วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย ยุคเผยแผ่ (พ.ศ. 2536 - ถึงปัจจุบัน)

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2559

วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย ยุคเผยแผ่ (พ.ศ. 2536 - ถึงปัจจุบัน)

วิวัฒนาการของวัดพระธรรมกาย
ยุคเผยแผ่ (พ.ศ. 2536 - ถึงปัจจุบัน)


      ในปี พ.ศ. 2534 จำนวนพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มีจำนวนมากขึ้นกว่า 500 รูป/คน คณะบริหารงานวัดโดยมีหลวงพ่อธัมมชโยเป็นประธาน จึงปรับโครงสร้างการทำงาน ให้เป็นสำนัก กอง แผนก และเริ่มใช้โครงสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2535 จัดรูปแบบการทำงาน การบริหารงาน และกฎเกณฑ์ในการทำงานใหม่ รวมทั้งแยกรูปแบบการพักอาศัยอย่างชัดเจนออกจากการทำงาน มีการบรรจุเจ้าหน้าที่ทำงาน ตามความถนัด ความสนใจ ความสามารถ มีการทดลองงาน สำหรับพระภิกษุใหม่ และอุบาสก อุบาสิกาใหม่ มีหลักสูตรการอบรมบุคลากรใหม่ในระยะเวลาที่เหมาะสม และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นระบบในปี พ.ศ. 2537 จนต่อมาผู้บริหารงานมีนโยบายให้มีส่วนงานที่มุ่งพัฒนาบุคลากรภายในโดยเฉพาะเรียกว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรŽ (จัดการศึกษา และอบรมบุคลากรภายในเท่านั้น) และมีหน่วยงานที่มุ่งพัฒนาคนภายนอกเรียกว่าสำนักเผยแผ่ (อบรมบุคลากรภายนอก)

      ส่วนด้านการปฏิบัติธรรม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้พัฒนาเจ้าหน้าที่ภายใน ทั้งพระภิกษุอุบาสก อุบาสิกา โดยให้เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมระยะยาว เพื่อให้มีประสบการณ์ภายในด้วยตัวของตัวเอง บุคลากรกลุ่มนี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานโครงการปฏิบัติธรรมพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 (รุ่นที่ 1 วันที่ 21-27 มีนาคม พ.ศ. 2536)

 โครงการปฏิบัติธรรมพิเศษเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้สาธุชนที่มาวัดเป็นประจำและอยากปฏิบัติธรรมต่อเนื่องในระยะเวลา 7 วัน โครงการนี้ทำให้สาธุชนมีประสบการณ์การปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง ส่งผลให้รักการมาวัดมากขึ้น เมื่อสาธุชนได้รับผลของการปฏิบัติธรรมด้วยตัวเองแล้ว จึงเกิดการตื่นตัว ในการชักชวนญาติพี่น้องมาวัดพระธรรมกายเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ทำให้ในระยะนั้นมีคนมาวัดในวันอาทิตย์ธรรมดา 2,000-3000 คนและในวันอาทิตย์ต้นเดือน 10,000 คน ส่วนในวันงานบุญใหญ่จำนวน 50,000 คน และผู้ที่มาวัดเข้าใจเรื่องการสร้างบุญ รู้จักการทำทานในพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ความเข้าใจในเรื่องการทำทานที่วัดปลูกฝัง จึงทำให้วัดสามารถดำเนินงานทั้งหมดได้ด้วยเงินบริจาคทำบุญ

      ปี พ.ศ. 2539 วัดได้สร้างสภาธรรมกายสากลหลังปัจจุบัน เพื่อรองรับสาธุชน 100,000 คน เป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้งานรวม 370,000 ตารางเมตร เริ่มใช้งานครั้งแรกเมื่อวันทอดกฐินที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สภาธรรมกายสากลหลังนี้จึงเป็นสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรม และพิธีกรรมของวัดในวันอาทิตย์ วันอาทิตย์ต้นเดือน และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน

  ในยุคเผยแผ่นี้ การพัฒนาบุคลากรภายในจัดว่าเป็นระบบ และวัดพัฒนาระบบการทำงานควบคู่ไปด้วย กิจกรรมของวัดจึงขยายไปในวงกว้างสู่สายตาประชาชน จึงเกิดเป็นข่าววิกฤตของวัดในปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา


ลักษณะการจัดระเบียบทางสังคม

        คือ การจัดประเภทของสมาชิกและการจัดตำแหน่งด้านการทำงาน

ก. การจัดประเภทสมาชิก

     ในการจัดประเภทสมาชิกของวัด วัดแบ่งตามสถานภาพ และการรักษาศีล เช่น พระ เณร อุบาสก อุบาสิกา อาสาสมัคร พนักงาน และในแต่ละสถานภาพ ยังแบ่งเป็นสมาชิกประจำของวัด และสมาชิกที่กำลังผ่านการฝึกอบรมเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ ซึ่งวัดมีการเรียกสมาชิกแต่ละประเภทที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีผู้ที่มีศรัทธา ลาออกจากงาน หรือเกษียณแล้วมาเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีทั้งรับสวัสดิการรายเดือน และช่วยตามศรัทธาไม่รับปัจจัย ซึ่งจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป

1.เจ้าหน้าที่ประเภทสามัญ คือ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผ่านการอบรม และบรรจุเป็นสมาชิกประจำของวัด มีการเข้าเป็นสมาชิกนับรุ่นในแต่ละปี

      บุคลากรแต่ละประเภทจะมีที่พักอาศัย เรียกว่า อาศรมŽ ได้แก่

พระภิกษุ    พักที่ อาศรมบรรพชิต
สามเณร    พักที่ หมู่กุฏิสามเณร อยู่ในสายปกครองของอาศรมบรรพชิต
อุบาสก    พักที่ อาศรมอุบาสก
อุบาสิกา    พักที่ อาศรมอุบาสิกา

   ในการดูแลปกครองของสมาชิกแต่ละอาศรม จะมีหัวหน้าอาศรม ผู้ช่วยหัวหน้าอาศรม และคณะกรรมการอาศรม ทำหน้าที่ปกครองและดูแล

     สำหรับสามเณรจะมีประธานสามเณร และมีคณะกรรมการหมู่กุฏิสามเณร ทำหน้าที่ดูแล โดยมีพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา

2.เจ้าหน้าที่ประเภทวิสามัญ คือ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่อยู่ระหว่างการอบรมบุคลากรใหม่ และการทดลองงาน หากเข้าอบรมในปีแรก เป็นพระภิกษุ เรียกว่าพระนวกะ 1 พระนวกะ 2 หรือหากเป็นสามเณร จะเรียกว่า สามเณรนวกะ 1 สามเณรนวกะ 2 หรือสามเณรนวกะ 3


ข.การจัดวางตำแหน่งด้านการทำงานและการบริหารงาน

       ในการบริหารงานวัดพระธรรมกาย ได้มีการแบ่งการทำงานเป็น 3 ระบบคือ

    1.การทำงานในฐานะวัด ซึ่งประกอบด้วยตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส 3 ท่าน(ปัจจุบัน 6 ท่าน) เลขานุการเจ้าอาวาส นอกจากนี้ยังมีพระครูปลัด พระครูสมุห์ พระครูสังฆรักษ์ เพิ่มอีกในตำแหน่งของพระราชาคณะชั้นราช ของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ การบริหารงานเช่นนี้ วัดใช้ในรูปของการบริหารงานวัดร่วมกับการคณะสงฆ์

    ในปี พ.ศ. 2544 เจ้าอาวาสได้แต่งตั้งให้รองเจ้าอาวาสทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2546)

  2.การทำงานในฐานะมูลนิธิธรรมกาย ประกอบด้วยประธานมูลนิธิธรรมกาย(พระราชภาวนาวิสุทธิ์) รองประธานมูลนิธิธรรมกาย (พระภาวนาวิริยคุณ) และคณะกรรมการมูลนิธิธรรมกาย

   3.การทำงานในฐานะการบริหารงานภายในวัด เมื่อปี พ.ศ. 2534 วัดมีนโยบายให้ปรับโครงสร้าง การทำงาน เพื่อให้มีการแบ่งงานที่ขยายออกไปหลายโครงการ โดยจัดรูปแบบโครงสร้างใหม่ให้เหมาะ กับการบริหารงานภายใน ปัจจุบันโครงสร้างดังกล่าวได้พัฒนาและปรับการใช้งานจนถึงปัจจุบัน เรียกว่า โครงสร้างสภาธรรมกายสากล ซึ่งได้ใช้เมื่อปี พ.ศ. 2535


การปรับโครงสร้างในปี พ.ศ. 2535 ทำให้เกิดคณะกรรมการบริหารงานสภาธรรมกายสากล

     ทำหน้าที่ดำเนินงาน พัฒนาคนและงาน ให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

1.ประธานคณะกรรมการบริหารสภาธรรมกายสากล
2.คณะกรรมการที่ปรึกษาอาวุโส
3.คณะกรรมการบริหารสภาธรรมกายสากล ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ


ชุมชนของวัดพระธรรมกาย

    บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ พระภิกษุกว่า 600 รูป(จำนวนประมาณในปี พ.ศ. 2536) รักษาศีล 227 ข้อ สามเณรกว่า 300 รูป รักษาศีล 10 ข้อ อุบาสกกว่า 100 คน และอุบาสิกากว่า 400 คน รักษาศีล 8 ข้อ สมาชิกของวัดกว่า 1,500 รูป/คน ที่จำพรรษา พักอาศัย ใช้ชีวิตภายในวัดและทำงานให้กับวัด กว่า 15 ปี 10 ปี 5 ปี และ 1 ปี ทั้งพระภิกษุ และอุบาสก อุบาสิกา จะอยู่ในวัยอายุเฉลี่ย 25-45 ปี มีเป้าหมายในการเข้ามาอยู่วัดเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น ด้วยวัยที่พร้อมที่จะทำงานให้กับพระพุทธศาสนาที่ตน เรียกว่า งานสร้างบารมีŽ

    พระภิกษุ สามเณรทุกรูป และอุบาสก อุบาสิกาทุกคน จะต้องผ่านการอบรมในโครงการอบรม ต่างๆ ของวัด เช่นโครงการอบรมธรรมทายาทชาย หญิง โครงการอบรมยุวธรรมทายาท ผู้เข้าอบรมอายุระหว่าง 20-35 ปี จากนั้นวัดจึงจัดให้มีการอบรมพระภิกษุนวกะ สามเณรนวกะ และอบรมบุคลากรใหม่สำหรับอุบาสก และอุบาสิกาในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เมื่อผ่านเข้ามาเป็นสมาชิกของวัดแล้ว ทุกรูป ทุกคน จะพักที่อาศรม1 ของตนได้แก่ อาศรมบรรพชิต หมู่กุฏิสามเณร อาศรมอุบาสก และอาศรมอุบาสิกา เขาเหล่านี้ มีกิจวัตรกิจกรรมที่แตกต่างจากชาวโลกนับตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอน มีการนุ่งห่ม หรือการแต่งกายที่แตกต่างจากคนทั่วไป

    การนุ่งห่มของพระภิกษุเหมือนพระภิกษุทั่วไป หากไปฉันหรือลงพิธีกรรมของสงฆ์จะห่มดองคือห่มผ้าเปิดไหล่ขวา มีผ้าพาดที่ไหล่ซ้ายและมีผ้ารัดอก ความยาวของการนุ่งสบงเท่ากับครึ่งหน้าแข้ง การห่มจะดูกระชับ จีวรไม่ลอยชาย เป็นปริมณฑล แต่โดยทั่วๆ หากไม่ได้ลงพิธีกรรม พระภิกษุจะห่มบวบ คือการห่มโดยม้วนจีวรเข้า และพาดไหล่ซ้าย เปิดไหล่ขวา ชายจีวรที่ม้วนจะใช้มือซ้ายถือ หากลงงานพัฒนา หรือทำงานด้านการก่อสร้างท่านจะใส่เฉพาะอังสะและสบง (อังสะคือผ้าเฉียงบ่า เปิดไหล่ขวา ชายปล่อยออกนอกสบง) เพื่อสะดวกในการทำงาน

     การนุ่งห่มของสามเณร เช่น อังสะของสามเณรจะมีข้อแตกต่างกับของพระ คืออังสะจะไม่มี รอยต่อที่เอว เป็นผ้าผืนเดียวกันตลอด

      พระภิกษุ หรือสามเณร จะมีชุดพัฒนา  คือ  จะเลือกอังสะที่เก่า  และสบงที่เก่า  เพื่อทำงานพัฒนาความสะอาด ปัดกวาดเสนาสนะ ทำสวน หรือซ่อมแซมอาคาร เป็นต้น

       การแต่งกายของอุบาสก หากเป็นวันงานบุญใหญ่ จะแต่งกายชุดขาว คือชุดอุบาสกŽ เสื้อพระราชทานสีขาว กางเกงสีขาว รองเท้าสีดำ หากเป็นวันปฏิบัติงานจะใช้กางเกงสีน้ำเงิน นอกจากนี้ ยังมีชุดซาฟารีสีเทา เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ในการพบปะบุคคลภายนอก หรือไปติดต่องานตามสถานที่ต่างๆ ส่วนเสื้อพัฒนาของอุบาสก เป็นเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีน้ำตาล สำหรับการพัฒนาทำความสะอาด

       การแต่งกายของอุบาสิกาหากเป็นวันงานบุญใหญ่ จะแต่งกายชุดขาว คือ ชุดอุบาสิกาŽเป็นเสื้อสีขาวคอปิด มีเกล็ดด้านหน้าซ้ายขวา อย่างละ 3 เกล็ดๆ ละ 3 กระเบียด เสื้อปล่อยชาย แขนสั้น ส่วนผ้าถุงสีขาวเป็นถุงสำเร็จ ยาวถึงข้อเท้า และมีถุงเท้าขาว รองเท้าหุ้มส้นสีขาว ไม่มีลวดลาย หากเป็นวันทำงานจะสวมกระโปรงน้ำเงิน โดยเอาเสื้อไว้ในกระโปรง คาดเข็มขัดสีน้ำเงิน รองเท้าหุ้มส้นสีน้ำเงิน นอกจากนี้ยังมีเสื้อเชิ้ตสีฟ้าแขนยาว สำหรับใช้พัฒนาทำความสะอาด

      อุบาสก ส่วนใหญ่ตัดผมสั้น และค่อนข้างเกรียน ดูสะอาดตา และเรียบร้อย ส่วนอุบาสิกาไม่มีการแต่งหน้าแต่อย่างใด ส่วนใหญ่ไว้ผมสั้นหรือประบ่า กริยามารยาทเรียบร้อย ดูสงบ การทักทาย การไหว้ ดูอ่อนน้อมถ่อมตน

     พระภิกษุ และสามเณรเป็นนักบวชเต็มรูปแบบ ส่วนอุบาสกอุบาสิกา เรียกได้ว่าเป็นกึ่งนักบวช ทีเดียว ในวันพระใหญ่พระภิกษุ สามเณร ลงโบสถ์ เพื่อสวดปาติโมกข์ คือการทบทวนศีล 227 ข้อ อุบาสก และอุบาสิกาก็เช่นเดียวกัน ช่วงเช้าตรู่ในวันพระใหญ่ จะสวมชุดอุบาสก และอุบาสิกา ขาวสะอาดตา เพื่อทบทวนศีล 8

      กิจวัตรนับตั้งแต่ช่วงเช้าคือตั้งแต่เวลา 4.30 น. ทั้ง 3 อาศรมมีกิจวัตรเหมือนกันคือ การสวดมนต์ ทำวัตรเช้า และนั่งสมาธิจนถึงเวลา 6.00 น.

      เวลา 6.00 น. พระภิกษุสามเณร จะเริ่มเดินบิณฑบาต ประมาณ 4-5 สาย เช่น สายหนึ่งจะเดินบิณฑบาตผ่านหน้าอาศรมอุบาสิกา และออกไปทางด้านหน้าวัด ผ่านป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ พระภิกษุ บางสายจะเดินออกจากอาคารที่พักสงฆ์ และผ่านทางป้อมยาม มีสาธุชน และเจ้าหน้าที่ พนักงาน บางส่วน ยืนรอใส่บาตรอยู่บ้าง และแถวบิณฑบาตมุ่งไปทางคลองสอง

      เวลา 6.00 - 7.00 น. เรียกว่าเวลารับบุญŽ ทุกๆ อาศรม จะช่วยกันทำความสะอาดเสนาสนะ ที่พักอาศัยของตนเอง เช่นขัดห้องน้ำ กวาดถูห้องสวดมนต์ ห้องซักรีด ทางเดิน ถอนหญ้า และกวาดถู กุฏิ บ้านพักของตน อุบาสกบางส่วนจะเข้าไปกวาดใบไม้ และทำความสะอาดศาลาในพื้นที่ 196 ไร่ บริเวณภายในวัด อุบาสิกาบางส่วนประมาณ 50 คน หมุนเวียนกันไปกวาดถูปูเสื่อ สภาธรรมกายสากลหลังคาจาก อุบาสิการับบุญถูสภาฯ วันจันทร์ เนื่องจากสภากว้างมาก วิธีการกวาดคือ หนึ่งคนถือไม้กวาด 2 อัน พื้นของสภา ปูด้วยแผ่นปูนสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวครึ่งเมตร ทุกคนเรียงแถวหน้ากระดาน และรับผิดชอบคนละสองแผ่นปูน กวาดทางยาว ประมาณครึ่งชั่วโมงก็สามารถกวาดสภาได้เสร็จ เมื่อส่วนหนึ่งยังกวาดไม่เสร็จ บริเวณที่กวาดแล้ว จะมีอุบาสิกาอีกชุดหนึ่ง นำไม้ถูพื้นพร้อมผ้าถูผืน คือผ้าที่เป็นเนื้อผ้าห่มสีเข้ม ตัดเป็นสี่เหลี่ยม นำมาชุบน้ำในกระป๋องที่เพื่อนเตรียมไว้ ริมสภาฯ ทั้งสองด้าน จะมีกระป๋องน้ำสีน้ำเงินวางไว้เพื่อซักผ้า เมื่อเริ่มต้นถูก็ชุบน้ำและบิดแห้ง พร้อมคลี่ผ้าทบไปที่ไม้ถูพื้นที่มีความกว้างพิเศษเท่ากับความกว้างของแผ่นปูน จะเริ่มต้นถูแผ่นเว้นแผ่นเป็นทางยาวไป และซักผ้าอีกฝั่งหนึ่งเพื่อจะถูแผ่นแนวที่เว้นไว้ ถูกลับไปมาเช่นนี้สลับกันไป ประมาณ 20 นาที ก็สามารถถูสภาหลังใหญ่ได้เสร็จ ต่อจากนั้นจึงเริ่มปูเสื่อเพื่อเป็นที่นั่งของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เตรียมพื้นที่สำหรับการประชุม เรียกว่า ประชุมสมาชิก 3 อาศรมŽ จัดขึ้นทุกวันจันทร์ โดยมีพระภาวนาวิริยคุณเป็นประธาน อบรมให้โอวาท แสดงหลักธรรมะแก่สมาชิกองค์กร

  ใกล้เวลา 7.00 น. พระภิกษุทยอยไปฉันที่สภาธรรมกายสากลหลังคาจาก (ปัจจุบันฉันที่หอฉันคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง) ส่วนสามเณรจะตั้งแถวตั้งแต่เวลา 6.30 น. เนื่องจากสามเณรอยู่ไกลและเป็นการฝึกให้มีระเบียบแถว มีพี่เณรเดินคุมแถวไปด้วย เพื่อไปฉันที่สภาธรรมกายสากล ยามเช้าอากาศดีเช่นนี้เห็นสามเณรเดินตามสบาย ส่งเสียงคุยกันตามวัยเด็ก หลายรูปถือตำราไวยากรณ์บาลีเล่มเล็กไปด้วย เมื่อถึงสภาฯแล้ว ยังไม่เดินขึ้นทันที สามเณรหยุดรอเพื่อนให้เข้าแถวพร้อมเพรียงกัน จึงขึ้นที่นั่งฉัน ซึ่งเป็นแท่นไม้ยกสูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตร การฉัน ฉันเป็นวงๆ ละ 5 รูป แยกพระเณรมีการจัดวางอาหารอย่างเป็นระเบียบ มีผ้าพลาสติกปู และอาหารทุกจานมีการคลุมด้วยพลาสติกคลุมอาหารเพื่อไม่ให้ฝุ่นลง อาหารวางไว้อย่างเรียบร้อย มีสาธุชนที่เดินทาง มาแต่เช้าเพื่อมาประเคนภัตตาหารพระ ก่อนฉันพระสวดพิจารณาอาหารก่อน และฉันพร้อมกัน ภายหลังฉันเสร็จ เมื่อให้พรเสร็จแล้ว บางครั้ง พระภาวนาวิริยคุณจะให้โอวาท การให้โอวาทจะเน้นเรื่องของวินัยของพระ การรักษาศรัทธาญาติโยม การฝึกตัว และการสังเกตสิ่งแวดล้อมภายนอก การดูแลเอาใจใส่หมู่คณะ หากมีเรื่องเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่จำเป็นต้องทราบ ท่านจะแจ้งให้ทราบเพื่อให้มีความรู้ทั่วถึงกัน

    ในระหว่างการฉันภัตตาหารในเวลา 7.10 น. จะมีการกระจายเสียง ข่าวรับอรุณŽ ซึ่งมีอุบาสก อุบาสิกา จัดรายการข่าวคล้ายข่าวรายการวิทยุ เป็นการเสนอข่าวภายในของวัด และข่าวที่น่ารู้ทั่วไปโดยขึ้นต้นด้วย โอวาทหลวงพ่อที่ให้แก่สมาชิกองค์กร ข่าวประกาศต่างๆ ที่ต้องการให้สมาชิกในองค์กรรู้อย่างทั่วถึง เช่น ประกาศ กฎเกณฑ์ หรือการขอความร่วมมือ การรับประทานอาหารของอุบาสกอุบาสิกา จะไปรวมกันที่ห้องอาหาร เรียกกันภายในวัดว่า ฟู้ดเซ็นเตอร์Ž ซึ่งอยู่ชั้นบนของสำนักงานรวม จะเปิดให้รับประทานอาหารเช้าเวลา 7.00 น. อุบาสก อุบาสิกาส่วนใหญ่จะใช้จักรยานเป็นพาหนะขับขี่ บางส่วนใช้รถจักรยานยนต์ เมื่อขี่จักรยานมาถึงหน้าสำนักงานรวมเพื่อขึ้นไปที่ห้องอาหาร เวลาใกล้ 8.00 น. จะสวนกับรถจักรยานจำนวนมากของพนักงานที่กำลังออกจากสำนักงานรวม เพื่อไปทำงานตามส่วนต่างๆ สอบถามได้ความว่า พนักงานของวัดทุกส่วนงาน ทุกเช้าจะต้องมาสวดมนต์ทำวัตรเช้าพร้อมกันที่ห้องโถงหน้ารูปคุณยายอาจารย์ โดยมีพระอาจารย์นำสวดมนต์ และให้โอวาทเป็นการเตรียมใจให้ใสในการทำหน้าที่ให้วัด ซึ่งเป็นงานพระศาสนา การสวดมนต์ของพนักงานมีตั้งแต่สมัยรุ่นบุกเบิกได้ทำกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

       การทำงานของส่วนงานต่างๆ จะเริ่มเวลา 8.30 น. และหยุดพักในเวลาเพล คือ 11.00 น.

