การสร้างบารมี ตามความเข้าใจของวัดพระธรรมกาย

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2559

การสร้างบารมี ตามความเข้าใจของวัดพระธรรมกาย

การสร้างบารมี ตามความเข้าใจของวัดพระธรรมกาย

การสร้างบารมี ตามความเข้าใจของวัดพระธรรมกาย1)

     คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน ได้สรุปความจากบทสัมภาษณ์ พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการสร้างบารมีตามความเข้าใจของ วัดพระธรรมกาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

แนวทางการสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย

       สำหรับหัวข้อนี้ พระภาวนาวิริยคุณท่านได้อธิบายอย่างละเอียด ซึ่งมีหัวข้อย่อยคือ

     ก)    บารมีในเชิงปฏิบัติมี 2 มุมมองคือ บารมี คือ บุญที่มีคุณภาพพิเศษอันเกิดจากการอุทิศชีวิตไปสร้างบุญมา และบารมี คือ นิสัยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างความดีหรือสร้างบุญ

    ข)    ความจำเป็นที่จะต้องสร้างบารมี คือการแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของตนเอง ที่สั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติ โดยท่านได้เปรียบนิสัยเหมือนกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ทำงานในด้านการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ซึ่งโปรแกรมเมอร์ (คนเขียนโปรแกรม) ก็คือแต่ละคนนั่นเอง

          นิสัยที่ไม่ดีเกิดจากสิ่งที่มาบีบคั้นใจคือ กิเลส 3 พวกใหญ่ๆ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ที่ทำให้เกิดการย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำในทางที่ไม่ดี จนสั่งสมกลายเป็นโปรแกรมที่ไม่ดีติดตนมา วิธีแก้ก็คือให้ย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกิเลส 3 ตัวนั้น คือ ทาน แก้ไขโลภะ ศีล แก้ไขโทสะ และภาวนา แก้ไขโมหะ

          แต่โดยทั่วไป เวลาที่คนเราทำความไม่ดี มักจะเอาชีวิตเป็นเดิมพันไปทำ แต่ทำความดีมักจะไม่ทำเช่นนั้น จึงไม่สามารถแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีได้ ซึ่งหากต้องการแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีอย่างจริงจัง (เพราะนิสัยไม่ดีทำให้ชีวิตของตนเองและผู้อื่นต้องเดือดร้อน) ก็จะต้องทำความดี โดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน นั่นคือ การสร้างบารมี

    ค)    หัวข้อนี้เป็นประเด็นน่าสนใจ กล่าวคือ ท่านได้กล่าวว่า วัดพระธรรมกายสอนเรื่องการสร้างบารมี โดยสรุปย่นย่ออยู่ในรูปของ ทาน ศีล และภาวนา โดยทานบารมี คือการทำทานแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ศีลบารมีและเนกขัมมบารมี คือการรักษาศีลแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ส่วนบารมีอีก 7 ประการ คือ ปัญญา สัจจะ วิริยะ ขันติ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา จัดอยู่ในการทำภาวนาแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งในแง่ของทาน ศีล เนกขัมมะ บารมี คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อนมีความเห็นว่าพอจะมองภาพออก แต่บารมีอีก 7 ข้อ ที่จัดอยู่ในภาวนานั้น เป็นสิ่งที่น่าศึกษา จึงจะขยายความในส่วนนี้ กล่าวคือ

          ปัญญาบารมีนั้น ท่านกล่าวว่า เพราะฉะนั้น อยากได้ปัญญา บทสรุปสุดท้ายต้องภาวนามยปัญญา การหาครูเป็นเรื่องการเอาทฤษฎีดีๆ มา แล้วลงมือปฏิบัติ ได้ครูกำกับแล้ว ตนเองปฏิบัติเอง ปฏิบัติไปก็ก้าวสู่ภาวนามยปัญญา นี้คือปัญญาบารมีตัวจริงŽ

         วิริยบารมีและขันติบารมีนั้น ท่านอธิบายในลักษณะที่ว่า จะต้องอาศัยกำลังใจในการกระทำ ซึ่งกำลังใจจะเกิด ขึ้นได้เต็มที่ก็ด้วยการภาวนา โดยความแตกต่างระหว่างวิริยะกับขันติคือ วิริยะเป็นลักษณะลุยเดินหน้า แต่เมื่อเจออุปสรรคต้องเอาขันติมาใช้ เดินหน้าต่อไม่ได้แต่ก็ไม่ถอยแม้ครึ่งก้าว ปักหลักอยู่ ตรงนั้นพยายามต่อไปŽ

       สัจจบารมี คือความจริงใจที่จะสร้างบารมีเพื่อให้เข้าถึงธรรมะภายในตน ซึ่งจะเข้าถึงได้ก็ด้วยการทำภาวนา

    อธิษฐานบารมี คือการวางแผนสร้างบารมีแบบข้ามภพข้ามชาติ จะวางแผนได้รัดกุมต้องระลึกชาติได้ นั่นหมายถึงญาณทัศนะต้องเกิด ซึ่งการภาวนาต้องดีมาก

       เมตตาบารมี ถึงที่สุดคือการแผ่เมตตาในสมาธิ ซึ่งการภาวนาต้องดี

       อุเบกขาบารมี สุดยอดของอุเบกขาคือการทำภาวนา

     ถึงตรงนี้ กล่าวได้ว่า วิธีการสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย ที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติตน และเผยแผ่ ได้สรุปย่นย่ออยู่ในรูปของบุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา แต่เป็นการกระทำแบบ(ตั้งใจ) เอาชีวิตเป็นเดิมพัน และทำอย่างต่อเนื่องให้กลายเป็นนิสัยที่ดี เพื่อแทนที่นิสัยที่ไม่ดีให้หมดไป


คำขวัญ เราเกิดมาสร้างบารมี ธรรมกายคือเป้าหมายชีวิตŽ

      พระภาวนาวิริยคุณอธิบายโดยสรุปว่า เป้าหมายชีวิตของคนเราคือหมดกิเลสเข้านิพพาน ซึ่งคือการบรรลุธรรมกายเป็นขั้นๆ ไป จนกระทั่งบรรลุธรรมกายอรหัต ซึ่งการบรรลุได้จะต้องสร้างบารมีไปตามลำดับ เพราะเมื่อมีบารมีมากเข้าๆ แล้ว เหยื่อล่อคือการติดอยู่ในภพ ก็จะทำอะไรไม่ได้ ซึ่งความตอนนี้ เพื่อความชัดเจน คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน ได้ยกคำกล่าวของท่านส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์มาดังนี้  เกิดมาสร้างบารมี จากสิบเหลือสาม สร้างบารมีไปทำไม อย่างน้อยก็ไปเอาธรรมะเบื้องต้นมา เรียกว่าธรรมกายก็ได้ ไปเอามา เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว อย่างอื่นเดี๋ยวจะได้ไปเองยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะเมื่อบารมีทั้ง 10 ทัศแก่กล้าดีแล้ว นี้คือฐานที่จะทำให้มรรคมีองค์แปดสมบูรณ์ เพราะบอกว่า บารมีทั้ง 10 ประการ ที่ย่อมาแล้วเหลือสาม จริงๆ ก็คือ การปฏิบัติมรรคมีองค์แปดเบื้องต้นนั่นเอง

      มรรคมีองค์แปดมีอะไร ไล่ตั้งแต่สัมมาทิฎฐิ จนถึงสัมมาสมาธิ พอย่อเสร็จแล้วเหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจะหนีไปไหนกับ ทาน ศีล ภาวนา ก็ตัวเดียวกันนั้นแหละ เพียงแต่เบื้องต้นกับเบื้องปลาย เมื่อเบื้องต้นเราได้ เดี๋ยวมรรคมีองค์แปดเราก็ได้ มรรคมีองค์แปดได้ ทำไมธรรมะเราจะไม่ได้ แน่นอน มรรคมีองค์แปดก็มีแก่กล้ากันไปตามลำดับๆ บารมีขนาดนี้ ก็จะได้มรรคมีองค์แปดระดับนี้ เมื่อมรรคมีองค์แปดระดับนี้ ก็พอจะได้ธรรมะระดับนี้ เช่น ได้โคตรภูบุคคล ถ้าบารมีแก่ขึ้น มรรคมีองค์แปดแก่กล้าขึ้น มันก็เกินจากโคตรภูบุคคล เข้าสู่พระโสดาบัน มันก็ไปตามลำดับชั้นของมัน เพราะฉะนั้น ธรรมกายเป้าหมายชีวิตใช่ เกิดมาสร้างบารมีใช่ ส่วนธรรมกายคืออะไร ไปดูซะว่าธรรมะคืออะไรŽ

     ในที่นี้ คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน ได้สรุปว่า การสร้างบารมีคือวิธีการที่เป็นพื้นฐานต่อการปฏิบัติมรรคมีองค์แปด ส่วน ธรรมกาย คือผล


