตัวว่า เรายกและถือของมา เขาจะได้หลีกหลบ และคนที่วัดเหวี่ยงหันเหมาถูกเข้านั้น ก็มีความผิดบ้างเหมือนกันที่มีสติเผลอ แต่น้อยกว่าผู้ถือของ เพราะที่มาข้างหลังเขา ๆ ไม่เห็น เพราะฉะนั้น เราจะต้องระวังความผิดดังนี้ทั้ง ๒ อย่างอย่าให้เป็นได้ จึงจะนับว่ามีกริยาอันดี สมควรเป็นข้าเจ้าบ่าวขุนนาง

    สำหรับจรรยาข้อที่ ๗ นี้ ท่านบอกไว้ชัด ไม่ให้เกียจคร้านและเพิกเฉยในกิจการบ้านเรือน ไม่ว่าจะไปอยู่บ้านใคร เราอยู่กับใครก็ตาม ขอให้ทำเหมือนกับว่าเป็นเจ้าของบ้าน ไม่ใช่เพียงผู้อาศัย

    ถ้าอยู่วัด เช้าขึ้นมาก็ควรออกตรวจวัด หลวงพ่อเองทำอยู่เสมอ ดูแลว่าตรงไหนรกก็ช่วยกันเก็บเสียให้เรียบร้อย ไม่นิ่งดูดาย เห็นสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่าง ๆ ก็ให้ช่วยดูเป็นหูเป็นตาให้ด้วย เช่น เห็นกิ่งไม้ระสายไฟอยู่ ถ้าขืนปล่อยให้เป็นอย่างนี้ อีกหน่อยสายไฟจะถลอกถึงลวดทองแดง ไฟจะช็อตได้ หรือเห็นสิ่งที่ทำให้ภาพพจน์ของวัดเสีย เช่น มีหนุ่มสาวมานั่งจีบกันตามพุ่มไม้        เตี้ย ๆ ก็ควรหาวิธีขอร้องเขาอย่างนุ่มนวล ระเบียบของวัดมีเขียนไว้ ขอให้เขาช่วยกันรักษา พูดดี ๆ อย่าให้เขาโกรธ เขาอาย

    เรื่องนิสัยรักความสะอาดและไม่นิ่งดูดายนี้ เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนให้มีขึ้น เมื่อตอนที่         หลวงพ่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ชอบเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพัน รูดโซ่ ลุยไฟ มีอาจารย์ท่านหนึ่งมีชื่อทางวิชาเหล่านี้ ท่านทราบว่าหลวงพ่อชอบ จึงเรียกไปสอนคาถาให้ (ปัจจุบันหลวงพ่อทิ้ง             วิชาไสยเวทย์ไปหมดแล้วอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่ก่อนบวช เพราะเป็นเดรัจฉานวิชา ไม่ใช่ธรรมะของ     พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้จะเรียนวิชานี้ได้ ท่านมีข้อแม้อยู่ว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ว่าจะรีบเร่งอย่างไรก็ตาม หากเจอหนาม กระเบื้อง เศษแก้ว ฯลฯ ที่อาจบาดเท้าผู้คนได้ ก็ให้เราหยุดเก็บเสียให้หมดก่อน ข้อนี้เพราะคนในสมัยก่อนไม่มีรองเท้าใส่กัน ยกเว้นแต่คนที่มีฐานะดีจริง ๆ จึงจะใส่รองเท้าประจำ คนเดินเท้าเปล่าก็อาจถูกเศษหนาม กระเบื้อง แก้ว ฯลฯ ตำเท้า เอาได้ ถ้ามีความเมตตา จริงใจต่อผู้อื่น และสามารถทำได้อย่างนี้ คาถาบทนี้จึงจะศักดิ์สิทธิ์

    หลวงพ่อจึงตั้งใจรักษาสัจจะ ทำตามข้อแม้นั้น แล้วก็พบว่าสามารถนำวิชาของท่านมาใช้       ได้ขลังดี ต่อมาก็ติดเป็นนิสัย เมื่อเห็นอะไรที่เป็นอันตรายต่อมือต่อเท้าคนทั้งหลายแล้ว ต้องเก็บทิ้งหมด