    พระภิกษุฉันภัตตาหารเพลที่หอฉัน ตอนกลางวันมีสาธุชน หรือเจ้าภาพถวายภัตตาหารประจำวัน มาร่วมถวายมากกว่าตอนเช้า ทุกๆ วัน วันละ 50 - 100 คน หากเป็นวันเสาร์ หรือวันหยุด มีจำนวน เกือบ 500 คน ส่วนใหญ่มาทำบุญวันเกิด หรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว บางท่านเป็นเจ้าภาพประจำสัปดาห์มาทุกๆ สัปดาห์ และมีเจ้าหน้าที่จัดเตรียมโต๊ะสำหรับรับประทานอาหารกลางวันไว้ให้เป็นโต๊ะญี่ปุ่น นั่งพื้น นั่งได้ 5 คนต่อหนึ่งโต๊ะ อาหารที่เตรียมไว้มีการคลุมด้วยพลาสติกคลุมอาหาร เมื่อ รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ต่างคนก็ช่วยกันเก็บภาชนะเช็ดคราบความมันออกด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษสมุดโทรศัพท์และแยกจาน ชาม ช้อน เรียงกันไว้ เจ้าหน้าที่เตรียมผ้าสำหรับเช็ดโต๊ะ น้ำสำหรับล้างมือ ผ้าสำหรับเช็ดมือไว้ให้ เพื่อสะดวกในการไปรับพรพระ ท่านที่เป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหาร อาจจะสั่งดอกไม้เป็นแจกัน เพื่อถวายพระภิกษุหลังฉัน

      เมื่อพระภิกษุฉันเสร็จ  พิธีกรจะประกาศรายชื่อผู้ร่วมเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหาร และเรียนเชิญเจ้าภาพถวายปัจจัยไทยธรรม หรือดอกไม้ แต่ละท่านก็จะเข้าแถวถวายพระภิกษุ ต่อจากนั้นพระภิกษุจะให้พร ก่อนให้พรพระภิกษุจะกล่าวสัมโมทนียกถา1) ใจความให้ผู้มาถวายภัตตาหาร นึกถึงทานที่ได้ทำจะเป็นเสบียง ข้ามภพข้ามชาติ และจะได้รับอานิสงส์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เมื่อกล่าวจบพระภิกษุจึงให้พรเป็นอันเสร็จพิธี ได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า ส่วนงานที่ดูแลการถวายภัตตาหารของเจ้าภาพ หรือการรับบริจาคและการจัดโต๊ะอาหารของเจ้าภาพนี้ เรียกส่วนงานนี้ว่าทานบดีŽ2)

      ต่อจากนั้นพระภิกษุก็แยกย้ายไปทำหน้าที่ตามส่วนงานของวัด บางส่วนเดินกลับที่พักอาคารพักสงฆ์ ส่วนพระภิกษุที่อยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมธรรมทายาท จะมีรถพ่วงรับ-ส่ง กลับที่พัก ส่วนสามเณรตั้งแถวเดินกลับไปที่พักเพื่อเรียนปริยัติธรรมในภาคบ่าย

     ในภาคบ่ายการทำงานจะเริ่มเวลา 13.00 น. ซึ่งจะมีรถพ่วงมารับพระไปปฏิบัติงานตามหน่วยงานต่างๆ ในช่วงบ่าย

      ส่วนอุบาสก อุบาสิกา พักรับประทานอาหารกลางวันเวลา 11.15 น. และเข้าทำงานอีกครั้งในเวลา 13.00 น. การทำงานจะเลิกเวลา 17.30 น. แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เลิกตามเวลา สมาชิกมักจะทำงานจนเลยเวลา ในตอนเย็นมีการบริการน้ำปานะ สำหรับพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ที่สำนักงานชั้นล่างของห้องอาหาร ตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. เป็นการพบปะสนทนาเรื่องงาน เป็นการพัก เพื่อกลับไปทำงานในช่วงเย็น

     เวลาประมาณ 18.00 น. ทั้งพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา กลับไปทำภารกิจส่วนตัว เพื่อเตรียมตัวไปปฏิบัติธรรมที่บ้านยายในเวลา 19.00 น.

