ปัจจัย 4 กับนิสัย

วันที่ 06 ตค. พ.ศ.2558

ปัจจัย 4 กับนิสัย


            จะเห็นว่า พระสัมมาพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับปัจจัย 4 อย่างมากมายในหลายด้าน ทั้งประเภทปริมาณ และวัตถุประสงค์ในการใช้ โดยทรงพิจารณาด้วยความรัดกุม แยบคาย ก่อนจะทรงบัญญัติเป็นพระวินัย หรือมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุได้ใช้ ทั้งนี้นอกจากจะเพื่อให้สามารถดำรงชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆได้ ยังเพื่อความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การประพฤติพรหมจรรย์ และทำพระนิพพานให้แจ้งด้วย
ที่ทรงกำหนดด้วยความรัดกุมอย่างนั้น กลับเป็นผลดีต่อการฝึกฝนอบรมตนเองของพระภิกษุอย่างมาก เนื่องจากว่าปัจจัย 4 มีผลต่อการพัฒนานิสัย ที่จะเกื้อกูลให้คุณธรรมภายในของพระภิกษุเจริญขึ้นมา

 

            นิสัย คือ ความประพฤติเคยชิน ที่เกิดขึ้นจากการย้ำคิด ย้ำพูด และย้ำทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ่อยๆนานๆ และเมื่อได้ตอกย้ำจนเกิดเป็นนิสัยแล้ว ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใด มักมีแนวโน้มเป็นไปตามนิสัยเดิมนั้น ดังนั้นถ้าใครมีนิสัยดี ย่อมจะมีโอกาสได้คิดดี พูดดี และทำดี ในทางตรงข้าม ถ้ามีนิสัยไม่ดี ก็ย่อมมีโอกาสที่จะคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดีด้วยเช่นกันชีวิตของพระภิกษุไม่ได้มีทรัพย์สมบัติอะไรสิ่งที่มีส่วนใหญ่คือปัจจัย 4 เท่าที่จำเป็น คือ มีผ้าไตรจีวรเพียง 3 ผืน มีอาหารเท่าที่บิณฑบาตมาได้ในแต่ละวัน มีเสนาสนะที่มุงบังเพียงเล็กๆ พอตัว และมียารักษาโรคในยามที่ป่วยไข้ ดังนั้นปัจจัย 4 จึงเป็นสิ่งที่พระภิกษุมีโอกาสใกล้ชิด และใช้สอยอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดการตอกย้ำทางความคิด คำพูด และการกระทำผ่านทางปัจจัย 4 บ่อยๆ ไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้การพัฒนานิสัยทั้งที่ดีและไม่ดีทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นมาจากการมีหรือใช้ปัจจัย 4 ของพระภิกษุทั้งสิ้น


ตัวอย่างนิสัยดีๆ ที่ได้มาเนื่องด้วยปัจจัย 4 เช่น เพราะความที่มีจีวรจำกัดเพียง 3 ผืน พระภิกษุจึงต้องให้การระวังรักษา ทั้งความสะอาด ทั้งความคงทนถาวร เพื่อจะได้ใช้ได้นานๆ ซึ่งจะทำให้พระภิกษุได้ปลูกฝังนิสัยประหยัดให้กับตนเอง การมีสติรอบคอบระมัดระวังในการใช้เพื่อไม่ให้จีวรเปรอะเปื้อนสกปรก ทำให้ได้นิสัยมีความละเอียดลออในการเก็บรักษา หรือแม้กระทั่งการนุ่งห่มผ้าให้เรียบร้อย ก็ทำให้ได้นิสัยรักความมีระเบียบเรียบร้อย และละเอียดอ่อนในการกระทำต่างๆ หรือนิสัยที่ได้จากการต้องออกไปบิณฑบาต ก็จะทำให้พระภิกษุเป็นผู้ไม่ติดใจในรสชาติอาหาร เป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เรื่องมาก เป็นต้น นิสัยดีๆ ที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานสนับสนุนให้พระภิกษุได้ฝึกเพื่อพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้ง่ายยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่รู้จักบริหารปัจจัย 4 เช่นไม่ดูแลรักษาจีวรของตนเองให้ดี ก็อาจได้นิสัยเป็นผู้ที่มักง่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือไม่รักความสะอาด เป็นต้นปัจจัย 4 จึงเป็นเสมือนดาบ 2 คม ที่มีทั้งคุณและโทษในตัวของมันเอง ดังนั้นจึงต้องควบคุมบริหาร
ให้ดี ไม่อย่างนั้นปัจจัย 4 อาจจะกลายมาเป็นโทษแก่ตัวพระภิกษุเอง มกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งจีวร 1 เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต 1 เพราะเหตุแห่งเสนา นะ 1 หรือเพราะเหตุแห่งสมบัติและวิบัติ 1 ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นในที่เป็นที่เกิดแห่งตัณหา 4 อย่างนี้แล"

 

            จากพุทธพจน์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ปัจจัย 4 เป็นเหตุให้กิเลสตัณหา คือความอยากได้ อยากมีในตัวของพระภิกษุกำเริบขึ้นมาได้ ดังนั้นหากพระภิกษุไม่ระมัดระวัง มัวไปเพลิดเพลิน ติดใจ พอใจ หรือหลงยินดีโลภอยากได้ในปัจจัย 4 บ่อยๆ มากเกินไป ในที่สุดก็จะพันากลายมาเป็นนิสัยที่ไม่ดี แนวโน้มที่จะคิดไม่ดีพูดไม่ดี และทำไม่ดีจะมีมากขึ้น คุณธรรมที่เคยมีมากมายเท่าไร ก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆในทางพระวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุที่บวชใหม่ต้องถือนิสัย ในพระอุปัชฌาย์อย่างน้อยนาน 5 ปี ทั้งนี้เพื่อที่จะได้มีโอกาสรับการอบรมสั่งสอน ได้ความรู้ในทางธรรมอีกทั้งยังจะได้สังเกตซึมซับนิสัย และเรียนรู้วิธีการบริหารปัจจัย 4 มาจากท่านด้วยนิสัยดีๆ ที่เกิดจากการบริหารปัจจัย 4 ได้ดี จะเป็นพื้นฐานให้ความคิด คำพูด การกระทำในเรื่องอื่นๆ ดีตามมา ยิ่งพระภิกษุอาศัยปัจจัย 4 มาใช้ฝึกฝนตนเองจนเกิดเป็นนิสัยดีๆ ได้มากเท่าไร คุณธรรมความดีงามที่จะเกิดในใจจะยิ่งมากตามขึ้นไปด้วยเท่านั้น

 

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010507663091024 Mins