รักษาตน ข่มใจไว้เป็นศรี

วันที่ 15 มค. พ.ศ.2559

รักษาตน ข่มใจไว้เป็นศรี

          สาเหตุที่ตรัสชาดก พระทศพลทรงประทานโอวาทแก่พระเจ้าโกศลถึงราชธรรม พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลอาราธนาให้พระองค์ตรัสเรื่องในอดีต จึงได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้..

 

         สมัยหนึ่ง มีนครแห่งหนึ่งเลื่องชื่อลือชาว่าน่าอยู่อาศัย เพราะมีพระราชาฝักใฝ่บำเพ็ญทานบริจาคสิ่งของให้ชาวเมืองอยู่เป็นประจำ พระองค์มุ่งใฝ่หาเนื้อนาบุญมาตลอดโดยหวังว่าครั้งหนึ่งในชีวิตคงจะสมเจตนารมณ์ได้สักวัน และแล้ววันนั้นก็มาถึง พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเหาะออกจากเงื้อมภูเขานันทมูลกะ จาริกมาจนถึงนครแห่งนี้ ได้หยุดพักอยู่ในพระราชอุทยานของพระราชา รุ่งขึ้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาตในเมือง พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วทรงดีพระทัยเลื่อมใสไม่มีประมาณ พระองค์เสด็จเข้าไปไหว้แล้วนิมนต์ให้ขึ้นสู่ปราสาท อัญเชิญให้ประทับบนราชอาสน์ ทรงอังคาสด้วยของเคี้ยวของฉันมีรสเลิศต่างๆ ทรงสดับคำอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วทรงปีติใจในทานบารมีของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ได้ขออาราธนาให้อยู่ในพระราชอุทยานเพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้พระองค์ไปนานๆ พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาสละความสุขร่มรื่นในเขานันทมูลกะรับอาราธนาอยู่ในพระราชอุทยานเพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้พระราชาสืบไป..

 

         พระราชารีบเสด็จไปจัดแจงที่พักกลางวันและที่พักกลางคืนโดยให้คนเฝ้าอุทยานทำหน้าที่ไวยาวัจกร แล้วเสด็จกลับพระราชนิเวศน์รอคอยวันเวลาที่จะมาถวายภัตตาหารอย่างใจจดใจจ่อ จำเดิมแต่นั้นมา พระราชาได้ถวายภัตตาหารอยู่ทุกวัน ทรงอิ่มเอมในทานบารมีที่ทำในพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นล้นพ้นส่วนนายสุมังคละซึ่งเป็นคนเฝ้าอุทยานก็บำรุงดูแลพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยเคารพเสมอมา...

 

         จนมาวันหนึ่ง ข่าวลือระบือไปทั่วเมืองว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ผู้คนพากันไปดูท่านในราชอุทยานก็เห็นร่างท่านมีบาดแผลนอนปรินิพพานอยู่จริงๆ จึงออกตามหาผู้สังหารนายสุมังคละและลูกเมียหายไปจากบ้านพักในอุทยาน ประชาชนเข้าไปกราบทูลพระราชาว่าคนเฝ้าสวนฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วหนีไป พระราชารีบเสด็จทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์แล้วทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอันมาก ทรงบูชาสรีระพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่เจ็ดวันแล้วทรงทำฌาปนกิจด้วยสักการะอันยิ่งใหญ่ ทรงบรรจุพระธาตุ บูชาพระเจดีย์นั้นอยู่เรื่อยมา พระราชาทรงอาลัยคำนึงถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นเนื้อนาบุญของพระองค์อยู่เสมอมา ไม่ทรงคาดคิดว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าที่พระองค์หวังจะอุปัฏฐากดูแลไปจนตลอดชีวิตนั้น จะต้องมาพบจุดจบเช่นนี้ เรื่องนี้ฝังอยู่ในพระทัยลึกๆเสมอมา.. จนเวลาผ่านไปแล้วหนึ่งปี นายสุมังคละก็ปรากฏตัว!

