การสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2559

การสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย , บารมี , วัดพระธรรมกาย , พระธรรมเทศนา , แนวคิดการบำเพ็ญบารมี

การสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย

การสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย1)

 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้มีสันติสุขด้วยพระพุทธธรรมคำสอนนั้น ดังที่ได้กล่าวมาสามารถกล่าวได้ว่า นอกจากบุคคลจะทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อบุคคลด้วยรูปแบบและวิธีต่างๆ แล้ว ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร ยังมีรูปแบบของการใช้ความเป็นกลุ่ม เป็นองค์กร เพื่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรหรือในเชิงของกัลยาณมิตร ซึ่งองค์กรดังกล่าวคือ บ้าน หรือสถาบันครอบครัว โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา และ วัด

   ซึ่งวัดที่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่ยกนำมาเป็นกรณีตัวอย่างนั้น คือวัดพระธรรมกาย ดังได้กล่าวมาในบทที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การสร้างองค์กรของวัดพระธรรมกายในบทที่แล้ว ตอนท้าย คุณอัชวัน หงิมรักษา ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ยังมีสิ่งที่น่าศึกษาเพิ่มเติมว่าทำไมวัดพระธรรมกายได้มีการแผ่ขยายงานอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ดังต่อมาได้มีนักวิจัย คือคุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน ได้ทำการศึกษาถึงความเชื่อและการปฏิบัติเรื่องการสร้างบารมีขององค์กรวัดพระธรรมกาย จนกลายเป็นวัดที่มีกิจกรรมและผลงาน ทั้งด้านการเป็นวัดเน้นการปฏิบัติธรรม และการเป็นวัดที่มีชื่อเสียงของการศึกษาพระปริยัติธรรมของการคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน
 

 

บารมี ตามความเข้าใจของวัดพระธรรมกาย

     วัดพระธรรมกาย มีคำขวัญอยู่หลายประการ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เราเกิดมาสร้างบารมีŽ ซึ่งแสดงว่าทางวัดให้ความสำคัญกับคำสอนเรื่องบารมีมากในอันดับต้น ซึ่งคำสอนเกี่ยวกับเรื่องบารมีของทางวัด ที่ปรากฏชัดเจนที่สุดเห็นจะได้แก่ ซีดีรอมที่บันทึกการแสดงพระธรรมเทศนาของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เรื่อง แนวคิดการบำเพ็ญบารมี ตอนที่ 1 - 4 และเทปบันทึกเสียงการแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2537 เรื่อง การบำเพ็ญบารมี โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว) ซึ่งคุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน ได้สรุปความจากพระธรรมเทศนาดังกล่าว มาได้ดังนี้


พระธรรมเทศนา เรื่อง แนวคิดการบำเพ็ญบารมี 2)

    ในพระธรรมเทศนานี้ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ท่านได้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องบารมีโดยตรง ซึ่งเริ่มต้น ได้กล่าวถึงคำขวัญของทางวัดคำขวัญหนึ่งว่า เราเกิดมาสร้างบารมี ธรรมกายคือเป้าหมายชีวิตŽ และขยายความว่า ชีวิตคนเรา งานหลักคือการสร้างบารมี การทำมาหากินเป็นเรื่องรอง แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป

     ต่อมา ท่านได้ให้ความหมายของคำว่าบารมีว่า เต็มเปี่ยม สูงสุด สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความเต็มเปี่ยมหรือความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการสั่งสมบุญ โดยท่านได้กล่าวว่า บุญที่เราทำทีละเล็กละน้อย เมื่อกลั่นตัวมากๆ เข้า จากดวงบุญก็กลายเป็นดวงบารมีŽ ซึ่งเมื่อมีบารมีเต็มที่แล้ว ก็จะหลุดพ้นจากทุกข์ เข้าสู่นิพพาน โดยท่านใช้คำว่า ความเต็มเปี่ยมของชีวิต คือ ได้เข้าถึงพระธรรมกายอรหัต หมดกิเลสเป็นพระอรหัตŽ โดยการสั่งสมในระดับบารมีนั้น ก็จะต้องสั่งสมจากบารมีขั้นธรรมดา เพิ่มขึ้นเป็น อุปบารมี และปรมัตถบารมี ตามลำดับ จากบารมี 10 คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา เมื่อสั่งสม 3 ระดับขั้น รวมเท่ากับบารมี 30 ทัศ3)

