ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลักคำสอนที่สำคัญ

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2559

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
หลักคำสอนที่สำคัญ

หลักคำสอนที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู6) มีอยู่ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. หลักอาศรม 4
2. หลักการปฏิบัติระหว่างบุคคล
3. หลักปรมาตมัน
4. หลักโมกษะ

 

1. หลักอาศรม 4

     หลักอาศรม 4 หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู เฉพาะที่เป็นพราหมณ์วัยต่างๆ โดยกำหนดเกณฑ์อายุคนไว้ 100 ปี แบ่งช่วงของการใช้ชีวิตไว้ 4 ช่วง ช่วงละ 25 ปี ช่วงชีวิตแต่ละช่วงเรียกว่า อาศรม (วัย) อาศรมทั้ง 4 ช่วงมีดังนี้

       อาศรมที่ 1 (ปฐมวัย) เรียกว่า พรหมจรรย์อาศรม เริ่มตั้งแต่อายุ 8-25 ปี ผู้เข้าสู่อาศรมนี้ เรียกว่า พรหมจารี ภายในช่วงระยะเวลา 25 ปีแรกนี้ พรหมจารีผู้อยู่ในพรหมจรรย์อาศรม มีหน้าที่ดังนี้

1)    ตั้งใจเรียนวิชาการในวรรณะของตน
2)    เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูอาจารย์
3)    ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ
4)    ไม่คบกับเพศตรงกันข้าม
5)    เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้องทำพิธีเกศนตสันสกา (ตัดผม) และพิธีคุรุทักษิณา มอบสิ่งตอบแทนครูอาจารย์

       ผู้ทำหน้าที่ครบทั้ง 5 ข้อนี้แล้วถือว่าเป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์ จากฐานะพรหมจารีจะมีสิทธิพิเศษ 5 ประการ ดังนี้

1)    ศึกษาคัมภีร์พระเวทได้
2)    สอนพระเวทแก่คนอื่นได้
3)    ทำพิธียัคนัม (เกี่ยวกับการบริจาค) ได้
4)    รับทานจากผู้ศรัทธาได้
5)    บริจาคทานแก่คนยากจน (ผู้อยู่ในวรรณะต่ำ) ได้

       อาศรมที่ 2 (มัชณิมวัย) เรียกว่า คฤหัสถาศรม อยู่ในช่วงอายุ 25-50 ปี มีหน้าที่ดังนี้

1)    ช่วยพ่อแม่ทำงาน
2)    แต่งงานมีครอบครัว
3)    ประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว

       อาศรมที่ 3 (ปัจฉิมวัย) เรียกว่า วานปรัสถาศรม อยู่ในช่วงอายุ 50-75 ปี มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติดังนี้

1)    มอบสมบัติให้บุตรธิดา
2)    บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
3)    ออกบวชปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า วานปรัสถ์
4)    ทำประโยชน์แก่สังคมด้วยการเป็นครูอาจารย์

       อาศรมที่ 4 คือ สันยัสตาศรม อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ปรารถนา ความหลุดพ้น (โมกษะ) จะออกบวชเป็นสันยาสี เมื่อบวชแล้วจะสึกไม่ได้ บำเพ็ญสมาธิแสวงหาความหลุดพ้นตามหลักกรรมโยคะต่อไป

 

2. หลักการปฏิบัติระหว่างบุคคล

      ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีหลักคำสอนที่คล้ายคลึงกับคำสอนเรื่องทิศ 6 ในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่ว่าด้วยการปฏิบัติระหว่างบุคคลดังมีรายละเอียดดังนี้

     1. ปิตฤธรรม คือ การปฏิบัติตามหน้าที่ของบิดาต่อบุตร โดยบิดาต้องมีหน้าที่ รับเลี้ยงดูบุตรจนบุตรมีอายุบรรลุนิติภาวะ ในการเลี้ยงดูบุตร บิดาจะต้องปฏิบัติดังนี้

- เมื่อบุตรมีอายุตั้งแต่เกิดจนถึง 5 ขวบ จงเลี้ยงดูด้วยความเมตตากรุณาและด้วย ความรัก

- ตั้งแต่บุตรบรรลุนิติภาวะแล้วถือว่าเป็นมิตรเป็นสหายคือเป็นเพื่อนกัน โดยให้บุตรทำหน้าที่เป็นผู้นำบิดาบ้าง ส่วนบิดาควรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และบิดาควรหาคู่ครองที่เหมาะสมให้แก่บุตรในเวลาอันควร

    2. มาตฤธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของมารดาต่อบุตร มารดาจะต้องรับหน้าที่เหมือนบิดาแต่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อสร้างอนาคตให้กับบุตรและต้องเป็นครูคนแรกของบุตร ดังนั้นมารดาจึงต้องระมัดระวังในการสร้างอุปนิสัยให้แก่บุตรในทางที่ดีเสมอ

   3. อาจารยธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของครูอาจารย์ต่อศิษย์ ครูอาจารย์จะต้อง รับหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์อย่างถูกต้องและเป็นธรรม เลี้ยงดูศิษย์เหมือนบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร พยายามสร้างและแก้ไขความประพฤติอุปนิสัยของศิษย์ร่วมกับบิดามารดาของศิษย์

     ทั้งมารดา บิดา ครูอาจารย์ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีต่อบุตรและศิษย์ หากสั่งสอนด้วยวาจาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว ก็นับว่าจะได้ผลน้อยมาก การสั่งสอน อะไรก็ตามจะต้องปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยจึงจะได้ผลเต็มที่

  4. บุตรธรรมและศิษยธรรม คือ การปฏิบัติของบุตรต่อบิดามารดาและการปฏิบัติหน้าที่ของศิษย์ต่อครูอาจารย์ ซึ่งในคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูบัญญัติไว้ว่า

    “บุคคลที่ได้กระทำการเคารพบิดามารดาและครูอาจารย์ ผู้นั้นได้ชื่อว่าได้ปฏิบัติธรรม ทุกประการแล้ว แต่ผู้กระทำการดูถูกบุคคลดังกล่าว ผู้นั้นย่อมไม่ถึงซึ่งความสำเร็จ ไม่ว่าจะ กระทำกิจการมากมายเพียงใดก็ตาม จะเป็นด้วยเรี่ยวแรงหรือด้วยกำลัง ด้วยประการฉะนี้ ผู้ที่จะต้องการความสำเร็จและมีความสุขยิ่งในชีวิต หรือชีวิตก้าวหน้าก็ตามที จะต้องเคารพนับถือบิดามารดาและครูอาจารย์อย่างจริงใจ ต้องอยู่ในโอวาทเชื่อถ้อยฟังคำของท่านทั้งปวงและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านŽ”

    “บุคคลที่จงรักภักดีต่อบิดามารดาเป็นผู้ชนะแล้วในโลกนี้ จึงต้องจงรักภักดีต่อบิดา มารดา บุคคลเช่นนี้ย่อมชนะโลกสวรรค์ และบุคคลที่จงรักภักดีต่อครูอาจารย์ ผู้นั้นจะชนะโลก พระพรหมด้วยŽ”

     5. ภราตฤธรรม คือ การปฏิบัติของพี่ที่มีต่อน้องและน้องต่อพี่ น้องต้องปฏิบัตินับถือพี่เหมือนพ่อเหมือนแม่ ครูอาจารย์จึงมีบัญญัติไว้ว่า จงถือว่าครูอาจารย์เป็นรูปปรมาตมัน บิดาเป็นรูปพระประชาบดี มารดาเป็นรูปพระแม่ธรณี และพี่เป็นรูปพระครู จงอย่าดูถูกทั้งบิดามารดา ครูอาจารย์และพี่ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ในฐานะอันใดก็ตาม หากเป็นพราหมณ์ก็ขอให้ปฏิบัติพิเศษขึ้นไปอีก เช่นเดียวกันพี่ก็ต้องเลี้ยงดูน้องแบบแม่เลี้ยงดูบุตร พี่ต้องอบรมสั่งสอนน้องเหมือนบิดามารดาสั่งสอนบุตร

    6. ปติธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยา ผู้ชายต้องเลือกเจ้าสาวที่ เหมาะสมแก่ตระกูลของตน เหมาะสมกับสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ฉะนั้นเมื่อจะเลือกเจ้าสาวต้อง ได้รับการเห็นชอบจากผู้ใหญ่ก่อน เมื่อผ่านผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่ยินยอมแล้วจึงยอมรับเจ้าสาวนั่นมาเป็นภรรยา เมื่อเป็นภรรยาแล้วก็ต้องเลี้ยงดูกันไปตลอดชีวิต เอาใจใส่ต่อภรรยาอย่างจริงจัง อย่าริเป็นคนเจ้าชู้กับผู้หญิงอื่น ถือว่าผู้หญิงอื่นๆ เปรียบเสมือนพี่น้องหรือลูกหลานหรือมารดาของตน

     7. ปัตนีธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาต่อสามี ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามีอย่างบริสุทธิ์ใจต้องเอาใจใส่สามีอย่างจริงจัง ต้องถืออยู่ในตัวเองเสมอว่าผู้ชายทั้งหลาย เว้นสามีของตนเป็นเหมือนบิดา พี่น้อง บุตร หลาน เท่านั้น อย่าเป็นชู้กับชายอื่น ให้อยู่ในโอวาทและในความควบคุมของสามีเสมอ เพราะภรรยาเป็นคนสำคัญในครอบครัว จึงมีคำกล่าวไว้ว่า การคลอดบุตร การกุศล การรอรับใช้อย่างยอดเยี่ยม สวรรค์ของบุรุษ สิ่งเหล่านี้ย่อมอยู่ในกำมือ ของสตรีทั้งนั้น

    ผู้เป็นสตรีต้องระมัดระวังในการรักษาความประพฤติ ความบริสุทธิ์ ความสาว ความงาม เมื่อเป็นเมียจงเป็นเมียของชายที่เป็นสามีของตนเท่านั้น ตำรามานวศาสตร์บัญญัติไว้ว่า สตรีใดเป็นชู้กับชายอื่น สตรีผู้นี้จะถูกติเตียนนินทาในสังคมโลกนี้และโลกหน้า เกิดมาเป็นหมาป่าหรือหมาจิ้งจอก นอกจากนี้แล้วยังได้รับความเจ็บปวดต่อโรคน่าเกลียดทั้งในชาตินี้และชาติหน้าอีกด้วยŽ

    เมื่อเป็นสามีภรรยากันแล้ว จงอยู่อย่างเป็นสามีภรรยากันตลอดชีพ เพื่อรักษาชื่อเสียง วงศ์ตระกูล และเพื่ออนาคตของลูกหลานด้วย ดังคำที่ได้กล่าวไว้ว่า อย่าให้มีการหย่าร้างกันในระหว่างสามีภรรยา นี้เป็นจุดมุ่งหมายของการแต่งงานในศาสนานี้

     8. สวามี-เสวกธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของสวามี (นายจ้าง) ต่อเสวก (ลูกจ้าง) และการปฏิบัติหน้าที่ของเสวกต่อสวามี

    ผู้เป็นนายจ้างมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกจ้างและครอบครัวของเขา จ่ายเงินเดือนหรือให้ ค่าตอบแทนประการใดก็ควรพิจารณาก่อนว่า ปัจจุบันที่มอบให้แก่ลูกจ้างนั้นมีเพียงพอต่อ การครองชีพหรือไม่ ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องเอาใจจดจ่อต่อความทุกข์สุขของเขา ใน มานวศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่าผู้เป็นนายจ้างต้องสังเกตดูว่า ลูกจ้างนั้นมีภาระประการใดหรืออย่างไร แล้วต้องจ่ายให้เพื่อให้เขาสามารถครองชีพอยู่ได้ไม่ลำบากหรือฝืดเคืองมากนัก

    ทำนองเดียวกัน ผู้เป็นลูกจ้างก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์ต่อนายจ้างเสมอและทำทุกอย่างที่จะให้นายจ้างได้รับผลประโยชน์ให้มากที่สุด โดยการกระทำของตัวเอง อย่ากระทำให้เสียประโยชน์ของนายจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ในคัมภีร์ได้บัญญัติไว้ว่า การกระทำที่ให้นายจ้างได้รับความดูถูกเสียหายทั้งกายและใจ ผู้เป็นลูกจ้างอย่าได้กระทำŽ

    9. ราชธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของพระราชาต่อประชาชน หรือการปฏิบัติของประชาชนต่อพระราชาผู้เป็นองค์ประมุขของชาติ จึงถือว่าประชาชนเป็นเสมือนบุตรหลานและเอาใจใส่ต่อความสุขความทุกข์ของประชาชนอย่างใกล้ชิด ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสอนไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ยึดธรรมสูงสุด คือ ดูแลประชาชน อารักขาประชาชน ให้ความอบอุ่นแก่ประชาชน โดยถือหลักแห่งการอารักขาของพระมหากษัตริย์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในภายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระบรมโพธิสมภารนั้นก็จะต้องปฏิบัติทางธรรม ท่านกล่าวไว้ว่า พระราชาเป็นผู้ถือทัณฑ์คือกฎหมายไว้ หมายถึง ผู้ใดไม่ปฏิบัติทางธรรมผู้นั้นย่อมจะได้รับโทษจากพระองค์เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนก็ต้องปฏิบัติธรรมโดยอาศัยพระราชบารมีธรรม จึงมีแต่เจริญก้าวหน้าในประเทศชาติ ประชาชนมีแต่ความสุข พระราชาพระองค์นั้นก็มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน

     ในด้านประชาชนมีหน้าที่คือ ต้องถวายความเคารพนับถือพระราชาอย่างสูงสุด เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์มิใช่บุคคลธรรมดา พระราชาธิราชเจ้านั้นทรงเป็นเสมือนเทพเจ้า 8 องค์ คือ

1) พระอินทร์                                     2) พระยมราช

3) พระวายุ                                        4) พระสุริยะ

5) พระอัคนี                                       6) พระวรุณ

7) พระจันทร์                                     8) พระกุเวร

     ในคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่า พระมหาพรหมธาดาได้ตั้งพระมหากษัตริย์โดยเอาพระเดชบารมีของพระเจ้า 8 องค์ ดังที่กล่าวมาแล้ว เพื่อปกป้องคุ้มครองรักษาประชาชนซึ่งในองค์พระราชามีเทพเจ้า 8 องค์ตลอดŽ และในคัมภีร์ภควัทคีตา พระกฤษณะได้ทรงอนุศาสน์ไว้ว่า เราเป็นพระราชาในมนุษยชาติŽ ด้วยเหตุนี้ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงถวายความเคารพนับถือพระราชาเหมือนองค์พระนารายณ์ด้วย บุคคลใดเคารพนับถือพระราชา บุคคลนั้นยังนับถือศาสนาอยู่ แม้ในประเทศอินเดีย ประชาชนนั้นย่อมมีความจงรักภักดีและเคารพนับถือพระราชา พระมหาราชาเจ้าผู้ครองนครต่างๆ เหล่านั้นอยู่เสมอ

 

3. หลักปรมาตมัน

     คำว่า ปรมาตมัน หมายถึง สิ่งยิ่งใหญ่อันเป็นที่รวมของทุกสิ่งทุกอย่างในสากลโลก ซึ่งเรียกชื่อสิ่งนี้ว่า “ พรหมŽ” ปรมาตมันกับพรหมจึงเป็นสิ่งเดียวกัน และมีลักษณะดังต่อไปนี้

1)    เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง

2)    เป็นนามธรรม สิงสถิตอยู่ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเรียกว่าอาตมัน เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา

3)    เป็นศูนย์รวมแห่งวิญญาณทั้งปวง

4)    สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในสากลโลกล้วนเป็นส่วนย่อยที่แยกออกมาจากพรหม

5)    เป็นตัวความจริง (สัจธรรม) สิ่งเดียว (โลกและสิ่งอื่นๆ ล้วนเป็นมายา ภาพลวงที่มีอยู่ชั่วครั้งคราวเท่านั้น)

6)    เป็นผู้ประทานญาณ ความคิดและความสันติ

7)    เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสภาพเดิมตลอดกาล

    วิญญาณของสัตวโลกทั้งหลาย (อาตมัน) คือส่วนที่แยกออกมาจากวิญญาณรวมของพรหม (ปรมาตมัน) วิญญาณย่อยแต่ละดวงเหล่านี้เมื่อแยกออกมาแล้วย่อมเข้าสิงสถิตในสิ่งมีชีวิตรูปแบบต่างๆ กัน เช่น ในร่างกายมนุษย์ เทวดา สัตว์และพืช มีสภาพดีบ้าง เลวบ้าง สุดแต่ผลกรรมที่ทำไว้ ซึ่งถือว่าเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ตราบใดที่วิญญาณเหล่านี้ยังไม่สิ้นกรรม ย่อมต้องเวียนว่ายตายเกิดผจญทุกข์อยู่ตลอดไป

 

4. หลักโมกษะ

     หลักโมกษะ เป็นหลักความดีสูงสุด ดังคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สอนว่า ”ผู้ใดรู้แจ้งในอาตมันของตนว่าเป็นหลักอาตมันของโลกพรหมแล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากสังสารการเวียนว่ายตายเกิด และจะไม่ปฏิสนธิอีกŽ” หลักโมกษะประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

     1. การนำอาตมันเข้าสู่ปรมาตมัน ด้วยการปฏิบัติธรรมใดๆ เพื่อให้วิญญาณของตนเข้ารวมกับปฐมวิญญาณ เรียกว่า ”เข้าถึงโมกษะŽ” คือความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งชีวิต

     2. วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงโมกษะ ได้เสนอแนะหลักปฏิบัติที่สำคัญไว้ 3 ประการ คือ กรรมมรรค (กรรมโยคะ) ชยานมรรค (ชยานโยคะ) และภักติมรรค (ภักติโยคะ)

 

 


6) Hopfe Lewis M. Religions of The World, 1994 p. 90-94.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0058575987815857 Mins