    แม้จนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเดินไปไหนก็ตาม ถ้าเห็นอะไรตกหล่นอยู่บนถนน แม้จะไม่ทิ่มมือทิ่มเท้า แค่รกหูรกตาก็ทนไม่ได้แล้ว ต้องหยุดลงไปเก็บ ขอให้พวกเราทำเถิดเพราะจะเป็นบุญติดตัวไป เป็นบุญอย่างไร ยกตัวอย่าง ผู้มีบุญบารมีทั้งหลายหรือในหลวงของเรานี้ เวลาพระองค์จะเสด็จไปไหน ไม่ว่าจะเป็นที่รกกันดารเพียงใดก็ตาม จะมีคนทำทางให้ท่านไป บุญประเภทนี้เกิดจากการที่พระองค์ทรงจัดการเก็บทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อมหาชนให้เรียบร้อย และยังทรงเป็นนักทำถนนให้คนเดิน พระองค์ทรงทำข้ามภพข้ามชาติมา ด้วยอำนาจบุญนั้นไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไปไหน เส้นทางจะกันดารหรือคับคั่งเพียงใด เขาจะทำเส้นทางให้พระองค์สะดวกสบายเสมอ

    สำหรับจรรยาข้อนี้รวมไปถึงความมีสติรอบคอบด้วย เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกัน     ถ้าใครเคยเดินป่าจะเข้าใจได้ง่าย หลวงพ่อเองก็เคยทำผิดพลาดไปโดยไม่ตั้งใจ คือเราเดินตามกันเข้าไปในป่าหลายคน หลวงพ่อเดินอยู่ข้างหน้า มีกิ่งไม้ยาวเกะกะขวางทางอยู่ ก็เอามือดันลู่ไป ความที่ไม่ทันดูระยะ พอพ้นตัวกิ่งไม้ก็ดีดกลับไปโดนคนข้างหลังเข้าพอดี เขาก็เจ็บตัวไป 

    ในปัจจุบันนี้การสัญจรในลักษณะดังกล่าวแทบจะหมดไปแล้ว แต่ก็เป็นอุทาหรณ์ได้สำหรับชีวิตประจำวันทุกวันนี้ คือให้ระมัดระวังในการทำงานใด ๆ ในหน้าที่ของเรา ไม่ให้ไปกระทบกระเทือนงานในอีกหน้าที่หนึ่งด้วยความคาดไม่ถึง อาจจะเกิดความเสียหายได้ จึงต้องรอบคอบมีสติให้มาก ยกตัวอย่าง ในวัดพระธรรมกายนี้ ในวันเสาร์บางวันจะมีการอบรมประเภทต่าง ๆ  ถ้าเป็นการอบรมเด็กเล็ก จะใช้สถานที่ที่ศาลาจาตุมหาราชิกา และถ้าเป็นเด็กโต จะใช้สภา-ธรรมกายซึ่งกว้างขวางกว่า แต่ถ้าจำนวนไม่มากนักจะไปอบรมกันที่บัณฑิตยสภา หากไม่มีการนัดแนะกันก่อนให้ดี คนงานที่มีหน้าที่ตัดหญ้าในวันเสาร์ก็ลงมือตัดกันทั้งสนาม ผู้มาฟังเทศน์ก็ต้องฟังเทศน์ระคนกับเสียงเครื่องรถตัดหญ้า แบบนี้ไม่รู้เรื่องแน่

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทำงานอยู่หน่วยใดก็ตาม ขอให้นึกถึงหัวอกของผู้ที่ทำงานอยู่ด้วย ว่าอาจมีการกระทบกระทั่งกันได้ ให้ระมัดระวังให้ดี

 


อย่าเป็นคนสะเพร่า

คนที่ติดนิสัยสะเพร่าตั้งแต่เด็ก
พอโตเป็นผู้ใหญ่จะเอาดีไม่ได้
ถึงจะมีความรู้แค่ไหน ก็ทำงานโดยไม่รอบคอบ
ไม่รู้ประมาณ กลายเป็นสาเหตุ
ให้ตระกูลพินาศ หรือองค์กรล้มละลาย

 

๘. อย่าเป็นคนสะเพร่า

    สรรพสิ่งของอันใดของท่านก็ดี ที่เราจะใช้และทำ เราต้องทำโดยความระมัดระวัง อย่าให้เข้าของท่านเสียหายไปด้วยความมักง่ายและสะเพร่า อันของที่ไม่ควรใช้สำหรับกันเอามาใช้และเอามาทำ เช่นมีดเล็กคมบาง เอาไปฝานฟันเชือดหั่นของที่แข็งที่เหนียว มีดนั้นก็ทนไม่ได้ ต้องบิ่นหรอและหักยู่เสียของไป