     จากนั้น ท่านได้อธิบายถึง การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เพื่อไปเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ ประเภทปัญญาธิกะ สร้างบารมี 20 อสงไขยแสนมหากัป ประเภทสัทธาธิกะ สร้างบารมี 40 อสงไขยแสนมหากัป และประเภทวิริยาธิกะ สร้างบารมี 80 อสงไขยแสนมหากัป พร้อมกับแสดงทัศนะว่า แม้จะสร้างบารมีถึงขั้นวิริยาธิกะ ก็ยังรื้อสัตว์ขนสัตว์เข้าอายตนนิพพานได้ไม่หมด ถ้าจะขนไปให้หมดก็จะต้องสร้างบารมี มุ่งไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมŽ และสำหรับแนวคิดเรื่องการสร้างบารมีแต่ละประการนั้น ท่านได้ยกหลักธรรมใน ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสุเมธดาบส (ทีปังกรพุทธวงศ์) มาขยายความดังนี้

     ทานบารมี คือบารมีอันดับแรกที่ต้องสร้าง เพราะเป็นการตัดความตระหนี่ให้หลุดพ้นจากใจ และเป็นการสร้างเสบียงในการเดินทางไกลจากสังสารวัฏไปสู่ความหลุดพ้น ซึ่งถ้ามองในแง่ของพระโพธิสัตว์ ก็จะต้องสร้างให้มากพอที่จะหล่อเลี้ยงตนเองและหมู่คณะ

     ศีลบารมี เป็นการรักษาความปกติของตนเองไว้ เพื่อที่จะไม่ไปเกิดในทุคติภพ ที่ไม่สามารถสร้างบารมีได้

     เนกขัมมบารมี เป็นการฝึกตัวไม่ให้ยึดติดในลาภยศสรรเสริญ ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้งห้า ที่ทำให้การไปสู่ความหลุดพ้นต้องเนิ่นช้าไป

     ปัญญาบารมี เป็นการแสวงหาความรู้เพื่อทำลายอวิชชา เริ่มต้นจากการแสวงหาความรู้จากผู้มีความรู้ต่างๆ เป็นสุตมยปัญญา มาถึงการพิจารณาไตร่ตรองทดลองด้วยตนเอง เป็นจินตมยปัญญา และสุดท้ายคือการเจริญสมาธิภาวนา เป็น ภาวนามยปัญญา

     วิริยบารมี คือ ความเพียรพยายามในการทำความดี และความกล้าต่อการแก้ไขปรับปรุงตนเอง ทั้งการละเว้นความไม่ดีที่เคยทำมาแล้ว และการกล้าพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

     ขันติบารมี เป็นความอดทนที่จะชำระกิเลสในตัว รักษาใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวในอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่หลงในคำสรรเสริญอันจะเป็นเหตุให้เกิดความหลงตนเอง คือพยายามมีความหนักแน่นมั่นคงทั้งจากคำนินทาและสรรเสริญ

     สัจจบารมี เป็นความตั้งใจมั่นที่จะไม่ออกนอกเส้นทางการทำความดี เนื่องจากเมื่อปฏิบัติตนตามบารมีข้างต้นแล้ว มีความรู้ความสามารถและเกิดลาภสักการะขึ้น อาจเป็นเหตุให้ใจหวั่นไหวออกนอกเส้นทางการทำความดีที่ตั้งใจไว้ จึงต้องบำเพ็ญ สัจจบารมีประกอบไปด้วย

     อธิษฐานบารมี คือการตั้งจิตมั่นในการทำความดี แม้ว่าจะต้องพบกับอุปสรรคมากมายเพียงใด ก็ไม่หวั่นไหว อุปมาเหมือนภูเขาที่ตั้งมั่นไหวหวั่นไหวต่อแรงลม

      เมตตาบารมี คือการตั้งจิตเมตตาต่อทั้งคนชั่ว และคนดี โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นการกระทำตนให้น่าเข้าใกล้

      อุเบกขาบารมี คือการฝึกตนไม่ให้เกิดความลำเอียงทั้งด้วยความพอใจ ความโกรธ ความหลง หรือความกลัว ท่านกล่าวว่า บารมีข้อนี้จัดเป็นบารมีข้อสำคัญต่อการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมคือ การวางใจเป็นกลางๆ เพื่อจะได้หยุดเป็นจุดเดียวกันŽ

