ศาสนาโซโรอัสเตอร์

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2559

ศาสนาโซโรอัสเตอร์

1. ประวัติความเป็นมา

      ศาสนาโซโรอัสเตอร์1) เกิดในประเทศอิหร่าน เมื่อประมาณ 117 ปีก่อนพุทธศักราช โดยคิดตามสมัยของโซโรอัสเตอร์ (Zoroaster) ผู้เป็นศาสดาของศาสนานี้ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นศาสนาเอกเทวนิยมที่เชื่อว่ามีพระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่สูงสุดคือ พระเจ้าอาหุระ มาซดะ แต่พระองค์สามารถแบ่งเป็น 2 ภาค คือพระเจ้าแห่งความดีงาม ทรงพระนามว่า อาหุระ มาซดะ (Ahura mazda) หรือออร์มุสด์ (Ormuzd) หรือสเปนตา มันยุ (Spenta mainyu) ทรงสร้างแต่สิ่งดีงาม เช่น ความสวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ ความสุข และความสมหวัง เป็นต้น กับอีก องค์หนึ่งเป็นพระเจ้าแห่งความชั่วร้าย หรือพญามาร มีนามว่า อหริมัน (Ahriman) หรืออังกระ มันยุ (Angra Mainyu) สร้างแต่สิ่งที่ชั่วหรือไม่ดีทั้งหลาย เช่น ความอัปลักษณ์ ความอดอยาก ความทุกข์ และความผิดหวัง เป็นต้น พระเจ้าทั้ง 2 องค์ได้ต่อสู้กันตลอดเวลา ดังที่พระอาหุระ มาซดะ ตรัสว่า เราอาหุระ มาซดะ ไม่ได้พักผ่อนอยู่สบายเลย เพราะเป็นความปรารถนาของเราที่จะคุ้มครองแก่สิ่งที่เราสร้างขึ้น และโดยทำนองเดียวกัน เขาอหริมันก็ไม่ได้พักผ่อน เพราะเป็นความปรารถนาของเขาที่จะนำความพินาศมาสู่ผู้ที่เราสร้างขึ้นŽ ด้วยเหตุนี้จึงมีของ คู่กันในโลก เช่น ดี-ชั่ว สูง-ต่ำ ดำ-ขาว มืด-สว่าง เป็นต้น โดยสิ่งที่ดีทั้งหลายมาจากอาหุระ มาซดะ ส่วนสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายก็มาจากอหริมัน

    ศาสนาโซโรอัสเตอร์ยังมีชื่ออื่นอีก เช่น ศาสนาปาร์ซี เพราะศาสนานี้เกิดในเปอร์เซีย และชาวเปอร์เซียนับถือศาสนามาซดะ เพราะเทพเจ้าสูงสุดของศาสนานี้คือพระอาหุระ มาซดะหรือศาสนาบูชาไฟ เพราะศาสนิกของศาสนานี้จะตามไฟตลอดเวลามิให้ดับ เหล่านี้เป็นต้น ที่ว่าศาสนาบูชาไฟมิได้หมายความว่าศาสนาโซโรอัสเตอร์เห็นว่าไฟศักดิ์สิทธิ์ เพียงแต่ใช้ไฟเป็น สัญลักษณ์แห่งความสว่าง ความสะอาด ความรู้ และความดี เป็นต้นเท่านั้น นั่นคือมีไฟในที่ใดย่อมกำจัดความมืดในที่นั้น มีไฟเผาผลาญสิ่งต่างๆ ในที่ใด ย่อมทำลายสิ่งสกปรกให้หมดไปเหลืออยู่แต่ความสะอาดในที่นั้น ความรู้เกิดในที่ใด ย่อมกำจัดความโง่ให้หายไปในที่นั้น หรือความดีเกิดขึ้นในที่ใดย่อมกำจัดความชั่วให้หมดไปในที่นั้น

      ศาสนาโซโรอัสเตอร์เป็นศาสนาที่ชาวอิหร่านนับถือกันมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษ 600 ปี ทั้งมีความสำคัญเป็นศาสนาของจักรวรรดิเปอร์เซีย ซึ่งพระเจ้าไซรัสมหาราชทรงปกครอง เมื่อ 558-530 ก่อนศริสต์ศักราช ศาสนาโซโรอัสเตอร์ดำรงอยู่ในประเทศอิหร่านมานานกว่า 1,000 ปี ทั้งเคยรุ่งเรืองมากว่า 3 ศตวรรษ เกียรติคุณขจรไปยังต่างแดน โดยเฉพาะ ในประเทศกรีก นักประวัติศาสตร์กรีกคนสำคัญ เช่น เอโรโดตุส และพลูตาร์ซ เป็นต้น และนักปรัชญากรีก เพลโต้ และอริสโตเติล ต่างก็ได้ยกย่องศาสนาโซโรอัสเตอร์ไว้อย่างสูง จนใช้คำว่าโซโรอัสเตอร์กับคำว่าปัญญาในภาษากรีกแทนกันได้ และถือว่าปรัชญาของ โซโรอัสเตอร์กับปรัชญาของเพลโต้มีแนวเดียวกัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้ศาสนาโซโรอัสเตอร์ค่อยอันตรธานหายไปจากประเทศอิหร่านก็เพราะเหตุ 2 ประการ คือ

    1. ถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีก เข้ามารุกรานจนมีชัยเหนือดินแดนนี้ เมื่อประมาณ พ.ศ. 213 พระองค์สั่งให้เผาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์และศาสนิกถูกบังคับให้นับถือศาสนากรีกแทน

    2. เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้มีอำนาจในศาสนาอิสลามกำลังเอาชนะโลกในนามพระอัลลอฮ์ได้เข้ามายึดครองอิหร่าน สั่งให้เผาทำลายคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่หลงเหลืออยู่ทั้งหมด ทั้งบังคับศาสนิกของศาสนาโซโรอัสเตอร์ให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ใครขัดขืนจะถูกฆ่า ทำให้ศาสนิกของศาสนาโซโรอัสเตอร์ผู้ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา พากันหลบหนีไปอยู่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ศาสนาโซโรอัสเตอร์จึงแทบสูญสิ้นไปไม่ประจักษ์แก่ชาวโลกเป็นเวลานานหลาย ศตวรรษ จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวโลกเริ่มรู้จักศาสนานี้อีกครั้งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า

   เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวอังกฤษได้รับคัมภีร์เซนต์ อเวสตะ ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญ ของศาสนาโซโรอัสเตอร์มาคัมภีร์หนึ่ง แต่เนื่องจากอ่านไม่ออกจึงได้แขวนคัมภีร์นั้นไว้บนฝาผนังห้องสมุดโบดเลียน (Bodleian) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เสมือนสิ่งแปลกประหลาดสำหรับอวดแขก ต่อมาต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ออเกอตีส์ ดูแปร์รอง (Anquertil Euperron) นักศึกษาแห่งสถาบันภาษาตะวันออกในกรุงปารีสมาเห็นเข้า เขาตัดสินใจที่จะทำลายความลี้ลับให้ได้ จึงเดินทางไปยังเมืองบอมเบย์ศึกษาอยู่กับชาวเปอร์เซียเป็นเวลา 10 ปี จึงได้กลับ มายังกรุงปารีส และได้รับความอุปถัมภ์จากหอสมุดหลวงฝรั่งเศสให้แปลคัมภีร์เซนต์ อเวสตะ จนจบบริบูรณ์ ทำให้ความลี้ลับของศาสนาโซโรอัสเตอร์ถูกเปิดเผยแก่ชาวโลกอีกครั้ง

 

2. ประวัติศาสดา

    ผู้เป็นศาสดาของศาสนานี้คือ โซโรอัสเตอร์ หรือเรียกอีกชื่อว่า ซาราธุสตรา เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ก่อน ค.ศ. ตามประวัติกล่าวว่ามีชีวิตอยู่ในระหว่างก่อน ค.ศ. 660-583

2.1 ชาติกำเนิดและปฐมวัย

   ซาราธุสตราหรือโซโรอัสเตอร์ เกิดในครอบครัวชนเผ่าปิยะครอบครัวหนึ่งในดินแดนเปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน เมื่อศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช เป็นบุตรชายที่น่ารักคนหนึ่ง ของปุรุษัสผู้บิดา และทุโควะผู้มารดา มีชีวประวัติที่น่าอัศจรรย์ เป็นอภินิหารและมีคำพยากรณ์ บรรดาสาวกของโซโรอัสเตอร์ต่างพากันเชื่อว่าจะมีคนวิเศษผู้ยิ่งใหญ่มาโปรดชาวเปอร์เซีย ล่วงหน้าก่อนโซโรอัสเตอร์เกิดกว่า 3 พันปี โดยพระเจ้าผู้เป็นมหาเทพพระนามว่า อาหุรมัสดา ทรงส่งผู้นั้นมาให้เกิดในรูปของแสงสว่างเป็นอมตะเข้าสู่ครรภ์หญิงสาวคนหนึ่ง ผู้เป็นมารดาของ โซโรอัสเตอร์ ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 15 ปี ตำนานบางเล่มเล่าว่า โซโรอัสเตอร์คลอดจากครรภ์มารดาก็มีการแสดงอภินิหาร เช่น หัวเราะได้ เป็นต้น

    ชีวิตปฐมวัยของโซโรอัสเตอร์ปรากฏเรื่องประหลาดมหัศจรรย์หลายครั้ง ตั้งแต่ยังเป็นทารก เช่น มีสมองพิเศษ คือ มีอานุภาพมาก หากใครเอามือแตะที่ศีรษะจะต้องสะท้อนกลับทันที เป็นเสมือนเข้าใกล้ไฟฟ้าแรงสูงฉะนั้น และยังสามารถแสดงวาทะที่มีเหตุผลโต้ตอบกับ นักปราชญ์เหนือกว่าเด็กสามัญธรรมดาจะมีได้ เมื่ออายุได้ 15 ปี มีจิตใจใฝ่สงบโน้มเอียงไปข้างยึดถือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า มีอำนาจจะยังชีวิตของคนให้เป็นสุขได้ในอนาคต มีจิตใจเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อต่อคนยากจนและสัตว์ทั่วหน้า เมื่ออายุ 20 ปี โซโรอัสเตอร์ ปรารถนาที่จะท่องเที่ยวไปในป่า บำเพ็ญตนหาความสงบอยู่โดยลำพัง แต่บิดามารดาไม่ยอมอนุญาตให้ออกจากบ้านตามปรารถนา จึงหาวิธีที่จะผูกมัดโซโรอัสเตอร์ให้อยู่บ้าน โดยการหาหญิงสาวเลอโฉมมามอบให้เป็นภรรยา แต่โซโรอัสเตอร์ไม่ยินยอมมีภรรยาที่บิดามารดาหามาให้ คัดค้านว่าผิดจารีตประเพณี เพราะชายที่ไม่ได้พบและรักหญิงก่อนนั้นจะแต่งงานกันได้อย่างไร

2.2 มัชฌิมวัยและประสบการณ์ทางใจ

    เมื่ออายุ 30 ปี โซโรอัสเตอร์ก็ตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวไปในหมู่ชาวไร่ชาวนาที่ยากจน ได้เห็นการถูกบีบคั้นที่ได้รับจากเจ้าของที่ดิน และความทุกข์ทรมานของปศุสัตว์ โซโรอัสเตอร์ไม่สามารถทนดูได้จึงคิดที่จะช่วยคนและสัตว์เหล่านั้นให้พ้นจากความลำบาก ขณะนั่งคิดหาอุบายอยู่ก็ได้ประสบการณ์ทางใจ คือ รู้สึกตัวเสมือนหนึ่งพระเจ้าอาหุรมัสดาตรัสเรียกให้มาเฝ้าอยู่ข้างหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงไต่ถามซักฟอกปัญหาต่างๆ จนพอพระทัย แล้วทรงมอบให้ดำเนินงานในฐานะตัวแทนของพระองค์เพื่อช่วยเหลือความทุกข์ของคนทั้งหลาย คำสั่งของพระเจ้ามีว่า ”ชายผู้นี้เราได้สร้างมาเพื่อเป็นตัวแทนของเรา ชายผู้นี้เท่านั้นที่เอาใจใส่ต่อการบอกกล่าวแนะนำของเราŽ” และว่า ”เจ้าเป็นคนแรกที่ยกย่องเรา ส่วนคนอื่นต่างพากันมองเราด้วยความเกลียดชังŽ”

2.3 ออกประกาศศาสนา

    เมื่อได้รับประสบการณ์เช่นนั้นก็มั่นใจในตัวเองที่จะเป็นผู้ควรโปรดหมู่คน ตามประวัติได้กล่าวไว้ว่า โซโรอัสเตอร์ได้ให้สัตย์ปฏิญาณต่อพระเจ้า2) ว่าจะเผยแผ่ศาสนาให้ก้าวหน้าไปทั่วสากลโลก จะเปลี่ยนแปลงความชั่วร้ายให้กลายเป็นดี ตั้งแต่นั้นมาโซโรอัสเตอร์ก็มอบกายถวายชีวิตให้เป็นพลีแด่พระเจ้า ยึดถือหลักมีความคิดดี มีการกระทำดี และมีวาจาดี ตำหนิติเตียนความสกปรกโสมม การมัวเมา การคดโกง และการหลอกลวงทั้งสิ้น โซโรอัสเตอร ์กล่าวว่า ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอนนี้ ในบั้นปลายชีวิตเขาจะต้องประสบความเดือดร้อนลำเค็ญ

2.4 ความสำเร็จ

    “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นŽ” สุดท้ายแห่งความพยายามที่เป็นไปอย่างมั่นคงสม่ำเสมอไม่ขาดสาย โซโรอัสเตอร์ก็มีโอกาสเข้าสู่ราชสำนักเปอร์เซียได้เข้าเฝ้ากษัตริย์วิสตัสปะ (Vistaspa) ได้เทศนาถวายกษัตริย์ พระราชอนุชา พระราชโอรส และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน คนทั้งหลายในราชสำนักพากันเปลี่ยนจากความนับถือเดิม คือการนับถือธรรมชาติที่ทรงอำนาจ เช่น การนับถือของเผ่าอารยันโบราณอื่นๆ กลับมานับถือ พระเจ้าอาหุระ มาซดะ และคำสอนของโซโรอัสเตอร์ โซโรอัสเตอร์มีอายุ 42 ปี อาศัยความสำเร็จอันนี้โซโรอัสเตอร์เผยแผ่ศาสนาได้ผลอย่างเต็มที่จนถึงอายุ 57 ปี อนึ่งในระยะนี้เอง โซโรอัสเตอร์ได้กำลังเผยแผ่ศาสนาจากภรรยาของตน 3 คน ซึ่งเป็นหญิงชั้นผู้ดีทั้งสิ้น แต่คนที่ เป็นกำลังสำคัญที่สุดคือ คนที่เป็นลูกสาวของเสนาบดี โซโรอัสเตอร์มีลูกชาย 3 คน และลูกสาว 3 คน เกิดจากภรรยาทั้งสาม ลูกสาวคนหนึ่งสมรสกับอัครมหาเสนาบดี ลูกสาวคนนี้เองเป็นกำลังในการเผยแผ่ศาสนาให้แก่บิดาเป็นอันมาก ฝ่ายทางลูกชายทั้งสามคนรับราชการเป็น ผู้บังคับบัญชาการทหารอยู่ในกองทัพกษัตริย์เปอร์เซีย และเป็นกำลังอย่างดีในการประกาศศาสนาของบิดาด้วย

   ระยะการประกาศศาสนาของโซโรอัสเตอร์ตอนหลัง คือ ตั้งแต่อายุ 57 ปี มีลักษณะรุนแรงไปด้านการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อแสวงหาราชอำนาจให้แก่กษัตริย์เปอร์เซียในดินแดนใกล้เคียง ปรากฏว่ากษัตริย์เปอร์เซียผู้อุปถัมภ์ศาสนาโซโรอัสเตอร์ต้องทำสงครามศาสนากับเผ่าตุเรเนียนอย่างหนักครั้งหนึ่ง ต้องใช้ทหารถึงแสนคนเข้าตีเผ่าตุเรเนียนและประเทศใกล้เคียงที่ปฏิเสธไม่ยอมรับนับถือศาสนาของโซโรอัสเตอร์ และได้ชัยชนะ

2.5 บั้นปลายชีวิต

    ในวัยชราอันเป็นปัจฉิมวัย โซโรอัสเตอร์ได้บำเพ็ญตนเป็นบรมศาสดาผู้ยอดเยี่ยมใน การใช้กลยุทธ์ในการประกาศศาสนา ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ยังชาติบ้านเมืองให้พัฒนาเจริญรุ่งเรือง ทั้งปฏิปทาของโซโรอัสเตอร์เองก็เป็นศาสดาผู้สูงส่งด้วยศีลธรรมจรรยา เป็นที่นับถือศรัทธาของคนทั้งหลาย เมื่ออายุ 77 ปี ก็ได้ถึงแก่การสิ้นชีพ หลังจากนั้น เมื่อถึงสมัยศาสนาอิสลามได้แพร่หลายไปทั่วโลก ประเทศเปอร์เซียตกไปอยู่ในอำนาจของอิสลาม ประชาชนพลเมืองเปอร์เซียจึงเปลี่ยนมาถือศาสนาอิสลามโดยลำดับ ส่วนพวกที่ยังนับถือศาสนาเดิมต้องหนีภัยไปอาศัยอยู่ในประเทศอินเดีย โดยมากอยู่ทางเมืองบอมเบย์ ต้องวางอาวุธ ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว ต้องเว้นการฆ่าวัวควายตามเงื่อนไขของพวกฮินดู ชาวเปอร์เซียหรือชาวปาร์ซียอมตามจึงอาศัยอยู่ในอินเดียได้ เมื่อชาวปาร์ซีไปเคล้าคละปะปนอยู่กับชนต่างชาติและต่างลัทธิ ก็เลือนภาษาเดิมของตนทีละน้อยจนลืมสนิท ส่วนศาสนาเดิมก็จืดจางแทบจะสิ้นไปด้วย หากรักษาคัมภีร์ของเก่าในศาสนาสืบไว้ได้บางคัมภีร์ ลัทธิของตนก็เลยไม่สูญแต่ความรู้ความ เข้าใจในคัมภีร์ออกจะเป็นอย่างที่สืบๆ กันมาเท่านั้น

 

3. คัมภีร์ในศาสนา

    คัมภีร์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ คือ คัมภีร์อเวสตะ คำว่า อเวสตะ แปลว่า ความรู้ ตรงกับคำว่า เวทะ อันเป็นคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์-ฮินดู ภาษาที่ใช้จารึกเป็นภาษาอเวสตะ (มีลักษณะคล้ายภาษาสันสกฤต) เกิดจากการรวบรวมขึ้นจากที่ท่องจำกันมาได้ คัมภีร์อเวสตะแบ่งออกเป็น 5 หมวดใหญ่ ดังนี้

    1. ยัสนะ เป็นหมวดที่ว่าด้วยพิธีกรรม การพลีกรรมบวงสรวงต่อพระเจ้า เป็นตอน เริ่มแรกที่แสดงว่าเทพเจ้ามีความสำคัญยิ่งกว่ามนุษย์ และแสดงว่าการพลีกรรมบวงสรวงต่อเทพเจ้าเป็นข้อปฏิบัติของมนุษย์ที่มาก่อนข้อใด คัมภีร์ยัสนะแต่งเป็นคาถาทำนองเพลงขับในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ ใช้เป็นบทสวดสรรเสริญคุณและฤทธิ์ของพระเจ้า มีอยู่ด้วยกัน 5 บท

     2. วิสเปรัท เป็นหมวดว่าด้วยบทสวดอ้อนวอนต่อเทพทั้งปวง ใช้คู่กับยัสนะ ประกอบด้วยบทง่ายๆ 20 บท

   3. เวนทิทัท เป็นหมวดว่าด้วยบทสวดขับไล่ภูตผีปีศาจและเทพ ซึ่งเป็นฝ่ายร้าย เป็นกฎที่เป็นปฏิปักษ์ต่อมารร้าย เฉพาะนักพรตหรือนักบวชในศาสนานี้เท่านั้น จะเป็นผู้ใช้เวนทิทัทประกอบพิธีกรรม นอกจากนั้นหมวดนี้ยังได้กล่าวถึงเรื่องของจักรวาล ประวัติศาสตร์ และ คำสอนเรื่องนรกสวรรค์

   4. ยัษฏส์ เป็นหมวดว่าด้วยบทสวดบูชาอันเป็นบทกวีสำหรับใช้สวดบูชาทูตสวรรค์ 21 องค์ และวีรบุรุษแห่งศาสนาโซโรอัสเตอร์ ถือว่าเป็นหมวดสำคัญของคัมภีร์อเวสตะ นักพรตได้นำมาใช้เป็นคัมภีร์แรกในพิธีกรรม เป็นคัมภีร์คู่มือของนักพรต

   5. โขรทะ-อเวสตะ แปลว่า อเวสตะเล็กน้อย เป็นหมวดที่เป็นหนังสือบทสวดคู่มือ อย่างย่อสำหรับใช้ในหมู่ศาสนิกชนสามัญทั่วไป

 

4. หลักคำสอนที่สำคัญ

4.1 คุณธรรมคำสอนที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกับปวงเทพ 6 ประการ

     คุณธรรมคำสอนที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกับปวงเทพ 6 ประการ3)

  ผู้ปฏิบัติตามนี้ได้ชื่อว่าเป็นศาสนิกชนอย่างแท้จริงตามวิถีแห่งเทพเจ้าผู้ประเสริฐด้วยปัญญาของโซโรอัสเตอร์ คือ

1. พฤติกรรมที่สุจริตทั้งกาย วาจา และจิตใจ
2. ความมีจิตใจบริสุทธิ์สะอาด
3. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
4. ความเมตตากรุณาต่อสัตว์ที่ให้คุณประโยชน์
5. การทำงานที่มีคุณค่า
6. การช่วยเหลือผู้ยากจนให้ได้รับการศึกษา

4.2 บาปและบุญ

    บาปซึ่งเป็นมิตรของพาลชน แต่เป็นศัตรูของสาธุชน ได้แก่ ทุจริตทางกาย วาจา และจิตใจ โทสะ วิหิงสา พยาบาท ดื้อดึง เย่อหยิ่ง เล่นการพนัน ดูหญิงด้วยกามวิตก โลภ ปราศจาก ความละอาย ริษยา และอื่นๆ ซึ่งอยู่ในหมวดความชั่ว ศาสนิกทุกคนจะต้องงดเว้นให้ห่างไกล เพราะถ้าทำบาปแล้วย่อมได้รับผลของบาปนั้น ส่วนบุญคือ การกระทำที่ชอบ ซึ่งเป็นมิตรของสาธุชน แต่เป็นศัตรูของพาลชน ได้แก่ การให้ทาน มีความเมตตา กรุณา มุทิตา กล่าววาจา อ่อนหวานไพเราะ แสวงหาความรู้ พูดสิ่งที่เป็นจริง ฯลฯ ศาสนิกทุกคนควรเป็นสาธุชนกระทำแต่ในสิ่งที่เป็นบุญเท่านั้น

4.3 หน้าที่ของมนุษย์ 3 ประการ ผู้จะเป็นมนุษย์จะต้องทำหน้าที่ 3 ประการดังนี้ คือ

1. ทำศัตรูให้เป็นมิตร
2. ทำคนชั่วให้เป็นคนดี
3. ทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด

4.4 หลักการสร้างนิสัยที่ดี 4 ประการ อันเป็นหลักศาสนาโซโรอัสเตอร์ คือ

1. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อบุคคลผู้สมควร
2. มีความยุติธรรม
3. เป็นมิตรกับทุกๆ คน
4. ขจัดความอสัตย์ออกไปจากตัวเอง

4.5 ข้อปฏิบัติของนักบวช

      ข้อปฏิบัติอันเรียกว่า ธรรม และข้อห้ามอันเรียกว่า วินัย สำหรับนักพรตมีดังนี้

ธรรม มี 5 คือ

1. เป็นผู้บริสุทธิ์ (พรหมจรรย์)
2. เป็นผู้เที่ยงธรรมต่อคนและสัตว์ในไตรทวาร
3. เป็นผู้มีความรู้เชื่อถือได้ (สอนคนได้)
4. เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรม
5. เป็นผู้อดทนต่อความชั่ว

วินัย มี 10 คือ

1. ต้องมีชื่อเสียงดีเพื่อความดีของครูอาจารย์
2. ต้องไม่มีชื่อเสียงชั่วเพื่อครูอาจารย์
3. ต้องไม่ทุบตีและไม่กล่าวคำหยาบต่อครูอาจารย์
4.    ครูอาจารย์สอนอย่างไรต้องรับอย่างนั้น และต้องสอนตามที่ครูอาจารย์สอน (อย่าบิดเบือน)
5. ต้องวางกฎเกณฑ์ให้รางวัลแก่ผู้ทำความดี ลงโทษแก่ผู้ทำความชั่วโดยเที่ยงธรรม
6. ต้องต้อนรับผู้มาหาด้วยอาจาระอันงาม
7. ต้องห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติชั่ว
8. ต้องสารภาพความชั่วที่ตัวกระทำ (ปลงอาบัติ)
9. ต้องรู้ความเคลื่อนไหวของศาสนา และช่วยบำรุงศาสนา
10. ต้องภักดีต่อผู้ปกครองทางอาณาจักรและศาสนจักร

4.6 การบูชาไฟ

    มหาเทพอาหุระ มาซดะ เป็นผู้ทรงความบริสุทธิ์ เป็นผู้ทรงแสงสว่างยิ่งกว่าแสงสว่าง อันใด เป็นผู้ประทานความอบอุ่นให้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย ดังนั้นไฟจึงเป็นสัญลักษณ์แห่ง เทพเจ้า ด้วยว่าเมื่อมีไฟอยู่ในที่ใด ไฟย่อมจะเผาผลาญสิ่งสกปรกโสมมทั้งหลายให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ ข้อนี้ฉันใด เทพเจ้า (อาหุระ มาซดะ) ประทับอยู่ในที่ใด ที่นั่นย่อมจะมีแต่ความบริสุทธิ์ โดยเหตุนี้ศาสนิกชนของศาสนานี้จึงได้ชื่อว่าผู้บูชาไฟ (Fire Worshipper) และศาสนานี้จึงได้ชื่อว่า ศาสนาของผู้บูชาไฟ (Religion of Fire Worshipper) ด้วย ศาสนิกแห่งศาสนาโซโรอัสเตอร์ถือว่า จะต้องมีสถานที่จุดไฟเพื่อบูชา และจะต้องคอยระวังไม่ให้ไฟดับ จะต้องตามไฟเป็นเครื่องบูชาไว้เป็นนิจ จะต้องถือว่านอกจากไฟแล้ว ไม่มีอะไรจะล้างสิ่งสกปรกให้สะอาดได้

4.7 พระเจ้าผู้เป็นเจ้าสูงสุด

    ศาสนาโซโรอัสเตอร์เชื่อว่ามีพระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้าอาหุระ มาซดะ (Ahura Mazda) ซึ่งฮอพฟ์ได้อธิบายความหมายไว้ว่า คำว่า ”อาหุระŽ” เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ”พระเจ้าŽ” และคำว่า ”มาซดะ”Ž แปลว่า ”ปัญญาŽ” รวมความว่า ”พระเจ้าแห่งดวงปัญญาŽ” ในคัมภีร์ของโซโรอัสเตอร์ได้เอ่ยถึงพระองค์ มากกว่า 20 พระนาม เช่น ผู้ประทานพร ผู้ประทานฝูงสัตว์ ผู้ทรงพลัง ความศักดิ์สิทธิ์อันสมบูรณ์ พระผู้สร้าง สัพพัญญู และพระเจ้าผู้ไม่มีใครเอาชนะ เป็นต้น

    พระองค์จึงเป็นผู้สร้างทุกสิ่ง ผู้รู้ทุกสิ่ง และทรงความดีงามอย่างบริสุทธ์ถาวร โลกและสรรพสิ่งล้วนเป็นผลงานที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา แต่ไม่มีใครสามารถสร้างพระองค์ได้ พระองค์จึงมีอยู่เป็นอยู่ด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีใครที่จะรู้หรือเข้าใจในตัวพระองค์ได้โดยตรง นอกจากจะทรงเปิดเผยพระองค์เอง โดยการติดต่อผ่านเทพเจ้าทั้ง 6 องค์ คือ

-    อาษา (Asha) เป็นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรมและความรู้ในกฎของพระเจ้า
-    โวฮู-มานา (Vohu-Mana) เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก
-    กษัตรา (Kshatra) เป็นเทพเจ้าแห่งความช่วยเหลือ
-    อาร์มาอิติ (Armaiti) เป็นเทพีแห่งความใจบุญ
-    ฮอรŒวาทัต (Haurvatat) เป็นเทพีแห่งความสมบูณ์
-    อาเมเรทัต (Ameretat) เป็นเทพีแห่งอมตภาพ

    นอกจากนี้ยังมีเทพองค์อื่นๆ อีก เช่น สระโอชา (Sraosha) เป็นเทพที่ปกป้องมนุษย์ที่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระเจ้าอาชิ วังกูอี (Ashi Vanguhe) เป็นเทพีผู้ให้รางวัลแก่คนทำดี และ มิทรา (Mithra) เป็นเทพที่ยกย่องกันมากในกลุ่มของพวกทหาร

   เทพและเทพีเหล่านี้มีหน้าที่ขับไล่ความชั่วร้าย และคอยปกป้องคุ้มครองมนุษย์ ผู้ที่ นับถือศาสนานี้จะต้องหมั่นสวดมนต์อยู่เสมอเพื่ออ้อนวอนให้บรรดาเทพเจ้าอวยพร ให้้อยู่เย็นเป็นสุข เทพเจ้าในศาสนานี้มีเป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่ามากกว่า 40 องค์ แต่ ที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับมีไม่มาก ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น การที่มีเทพเจ้าหลายองค์ เช่นนี้ อาจทำให้บางท่านเข้าใจว่าเป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยม (Polytheism) แต่นัยแห่งความจริงแล้ว ศาสนาโซโรอัสเตอร์เป็นแบบเอกเทวนิยม เพราะบรรดาเทพและเทพีต่างเป็นเพียงบริวารซึ่งอยู่ใต้อำนาจขององค์อาหุระ มาซดะ พระองค์สามารถแบ่งภาคเป็น 2 ภาค คือ พระเจ้าแห่งความดีงามและความสว่าง ทรงพระนามว่า สเปนตา มันยุ (Spenta Mainyu) และพระเจ้าแห่งความชั่วร้ายและความมืด ทรงพระนามว่า อังกระ มันยุ (Angra Mainyu) หรือ อหริมัน (Ahriman) การแบ่งภาคเป็น 2 ภาค อาจทำให้หลายท่านคิดว่าเป็นแนวคิดแบบ ทวิเทวนิยม ซึ่งไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ เพราะทั้ง 2 ภาคนี้ ต่างมาจากพระเจ้าองค์เดียว ซึ่งเป็นเอกและเป็นปฐม ทรงมีพลังอันมหาศาลที่จะสำแดงปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างมากมาย

 

5. หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด

     ศาสนาโซโรอัสเตอร์สอนว่ามีเทพเจ้าอยู่ 2 องค์ คือ อาหุระ มาซดะ และอหริมัน อาหุระ มาซดะ เป็นเทพเจ้าแห่งความดี ทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งที่ดีงาม ในคัมภีร์บุนฮาดิส (Bunhadis) ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาของคัมภีร์เซนต์ อเวสตะ ได้กล่าวถึงการสร้างโลกของ พระอาหุระ มาซดะ ไว้ว่า วันที่ 1 ทรงสร้างฟ้า วันที่ 2 ทรงสร้างน้ำ วันที่ 3 ทรงสร้างแผ่นดิน วันที่ 4 ทรงสร้างพฤกษชาติทั้งหลาย วันที่ 5 ทรงสร้างสรรพสัตว์ วันที่ 6 ทรงสร้างคน ผู้ชายคนแรกที่ทรงสร้างขึ้นคือ เมเชีย (Meshia) และหญิงคนแรกคือ เมเชียนา (Meshiana) และในช่วงการสร้างนั้นพระองค์ยังได้สร้างแสงสว่างขึ้นระหว่างฟ้ากับดิน ทั้งทรงสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ อีกด้วย แต่บางตำราก็ว่ามนุษย์ชายคนแรกที่พระเจ้าสร้างขึ้น ชื่อมัศยา ส่วนมนุษย์หญิงคนแรกชื่อมัศโยอี ทั้งคู่อยู่ด้วยกันมีลูก 14 คน เป็นชาย 7 หญิง 7

    พระอาหุระ มาซดะ นอกจากทรงสร้างสรรพสิ่งแล้ว ยังเป็นพระเจ้าแห่งความดี ชีวิต ความงาม ความสว่าง ความสะอาด ความแข็งแรง ความไม่มีโรค และความฉลาด เป็นต้น ส่วน อหริมันเป็นเทพเจ้าแห่งความชั่ว สร้างแต่สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ดังนั้นอหริมัน นอกจากจะเป็น เทพเจ้าแห่งความชั่วแล้วยังเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย ความอัปลักษณ์ ความมืด ความสกปรก ความอ่อนแอ ความมีโรค และความโง่ เป็นต้น เทพทั้ง 2 องค์ต่อสู้กันตลอดเวลา พระอาหุระ มาซดะ นอกจากจะต่อสู้กับอหริมันด้วยพระองค์เองแล้ว ยังมีเทพบริวารของพระองค์คอยช่วยอีกด้วย กล่าวคือ พระอาหุระ มาซดะ ได้สร้างเทพบุตร 3 องค์ และเทพธิดา 3 องค์ ให้คอยช่วยเหลือพระองค์ เทพบุตรทั้ง 3 ก็มีเทพโวหุมานะ (Vohumana) ใจบริสุทธิ์ เทพอัษวหิสตา (Ashvahista) หรืออาษา (Asha) ความยุติธรรม และเทพกษัตรา (Kshatra) อำนาจ ส่วน เทพธิดา 3 องค์ ก็มีเทพธิดาสเปนดาร์มัด (Spendarmad) ความรัก เทพธิดาฮอร์วาทัต (Haurvatat) อนามัยหรือสมบูรณ์ และเทพธิดาอเมเรทัต (Ameretat) อมตะ เทพบุตรและ เทพธิดาทั้ง 6 องค์เรียกรวมกันวˆา อเมษ-สเปนต้า (Amesh-Spenta) หรือเฮปทัต (Heptat) เทพบริวารเหล่านี้อาจเป็นเพียงเรื่องบุคลาธิษฐานก็เป็นได้ เพื่ออธิบายธรรม 6 ประการว่าเป็นเรื่องที่ควรบำเพ็ญให้เกิดมีขึ้น คือ ความบริสุทธิ์ ความยุติธรรม อำนาจ ความรัก อนามัย และอมตะ

     ศาสนาโซโรอัสเตอร์สอนว่า พญามารอหริมันถึงแม้จะมีอำนาจเพียงใด แต่ในที่สุดก็จะ ถูกพระอาหุระ มาซดะ กำจัดให้หมดสิ้นไป แต่การที่พระอาหุระ มาซดะจะเอาชนะอหริมันได้เร็วเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับชาวโลกเป็นสำคัญ เพราะพระอาหุระ มาซดะ นอกจากจะมีเทพบริวารคอยช่วยเหลือพระองค์แล้ว พระองค์ยังต้องการความช่วยเหลือจากชาวโลกด้วย ถ้าจะให้ พระองค์เอาชนะอหริมันได้เร็ว ทุกคนจะต้องช่วยขับไล่อหริมัน นั่นคือต้องคิดดี ทำดี พูดดี พยายามกำจัดความชั่วให้ออกไปจากจิตใจ แต่ตรงกันข้ามหากใครคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่วเมื่อไร ก็หมายถึงว่า กำลังตกเป็นเหยื่อของอหริมัน ความชั่วเป็นพวกพ้องของอหริมัน แต่ความดีเป็นพวกพ้องของพระอาหุระ มาซดะ ใครจะเป็นฝ่ายใดก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเขาเอง เพราะฉะนั้นกองทัพของ อาหุระ มาซดะ และอหริมัน จึงรบกันตลอดเวลาที่สมรภูมิคือจิตใจของแต่ละคน หากใคร ยึดมั่นในความดีก็จะเป็นพวกพ้องของพระอาหุระ มาซดะ ทุกเช้าปีศาจแห่งความเกียจคร้านจะมาคอยกระซิบที่หูของคนว่า นอนเถิดยังไม่ถึงเวลาลุกขึ้น แต่ผู้ใดใจแข็งลุกขึ้น ผู้นั้นจะได้เข้าไปในสวรรค์เป็นคนแรก

     เกี่ยวกับเรื่องโลกหน้า ศาสนาโซโรอัสเตอร์สอนว่า วิญญาณเป็นอมตะไม่ตายตามร่างกาย เมื่อคนตายแล้ว วิญญาณจะวนเวียนอยู่กับร่างกายอยู่ 3 วัน 3 คืน ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 4 วิญญาณจึงไปสู่สถานที่ตัดสินบุญบาป ซึ่งพระมิตระทรงเป็นผู้ตัดสินโดยใช้ตราชั่งบุญ-บาปชั่ง จากนั้นก็จะไปขึ้นสะพานชินวัต (Chinvat) วิญญาณที่ทำความดีไว้มากก็จะเดินไปตามสะพานอย่างสะดวกสบาย สะพานนั้นจะขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ และมีเทพอัปสรคอยช่วยเหลือและนำทางวิญญาณจะถามเทพอัปสรว่าท่านเป็นใคร เทพอัปสรจะตอบว่าฉันเป็นอัตตาของท่าน เป็นตัวแทนความสะอาด ความบริสุทธิ์ทั้ง 3 คือ ทางกาย วาจา และใจ ที่ท่านประกอบมาแล้ว ครั้นแล้วเทพอัปสรก็นำวิญญาณนั้นไปสู่สวรรค์ดินแดนแห่งความสว่าง ความสุข ความสวยงามและความหอม อยู่กับพระอาหุระ มาซดะ ชั่วนิรันดร ส่วนคนที่ทำความชั่วไว้มากก็จะเดินไป บนสะพานด้วยความยากลำบากเพราะสะพานเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง และสะพานนั้นจะแคบลงทุกทีจนกลายเป็นคมดาบที่คมกริบ อีกทั้งมีแม่มดตนหนึ่ง รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวคอยต้อนรับ วิญญาณจะถามแม่มดว่า ท่านเป็นใคร แม่มดตอบว่า เราคืออัตตาของท่าน เป็นตัวแทนความสกปรก ความไม่บริสุทธิ์ทั้ง 3 อย่าง ทางกาย วาจา และใจ ที่ท่านได้กระทำไว้แล้ว ว่าแล้วแม่มดก็จะนำวิญญาณลงนรก ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความมืดและความทุกข์ทรมาน อยู่กับ อหริมันตลอดไป แต่การตกนรกจะไม่ตกชั่วนิรันดร เขาจะตกนรกไปจนกว่าจะได้รู้สึกสำนึกตัวกลัวความชั่ว ไม่กล้าทำบาปกรรมอีก หลังจากนั้นพระเจ้าก็จะนำเขาขึ้นจากนรกไปอยู่บนสวรรค์อยู่กับพระอาหุระ มาซดะ ชั่วนิรันดร ส่วนวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุด ก็โดยการประพฤติกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ และบูชาพระอาหุระ มาซดะ ด้วยความภักดี ด้วยเหตุนี้ การเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ จึงมีเพียงครั้งเดียว แต่ก็มีข้อความบางแห่งกล่าวว่า ทุกๆ 100 ปี จะมีบุรุษวิเศษ 3 คน คือ ออเษดาร์ (Aushedar) ออเษดาร์ มาห์ (Aushedar Mah) และ โสษยันต์ (Soshyant) ผลัดเปลี่ยนกันมาโปรดชาวโลก บุรุษทั้ง 3 เป็นอวตารของโซโรอัสเตอร์ และจะมาเกิดในครรภŒหญิงพรหมจารีย์ เหมือนมารดาของโซโรอัสเตอร์ จากข้อความนี้ แสดงว่ามีการกลับมาเกิดอีกเหมือนกัน

 

6. พิธีกรรมที่สำคัญ

6.1 พิธีปฏิญาณตนเข้านับถือศาสนา

    ชาวปาร์ซีวัยรุ่นทุกคนจะต้องเริ่มต้นเข้าปฏิญาณตนนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ เมื่อ อายุครบ 7 ปี (ในอินเดีย) และ 10 ปี (ในอิหร่าน) เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว จะได้รับเสื้อ 1 ตัว และกฤช 1 เล่ม ไว้เป็นเครื่องประดับกายตลอดชีวิต

         การทำให้บริสุทธิ์มี 3 แบบ ดังนี้

1. พัดยับ (Padyab) การชำระล้าง
2. นาหัน (Nahan) การอาบ
3. บารสินัม (Barsenum) พิธีกรรมซับซ้อน กระทำในสถานที่พิเศษ

    การทำให้บริสุทธิ์มีการสวดมนต์ ปาเทต (Patet) เป็นการกล่าวปฏิญาณว่า จะไม่ทำบาปกรรมอีก และสารภาพบาปต่อหน้าพระชั้นทัสทุร หรือพระชั้นธรรมดา ถ้าหากไม่มี พระชั้นทัสทุร

6.2 พิธีบูชาไฟ

     ชาวโซโรอัสเตอร์ถือว่า ไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพเจ้า ผู้ทรงแสงสว่างยิ่งกว่าแสงสว่างใดๆ ผู้ทรงประทานความอบอุ่นให้แก่มวลมนุษยชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อไปอยู่ที่ใดย่อมจะเผาผลาญสิ่งสกปรกโสมมทั้งหลายให้สูญสิ้นไป เหลือแต่ความสะอาดบริสุทธิ์ ความสว่างไสว ความอบอุ่น ศาสนิกชนแห่งโซโรอัสเตอร์จึงนิยมบูชาไฟ โดยจะจุดเพื่อบูชาไว้ไม่ขาดสาย จะคอยระวังไม่ให้ไฟดับ จะต้องตามไฟเป็นเครื่องบูชาไว้เป็นนิจ จะจุดไฟให้ลุกโพลงในที่บูชาหรือในโบสถ์อยู่ตลอดเวลา

6.3 พิธีนมัสการตอนสายัณห์

     พอแดดร่มลมตกแต่ละวัน ชาวศาสนิกแห่งโซโรอัสเตอร์ที่ประเทศอินเดียโดยเฉพาะที่ เมืองบอมเบย์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของศาสนานี้ จะพากันแต่งตัวด้วยผ้าขาวมีสไบพาดบ่าปลˆอยชายลงทั้งสองข้างไปชุมนุมพร้อมกันอย่างเป็นระเบียบ ณ ชายหาดแห่งทะเล เพื่อประกอบพิธีนมัสการตอนสายัณต์ โดยการโค้งตัวลงบรรจงจุ่มมือทั้งสองในน้ำทะเล แล้วเอาขึ้นมาแตะที่หน้าผากอย่างช้าๆ แล้วจับชายสไบทั้งสองมาแตะหน้าผากอีกครั้ง ปลดสไบมาคาดพุงแล้วหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ซึ่งกำลังจะตกลับขอบฟ้า และสวดมนต์พร้อมกันเบาๆ ว่า

     “หุมะตา หะขะตา หะเวสะตาŽ” (ข้าทั้งปวงขอสรรเสริญผู้มีกาย วาจา และใจสุจริต) หลังจากนั้นพวกเขาก็จะก้มศีรษะลงนมัสการไปทางทิศทั้ง 4 ทิศ 3 ครั้ง แล้วเอามือทั้งสอง จุ่มน้ำทะเลมาแตะหน้าผากอีกครั้ง

6.4 พิธีศพ

     เมื่อมีคนตาย ชาวโซโรอัสเตอร์ จะไม่เผาศพหรือฝังศพ จะไม่ทิ้งซากศพลงในน้ำเพราะโดยหลักการแล้ว ศาสนานี้ถือว่าไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเจ้า จึงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก และในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ดิน น้ำ ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน ถ้าเผาศพก็เกรงว่าจะทำให้ไฟหมดความศักดิ์สิทธิ์และแปดเปื้อนด้วยสิ่งสกปรก ถ้าจะฝังดิน ก็เกรงว่าดินจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ หรือทิ้งซากศพลงในน้ำ ก็เกรงว่าน้ำจะสกปรกและหมดความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ด้วยเหตุนี้พวกเขา จึงนำเอาศพไปวางไว้บนหอคอยที่สูงซึ่งสร้างไว้เป็นพิเศษเพื่อการนี้ เรียกชื่อว่า หอคอยแห่งความสงบ (The Tower of Silence) ทิ้งไว้อย่างนั้นให้เป็นอาหารของแมลงของมด ของสัตว์อื่นๆ เช่น นก อีกา อีแร้ง หรือแม้แต่สุนัข เป็นต้น

 

7. นิกายในศาสนา

นิกายที่สำคัญของศาสนาโซโรอัสเตอร์ มี 2 นิกาย คือ

    1. นิกายชหันชหิส นิกายนี้คงถือคัมภีร์ที่ว่าด้วยการที่พระเจ้าแจ้งเรื่องราวต่างๆ ลงมาทางศาสดาโซโรอัสเตอร์เป็นสำคัญ ซึ่งคัมภีร์ดังกล่าวเป็นคัมภีร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยต้น ศตวรรษที่ 3 ได้มีการแปลคัมภีร์ของศาสนานี้เป็นภาษาปาลวี ซึ่งใช้ในเปอร์เซียสมัยนั้น ชื่อว่า คัมภีร์เมนอกิขรัท

    2. นิกายกัทมิส นิกายนี้ยึดมั่นในคัมภีร์ที่ว่าด้วยพิธีกรรมต่างๆ อันได้แก่ คัมภีร์ ชะยิตเนชะยิต ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยเดียวกันกับคัมภีร์เมนอกิขรัท

 

8. สัญลักษณ์ของศาสนา

    สัญลักษณ์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ได้แก่ โคมไฟ ซึ่งมีความหมายถึงแสงสว่าง และความอบอุ่นอันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงคุณลักษณะของพระเจ้าอาหุระ มาซดะ ผู้ทรงความบริสุทธิ์ ผู้ทรงแสงสว่างยิ่งกว่าแสงสว่างอันใด ผู้ประทานความอบอุ่นให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ไฟผู้ให้กำเนิดแสงสว่างย่อมเผาผลาญสิ่งสกปรกให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ เปรียบเสมือนพระเจ้าประทับอยู่ที่ใด ที่นั่นย่อมมีแต่ความบริสุทธิ์

 

9. ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

    ศาสนาโซโรอัสเตอร์4) เกิดและเจริญในประเทศอิหร่านกว่า 1,000 ปี ส่วนเหตุที่ทำให้ศาสนานี้อันตรธานหายไปจากประเทศอิหร่าน ก็เพราะถูกอำนาจต่างชาติต่างศาสนาเข้าไปรุกรานบังคับให้เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาของตน ใครขัดขืนจะถูกฆ่า จนชาวโซโรอัสเตอร์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา ต้องอพยพหนีมาอยู่ที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย และประเทศอื่น จนบอมเบย์เป็นศูนย์กลางของศาสนาโซโรอัสเตอร์ในปัจจุบัน ศาสนิกชนของศาสนา โซโรอัสเตอร์ในปัจจุบัน มีประมาณ 180,000 คน โดยยังอยู่ที่ประเทศอิหร่านประมาณ 30,000 คน ซึ่งเรียกว่า พวกกาบารŒส (Gabars) คำว่ากาบาร์สไม่ใช่เป็นชื่อที่ชาวโซโรอัสเตอร์ตั้งขึ้น หากแต่เป็นคำที่มุสลิมเรียก แปลว่า พวกนอกศาสนา ส่วนชาวโซโรอัสเตอร์เรียกตัวเองว่า ซาร์ดัสเตียน หรือบาห์ดินัน

   ชาวโซโรอัสเตอร์ในอิหร่านส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองยาซาด เมืองเกอมันและกรุงเตหะราน และอีกประมาณ 150,000 คน อยู่ที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ที่เรียกว่าพวกปาร์ซี ถึงแม้จำนวนศาสนิกชนศาสนาโซโรอัสเตอร์จะมีน้อย แต่ชายโซโรอัสเตอร์มักจะมีการศึกษาดี มีฐานะมั่นคง และควบคุมเศรษฐกิจในอินเดีย เช่นเป็นเจ้าของโรงแรมที่ดีที่สุด นายห้างที่ใหญ่ที่สุด เจ้าของบริษัทขายขนแกะที่ใหญ่ที่สุด เจ้าของโรงงานปอกะเจาที่ใหญ่เจ้าของโรงถลุงเหล็กและบริการทางอากาศ ทั้งได้รับยกย่องว่าเป็นพวกที่ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมแต่ถึงกระนั้น ชาวโซโรอัสเตอร์ก็ดูจะไม่สนใจเผยแผ่ศาสนาให้แพร่หลายออกไปสู่โลกภายนอก แต่ยังพอใจ ที่จะอนุรักษ์ไว้สำหรับชาวโซโรอัสเตอร์ด้วยกันเท่านั้น ทั้งมีทีท่าจะถูกศาสนาอื่นกลืนอีกด้วย ส่วนชาวโซโรอัสเตอร์ในประเทศอิหร่าน ก็อยู่ในฐานะลำบากเพราะถูกมุสลิมรังแก และ โดยเฉพาะสมัยที่อะยาโตลาห์ รูโฮลล่าห์ โคไมนี ขับไล่พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านออกนอกประเทศ แล้วขึ้นปกครองบ้านเมืองนั้น ชาวโซโรอัสเตอร์และศาสนิกในศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะถูกทำลายล้าง

 

 


1) Hopfe Lewis M. Religions of the World, 1994 p. 258-259.
2) Muller Max F. Sacred Books of the East, 1969 p. 156.
3) Muller Max F. Sacred Books of the East, 1969 p. 138.
4) Noss Darid's A History of the World's Religions, 1994 p. 403.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014074365297953 Mins