    ฤๅว่าจะตั้งรองของหนักซ้อนทับกันก็ดี ไม่พินิจพิเคราะห์ว่าของที่รองรับนั้นจะทนทานรับรองของนั้นได้ฤๅไม่ เมื่อซ้อนตั้งวางทับลงไป ถ้าของรองรับบอบบางทนไม่ได้ ก็อันตรายหักแตกแยกยู่บู้รานและล้มร่นเลื่อนหลุดเป็นอันตราย

    หรือสิ่งที่ใช้อยู่แต่ไม่ยับยั้งชั่งมือทำแต่พอควร เช่นไขกุญแจใส่ลูกเข้าไป จะตรงจำปา ฤๅตรงลูกตรงแม่กันหรือไม่ ๆ พิจารณา ดันผิด ๆ ถูก ๆ ใช้ได้ไม่กี่มากน้อยของก็เสีย

    ฤๅเช่นว่าไขโคมลานก็ดี ไม่ได้ทำแต่พอควร บิดกระชากพรวด ๆ มิได้ยับยั้ง จนจักรและลานทนทานฝีมือไม่ใคร่ได้ ของนั้นก็ย่อมเสียเร็วกว่าชาวบ้านที่เขาใช้โดยปกติมาก มีดังนี้เป็นต้น จงระวังอย่าให้มีแก่เรา ผู้เป็นบ่าวรักนายนั้นเลย เราต้องพินิจพิเคราะห์ว่าของสิ่งใดควรจะใช้อย่างไรได้จึงใช้ และสิ่งที่สำหรับกัน ฤๅที่จะรับรองทนทานกันได้จึงใช้จึงทำ ฤๅเช่นของเงาและของสำอาง เราต้องขัดอานเช็ดล้างด้วยของอ่อนและของละเอียดจึงจะเป็นการดี และเรียบร้อยสมเหตุสมผลสมควรแก่การที่พึงกระทำ

    ข้อนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “แม้ตระกูลที่มั่งคั่งเป็นมหาเศรษฐี ถ้าคนในบ้านหรือบ่าวไพร่ใช้ของไม่รู้จักประมาณ ของหายไม่หา ของเสียไม่ซ่อม ตระกูลนั้นก็มีสิทธิ์ล้มละลายได้”

    การใช้ของไม่รู้จักประมาณ หรือที่เรียกว่าสะเพร่านั้น คือ การนำของมาใช้ผิดประเภทบ้าง ความไม่รอบคอบทำให้เสียหายบ้าง

    ยกตัวอย่างเช่น ตะปูควงถอนขึ้นหรือสกรู (Screw) ถอนขึ้น แทนที่จะเอาไขควงมาไขกลับเอามีดปลายแหลมมาไขแทน ปลายมีดจึงบิดเบี้ยวเสียหาย เป็นต้น

    หรือวางฉากไม้อัดสำหรับจัดนิทรรศการ เมื่อจัดเสร็จก็วางไว้กลางแจ้ง ไม่จัดเก็บให้เข้าที่ พอฝนตกลงมาซู่เดียว ไม้อัดเปียกพองเสียหายหมดเลย ใช้งานได้หนเดียว

    ไม่ว่าอยู่ที่ทำงานหรือที่บ้าน ก็ต้องฝึกด้วยกันทั้งนั้น เผื่อมีโอกาสไปเป็นหัวหน้างาน              ในภายหน้า จะได้รอบคอบ ไม่ค่อยผิดพลาด เป็นแบบอย่างที่ดี คนที่ติดนิสัยสะเพร่าตั้งแต่เด็ก พอโตเป็นผู้ใหญ่จะเอาดีไม่ได้ ถึงจะมีความรู้เพียงใดก็ตาม ถ้าลงเป็นคนสะเพร่าเสียแล้ว                ก็ไปไม่รอด ดังนั้นใครก็ตามที่มีลูก มีหลาน ให้ใช้ทำงานเสียตั้งแต่ยังเล็ก ทำผิดทำถูกอย่างไรก็ บ่นว่า สั่งสอนกันไป พอโตขึ้นจะได้ทำงานเป็น.. 

 

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล