เลือกนายดีเป็นศรีแก่ตัว

วันที่ 15 ธค. พ.ศ.2558

เลือกนายดีเป็นศรีแก่ตัว

    สาเหตุที่ตรัสชาดก ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ภิกษุพากันกล่าวว่าพระเทวทัตมองดูมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ แวดวงด้วยพระรัศมีแผ่ซ่านประมาณ 1 วา ถึงความงามเลิศยอดเยี่ยมของพระตถาคตแล้ว ไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสได้ หนำซ้ำยังกระทำความริษยาเอาด้วย พระทศพลเสด็จมาตรัสว่ามิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อนก็เช่นกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้..

 

    ในอดีตกาล มีช้างเผือกเชือกหนึ่งเป็นมงคลหัตถี วันหนึ่งพระราชาเสด็จขึ้นมงคลหัตถีประดับเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ทรงทำประทักษิณพระนครด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ มหาชนแห่แหนยืนดูความงามเลิศพิไลในกองแก้วสมบัติของช้างมงคล แล้วพากันพรรณนาชื่นชมว่า สมเป็นช้างคู่พระบารมีของพระเจ้าจักรพรรดิเสียจริง พระราชาทรงสดับเสียงสรรเสริญแต่มงคลหัตถี ทรงอดพระทัยไม่ได้ให้ริษยาเหลือกำลัง รับสั่งให้นายหัตถาจารย์ขี่ช้างขึ้นเขา ให้ไสช้างไปที่เหวแล้วแสดงการยืน 3 ขานายหัตถาจารย์ก็ทำให้ช้างยืน 3 ขาได้ พระราชาทรงรับสั่งให้ช้างยืน 2 ขา จนเหลือขาเดียว ช้างก็ทำตามได้อย่างชำนาญ จนกระทั่งรับสั่งให้ยืนบนอากาศ! นายหัตถาจารย์จึงรู้เจตนาที่แท้จริงของพระราชาว่า พระองค์ทรงประสงค์จะให้ช้างนี้ตกเขาตายโดยมิต้องสงสัย จึงกระซิบที่ข้างหูช้างว่า..

 

    "พ่อเอ๋ย พระราชาจะให้เจ้าตกเขาตายหน่ะ! เจ้าไม่คู่ควรกับพระราชาองค์นี้หรอก ถ้าเจ้ามีกำลังมากพอไปทางอากาศได้ ก็จงรีบพาเราเหาะขึ้นสู่เวหาไปพาราณสีกันเถอะ!"ทันใดนั้น ช้างเผือกซึ่งเปียมบุญฤทธิ์ได้ยืนสง่าอยู่กลางนภากาศ นายหัตถาจารย์ดีใจ ทั้งอัศจรรย์ใจยิ่งนัก หันมาทูลลาพระราชาว่า..

 

    "ข้าแต่มหาราช! ช้างนี้ถึงพร้อมด้วยบุญฤทธิ์ ไม่คู่ควรแก่คนมีบุญน้อยปัญญาทรามเช่นพระองค์หรอก! ช้างนี้ต้องคู่ควรแก่พระราชาผู้เป็นบัณฑิตเท่านั้น ข้าแต่มหาราช! ผู้ไร้ปัญญาและบุญน้อยดั่งเช่นพระองค์ ถึงจะได้พาหนะดีๆ เช่นนี้ ก็มิได้รู้คุณค่าของมัน รังแต่จะทำพาหนะ ยศสมบัติและบริวารสมบัติให้เสื่อมไปฝ่ายเดียว คนริษยาปัญญาทรามถึงได้ยศตำแหน่งไป ก็ใช้ทำแต่สิ่งไร้สาระ ทำตนและคนอื่นให้เดือดร้อน"

 

    นายหัตถาจารย์กล่าวจบ ช้างก็เหาะขึ้นไปในอากาศตรงไปยังนครพาราณสีทันที แล้วหยุดลงตรงที่เบื้องบนท้องพระลานหลวง ชาวเมืองเห็นเหตุการณ์อัศจรรย์ดังนั้นก็พากันออกมาดูส่งเสียงเจี้ยวจ้าวเอิกเกริกเป็นการใหญ่ว่า..

 

    "ดูสิ! ช้างเผือกของพระราชาพวกเราเสด็จมาทางอากาศแล้ว"พระราชาเสด็จมาทอดพระเนตร ช้างเผือกลงมายืนบนแผ่นดิน หัตถาจารย์ก้าวลงถวายบังคมพระราชากราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ พระราชาทรงเบิกบานพระทัยเป็นที่ยิ่ง รับสั่งให้จัดงานมงคลฉลองทั่วพระนคร ทรงตั้งพญาช้างเป็นพญามงคลหัตถีแล้วแบ่งราชสมบัติออกเป็น 3ส่วนส่วนหนึ่งพระราชทานแก่พญาช้างเผือกส่วนหนึ่งแก่นายหัตถาจารย์ อีกส่วนหนึ่งพระองค์ทรงครอบครองเอง นับแต่วันที่พระราชาได้ช้างนี้มา พระราชาทั่วชมพูทวีปล้วนยินดียอมสวามิภักดิ์ราชสมบัติทั่วทั้งชมพูทวีปก็ตกอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระราชานี้ผู้เดียว พระองค์ทรงเป็นราชันผู้ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีปไปในทันที..