      โดยภาพรวมแล้ว พระธรรมเทศนานี้ เป็นการนำพระสูตร ทีปังกรพุทธวงศ์ มาบรรยาย โดยขยายความถึงเหตุผลในการที่คนเราทุกคนจะต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ประการ ตามแบบอย่างของพระโพธิสัตว์ พร้อมทั้งยกอุปมาที่มีอยู่ในพระสูตรนั้นประกอบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การบำเพ็ญบารมีนั้น จะต้องกระทำต่อเนื่องกันไป จนกระทั่งสามารถกระทำหรือตั้งจิตที่จะกระทำจนถึงระดับปรมัตถบารมี


พระธรรมเทศนา เรื่อง การบำเพ็ญบารมี4)

      ในพระธรรมเทศนานี้ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ท่านได้อธิบายแนวคิดเรื่อง บารมี ซึ่งคุณสรกานต์ ศรีตองอ่อนได้สรุปความในลักษณะของคำถาม-คำตอบ ได้ดังนี้

       ก)    การบำเพ็ญบารมี เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์เท่านั้นหรือไม่
      การบำเพ็ญบารมี จำเป็นสำหรับทุกคนที่มุ่งหวังทางพ้นทุกข์ คือมรรคผลนิพพาน โดยหากมุ่งหวังเป็นพระพุทธเจ้าก็จะต้องปฏิบัติในระดับเข้มข้น เพราะจะต้องไปเป็นบรมครูของชาวโลกหรือสัตว์โลกในยุคนั้นๆ แต่ถ้ามุ่งไปเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสเท่านั้น ก็ปฏิบัติหย่อนลงมาสักนิด แต่ไม่ถึงกับหย่อนยาน

      ข)    บารมี คือ อะไร
      บารมีคือความดีอย่างยิ่งยวดที่ทุกคนจะต้องทำ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย เป็นสันดานข้ามภพข้ามชาติไป

      ค)    บารมีที่ต้องสร้าง มีอะไรบ้าง
      มี 10 ประการเหมือนกับที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์อธิบายไว้ โดยท่านเน้นว่า จะต้องทำทั้ง 10 ประการนี้อย่างยิ่งยวดหมายถึง ทำแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันและทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

      ง)    รายละเอียดของบารมีใน 10 ประการนั้น โดยภาพรวม คือ การนำพระสูตรทีปังกรพุทธวงศ์ มาอธิบายขยายความ คล้ายกันกับพระธรรมเทศนาของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ แต่จะให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นในแง่ของการนำไปใช้ ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาโดยสรุปคือ

      ทาน เป็นสิ่งที่ช่วยกำจัดความโลภ ซึ่งความโลภนี้ เป็นตัวถ่วงอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ไม่เข้าถึงศูนย์กลางกาย โดยการบำเพ็ญทานบารมี เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น ก็คือการสร้างนิสัยรักการเสียสละเป็นชีวิตจิตใจ ดังที่สุเมธดาบส อุปมาไว้ว่า เห็นคนขาดแคลนไม่ว่าจะต่ำทรามสูงส่งและปานกลาง ก็จงให้ทานให้หมดเหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำปากไว้ แต่พระภาวนาวิริยคุณ ก็ได้ย้ำว่า ในกรณีของชาวโลก ก็คงไม่ถึงกับให้ทานเหมือนพระโพธิสัตว์คือให้แบบหมดตัว ควรใช้แนวคิดนี้ไปในทำนองว่า จะให้ทานอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดตอนไปทุกวันๆ มากกว่า

     ศีล เป็นสิ่งที่ช่วยกำจัดความหยาบคายทั้งทางกาย วาจา และใจ การบำเพ็ญศีลบารมี คือการรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยทั้งในแง่ของศีล รวมไปถึง กฎหมายบ้านเมือง มารยาททางสังคม เพื่อไม่ให้เราไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น

      เนกขัมมะ เป็นสิ่งที่ช่วยตัดใจออกจากกาม ตลอดจนความสุขทางเนื้อหนัง ซึ่งเปรียบเหมือนเครื่องพันธนาการ อย่างน้อยชาวโลกทั่วไป ก็ควรหาโอกาสถือศีล 8

