มิตรภาพไม่มีวันตาย

วันที่ 23 มค. พ.ศ.2559

มิตรภาพไม่มีวันตาย

    สาเหตุที่ตรัสชาดก
                ภิกษุประชุมกันเต็มธรรมสภาสนทนากันว่า ท่านพระอานนทเถระเจ้าได้ยอมเสียสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่พระตถาคตเจ้า ท่านเห็นช้างนาลาคิรีที่พระเทวทัตส่งมาปลงพระชนม์พระทศพลแล้ว แม้ถูกพระองค์ตรัสห้ามอยู่ถึง 3 ครั้งก็ยังไม่ถอยไป พระไตรโลกนาถทรงสดับถ้อยคำสรรเสริญเกียรติคุณของพระอานนท์ด้วยทิพย์โสต จึงเสด็จไปยังโรงธรรมสภา ทรงทราบเรื่องที่สนทนาจากภิกษุแล้วตรัสว่า ถึงเมื่อกาลก่อน อานนท์เกิดในดิรัจฉานก็ได้เคยสละชีวิตเพื่อตถาคตแล้วเหมือนกัน เมื่อภิกษุกราบทูลอาราธนา จึงได้ทรงนำอดีตมาดังต่อไปนี้..

               กาลครั้งหนึ่ง มีพญาหงส์ธตรฐพร้อมเหล่าบริวารอาศัยอยู่ในถ้ำทองใกล้ภูเขาจิตตกูฏ อยู่มาวันหนึ่ง มีบริวารบินมาแจ้งข่าวแก่พญาหงส์ธตรฐว่า..
"ข้าแต่มหาราช! ข้าพเจ้าพบสระบัวชื่อมานุสิยะ อยู่ในสาคลนครแห่งแคว้นมหิสกะ ที่นี่มีอาหาร
อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าข้า"

 

พญาหงส์ยินชื่อว่ามนุษย์แล้วคล้ายดังเห็นเภทภัยจึงห้ามว่า..
"อันถิ่นมนุษย์นั้นเป็นที่น่ารังเกียจนัก มักมีภัยเฉพาะหน้า พวกเจ้าอย่าได้ไปสนใจสระนั้นเลย"


เหล่าบริวารมิอาจหักใจในสระดั่งแดนสวรรค์นั้นได้ เข้าไปรบเร้าเจ้านาย ขอไปบ่อยๆ จน
พญาหงส์อ่อนใจ กล่าวว่า..
"เอาล่ะๆ ในเมื่อสระนั้นเป็นที่ถูกใจของพวกท่าน เราก็จะไปด้วยกันทั้งหมดนี่แหละ!"

 

              พญาหงส์ธตรฐพร้อมเหล่าบริวารฝูงใหญ่นับหมื่นตัวได้บินเรียบฟ้าข้ามทะเลมาถึงสระดังกล่าวทันทีที่พญาหงธตรฐร่อนลงจากอากาศเท่านั้น พลันรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่แล้ว! พญาหงส์รู้สึกผิดปกติที่ขาขาชาอย่างยิ่ง! ถูกเหนี่ยวรั้งรุนแรงอย่างยิ่ง! พญาหงส์จึงพบว่าตนเองถลำเท้าเข้าไปติดบ่วงนายพรานเสียตั้งแต่ก้าวแรกทีเดียว บ่วงนั้นรัดเท้าเอาไว้แน่นดุจถูกรัดด้วยซี่เหล็ก มาตรว่าบ่วงจะแน่นเพียงใดพญาหงส์ก็เชื่อมั่นในพละกำลังของตน จึงกระตุกบ่วงสุดแรง หนังกลับถลอกปอกออกหมด ห่วงคล้ายกับมีชีวิตที่เจ้าเล่ห์ ยิ่งสะบัดกลับยิ่งรัดแน่น เป็นเล่ห์ของนายพราน!

 

             พญาหงส์สะบัดครั้งที่ 2 เนื้อได้ขาดไปแล้ว! พญาหงส์ใจเด็ดยังเชื่อในกำลังของตนจึงสะบัดครั้งที่ 3 คราวนี้ขาดไปถึงเอ็นแล้ว! เมื่อสะบัดอีกในครั้งที่ 4 บ่วงก็รัดเข้าไปถึงกระดูก! โลหิตได้ไหลนองท่วมขา ความเจ็บปวดแสนสาหัสปะทุขึ้นไปทั้งตัวจนยากจะทนทานได้อีกแล้ว เมื่อเหตุการณ์พลิกผัน กลับกลายเป็นเช่นนี้ พญาหงส์ไม่มีเวลามาสำนึกเสียใจ เมื่อตัดสินใจมาแล้วก็ต้องสู้หาทางแก้ไขต่อไป พญาหงส์รู้ว่าเรื่องของตนจบลงแล้ว ยังเหลือแต่เรื่องของเหล่าบริวาร พญาหงส์คำนึงถึงความปลอดภัยของฝูงบริวาร พลางคิดว่า..

