เมตตาชำระแค้น

วันที่ 05 กพ. พ.ศ.2559

เมตตาชำระแค้น

             สาเหตุที่ตรัสชาดก ครั้งนั้น พระเจ้าโกศลทรงโปรดปรานอำมาตย์ผู้หนึ่งเพราะมีอุปการะมากแก่พระองค์ อำมาตย์พวกอื่นทนไม่ได้ จึงส่อเสียดยุยงพระราชาให้ทำลายอำมาตย์นั้น พระราชาทรงเชื่อและรับสั่งให้จองจำอำมาตย์ผู้หาโทษมิได้ อำมาตย์นั้นพิจารณาสังขารอยู่ในเรือนจำจนได้บรรลุโสดาปัตติผล กาลต่อมาพระราชาทรงให้ปล่อยตัวแล้วพระราชทานยศใหญ่ให้ อำมาตย์นั้นถือเอาของหอมและดอกไม้มาบูชาพระไตรโลกนาถ ถวายบังคมแล้วทูลเรื่องราวที่ตนนั่งในเรือนจำบรรลุพระโสดาบัน พระทศพลตรัสว่า แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายก็ได้นำเอาประโยชน์มาจากสิ่งไม่เป็นประโยชน์มาแล้วเหมือนกัน ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังนี้..

             ในอดีต มีพระราชานครหนึ่ง ทรงรับคนพาลเข้าเป็นอำมาตย์ ต่อมาอำมาตย์พาลบุกรุกเข้าเขตพระราชฐานทำเรื่องเสื่อมเสียขึ้นในราชสำนัก พระราชาทราบความแน่ชัด ทรงขับไล่ออกจากแว่นแคว้นทันที แต่เรื่องกลับไม่จบเท่านี้ เพราะอำมาตย์ชั่วนั้นไปแปรพักตร์เข้ารีตกับพระราชาต่างเมืองที่มีกองกำลังมาก แล้วเริ่มดำเนินการชำระแค้นโดยยั่วยุพระเจ้าทุพภิเสนให้มายึดบัลลังก์ในนครนี้เสีย


               พระเจ้าทุพภิเสนทรงยกทัพมายึดราชบัลลังก์ได้อย่างง่ายดาย จับพระเจ้าพาราณสีใส่สาแหรกแขวนห้อยพระเศียรบนธรณีประตู พระเจ้าพาราณสีทรงมีพระทัยดี ตั้งใจจะไม่สู้รบให้เป็นเวรกรรมติดไป เมื่อถูกลงโทษเช่นนี้ก็ยังทรงแข็งพระทัยยึดมั่นในความตั้งใจเดิมของตน ไม่ทรงเปลี่ยนพระทัยไปให้เหล่านักรบเข้าต่อสู้ เมื่อทรงข่มพระทัยมิให้พิโรธได้แล้ว พระหทัยก็เบาสบายทรงเจริญเมตตาโดยปรารภราชโจร ทรงกระทำกสิณบริกรรมจนฌานบังเกิดขึ้นในขณะที่ห้อย พระเศียรอยู่นั้นเอง ทันใดนั้น เครื่องพันธนาการก็ขาดสะบั้นลงทันที พระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศส่วนพระราชาโจรเกิดอาการเร่าร้อนไปทั่วพระวรกาย ทรงบ่นเพ้อว่าร้อนๆ แล้วกลิ้งไปมาบนพื้นเมื่อทรงได้พระสติก็รีบรับสั่งให้ไปปล่อยพระเจ้าพาราณสีลงมาทันที

 

             พระเจ้าทุพภิเสนรีบเสด็จไปไหว้พระเจ้าพาราณสีให้ทรงอดโทษ แล้วอัศจรรย์ใจในพระฉวีที่ผ่องใสยิ่งนัก พลางตรัสถามอย่างฉงนพระทัยว่า..
"พระองค์ถูกแขวนอยู่อย่างนี้ เหตุไรพระฉวีวรรณยังคงผ่องใสพระวรกายของพระองค์กลับดูสดชื่นยิ่งนัก"

