การ "รับ" ปัจจัย 4

วันที่ 06 ตค. พ.ศ.2558

การ "รับ" ปัจจัย 4


 ความสำคัญของการ "รับ" ปัจจัย 4
         เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจัย 4 เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับทุกๆ ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระภิกษุ ปัจจัย 4 ดูจะมีความสำคัญเป็นพิเศษมากขึ้นไปอีก ด้วยว่ามีข้อกำหนดทางพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ทำให้พระภิกษุต้องใช้ปัจจัย 4 เท่าที่จำเป็น ทั้งโดยประเภทและปริมาณ อีกทั้งต้องใช้สอยกันตามวัตถุประสงค์อย่างจริงจัง ซึ่งพระพุทธบัญญัติเหล่านั้นเอื้อต่อการฝึกฝนอบรมตนเองให้คุณธรรมของท่านก้าวหน้าขึ้นมา นอกจากนี้ ปัจจัย 4 ยังเป็นที่มาของนิสัย และพระภิกษุสามารถนำมาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับ ฝึกตนเองให้หมดจากกิเลสได้ด้วยแต่ประโยชน์จากปัจจัย 4 ที่พระภิกษุจะได้รับ จะมีขั้นตอนสำคัญที่เป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างดังที่กล่าวมา ขั้นตอนนั้นก็คือการ 'รับ' ปัจจัย 4เหตุใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ภิกษุใดจะเป็นมัตตัญญูได้ ภิกษุนั้นต้องรู้จักประมาณในการ'รับ' ปัจจัย 4 ของตนเองให้ได้ด้วย"ที่เป็นเช่นนั้น เพราะหากมองย้อนกลับไปถึงวงจรปัจจัย 4 ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพระภิกษุจะพบว่า กว่าพระภิกษุจะได้พิจารณาบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 ให้ได้ตามวัตถุประสงค์ หรือกว่าปัจจัย 4 จะมีผลต่อการสร้างนิสัย หรือกว่าจะมาเป็นอุปกรณ์ให้พระภิกษุได้ใช้ฝึกฝนตนเอง ก็ต้องผ่านขั้นตอนการ 'รับ'มาก่อน หากพระภิกษุไม่ได้รับปัจจัย 4 นั้นไว้ ขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นการรับจึงเป็นเสมือนประตู หรือจุดตั้งต้นที่ปัจจัย 4 จะเข้ามามีผลกระทบต่อวิถีชีวิต และคุณธรรมของพระภิกษุในระยะยาว เพราะฉะนั้นการรับหรือไม่รับ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขหรือวิธีการอย่างไร ย่อมกระทบ ต่อการพัฒนานิสัย และคุณธรรมภายในของพระภิกษุอย่างแน่นอน

 

 ผู้รู้จักการรับ
          พระภิกษุที่รู้จักประมาณในการรับ ควรจะต้องรู้จักวงจรของปัจจัย 4 ได้ดีพอ กล่าวให้ง่าย คือ ต้องเห็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของปัจจัย 4 ได้อย่างชัดเจน คือ รู้ว่าตนเองขาดแคลนสิ่งไหน รู้ว่าจะไปแสวงหามาได้อย่างไรจึงจะถูกต้องตามพระธรรมวินัย รู้ว่าจะรับหรือไม่รับแค่ไหน รู้ว่าจะต้องบริโภคใช้สอยอย่างไรจึงจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ รู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะใช้ได้คุ้มค่ายาวนาน และรู้ว่าจะสละหรือกำจัดปัจจัย 4ที่หมดสภาพแล้วอย่างไร เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความแยบคาย พระภิกษุก็จะได้ประโยชน์จากปัจจัย 4 นั้นได้เต็มที่บริบูรณ์ทั้งนี้เนื่องจากว่าการรับปัจจัย 4 เข้ามา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยอย่างไร ล้วนแต่มีผลต่อชีวิตของพระภิกษุได้ ด้วยเหตุที่ว่า
1. กรณี "ไม่รับ" หากว่าไม่มีความจำเป็นหรือขาดแคลน คงไม่ส่งผลอะไร แต่หากมีความจำเป็นก็จะทำให้ลำบาก การบำเพ็ญสมณธรรมก็ทำได้ยากขึ้นด้วย เช่น อยู่ในถิ่นที่อากาศหนาว แต่ไม่รับผ้ามาให้เพียงพอแก่ความต้องการ หรือต้องฉันภัตตาหาร แต่ไม่รับบิณฑบาตมาฉัน หรือในฤดูฝน แต่ไม่แสวงหาที่อยู่ที่มุงบัง หรือยามเจ็บไข้ แต่ไม่รับยามาใช้รักษา เป็นต้น
2. กรณี "รับน้อย" กว่าความจำเป็น ก็จะทำให้ลำบาก เช่นฉันอาหารน้อยจนเกินไป จะทำให้หิวเร็ว ร่างกายอ่อนเพลีย เกิดความกังวลเพราะความหิว เป็นต้น
3. กรณี "รับมาก" กว่าความจำเป็น ก็จะทำให้เป็นภาระที่ต้องตามดูแลรักษา เกิดความหวงแหนในปัจจัย 4 มีความไม่คล่องตัวหากต้องเดินทาง เพราะเกิดความห่วงใย หรือทำให้ต้องเสียเวลาดูแลปัจจัย4 มากเกินไป จนมีเวลาไปบำเพ็ญสมณธรรมลดลง เป็นต้น
4. กรณี "รับพอดี" ก็จะได้ประโยชน์จากการรับปัจจัย 4 อย่างเต็มที่ดังที่กล่าวมา