              "ถ้าเราร้องเตือนทุกตัวว่า ระวังติดบ่วง! ญาติทั้งหลายของเราจะพากันสะดุ้งตกใจกลัวรนรานไม่เป็นอันได้กินอาหาร เมื่อไม่ได้กินอาหารก็จะหิวโซแล้วบินข้ามมหาสมุทรกลับเขาจิตตกูฏในที่สุดก็จะหมดเรี่ยวแรงตกทะเลตายกันทั้งหมดอย่างแน่นอน อีกประการถ้าเป็นเช่นนั้น การมาคราวนี้ก็จะไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่พวกเขาอยากมา.."

 

              พญาหงส์จึงปล่อยให้บริวารนับหมื่นกินอาหารอย่างอิ่มหนำสุขสำราญอย่างเต็มความพึงใจไปสักครู่ใหญ่ พญาหงส์อดกลั้นข่มความเจ็บปวดอย่างสุดแสนทรมานเพื่อรอคอยบริวารให้เสร็จสิ้นเลือดที่ขาของพญาหงส์ก็ไหลนองออกมาอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย เหล่าบริวารดื่มกินอาหารและน้ำนานเพียงใดก็ได้สูบเอาเลือดของพญาหงส์ออกไปเพียงนั้นด้วย!การรอคอยในช่วงสถานการณ์เช่นนี้นับว่ายากจะทนทาน ถึงกระนั้นพญาหงส์ก็ทนได้เพื่อบริวาร ในเมื่อทั้งหมดยอมมอบทุกสิ่งทุกอย่างให้ตนเพื่อหวังให้ตนเป็นที่พึ่งพิงได้ แล้วไฉนจะสละสิ่งใดให้บริวารบ้างไม่ได้สละแม้กระทั่งชีวิตก็สมควร!นี้เป็นคุณธรรมของผู้ที่ผู้อื่นยกให้เป็นผู้นำซึ่งแนวทางของพญาหงส์ธตรฐเสมอมา ถ้าไม่เช่นนี้แล้วแรกเริ่มตนก็จะไม่ขอรับตำแหน่งอย่างเด็ดขาด!

 

             บัดนี้ หมู่หงส์ทั้งหลายได้ยินเสียงร้องก้องฟ้าของพญาหงส์แล้ว หงส์ทั้งหมดกลัวตายรนรานบินกันขวักไขว่วุ่นวายไปหมด เมื่อตั้งสติกันได้ก็คุมกันเป็นพวกๆ บินบ่ายหน้าข้ามมหาสมุทรไปสู่เขาจิตตกูฏโดยเร็ว หงส์บินกลับไปกันหมดแล้ว และกลับอย่างปลอดภัย! ผลพวงครั้งนี้นับว่าเป็นเพราะความยั้งคิดและความรอบคอบของพญาหงส์โดยแท้ หากว่าพญาหงส์ร้องเตือนพวกพ้องทันทีที่ติดบ่วงแล้วค่อยคิดหาทางแก้ไขในภายหลัง บัดนี้หงส์ทั้งหมดต้องตกทะเลตายหมดสิ้นแล้ว ผิดพลาดเพียงเสี้ยววินาที! เพียงครั้งเดียว!คือสูญสิ้นเผ่าพันธุ์! การไม่รอบคอบเพียงเล็กน้อยก็มีผลร้ายใหญ่หลวงเกินคาดคิดได้

 

              เวลานั้นสุมุขหงส์เสนาบดีบินไปพลางมองหาพญาหงส์ไปก็ไม่เห็น ค้นดูทุกฝูงบินก็ยังไม่พบ พลันรู้สึกว่าสถานการณ์ชักไม่ดีเสียแล้ว เมื่อเที่ยวตรวจดูฝูงบินสุดท้ายคราวนี้แน่ใจแล้วว่าภัยนี้เกิดขึ้นแก่พญาหงส์โดยมิต้องสงสัย จึงรีบบินกลับมาที่เดิมอย่างเร็วสุดชีวิต เห็นพญาหงส์ยืนองอาจโดดเดี่ยวอยู่บนโคลนตมจมกองโลหิตแดงฉาน ทนเจ็บอยู่จนร่างกายอ่อนล้าลงทุกทีสุมุขหงส์รีบเข้าไปหาผู้เป็นนายแล้วกล่าวว่า..

