กตัญูต้องบูชาครู

วันที่ 15 ธค. พ.ศ.2558

กตัญูต้องบูชาครู

    สาเหตุที่ตรัสชาดก ณ พระวิหารเชตวัน ภิกษุสนทนากันในธรรมสภาว่า พระเทวทัตบอกคืนอาจารย์เสียถึงความพินาศใหญ่บังเกิดในอเวจีมหานรก พระศาสดาเสด็จมาทรงทราบเรื่องนั้น ตรัสว่าแม้ในกาลก่อนพระเทวทัตก็บอกคืนอาจารย์ แล้วถึงความพินาศใหญ่เหมือนกัน จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้..

 

    ในอดีต มีบุรุษหนุ่มผู้หนึ่งแม้จะเกิดในตระกูลจัณฑาล แต่ก็เป็นคนขยันขวนขวายหาความรู้จนได้วิชา "ร่วงมะม่วง" คือเรียกผลมะม่วงรสเลิศให้ร่วงหล่นจากต้นได้ จึงอาศัยวิชานี้ขายมะม่วงเลิศรสเลี้ยงครอบครัว ต่อมามีชายหนุ่มผู้หนึ่งได้ลิ้มลองรสมะม่วงนี้ ทราบทันทีว่ามิใช่มะม่วงตามธรรมชาติจึงตามมาดูที่บ้านของพ่อค้าก็พบว่าเป็นวิชาร่วงมะม่วงของพ่อค้านั้นเอง ชายหนุ่มอยากได้วิชานี้มาครอบครอง จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์พ่อค้า ทว่าเพียงพ่อค้าเห็นหน้าชายผู้นี้ก็รู้ด้วยการดูลักษณะคนว่าบุรุษนี้ที่แท้เป็นคนพาลสันดานชั่ว! จึงปฏิเสธไม่รับเป็นศิษย์ หนุ่มเจ้าเล่ห์ไม่เลิกล้มความคิด เพราะวิชาวิเศษนี้ช่างยั่วเย้าใจให้ศึกษาเหลือเกิน ได้เข้าไปตีสนิทภรรยาพ่อค้า ปรนนิบัติรับใช้อย่างดี ทั้งช่วยหุงหาฟืน เตรียมน้ำล้างเท้า และเฝ้าดูแลเด็กๆ ให้ ภรรยาพ่อค้าจึงไว้วางใจและอยากตอบแทนคุณชายคนนี้บ้าง ได้อ้อนวอนให้สามีสอนวิชาร่วงมะม่วงให้เป็นการตอบแทนส่วนพ่อค้าก็เห็นแก่ภรรยาจึงยอมตัดใจสอนให้

 

    ชายหนุ่มเรียนอย่างตั้งใจจริงจนจบหลักสูตรภายในเวลาไม่นาน ก่อนจากกันอาจารย์ได้ทิ้งคำเตือน ติไว้ว่า..
"เจ้าจงจำไว้ให้ดีนะ! วิชานี้มีค่ามหาศาล เมื่อเจ้าตั้งใจจะเอาไปแสดงต่อพระพักตร์พระราชาลาภสักการะก็จะเกิดสมใจเจ้า แต่ทว่า! เจ้าจงอย่าลืมเป็นอันขาด! เมื่อพระราชาทรงสอบถามถึงอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชานี้ให้เจ้า เจ้าต้องบูชาครูวิชาให้จงดี อย่าได้ปกปิดเป็นอันขาด มิฉะนั้นวิชานี้จะเสื่อมลงทันที

 