 

         นายสุมังคละอดทนกบดานอยู่หนึ่งปีแล้ว เกิดอยากรู้ความเป็นไปในพระราชวังว่าตอนนี้พระราชามีน้ำพระทัยเป็นเช่นไร จะปลงพระทัยได้แล้วยกโทษให้ตนได้หรือยัง จึงลอบเข้าไปหาอำมาตย์คนหนึ่ง ขอร้องให้ช่วยสืบทราบน้ำพระทัยของพระราชาให้หน่อย อำมาตย์รู้สึกเห็นใจนายสุมังคละที่ต้องระหกระเหินเร่ร่อนมีชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ อย่างลำบากจึงรับปากที่จะช่วย รุ่งขึ้นก็เข้าไปกราบทูลพระราชา กล่าวพรรณนาคุณของนายสุมังคละที่ทำมาในอดีตอย่างมากมาย ทว่า พระราชาทำเป็นไม่ได้ยินเสียเฉยๆ อำมาตย์จึงไม่กล้ากล่าวอะไรอีก และได้กลับมาบอกกับนายสุมังคละว่า พระราชาทรงไม่พอพระทัย นายสุมังคละจึงรีบหายตัวอย่างไร้ร่องรอยไปอีกหนึ่งปี..

 

         ปีต่อมา.. นายสุมังคละย้อนกลับมาหาอำมาตย์คนเดิมอีกและอ้อนวอนให้ช่วยเช่นเดิม ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ยากที่จะทนทานผ่านไปได้ จริงๆ อำมาตย์เห็นใจนายอุทยานที่เห็นกันมานาน จึงช่วยเข้าไปกราบทูลเช่นเดิม พระราชาก็ทรงนิ่งไม่รับฟังเช่นคราวก่อน ความรู้สึกแห่งการสูญเสียบุคคลที่พระองค์ทรงแสวงหามานานตั้งแต่ทรงครองราชย์ใหม่ กว่าที่พระองค์จะได้พระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งอยู่ในแดนไกลโพ้นยากที่มนุษย์จะดั้นด้นไปได้มา กลับต้องเสียไปอย่างไม่น่าเกิดขึ้น นับเป็นความรู้สึกที่ยากจะทนทานได้เช่นกัน ดังนั้นนายสุมังคละจึงต้องไปกบดานอีกหนึ่งปี..

 

         ปีที่สามแล้ว คราวนี้นายสุมังคละพาลูกเมียมาด้วย อำมาตย์คิดว่าพระราชาคงมีพระทัยอ่อนลงแล้ว จึงพานายสุมังคละไปยืนที่ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลว่า..
"นายสุมังคละมาขอพบ พระเจ้าข้า"


       พระราชารับสั่งให้เรียกเข้ามา พระองค์ทรงทำปฏิสันถารแก่นายสุมังคละ พระองค์ไม่เคยขาดการปฏิสันถาร นี้เป็นราชธรรมเนียมที่ฝังแน่นอยู่ในพระทัยเสมอมา พระองค์ตรัสถามคำถามที่ใคร่รู้มานานถึงสามปีว่า..

"สุมังคละ! ท่านฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นบุญเขตของเราทำไม"
"ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ! ข้าพระองค์มิได้มีเจตนาจะฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเลยข้าพระองค์เข้าใจผิดคิดว่าเป็นกวางจึงยิงลูกศรไป เผอิญวันนั้นมีแขกญาติมิตรสหายมาบ้านข้าพระองค์เต็มไปหมด ข้าพระองค์ไม่มีอาหารจะเลี้ยงแขกจึงคิดว่า จะไปล่าเนื้อที่พระองค์ไม่ทรงห้ามในอุทยานมิคาดเลยว่า..พระผู้เป็นเจ้าจะมานั่งสมาธิอยู่บนแผ่นหินหลังร่มไม้นั้น!"

 

         พระราชาทรงเข้าพระทัยเหตุการณ์กระจ่าง ความขุ่นข้องหมองใจในนายสุมังคละหายไปหมดสิ้น กลับรู้สึกเห็นใจนายสุมังคละจึงได้ปลอบโยนเขาว่า..

"ถ้าเช่นนั้น ท่านก็อย่ากลัวไปเลย เราจะตั้งให้เป็นผู้เฝ้าอุทยานตามเดิม"


          อำมาตย์กราบทูลอย่างใคร่รู้ว่า..
"ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ! เหตุไรพระองค์ได้ฟังคำพรรณาคุณของนายสุมังคละถึง 2 ครั้งก็ไม่ยอมตรัสอะไรเลย แต่พอได้ฟังในครั้งที่ 3 จึงทรงให้เรียกมาล่ะ พระเจ้าข้า"

 

          พระราชาจึงตรัสว่า..