    "ข้าแต่มหาราช! ขอพระองค์อย่ากลัวไปเลย ข้าพระองค์มาแล้ว ข้าพระองค์แม้ต้องสละชีวิตก็จะพาพระองค์ออกจากบ่วงให้ได้"

 

พญาหงส์ต้องการทดลองใจสุมุขหงส์ จึงกล่าวว่า..
    "สุมุขะ! ฝูงหงส์บินหนีไปหมดไม่เหลียวหลังกลับมาเลย ท่านเองก็รีบกลับไปเสียเถิด อย่าอยู่ที่นี่เลยมันอันตราย! ตอนนี้ความเป็นสหายกับท่าน เราไม่มีให้แล้วเพราะเราไม่อาจทำกิจของสหายแม้สักนิดแก่ท่านได้เลย เราไม่สามารถทำอุปการะแก่ท่านได้อีกแล้ว เรากำลังจะตาย ท่านอย่าชักช้า! จงรีบบินหนีไปเสีย ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับท่านที่จะมาอยู่ตรงนี้"

 

สุมุขหงส์กล่าวตอบไม่ลังเลว่า..
    "ข้าพระองค์จะไปหรือไม่ไปก็ต้องตายอยู่ดี ตอนพระองค์มีสุข ข้าพระองค์ก็อยู่ใกล้ ตอนนี้พระองค์มีทุกข์จะให้ทิ้งไปได้อย่างไรกัน หากตอนนี้ได้ตายพร้อมกับพระองค์ก็ประเสริฐแท้ การกลับไปมีชีวิตโดยปราศจากพระองค์จะไปมีอะไร ข้าแต่พระมหาราช! การทิ้งพระองค์ไปนั้นไม่เป็นธรรมเลยนั่นไม่ใช่ทางของข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็ไม่ชอบใจการกระทำแบบนั้น"

 

    "สุมุขเอ๋ย! ทางไปของเราจะเป็นอะไรได้นอกจากเข้าสู่โรงครัวให้เขาเชือด เจ้าเป็นผู้มีความคิดอย่ามาชอบใจอยู่กับเราเลย เจ้าเห็นประโยชน์อะไรที่เราจะตายทั้งสองคน เจ้าเหมือนคนตาบอดจะมาสละชีวิตกับเราเพื่ออะไรกัน" พญาหงส์ยังทดลองใจเสนาบดี

    "ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ! ทำไมพระองค์ไม่ทรงรู้ธรรม ข้าพระองค์นั้นมุ่งหวังซึ่งธรรมและประโยชน์ในธรรมจึงภักดีในพระองค์ไม่เสียดายชีวิตเลย เมื่อมิตรระลึกถึงธรรมย่อมไม่ทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ยากแม้ต้องสละชีวิตก็ไม่พรั่นพรึง นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้"

 

พญาหงส์พึงพอใจอย่างยิ่งกล่าวต่อสุมุขหงส์ว่า..
    "อืม ธรรมนี้ท่านได้ประพฤติดีแล้วความภักดีในเรา เราได้ประจักษ์แล้ว ดังนั้นท่านจงทำตามความปรารถนาของเราเถิด เราขอร้องให้ท่านจงบินหนีไปเสีย ท่านจงกลับไปปกครองหมู่ญาติทั้งหลายของเราให้ดี อย่าทอดทิ้งหมู่ญาติของเรา!"

 

            ขณะที่หงส์ทั้งสองสนทนากันอยู่นั้น บุคคลที่สามก็พลันปรากฏ นายพรานเดินเข้ามาใกล้ๆ เห็นหงส์ตัวหนึ่งติดบ่วง อีกตัวไม่ติดบ่วงแต่กลับมายืนใกล้ๆ กัน จึงถามหงส์ว่า..