    ชายหนุ่มรับโอวาทแล้วกราบลาอาจารย์บ่ายหน้าเข้าสู่เมืองหลวงทันที เมื่อมะม่วงเลิศรสได้แพร่กระจายขายไปทั่วพระนคร ไม่นานก็ตกไปถึงในวัง ผู้ได้ลิ้มรสคนแรกย่อมเป็นพระราชา พระราชาติดใจในรสจนอร่อยซาบซ่านไปทั่วพระวรกาย รับสั่งเรียกนายทหารไปตามตัวพ่อค้านี้มาโดยด่วน"เจ้านำมะม่วงเช่นนี้มาจากไหนรึ" พระราชาตรัสถามพ่อค้าหนุ่ม"เป็นอานุภาพแห่งวิชาของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า" พ่อค้าหนุ่มตอบอย่างภาคภูมิใจ
"งั้นเราขอดูวิชาเจ้าสักหน่อยเถอะ!" พระราชาตรัสรุ่งขึ้น พ่อค้าหนุ่มพิสูจน์ฝีไม้ลายมือให้พระราชาทอดพระเนตร ได้กล่าวร่ายวิชาจนจบควักน้ำสาดไปที่ต้นมะม่วง พริบตานั้น มะม่วงก็ร่วงหล่นพรั่งพรูดั่งกระแสฝน มหาชนแซ่ซ้องสาธุการก้องฟ้าปานเมฆคำราม

 

    พระราชาตรัสอย่างอัศจรรย์พระทัยว่า..
"วิชานี้ช่างอัศจรรย์ยิ่งนัก! เจ้าเรียนมาจากผู้ใดกันรึ"
พ่อค้าหนุ่มกำลังจะตอบออกไปต่อหน้าสาธารณชน แต่พลันเกิดความละอายใจ พลางคิดว่า
"ช่างน่าอดสูใจจริง! ถ้าหากเราบอกความจริงไปว่าคนจัณฑาลเป็นคนสอนเรา คำชื่นชมของพระราชาและมหาชนที่มีเมื่อสักครู่ก็จะกลับกลายเป็นดูถูกดูหมิ่นเราทันที แล้วจะมีประโยชน์อะไรเล่าที่เราจะบอก จึงทูลตอบไปว่า..

 

    "ข้าพระบาทเรียนวิชานี้มาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ผู้โด่งดังในเมืองตักกสิลา พระเจ้าข้า"เป็นอันว่าพ่อค้าได้คืนวิชาแก่ครูนับแต่วินาทีที่เปล่งคำพูดจบ พระราชาและเหล่าข้าราชบริพารรวมทั้งมหาชนพากันชื่นชมโสมนั กับพ่อค้าหนุ่มที่มีวิชาดีเช่นนี้ นับว่าพ่อค้าสมใจได้คำชื่นชมวันรุ่งขึ้น! พระราชาอยากเสวยมะม่วงทิพย์อีก รับสั่งให้พ่อค้าหนุ่มใช้วิชานำมาให้อีก พ่อค้าร่ายวิชาอย่างมั่นใจ เมื่อสาดน้ำไปกลับไม่มีผลอันใดเกิดขึ้น เกิดรำลึกถึงคำอาจารย์ขึ้นมาได้จึงรู้สาเหตุที่วิชาเสื่อม แล้วยืนอดสูใจมองดูต้นไม้

 

"ว่าอย่างไรรึ วันนี้วิชาท่านเป็นอะไรไปล่ะ!" พระราชาตรัสถามอย่างฉงน
"วันนี้ฤกษ์ไม่ดีพระเจ้าข้า!" พ่อค้าทูลตอบ
"เอ ที่ผ่านมาข้าไม่เคยเห็นเจ้าเอ่ยถึงฤกษ์เลย ..วันนี้มีอะไรกันแน่" พระราชาตรัสซัก
พ่อค้าหนุ่มเห็นว่าไม่สามารถเพ็ดทูลพระราชาต่อไปได้ คิดว่าหากสารภาพความจริง พระราชาอาจทรงเห็นใจไม่ลงอาญา จึงกล่าวสารภาพว่า..

"ข้าพระบาทความจริงได้เรียนวิชานี้มาจากคนจัณฑาล แต่บัดนี้ได้ลบหลู่ท่านอาจารย์โดยโกหกต่อผู้อื่น วิชาได้ถูกทำลายลงไปแล้ว พระเจ้าข้า"

 

พระราชาทรงกริ้วตรัสตวาดว่า..
"เจ้าคนชั่ว! ได้ของดีขนาดนี้แล้วจะไปสนชาติตระกูลทำไมกันเล่า ผู้ต้องการน้ำหวานเมื่อหาได้จากต้นไม้ใด จะเป็นละหุ่งสะเดา หรือทองหลาง ต้นไม้นั้นแหละ! ประเสริฐต่อผู้นั้นแล้ว คนเรารู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด บุคคลนั้นก็เป็นคนสูงสุดของคนนั้นนั่นเอง ..ราชบุรุษทั้งหลาย! จงเฆี่ยนตีพ่อค้าชั่วนี้แล้วจับมันลากออกไป มันช่างเย่อหยิ่งจองหองนัก" ... ในที่สุดพ่อค้าหนุ่มก็เข้าป่าไปตายอย่างน่าอนาถ