      ปัญญา เป็นสิ่งที่ช่วยกำจัดความไม่รู้ อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพ้นทุกข์

      วิริยะ คือ ความไม่กลัวต่ออุปสรรคต่างๆ มีความเพียรอย่างยิ่งยวดที่จะปรับปรุงแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของตนเอง

      ขันติ คือ การสร้างความอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ รักษาใจให้หนักแน่นต่อการบำเพ็ญบารมี

      สัจจะ คือ ความจริงใจต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพื่อเป็นการแก้ไขนิสัยโลเลให้หมดไป

      อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นอย่างเด็ดเดี่ยว วางเป้าหมายในการทำความดีไว้อย่างแน่วแน่มั่นคง ไม่ออกนอก เส้นทางที่วางไว้นั้น มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า สัจจบารมีจะอยู่คู่กับอธิษฐานบารมี คือ เมื่อตั้งเป้าหมายไว้แล้วต้องทำให้จริง

      เมตตา คือ การสร้างความน่าเข้าใกล้ให้กับผู้คนรอบข้าง อุปมาดั่งสายน้ำในแม่น้ำ ที่แผ่ความเย็นไปเสมอกันทุกหนทุกแห่ง

      อุเบกขา คือ ความวางใจให้เป็นกลาง สงบ ราบเรียบ อุปมาดั่งแผ่นดิน ย่อมวางเฉยทั้งในของที่สะอาดและไม่สะอาด

      พระภาวนาวิริยคุณท่านสรุปสั้นๆ อีกว่า บารมีเปรียบเสมือน เสาค้ำใจŽ

     จ)    ความสำคัญของบารมี กับ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด และธรรมกาย
สำหรับหัวข้อนี้ ดูจะเป็นการขยายความในแนวทางของวัดพระธรรมกาย หรือกล่าวโดยรวมได้ว่า สำนักธรรมกาย โดยเฉพาะ คือ ท่านกล่าวว่า การบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ทัศ จะช่วยให้ตะล่อมใจเข้าสู่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดได้ง่าย ซึ่งศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดและฐานที่ตั้งอื่นๆ ของใจ ตามแนวทางของสำนักธรรมกาย แสดงดังภาพ
5)

ศูนย์กลางกายฐานที่ 7


      ซึ่งเมื่อใจไม่ติดเครื่องล่อหลอกภายนอก ใจก็จะกลับเข้าภายใน เมื่อวางใจเข้าสู่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ก็จะเข้าถึงธรรมกาย

      ฉ)    เครื่องล่อหลอกของมนุษย์มีอะไรบ้าง และแก้ไขโดยการบำเพ็ญบารมีอย่างไร
ในหัวข้อนี้ ท่านได้แสดงถึงเครื่องล่อหลอกของมนุษย์ ที่ทำให้ติดอยู่ในสังสารวัฏไม่สามารถเข้าสู่ศูนย์กลางกายได้ กับการแก้ไขโดยการบำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นการจับคู่กันระหว่างเครื่องล่อหลอกภายนอกกับการแก้ไขด้วยบารมีทั้ง 10 ประการ กล่าวคือ

     1.ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เกินความจำเป็น ทำให้ใจเกิดความเป็นห่วง วิธีแก้คือ บำเพ็ญทานบารมี หมั่นทำทานโดยการเอาสมบัติส่วนที่เกินจำเป็นมาทำ

     2.ความมักง่ายของตนเอง ทำให้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น วิธีแก้คือ บำเพ็ญศีลบารมี ให้เกิดความระมัดระวังกาย/วาจา/ใจ

     3.เรื่องของกาม ความรักสวยรักงาม ทำให้ใจไม่เข้าศูนย์กลางกาย วิธีแก้คือ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี ออกบวช หรือ หมั่นรักษาศีล 8

     4.การขาดโยนิโสมนสิการ จับแง่คิด มุมมองไม่ถูก วิธีแก้คือ บำเพ็ญปัญญาบารมี

     5.ความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าปรับปรุงตนเอง วิธีแก้คือ บำเพ็ญวิริยบารมี คือ กล้าที่จะปรับปรุงตนเองและสิ่งรอบข้างอย่างมีเหตุผล

     6.ความรู้สึกหงุดหงิดเมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกับคนอื่น ทำให้ใจหลุดออกจากศูนย์กลางกาย วิธีแก้คือ บำเพ็ญขันติบารมี