"เพราะอะไรเจ้าจึงไม่บินหนีไป หงส์นี้เป็นอะไรกับเจ้า ทำไมยังมัวยืนเฝ้าหงส์ตัวนี้อยู่อีก"
"ท่านนายพราน! พญาหงส์นี้เป็นราชาของเรา เป็นทั้งเพื่อนผู้เสมอด้วยชีวิตของเรา เราจึงไม่ไปไหน"สุมุขหงส์กล่าวตอบ แล้วขอชีวิตพญาหงส์ว่า..
"ขอให้ท่านกับตัวเรานั้นจงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขเถิด และขอท่านโปรดให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้งสองด้วยเถิดนะ หากความคุ้นเคยกันได้เกิดขึ้นระหว่างเรากับท่านแล้วก็ขอท่านอย่าพึงฆ่าข้าพเจ้าทั้งสองเสียเลย"

 

นายพรานได้ฟังถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวานของสุมุขหงส์แล้วเกิดใจอ่อนและเลื่อมใสใน
น้ำใจหงส์ที่มีต่อนาย จึงกล่าวว่า..
"เรามิได้ผูกท่านไว้สักหน่อย แล้วก็ไม่ต้องการจะฆ่าท่านด้วย เชิญท่านรีบบินไปจากที่นี้ตามความสบายเถิด"
"ถ้าท่านยังต้องการเพียงหนึ่งตัว ขอท่านโปรดปล่อยพญาหงส์แล้วจงกินข้าพเจ้าแทนเถิดข้าพเจ้าทั้งสองมีร่างกายคล้ายกัน อายุก็เท่ากัน ท่านจะไม่เสียประโยชน์ในเนื้อหนังเลย อีกทั้งท่านก็จะได้เป็นมิตรกับฝูงหงส์ไปจนตลอดชีวิตอีกด้วย"สุมุขหงส์กล่าวขอชีวิตนายนายพรานกลับมีใจอ่อนลงอีก ยิ่งเลื่อมใสุมุขหงส์ยิ่งขึ้น กล่าวว่า..
"บรรดามิตรทั้งหลายในโลก มิตรเฉกเช่นท่านจะหามีสักกี่คน ตกลง! เรายอมปล่อยสหายท่านท่านทั้งสองจงไปรุ่งเรืองในท่ามกลางหมู่ญาติเถิด"

 

             นายพรานตัดบ่วงออก อุ้มพญาหงส์ออกจากสระแล้วค่อยๆ แก้บ่วงที่รัดเท้าพญาหงส์ออกขณะช่วยพญาหงส์ก็เกิดความรักในพญาหงส์อย่างยิ่ง ได้เดินไปตักน้ำมาล้างเลือด ลูบคลำอยู่ด้วยเมตตาจิตสุมุขหงส์เห็นนายรอดปลอดภัยแล้วก็ดีใจ ได้กล่าวขอบคุณนายพรานอย่างซาบซึ้งว่า..
"ขอให้ท่านและหมู่ญาติทั้งปวงจงได้ความเบิกบานใจเหมือนที่ข้าพเจ้าเบิกบานใจแล้วในวันนี้ด้วยเถิด"

 

             นายพรานยืนรอส่งหงส์ทั้งสองให้บินจากไป แต่หงส์ทั้งสองคิดอยากตอบแทนพระคุณนายพรานที่ไว้ชีวิตตน จึงตกลงกันว่าจะให้นายพรานจับพวกตนไปเข้าเฝ้าพระราชา แต่นายพรานปฏิเสธที่จะพาไปเนื่องเพราะพระราชามิใช่ผู้ที่จะไว้ใจได้ง่ายๆ เกิดพระองค์ตรัสั่งให้ฆ่าหงส์เสียก็จะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่หงส์ทั้งสอง แต่ในที่สุดนายพรานก็นำหงส์ทั้งสองไปเข้าเฝ้าพระราชาจนได้เพราะทนคำรบเร้าของหงส์ทั้งสองไม่ไหว..

    "ข้าแต่พระมหาราชเจ้า! หงส์ทั้งสองนี้เกิดในตระกูลธตรฐ ตัวนี้เป็นพระราชาส่วนตัวนี้เป็นอัครเสนาบดีในหมู่หงส์ พระเจ้าข้า" นายพรานทูลแนะนำตัวหงส์

 

เมื่อพระราชาตรัสถามที่มาที่ไป นายพรานก็กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบทุกประการนายพรานกล่าวอย่างประทับใจว่า..

