อย่าถือสา หาปัญญาดีกว่า

วันที่ 18 ธค. พ.ศ.2558

อย่าถือสา หาปัญญาดีกว่า

    สาเหตุที่ตรัสชาดก มีภิกษุรูปหนึ่งออกจากพระวิหารเชตวันไปอาศัยอยู่ป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ถูกรุกขเทวาในป่าทำให้สลดใจจึงมาที่พระเชตวันอีก พระทศพลทรงทราบเรื่องนั้นแล้วตรัสว่า แม้บัณฑิตในกาลก่อน เทวดาก็เคยให้สลดใจมาแล้วเหมือนกัน ภิกษุนั้นทูลอ้อนวอนแล้วจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้..

 

    ในอดีต มีบุรุษผู้หนึ่งเที่ยวแสวงหาความรู้ไปทั่วทุกทิศจนเบื่อหน่ายชีวิตอันไร้สาระ ตกลงใจแสวงหาสัจจะของชีวิต ได้ออกบวชเป็นบรรพชิตอาศัยป่าใหญ่หาความสุขวิเวก ป่านี้มีสระบัวสวยงามยิ่งนักอยู่สระหนึ่ง วันหนึ่งดาบ ยืนดมกลิ่นดอกบัวในสระที่กำลังเบ่งบานน่าดูชม ทันใดนั้นเทพธิดาตนหนึ่งซึ่งสถิตอยู่ต้นไม้ริมสระ พลันปรากฏ กล่าวขึ้นว่า..

 

"ช้าก่อน! ท่านดมดอกบัวที่เขายังมิได้ให้ ดังนั้นท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น!"ดาบสงงงันไม่คิดว่าจะมีข้อกล่าวหานี้อยู่ในโลก จึงตอบกลับไปว่า..
"เรายังมิได้ลักขโมยอะไรเลย เราไม่ได้เด็ดดอกบัว เพียงแค่ยืนดมอยู่ไกลๆ เท่านั้น เช่นนี้แล้วเหตุไรท่านจึงมากล่าวหาว่าเราเป็นขโมย เรายืนดมตั้งไกล ท่านหาว่าขโมย แล้วทีชายคนนั้นล่ะ ลงไปเก็บดอกบัวเป็นกำๆ ทำไมท่านไม่ไปว่าเขาบ้างล่ะ"

 

    ดาบสกล่าวพลางชี้มือไปที่ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกำลังขุดเหง้าบัว เด็ดดอกบุณฑริกอยู่ในสระเทพธิดากล่าวตอบว่า..


"ชายนั้นมีการกระทำสกปรก หยาบช้า เปรอะเปอนบาปกรรมเยี่ยงนั้น ข้าพเจ้าจะมีคำพูดอะไรไปเตือนเขาได้ล่ะ เขาก็เหมือนผ้าอ้อมที่เปอนอุจจาระ ข้าพเจ้าเตือนได้แต่ผู้ที่ขัดเกลากิเลสชอบแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ คนแบบนี้บาปเท่าปลายขน เขาก็เห็นเท่ากลีบเมฆาทีเดียวแหละ! เหตุไฉนท่านถึงทำโทษแบบนี้ให้เป็นอัพโภหาริก ทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรไปได้ล่ะ"ดาบสฟังเทพธิดากล่าวเป็นธรรมอยู่ ก็นึกถึงธรรมเป็นใหญ่ เกิดสลดใจยินยอมให้เทพธิดาว่ากล่าว แล้วกล่าวต่อเทพธิดาว่า..

 

    "ท่านผู้ควรบูชา! ท่านอนุเคราะห์ข้าพเจ้าแล้วจริงๆ ขอท่านจงตำหนิข้าพเจ้าอีกเถิด เมื่อท่านเห็นโทษต่างๆ ของเรา"
"ข้าพเจ้ามิได้อาศัยท่านเลี้ยงชีวิตนะ! แล้วก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างท่านด้วย! ข้าพเจ้าจะเที่ยวพิทักษ์รักษาท่านทุกเวลาด้วยเหตุใด ข้าแต่ภิกษุ! ตัวท่านเองควรติเตียนตนเองเท่านั้น ท่านควรรู้การกระทำที่ไปสวรรค์ได้ด้วยตนเองนะ" เทพธิดากล่าวจบก็กลับเข้าสู่วิมานทันที

    จากนั้นมา ดาบสก็หมั่นทำความเพียร ไม่ประมาท ไม่หย่อนยานในศีล ไม่นานก็ทำฌานให้เกิดขึ้น ได้เป็นผู้มีสุขล้นเอิบอิ่มอยู่ในฌานจนสิ้นอายุขัย..