"ธรรมดาพระราชากำลังพิโรธไม่ควรผลุนผลันทำอะไรลงไป ครั้งก่อนๆ เราจึงนิ่งเสีย ครั้งนี้เรารู้ใจของเราว่าความโกรธนายสุมังคละอ่อนลงแล้ว จึงให้เรียกเขาเข้ามาได้กษัตริย์เหล่าใดถูกอคติครอบงำ หากไม่ทรงพิจารณาเสียก่อนแล้วรีบทำลงไปโดยผลุนผลันกษัตริย์เหล่านั้นมีโทษน่าติเตียน เท่ากับได้ละทิ้งชีวิตตน เมื่อพ้นจากโลกนี้ก็ไปสู่ทุคติพระราชาองค์ใดทรงยินดีในทศพิธราชธรรมอันพระอริยเจ้าประกาศไว้ ราชาเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐด้วยกาย วาจา และใจ ทรงดำรงมั่นอยู่แล้วในขันติโสรัจจะ และสมาธิย่อมถึงสุคติแน่แท้เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ของสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเราโกรธขึ้นมา เราก็จะตั้งตนตามแบบแผนลงอาชญาโดยอุบายอันแยบคายด้วยความปราณี"

 

          ราชบริษัททั้งหมดฟังแล้วพากันชื่นชมยินดี โห่ร้องสรรเสริญพระราชาของตน พากันพูดว่า..
"โอ้! ศีลและคุณธรรมเหล่านี้พวกเราก็ควรจะมีเช่นกัน ประเสริฐแล้วๆ"


          นายสุมังคละเกิดปีติเลื่อมใสในคุณธรรมของพระราชาของตน รีบลุกขึ้นถวายบังคมประคองอัญชลีกล่าวสรรเสริญพระราชาว่า..

"ข้าแต่กษัตริย์ผู้ชนาธิปัตย์! บริวารและปัญญาจะไม่ทิ้งพระองค์ไปไหนเลย เพราะพระองค์มิได้มักกริ้วโกรธ มีพระหฤทัยผ่องใสเป็นนิตย์ ขอพระองค์ทรงปราศจากทุกข์ บำรุงพระชนม์ชีพยืนอยู่ตลอดร้อยพรรษาเถิด ข้าแต่กษัตริย์! ขอพระองค์จงประกอบด้วยคุณธรรม พระราชทานอภัยให้ทูลเตือนได้ไม่ทรงกริ้วโกรธ มีความสุขสำราญไม่เดือดร้อน ปกครองแผ่นดินให้ร่มเย็น แม้จุติจากโลกนี้ไปแล้วก็จงทรงถึงสุคติเถิด"


          ชาวเมืองร่มเย็น ไพร่ฟ้าเป็นสุข พระราชาบำเพ็ญทานเรื่อยมาตราบสิ้นอายุขัย พระองค์แลทวยราษฎร์ครั้นละโลกไปแล้วก็ไปสุคติกันมากมาย...

ประชุมชาดก
       พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งนั้นปรินิพพานแล้ว นายสุมังคละมาเป็นพระอานนท์ พระราชามาเป็นตถาคตแล


         จากชาดกเรื่องนี้ การมุ่งหวังสิ่งใดมาก เมื่อผิดหวังย่อมมีโอกาสเสียใจและใช้เวลาทำใจในยามจิตใจไม่ปกตินี้ มิควรแสดงอารมณ์ขุ่นมัวออกมาให้ใครเห็น การสะกดใจรอคอยให้ความขุ่นข้องหมดไป แล้วค่อยตัดสินใจ จะช่วยให้ดำเนินการผิดพลาดน้อยที่สุด ไม่ควรรีบในเวลาควรช้า ควรตรวจดูใจตนจนพร้อมแล้วค่อยดำเนินการ


"นิสัยปรับใจให้ผ่องใสรักษาใจให้เป็นสุข" จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่อง
เข้าในขันติบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011060651143392 Mins