    "ทั้งหมดนี้เป็นการกระทำอันแสนยากที่จะทำได้นะพระเจ้าข้า! หงส์นี้สละชีวิตตนเพื่อประโยชน์ของนาย ยืนสรรเสริญคุณของนายอยู่ไม่ขาด และเอาแต่ร้องขอชีวิตของนายตน ข้าพระองค์ได้ ดับคำของหงส์นี้แล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงปล่อยพญาหงส์นั้นออกจากบ่วงแล้วให้บินกลับไปได้ตามสบาย แต่ทั้งสองยืนยันจะมาเฝ้าพระองค์ให้ได้"

 

พระราชาทรงสดับเรื่องราวทั้งหมดแล้วทรงเลื่อมใสตรัสั่งให้จัดทำตั่งทองคำประทานแก่หงส์ทั้งสองแล้วนำน้ำผึ้งน้ำอ้อยมาให้ทาน เมื่อพญาหงส์อิ่มแล้วพระราชาได้ตรัสถามพญาหงส์ว่า..

    "นายพรานนี้ได้ทำอะไรรุนแรงกับท่านบ้างไหมล่ะ"
    "นายพรานนี้มิได้ทำอะไรในข้าพระองค์ทั้งสองเลย นายพรานได้ฟังคำของสุมุขหงส์แล้วเกิดความเลื่อมใสปล่อยข้าพระองค์จากบ่วงนั้น และอนุญาตให้ข้าพระองค์กลับได้ตามสบาย แต่สุมุขหงส์ปรารถนาทรัพย์ให้นายพรานนี้เพื่อตอบแทนคุณจึงคิดมาสำนักของพระองค์" พญาหงส์ทูลอธิบาย

 

พระราชาจึงตรัสว่า..
    "ท่านทั้งสองมาดีแล้ว เรายินดีที่ได้เห็นท่านทั้งสอง นายพรานนี้จะได้ทรัพย์อย่างมากมายแน่นอน ท่านไม่ต้องห่วง"

 

พระราชาทรงมีรับสั่งให้อำมาตย์พานายพรานไปตัดผมโกนหนวด ให้อาบน้ำลูบไล้ของหอมแล้วประดับตกแต่งอย่างอลังการ จากนั้นได้มอบทรัพย์สมบัติให้อย่างมากมายแล้วส่งนายพรานกลับบ้าน..

            เมื่อพระราชาสนทนากับพญาหงส์ได้สักครู่ พญาหงส์ก็ได้กล่าวแสดงธรรมแก่พระราชา ทูลขอให้ทรงทศพิธราชธรรม พระราชาทรงสดับแล้วก็เกิดความเลื่อมใสต้องการบูชาธรรมนั้น จึงทรงมอบราชสมบัติให้แก่พญาหงส์ พญาหงส์ได้ถวายกลับคืน พระราชาตรัสชวนให้พักอยู่ด้วยกันที่ในวัง แต่พญาหงส์ก็ปฏิเสธ เนื่องเพราะหมู่ญาติรออยู่ที่เขาจิตตกูฏ หงส์ทั้งสองจึงต้องทูลลากลับไปยังภูเขาจิตตกูฏในเย็นวันนั้นเอง..

 

             เมื่อหงส์ทั้งหมดเห็นพญาหงส์กลับมาพร้อมกับท่านเสนาบดี ก็พากันดีใจโห่ร้องก้องเขาลำเนาไพร บินมาห้อมล้อมพญาหงส์ พญาหงส์จึงเล่าเรื่องทั้งหมดแล้วกล่าวสรรเสริญมิตรภาพของสุมุขหงส์เสนาบดี หมู่หงส์นับหมื่นพร้อมใจกันร้องชมเชยให้พรขอให้สุมุขหงส์เสนาบดีจงมีความสุขแม้นายพรานและพระราชาก็จงมีความสุข ปราศจากทุกข์ไปตลอดกาล..

 

ประชุมชาดก
           พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า พรานครั้งนั้นมาเป็นฉันนภิกษุสาคลราชามาเป็นสารีบุตรสุมุขหงส์มาเป็นพระอานนท์ พญาหงส์ธตรฐมาเป็นตถาคตผู้โลกนาถแล

            จากชาดกเรื่องนี้ การรับผิดชอบทุกข์สุขของบริวารโดยเอาชีวิตเข้าแลกนั้น นับว่าเป็นปรมัตถสัจจบารมี ที่จริงต่อหน้าที่และไม่ทิ้งบริวาร

"นิสัยทำจริง เมื่อรับภาระใดมาก็ทำให้สมบูรณ์, ไม่คิดคด เอาตัวรอด, ไม่ทอดทิ้งนาย,
เมื่อนึกถึงธรรมก็สละชีวิตเพื่อนายได้ และไม่พรั่นพรึงต่อการทำความดี" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัย
ในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในสัจจบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021097616354624 Mins