 

ประชุมชาดก
    พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า เทพธิดาครั้งนั้นได้มาเป็นพระอุบลวรรณาเถรีส่วนดาบสได้เป็นตถาคตแล


    จากชาดกเรื่องนี้ แม้ดาบสมิได้ประพฤติผิด แต่เมื่อนึกถึงธรรมเป็นใหญ่ และเห็นผลประโยชน์ทางปัญญามากกว่าการโต้แย้งจึงยอมรับผิด โดยมองผู้ชี้โทษคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ทางปัญญาอันมีค่ากว่าขุมทรัพย์ใดๆ ในโลก และปัญญาบารมีนี้ก็มีความสำคัญที่สุด จึงยอมลดทิฏฐิมานะในทุกกรณี ดังนั้นแม้ผู้ชี้โทษจะชี้ผิด แต่เป็นคำดีมีประโยชน์ก็ไม่ควรถือโทษ ควรยอมรับธรรมนั้นน้อมประโยชน์มาในตัวโดยไม่สนทิฏฐิและความถือเนื้อถือตัวของตน จึงจะเป็นผู้เคารพธรรม เห็นแก่ธรรม เทิดทูนธรรม ยกย่องธรรม เชิดชูธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ เป็นผู้ประพฤติธรรม และประพฤติตามแนวทางแห่งปัญญาอย่างยอดเยี่ยม

    เราจะเห็นตัวอย่างของพระราหุล ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสชื่นชมว่าเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาคราหนึ่งพระราหุลเดินมาแต่ไกล พวกภิกษุทิ้งไม้กวาดกับที่เทขยะไว้นอกศาลา ภิกษุอื่นถามว่าใครทิ้งไม้กวาดพวกนี้ไว้ ภิกษุอีกพวกกล่าวว่า ท่านราหุลเดินมาทางนี้คงจะทิ้งไว้ พระราหุลเองมิได้พูดว่า"กระผมไม่ได้ทำ" แม้สักคำ แต่ก้มเก็บไม้กวาดเหล่านั้นเข้าที่ ขอขมาภิกษุทั้งหลายแล้วจากไปสำหรับพระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ของพระราหุลก็เฉกเช่นกัน แม้เมื่อท่านถูกพระภิกษุกลั่นแกล้งกล่าวหาในเรื่องไร้สาระว่า ท่านเอาชายจีวรมากระทบตนเพื่อดูหมิ่น ท่านก็ขอขมาภิกษุนั้นให้อดโทษแล้วจากไป ท่านไม่มีทิฏฐิเที่ยวไปเหมือนโคเขาขาด ทำตนดุจผ้าเช็ดเท้า นี้เป็นวิถีชีวิตของท่าน วิถีแห่งปัญญา วิถีที่ทำลายทิฏฐิมานะที่ท่านยึดเป็นแนวทางให้ตนมาตลอดชีวิต ท่านจึงเป็นเอตทัคคะทางด้านมีปัญญามากกว่าสาวกทั้งหมดส่วนท่านราหุลก็เป็นเลิศทางผู้ใคร่ต่อการศึกษาผู้มีทิฏฐิมานะ! จึงเท่ากับพกพาความโง่ไว้เต็มตัว แล้วเดินไปมาอย่างไม่รู้ตัว


"นิสัยนึกถึงธรรมเป็นใหญ่, เคารพเทิดทูนธรรม, อดกลั้นข่มทิฏฐิมานะลงได้ในทุกกรณีและทำเพื่อคุณธรรมในตัว ไม่มัวหลงโต้เถียงเอาทิฏฐิ" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในปัญญาบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010377327601115 Mins