 

ประชุมชาดก
    พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า พระราชามคธครั้งนั้นได้มาเป็นเทวทัต พระเจ้ากรุงพาราณสีได้มาเป็นพระสารีบุตร นายหัตถาจารย์มาเป็นพระอานนท์ส่วนช้างได้มาเป็นตถาคตแล"ร้อนริษยาทำลายปัญญาตน โทษเกลื่อนกล่นป่นคุณค่ามหาศาลเพียงมุทิตาปลื้มจิตมิตรตระการ เสพสำราญบานชื่นหมื่นผลดี"

 

    จากชาดกเรื่องนี้ ช้างดีได้นายพาล อย่าว่าแต่จะช่วยพัฒนางานของนาย แม้ชีวิตก็แทบไม่รอดดังนั้นนักสร้างปัญญาบารมีจำต้องหานายดีให้พบก่อน หากเจอเจ้านายที่ริษยา ลูกน้องก็มีแต่ถูกมองแง่ลบ มีแต่ถูกกดปัญญาให้มืดมน การริษยานับว่าทำลายปัญญาตน และผลประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่อีกทั้งยังสูญเสียโอกาสดีที่จะได้พบทางสว่าง ทำให้ต้องมืดมนต่อไปอีก ซ้ำยังได้อัธยาศัยผลักคนดีมีปัญญาออกไปจากตัวจนหมดสิ้น เพราะวิสัยของผู้มีปัญญาย่อมอยู่ร่วมกับผู้ริษยาไม่ได้ แต่ผู้ริษยากลับเข้ากันได้ในคนประจบสอพลอ เป็นการดึงดูดคนพวกนี้เข้ามาเป็นพวกอีกด้วย นับเป็นการทำลายปัญญาตนเองโดยแท้ ทางที่ดีควรมองเรื่องคุณค่าให้มากกว่าคำชื่นชม เพื่อจะได้ชื่นใจกับคุณค่าที่ตนจะได้รับจากผู้มีปัญญา มากกว่าที่จะคิดว่าสูญเสียคำชื่นชมไป เช่นดั่งพระราชาบัณฑิตที่ถึงกับสละราชสมบัติของพระองค์ออกเป็น 3ส่วนให้ช้างผู้ทรงคุณกับนายควานช้างที่นึกถึงพระองค์แล้วนำช้างมาให้ ทั้งนี้เพราะทรงเห็นคุณค่าของผลดีที่จะเกิดแก่พระองค์ มากกว่าเกียรติยศจอมปลอมถ้าหากไปติดมัน

 

    ผู้ต้องการให้คนอื่นมาเคารพยอมรับตน มัวติดอำนาจชื่อเสียง เมื่อถูกแย่งชิงไปย่อมทำใจได้ยาก เหตุนี้ในหมู่กษัตริย์หรือผู้ปกครองทั้งหลายในอดีต มักสังหารวีรบุรุษผู้กอบกู้บ้านเมืองไปมากมายในยามสงบศึก เพราะวีรบุรุษเหล่านั้นมักได้รับการชื่นชมเกินหน้าผู้ปกครอง กลับถูกมองว่าแม้มีพระคุณต่อตน แต่ก็นับว่าได้แย่งเกียรติยศของตนไปกับพระคุณนั้นแล้ว จึงต้องกำจัดทิ้งบ้านเมืองจึงล่มจมถูกยึดชิงไปง่ายดายเพราะขาดคนเก่ง หากคิดถึงสุขส่วนตนมากกว่าสุขของบ้านเมืองก็ยากที่จะสละเกียรติยศชื่อเสียงที่สั่ง มมาให้ผู้อื่นไปทั้งหมดได้

 

    จากพงศาวดารจีนในยุค 3 ก๊ก เห็นได้ว่า เจ้าแคว้นทั้ง 3 ล้วนไม่ริษยาคนเก่ง ยึดมั่นแนวทางที่จะรักษาคนเก่งไว้อย่างสม่ำเสมอโดยมิยอมให้ตนหลงอำนาจ ทำให้คนเก่งทั้งหลายในแผ่นดิน ต่างเข้ามาหาเจ้าแคว้นใดแคว้นหนึ่งใน 3 แคว้นนี้เท่านั้น ไม่นิยมไปแคว้นอื่นๆ เลย ทำให้ผู้ปกครองทั้ง 3แม้ไม่เก่งแต่รวบรวมคนเก่งไว้มากมาย จนได้ครองดินแดนกว้างใหญ่กันคนละส่วน ที่ห้ำหั่นกันไม่ลงเช่น ก๊กเล่าปี มีขุนพลเก่ง จงรักภักดีมากมาย และยังได้ยอดกุนซือคือขงเบ้งมาเป็นความรู้ให้กองทัพ,ก๊กซุนกวน ก็ล้วนมีขุนศึกผู้กล้าเต็มกองทัพ,สำหรับก๊กโจโฉ มีทั้งผู้กล้าและผู้มีความรู้หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนต่อมาคนจากก๊กนี้เองที่ได้ครองแผ่นดินจีนทั้งหมด แต่ที่สำคัญที่สุด!คนเก่งเป็นจำนวนมากที่เข้ามาในแคว้นทั้ง 3 นี้ กลับถูกดูหมิ่นขับไสมาจากเจ้านครอื่น! ซึ่งต่อมานครเหล่านั้นก็ล่ม ลายไปอย่างรวดเร็วทั้งสิ้น!สูญสิ้นแคว้นเพราะแรงริษยาโดยแท้..

 

    "นิสัยเห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ, ไม่หวงอำนาจวาสนา, ไม่โหยหาชื่อเสียง, ไม่หวังเพียงให้ผู้อื่นมายอมรับ, ไม่จับผิดผู้ร่วมงานและคนรอบข้าง, ไม่วางตัวอยากเด่นอยากดัง, ไม่เกลียดชังคนดีมีปัญญา, ยึดคุณค่าประจักษ์ในใจ, มีน้ำใจกว้างขวาง ไม่ริษยาคนดีมีสามารถ และฉลาดเลือกหาครูดี" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในปัญญาบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01824658314387 Mins