      เวลา 21.00 น. สมาชิกทุกรูป ทุกคน กลับอาศรมทำภารกิจส่วนตัว ศึกษาธรรมะเพิ่มเติม แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำงาน และวางแผนงานในวันต่อไป สมาชิกอาศรมส่วนใหญ่ เข้านอนเวลา 22.00 - 23.00 น. ก่อนนอนทุกรูปทุกคน ฝึกให้แผ่เมตตาก่อนนอน และหลับอยู่ในสมาธิ เพื่อการเริ่มต้นการสร้างบุญบารมีสำหรับวันใหม่

     สิ่งที่น่าสนใจในการดูแลวัดให้สะอาด คือหลังการจัดงานบุญใหญ่ สมาชิกทั้ง 3 อาศรมจะแบ่งพื้นที่เก็บเพชรพลอย (ขยะ) เนื่องจากภายหลังการจัดงาน มีเศษขยะที่คนมาวัดเป็นจำนวนมากทิ้งไว้ อุบาสิกาท่านหนึ่งเล่าว่า หลังงานบุญใหญ่ เราจะใส่เสื้อสีฟ้าแขนยาวที่เรียกว่าเสื้อพัฒนานี้เก็บเพชรพลอย (ขยะ) พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ จะถูกแบ่งส่วนการรับผิดชอบ สำหรับพระ เณร อุบาสก ส่วนอุบาสิกาจะรับบุญบริเวณพื้นที่ด้านหลังเจดีย์ ภายในเวลาเพียงครึ่งวัน ก็สามารถเก็บขยะได้หมดทั้งวัด ด้วยการทำงานพร้อมกัน วัดจึงสะอาดได้อย่างรวดเร็วŽ

       สรุปได้ว่าการจัดสภาพทางภูมิศาสตร์และชุมชนของวัดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พบว่าวัดจัดระบบ ดังกล่าวบนพื้นฐานบุคลากรที่อยู่ร่วมกันหลายเพศ ภาวะ จำนวนมาก มีกิจวัตรประจำวันที่เป็นระบบที่ชัดเจนซึ่งเป็นวินัยส่วนตัว มีการกำหนดเครื่องแบบเพื่อให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งทำให้เกิดเป็นระเบียบวินัยของส่วนรวม และวัดกำหนดให้บุคลากรดังกล่าวทำหน้าที่รักษาดูแลวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันด้วย

     ในด้านการทำให้วัดเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และการฟังธรรมของสาธุชน วัดคำนึงถึงความสะดวกในการมาวัดของสาธุชน ความสะอาด ความเป็นระเบียบของสถานที่และการบริการเพื่อรองรับคนจำนวนมากอย่างเป็นระบบ

     หากจะมีข้อสังเกตว่า เหตุใดวัดจึงสามารถขยายงานและรองรับสาธุชนจำนวนเป็นแสน ภายในเวลา 35 ปี พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มีการพัฒนาอย่างไร จึงสามารถทำงานรองรับกิจกรรมต่างๆ ได้ และสาธุชนที่มาวัดมีกิจกรรม และได้รับความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างไรจึงสามารถมาวัดได้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเป็นเพราะกระบวนการขัดเกลาทางสังคม และพัฒนาบุคลากร น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของวัดอย่างแน่นอน

 

 


1) สัมโมทนียกถา คือ ถ้อยคำอันเป็นที่บันเทิงใจ, คำต้อนรับ.
2) ทานบดี เป็นชื่อส่วนงานที่ทำหน้าที่ต้อนรับกัลยาณมิตร เจ้าภาพที่มาถวายภัตตาหารในเวลาเช้า และกลางวัน เจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่ต้อนรับ รับบริจาค และเตรียมอาหารให้รับประทาน.
 


หนังสือ DF 303 เครือข่ายองค์กรกัลยาณมิตร
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017154900232951 Mins