     7.ความกลัวเสียหน้า ไม่ยอมรับสิ่งที่ตนกระทำผิดพลาด ทำให้ต้องโกหก วิธีแก้คือ บำเพ็ญสัจจบารมี พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น

     8.ความย่อท้อในการทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายเมื่อพบกับอุปสรรค วิธีแก้คือ บำเพ็ญอธิษฐานบารมี ซึ่งทำให้เป็นผู้ไร้กังวล ทำให้เกิดฤทธิ์ทางใจ

     9.การผูกใจเจ็บ ไม่รู้จักการให้อภัย วิธีแก้คือ บำเพ็ญเมตตาบารมี

   10.ความหวั่นไหวไปในโลกธรรม 8 วิธีแก้คือ บำเพ็ญอุเบกขาบารมี

     จากพระธรรมเทศนาของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ และพระภาวนาวิริยคุณ ดังกล่าวข้างต้น คุณสรกานต์ ศรีตองอ่อน ได้สรุปในเบื้องต้นว่า บารมีตามความเข้าใจของวัดพระธรรมกายนั้น จำแนกแบ่งเป็น 2 นัยหลัก คือ นัยที่เป็นเหตุ และนัยที่เป็นผล ดังนี้

     ก)    นัยที่เป็นเหตุ บารมี คือ ข้อปฏิบัติ 10 ประการ ที่กระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดชีวิต มี 3 ระดับคือ บารมีธรรมดา อุปบารมี และปรมัตถบารมี นั่นหมายถึงการปฏิบัติเมื่อถึงที่สุดคือการเอาชีวิตตนเองเป็นเดิมพัน โดยหากผู้ใดมีความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็จะต้องสร้างบารมีมากกว่าผู้ปรารถนาเป็นพระอรหันต์ในระดับสาวก

     ข)    นัยที่เป็นผล คือ ความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของชีวิต หมายถึงบุญที่มีคุณภาพพิเศษเต็มเปี่ยม สามารถเป็นพื้นฐานที่จะปฏิบัติธรรมทำให้กิเลสหมดไปจนบรรลุอรหัตผลได้

    โดยแนวทางของวัดพระธรรมกายคือ ให้เห็นความสำคัญของการสร้างบารมี มากกว่าการทำมาหากินเพื่อใช้ชีวิตในทางโลกแบบทั่วๆ ไป ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะให้ตัดขาดจากกิจกรรมทางโลก คือให้ทำควบคู่กันไป แต่ให้วางแนวทางของชีวิตของตนไว้ในตามนั้น และในคำสอนเรื่องการบำเพ็ญบารมีนี้ ทางวัดพระธรรมกาย ได้มีการขยายความลงไปอีกว่า มีผลต่อการปฏิบัติธรรม คือ การบำเพ็ญบารมีทำให้ใจไม่ติดอยู่กับเครื่องล่อหลอกภายนอก สามารถปฏิบัติธรรมเข้าสู่ศูนย์กลางกาย จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกายได้ อันสรุปมาเป็นคำขวัญดังที่กล่าวมาแล้วว่า เราเกิดมาสร้างบารมี ธรรมกายคือเป้าหมายชีวิตŽ

 

 


1) เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “    คำสอนเรื่องการสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย” ของ สรกานต์ ศรีตองอ่อน อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต(พุทธศาสน์ศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2547.
2) พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย), พระธรรมเทศนาจากการออกอากาศทางวิทยุ “    ธรรมะเพื่อประชาชน” ชุดที่ 3 (ซีดีรอม MP3) มูลนิธิธรรมกาย : มูลธรรมกาย.
3) คำว่า ทัศ หมายถึง ครบ, ถ้วน ซึ่งบารมี 30 ทัศ หมายถึง บารมี 30 ประการครบถ้วนนั่นเอง.
4) พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว), การบำเพ็ญบารมี (เทปบันทึกเสียง), มูลนิธิธรรมกาย : มูลนิธิธรรมกาย, 2537.
5) ภาพจาก พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ (กรุงเทพฯ : นฤมิต โซล(เพรส), 2546), หน้า 337.

 


หนังสือ DF 303 เครือข่ายองค์กรกัลยาณมิตร
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0069644808769226 Mins