"ขันติและตบะเป็นคุณธรรมที่หม่อมฉันชมชอบพระทัยมาแต่เดิมนานแล้ว ตอนนี้หม่อมฉันก็ได้ทำสิ่งที่ปรารถนานั้นแล้ว เหตุไรจึงต้องทุกข์ใจให้เสื่อมพระฉวีวรรณและพละกำลังด้วยล่ะ อีกประการ กรณียกิจของหม่อมฉันคือการให้ทาน รักษาศีล และการรักษาอุโบสถ หม่อมฉันได้ทำเสร็จสิ้นหมดแล้ว ยศยิ่งใหญ่ของหม่อมฉันคือฌานก็ได้มาแล้ว หม่อมฉันจะละพระฉวีวรรณและพละกำลังได้อย่างไร พระองค์ทำลายสุขของหม่อมฉันด้วยทุกข์ที่พระองค์ลงทัณฑ์ แต่หม่อมฉันทำลายทุกข์นั้นด้วยสุขแห่งฌานสัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีใจสงบเย็นทั้งในสุขและทุกข์ควรมีตนเป็นกลาง และเป็นผู้เที่ยงตรงดังตราชู ไม่มีอาการผิดแผกแปลกกันทั้งในสุขแลทุกข์" พระเจ้าพาราณสีตรัสตอบ

"โอ้! ข้าแต่พระองค์ผู้เปรื่องยศเปียมปรีชา พระองค์ทรงเป็นผู้ทนทานได้พิเศษยิ่งนักพระองค์เท่านั้นที่สมควรครองราชสมบัติของพระองค์ส่วนหม่อมฉันจะคอยคุ้มครองป้องกันพวกโจรให้แก่พระองค์เอง" พระเจ้าทุพภิเสนตรัสอาสา

           พระเจ้าทุพภิเสนเสด็จกลับพระนคร รับสั่งลงอาญาอำมาตย์ชั่วที่มัวคิดร้ายต่อผู้มีพระคุณเพื่อไม่ให้ไปทำร้ายใครได้อีกส่วนพระเจ้าพาราณสีเมื่อบรรลุฌานแล้วก็ไม่มีพระทัยในราชสมบัติอีกต่อไป จึงได้มอบราชสมบัติแก่อำมาตย์ทั้งหลาย แล้วเข้าป่าบวชเป็นฤาษี มีความสุขเลิศล้ำนับแต่นั้นมา


ประชุมชาดก
            พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าทุพภิเสนมาเป็นพระอานนท์ พระเจ้าพาราณสีมาเป็นตถาคตแล

           จากชาดกเรื่องนี้ พระราชาทรงให้อภัยอำมาตย์พาลโดยไม่ทรงลงอาญา แต่ทรงขับไล่ออกไปเพราะคนพาลอยู่ที่ไหนก็สร้างความเดือดร้อนที่นั่น จึงต้องรีบแก้ไขเสียก่อน หากให้ตั้งอยู่ในธรรมมิได้แล้วก็ต้องหาทางควบคุมเพื่อให้ผู้อื่นอยู่เป็นสุข เป็นการเมตตาต่อผู้คนทั้งหลาย หากตามใจคนพาลร่ำไป นอกจากไม่เมตตาแล้ว ยังปล่อยปละละเลยคนดีให้ประสบทุกข์เดือดร้อน และละเลยหน้าที่อีกด้วย พระองค์ยอมเสียหนึ่งเพื่อคนทั้งหมดอยู่รอด ทรงวางใจเป็นกลางมิให้ลำเอียงเพราะรักหรือมัวเกรงใจในคนพาล จนมิได้แก้ไขให้เด็ดขาดลงไปให้แน่นอนสักทาง

"นิสัยปรารถนาสุขแก่ชนหมู่มาก, เห็นโทษของการเบียดเบียน, ดำรงมั่นในเมตตาธรรม
แม้ยามประสบภัย" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในเมตตาบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011864344278971 Mins