          ดังนั้น ไม่ว่าพระภิกษุจะรับปัจจัย 4 มาอย่างไร ย่อมส่งผลกระทบทั้งต่อนิสัยการฝึกฝนอบรมตนเองและคุณธรรมภายในของพระภิกษุโดยตรง

 

หลักการรับปัจจัย 4
            หลักในการรับปัจจัย 4 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักว่า พระภิกษุควรจะยินดีปัจจัยตามมีตามได้ หรือเป็นผู้มีความสันโดษในปัจจัย 4 ดังที่พระองค์ทรงสรรเสริญพระมหากัสสปเถระไว้ว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และเป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ไม่ถึงการแสวงหาอันไม่ควรเพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวรก็ไม่สะดุ้ง ครั้นได้จีวรแล้วก็ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมใช้สอยดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้...ด้วยเสนาสนะตามมีตามได้... ด้วยเภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ตามมีตามได้..."ความสันโดษดังพุทธพจน์นั้น หมายถึงสันโดษ 3 อย่าง2 คือ
1. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ หมายถึง เมื่อได้ปัจจัย 4 ใดมาด้วยความเพียรของตนเอง ก็พอใจบริโภคเท่าที่มีในสิ่งนั้น
2. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง หมายถึง พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดาย พร้อมที่จะสละแก่ผู้ที่ต้องการได้มากกว่าตน
3. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร หมายถึง พอใจในปัจจัย 4 ที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะ และสมณสารูปของตนเอง ของใดไม่เหมาะสมกับตน เช่น มีความประณีตมากเกินไป เหมาะกับพระเถระผู้มีคุณธรรมสูง ก็นำไปถวายให้ท่านได้ใช้สอย

 

วิธีฝึกรับปัจจัย 4
ในการรับปัจจัย 4 มีข้อพึงพิจารณาก่อนรับดังนี้
1. การรับปัจจัย 4 นั้น เป็นเพราะความ "จำเป็น" หรือความ "ต้องการ" หรือเพราะความ "อยากได้"
1.1 ความจำเป็น ในที่นี้หมายถึงปัจจัย 4 นั้นเป็นสิ่งที่ต้องได้มา หากไม่ได้ จะกระทบต่อการดำรงชีวิต หรือกระทบต่อการทำกิจวัตรกิจกรรมที่สำคัญของตน
1.2 ความต้องการ  หมายถึงไม่ได้อยู่ในภาวะที่ขาดแคลนมากเกินไป หากไม่ได้ปัจจัย 4นั้นมาก็ไม่ถึงกับเดือดร้อนมากเกินไป แต่ถ้าได้ ก็จะเกื้อกูลให้ใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
1.3 ความอยากได้ หมายถึงไม่เดือดร้อนอะไร หากไม่ได้ปัจจัย 4 นั้นมา แต่เป็นเพราะว่าโลภอยากได้ ด้วยอำนาจกิเลสภายในของตนหากพิจารณาแล้วพบว่าเป็น "ความจำเป็น" หรือเป็น "ความต้องการ" ก็ให้พิจารณารับตามสมควรแต่หากเป็นเพราะ "ความอยากได้" พระภิกษุต้องรีบหักห้ามใจ และไม่ควรรับปัจจัย 4 นั้นเลย


2. พิจารณาโดยอาศัยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ (1) ไทยธรรม หรือปัจจัย 4 ของผู้ให้ (2) จิตเจตนา หรือความต้องการของผู้ให้ (3) กำลังตามความจำเป็น หรือความต้องการของพระภิกษุ โดยอาศัยหลักว่า
2.1 หากผู้ให้มีปัจจัย 4 มาก แต่ต้องการถวายเพียงเล็กน้อย ก็ให้พระภิกษุรับไว้แต่น้อย ตามความต้องการของผู้ให้
2.2 หากผู้ให้มีปัจจัย 4 น้อย แต่ต้องการถวายมาก ก็ให้พระภิกษุรับไว้แต่น้อย ตามปริมาณของปัจจัย 4 ที่มี
2.3 หากผู้ให้มีปัจจัย 4 มาก และต้องการถวายมากด้วย พระภิกษุก็ควรรับแต่พอประมาณ ตามความจำเป็นของตนเอง


          ด้วยหลักการที่กล่าวมา ย่อมจะทำให้การรับปัจจัย 4 ของพระภิกษุมีความพอเหมาะพอดี ซึ่งนอกจากจะทำให้ท่านเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของสาธุชนแล้ว ปัจจัย 4 ที่รับมานี้ ยังจะเกื้อกูลต่อการใช้ชีวิต และการบำเพ็ญสมณกิจ เพื่อขัดเกลา กาย วาจา ใจ และเพิ่มพูนคุณธรรมของท่านให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028411749998728 Mins