 

ประชุมชาดก
    พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า มาณพอกตัญูครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัต พระราชามาเป็นพระอานนท์ส่วนบุตรคนจัณฑาลคือตถาคตแล


    จากชาดกเรื่องนี้ คนพาลมักห่วงเรื่องหน้าตาและชื่อเสียงมากกว่าห่วงเรื่องคุณธรรม แต่ในหมู่บัณฑิตด้วยกันกลับมองเรื่องคุณธรรมเป็นใหญ่กว่าเรื่องหน้าตา และชื่อเสียงจอมปลอม ทั้งยกย่องผู้ที่ประกาศเชิดชูบูชาอาจารย์ของตน คนที่มารยาเพื่อเอาหน้า มักหลงเข้าใจว่าคนอื่นชื่นชมตนเองด้วยจริงใจ แต่หารู้ไม่ว่าคนทั้งหลายย่อมมองออกถึงความปรารถนาลามกของตนคนพาลด้วยกันยอมคบหาด้วยก็เพื่อหวังผลประโยชน์ ฉะนั้นนักสร้างบารมีต้องไม่กลัวการเสียหน้า

 

    เรื่องความกตัญูนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการสร้างบารมี และมีผลต่อปัญญาโดยตรงหากมีความกตัญูไม่มากพอ ก็จะเผลอคิดลบหลู่ครูอาจารย์ได้ แม้ยามปกติอาจไม่ลบหลู่ แต่ยามถูกครูดุด่าหรือขุ่นเคืองครูเมื่อใดก็จะคิดลบหลู่ครูทันที กระทั่งนำเรื่องผิดพลาดแม้เล็กน้อยของครูยกขึ้นมาโดยมองข้ามพระคุณตั้งมากมายไปได้หมด

 

    การลบหลู่คุณนี้ เป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจมนุษย์ หากไม่ฝึกนิสัยนึกถึงพระคุณครูไว้ให้มากหรือไม่สร้างนิสัยกตัญูข่มความคิดลบหลู่คุณไว้ให้สนิทแล้วไซร้ ในอนาคตไม่วันใดวันหนึ่ง หรือชาติใดชาติหนึ่ง อาจต้องถึงคราวหลุดออกจากความเป็นศิษย์อาจารย์กัน การระลึกถึงพระคุณครูอาจารย์ได้มากเพียงใด จึงเป็นบททดสอบที่ดีของนักสร้างปัญญาบารมี ผู้ระลึกได้มากเท่าใดก็มีปัญญามากเท่านั้น ดังเช่น พระสารีบุตรได้ชื่อว่าเป็นผู้พรรณนาพระคุณของอาจารย์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มากกว่าใครในบรรดาสาวกทั้งหมด ท่านได้เป็นผู้เลิศทางปัญญา เพราะเห็นคุณค่าของอาจารย์ได้มากที่สุด ทำให้ท่านสามารถเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ได้มาก ทั้งยังรู้คุณคนได้อย่างดี เช่น รู้คุณของราธพราหมณ์ที่เคยใส่ข้าวให้ตนหนึ่งทัพพี ด้วยอัธยาศัยเช่นนี้ พระสารีบุตรจึงเห็นเรื่องราวต่างๆ ได้ละเอียดลึกซึ้งจนตรองตามคำสอนของครูได้มากที่สุด

 

    "นิสัยไม่หลงใหลในชื่อเสียง, หวังผลในคุณธรรมมากกว่ากลัวเสียหน้า, กล้าประกาศคุณเชิดชูบูชาครู, ไม่ลบหลู่คุณท่าน, หมั่นพิจารณาพระคุณครู,สามารถรู้พระคุณได้มาก, มีปัญญามองข้ามข้อผิดพลาดของครู และทนครูดุด่าขนาบได้ไม่สิ้นสุด" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในปัญญาบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013618985811869 Mins