การสอนและฝึกบุคลากรภายในวัด กับสาธุชนภายนอกวัด มีความแตกต่างกันหรือไม่

      ต่อคำถามนี้ ท่านได้กล่าวว่าความจริงแล้วขึ้นอยู่กับบุคคล เพราะในสมัยพุทธกาลก็มีพระโสดาบัน อยู่หลายท่านที่ไม่ได้บวช เช่น นางวิสาขา อนาถบิณฑิกะเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น แต่โดยภาพรวมแล้ว สาธุชนภายนอกโดยทั่วไป ยังมีห่วงอยู่มากในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องครอบครัว เรื่องทำมาหากิน ซึ่งทำให้การสร้างบารมี ทำได้ในระดับหนึ่ง

     แต่การมาอยู่ที่วัด อุบาสก อุบาสิกา ก็ถือศีลแปด บวชเป็นพระ เป็นเณร ก็ปฏิบัติตามพระวินัย ไม่มีห่วงมากเหมือนบุคคลภายนอก ก็ทำให้เบาใจ มีโอกาสฝึกตัวได้มาก และเมื่ออยู่เป็นหมู่คณะ ท่านใช้ คำว่า พลังสามัคคีจะช่วยดึงให้ใจอยู่ในบุญ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่ตลอดเวลาŽ ทำให้มีโอกาสสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิริยะของแต่ละบุคคลด้วย อย่างไรก็ตาม เนกขัมมบารมีก็จะได้ไปโดยปริยาย และเนื่องจากกิจวัตรประจำวันที่ล็อคไว้ คือ เช้ามืดลุกขึ้นมาไหว้พระ ทำสมาธิ กลางวันทำงานที่มีในวัด พร้อมๆกับรักษาใจไปด้วย ความก้าวหน้าของบารมีก็จะมีมากขึ้น


การสร้างบารมีในแง่ของพระโพธิสัตว์

      คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน ได้ทำการศึกษาและมีความเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่วัดพระธรรมกาย เน้นการสร้างบารมีอย่างเต็มที่ คือมากกว่าภาพรวมของวัดในพุทธศาสนาเถรวาททั่วไป น่าจะเป็นเพราะการปรารถนาพุทธภูมิของบุคคลระดับผู้นำภายในวัดหรือไม่ และได้เรียนถามพระภาวนาวิริยคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลายคำถาม และสรุปได้ว่า ทางวัดมีเป้าหมายเช่นนั้นจริง โดยมีเป้าหมายในการสร้างบารมีเพื่อปรารถนาพุทธภูมิให้ยิ่งกว่าที่เคยมีปรากฏในคัมภีร์ คือยิ่งกว่าพระวิริยาธิกพุทธเจ้า ซึ่งบำเพ็ญบารมีถึงประมาณแปดสิบอสงไขย โดยทางวัดใช้คำว่า ที่สุดแห่งธรรมŽ โดยท่านก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำนี้โดยตรง แต่บอกโดยอ้อมว่า เอาว่า อย่างน้อยสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เรารู้ว่ามีแสนโกฏิจักรวาลอยากจะขนไปให้หมด ในอดีตไม่เคยหมด ถ้าหมดวันนี้เราคงไม่ได้นั่งอยู่ตรงนี้ มันยังไม่เคยหมด อยากจะขนให้หมด และใครที่จะขนได้หมดต้องไปให้ถึงที่สุด ไม่งั้นไปไม่หมดŽ และสำหรับสาธุชนทั่วไป สอนให้สร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่นั้น ท่านได้กล่าวโดยสรุปว่า ทางวัดสอนให้ทุกคนตั้งเป้าหมายไว้สูงเช่นนั้น แต่จะไปถึงหรือไม่ ก็ไม่ได้ตำหนิ แล้วแต่บุคคลไป

 

 


6) สำหรับหัวข้อนี้ คุณสรกาน์ ได้รับความเมตตาอย่างสูงจากพระภาวนาวิริยคุณ อนุญาตให้กราบเรีนยสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องบารมีนี้โดยตรง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2547 และกราบเรียนสัมภาษณ์เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548 ซึ่งบทสัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ คุณสรกานต์เห็นว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่จัดเป็นหัวใจของงานวิจัยครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการให้ความเห็นของบุคคลระดับผู้นำของวัดพระธรรมกาย ซึ่งจัดเป็นข้อมูลของวัดพระธรรมกายในระดับปฐมภูมิโดยตรง.

 


หนังสือ DF 303 เครือข่ายองค์กรกัลยาณมิตร
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0077155510584513 Mins