ศาสนาชินโต

วันที่ 01 กค. พ.ศ.2559

ศาสนาชินโต

1. ประวัติความเป็นมา

     ศาสนาชินโต เกิดเมื่อประมาณ 117 ก่อนพุทธศักราช โดยคิดตามสมัยจักรพรรดิ องค์แรกของญี่ปุ่น คือ พระเจ้าจิมมู เทนโน (Jimmu Tenno) คำว่า ชินโต เป็นภาษาจีนแต่ ออกเสียงตามสำเนียงญี่ปุ่น คำนี้มาจากภาษาจีนว่า เชนเต๋า คำว่า เชน หรือชิน แปลว่า เทพเจ้า ส่วนคำว่า เต๋า แปลว่า ทาง เมื่อรวมกันแปลว่า ทางแห่งเทพเจ้า อาจหมายถึงการบูชาเทพเจ้าหรือคำสอนของเทพเจ้าหรือศาสนาของเทพเจ้าก็ได้ ส่วนในภาษาญี่ปุ่นเรียกศาสนานี้ว่า กามิโนะมิจิŽ (Kaminomichi) แต่ชื่อนี้ไม่แพร่หลายเท่ากับคำว่า ชินโต แต่เดิมศาสนาชินโตยังไม่มี ชื่อเสียงมากนัก ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธและศาสนาขงจื๊อแผ่ขยายเข้าไปถึงประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่น จึงจำต้องตั้งชื่อศาสนาดั้งเดิมของตนเพื่อให้แตกต่างกัน ศาสนาชินโตดั้งเดิมไม่มีศาสดาหรือ ผู้ตั้งศาสนา แต่เกิดมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือสืบต่อกันมา มีประเพณีการบูชาเทพเจ้า และบรรพบุรุษเป็นต้น ดังนั้นศาสนาชินโตจึงไม่มีคำสอนที่แน่นอน ไม่มีคัมภีร์ที่ตายตัว เพราะแต่ละยุคแต่ละถิ่นก็มีความเชื่อแตกต่างกันไป

   ศาสนาชินโต1) เป็นศาสนาพหุเทวนิยม นับถือเทพเจ้ามากมาย เทพเจ้าในศาสนาชินโตก็มีหลายประเภท มีทั้งเทพเจ้าแท้ และเทพเจ้าที่ไปจากมนุษย์ เช่น พระเจ้าจักรพรรดิ วีรบุรุษในสงคราม และวิญญาณของหลายคนที่มารวมกัน เช่น เทพเจ้าแห่งขุนเขา มาจากวิญญาณมากมายของพวกคนที่เคยอยู่ตามภูเขารวมกัน เทพเจ้าแห่งทะเลก็มาจากวิญญาณจำนวนมากของพวกคนที่เคยอยู่แถบทะเลเป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเทพเจ้าที่ไปจากสัตว์ที่คนเคารพอีกด้วย เทพเจ้าดังกล่าวจะสิงสถิตอยู่ในธรรมชาติทั่วไป เช่น ภูเขา ลำเนาไพร ท้องฟ้า ทะเลและแผ่นดิน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ในประเทศญี่ปุ่นจึงมีศาลเจ้ามากมาย จนได้นามว่าดินแดนแห่งศาลเจ้า และศาลเจ้าที่เป็นสัตว์ก็มีด้วย เช่น ศาลเจ้าสุนัขจิ้งจอก และศาลเจ้าเสือ เป็นต้น สิ่งที่เคารพเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นเรียกรวมๆ กันว่า กามิสะมะ (Kamisama) เหมือนกันหมด คำว่ากามิ มีความหมาย กว้าง เพราะนอกจากจะหมายถึงเทพเจ้าแล้วยังหมายถึงสิ่งที่บริสุทธิ์ ทรงพลัง ทรงอำนาจ และ น่าเกรงขามอีกด้วย ดังนั้นภูเขา แม่น้ำ ทะเล ทุ่งนา ป่าไม้และสัตว์ ฯลฯ ก็อาจเป็นกามิได้ด้วยเมื่อคำนึงถึงเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ในสิ่งนั้นๆ ประเทศญี่ปุ่นจึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า ดินแดนแห่งเทพเจ้า ส่วนเทพเจ้าที่ชาวญี่ปุ่นนับถือว่าเป็นใหญ่เหนือเทพทั้งหลาย คือ อะมะเตระสุ โอมิ กามิ (Amaterasu-omi-kami) หรือพระอาทิตย์ซึ่งเป็นเพศหญิง ส่วนสวามีของพระนางก็คือ สึกิโยมิ (Tsukiyomi) หรือพระจันทร์ เทพเจ้าของศาสนาชินโตจะมีลักษณะอย่างมนุษย์คือนอกจากจะมีรูปร่างเหมือนมนุษย์แล้ว ก็ยังมีกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ศาสนาชินโตอาจแบ่งเป็น 5 สมัย2) ดังนี้

     สมัยที่ 1 ระยะเวลาประมาณ 1,200 ปี เริ่มตั้งแต่ 117 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึง พุทธศักราช 1095 เป็นสมัยแห่ง ศาสนาชินโตบริสุทธิ์แท้ เพราะยังไม่ถูกอิทธิพลจากศาสนาอื่นครอบงำ สมัยนี้เริ่มตั้งแต่พระเจ้าจิมมู เทนโน ซึ่งเป็นมิกาโด หรือจักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่นเรื่อยมา จนถึงศาสนาพุทธเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ศาสนาชินโตสมัยนี้มีอิทธิพลต่อชาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริงเพียงศาสนาเดียว

    สมัยที่ 2 ระยะเวลาประมาณ 250 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1095 ถึง พ.ศ. 1343 เป็นสมัยที่ ศาสนาพุทธและศาสนาขงจื๊อเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะศาสนาพุทธมีอิทธิพลมากในช่วง 150 ปีแรก ในคัมภีร์นิฮองงิได้กล่าวยกย่องศาสนาพุทธไว้ประมาณ 50 แห่ง เช่น ในปี พ.ศ. 1188 พระเจ้าจักรพรรดิโกโตกุ ทรงยกย่องศาสนาพุทธและทรงดูหมิ่นทางแห่งเทพเจ้า และอีกตอนหนึ่ง กล่าวว่าในปี พ.ศ. 1214 มกุฎราชกุมารโชโตกุไทชิได้ทรงสละโลกออกผนวช เป็นต้น แต่ ถึงอย่างไรสมัยนี้ศาสนาชินโตก็ยังมีอิทธิพลมากกว่าศาสนาอื่น

     สมัยที่ 3 ระยะประมาณ 900 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1343 ถึง พ.ศ. 2243 เป็นสมัยที่ศาสนาชินโตผสมกลมกลืนกับศาสนาอื่น ทำให้ศาสนาชินโตลดความสำคัญลงมาจน นักศาสนาบางท่านกล่าวว่า ศาสนาชินโต ศาสนาพุทธ และศาสนาขงจื๊อ อาจรวมเป็นศาสนาเดียวกันก็ได้ และมีภิกษุบางรูปกล่าวว่า เทพเจ้าของศาสนาชินโตก็คือปางหนึ่งของพระพุทธเจ้า ศาสนาชินโตจึงถูกลดความสำคัญลงตามลำดับ จนกระทั่งระหว่าง พ.ศ. 2008 ถึง พ.ศ. 2230 ไม่มีการประกอบพิธีโอโฮนิเฮ หรือพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบศาสนาชินโต ซึ่งถือกันว่าเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดในบรรดาพิธีกรรมของศาสนาชินโต ตลอด 8 รัชกาล

    สมัยที่ 4 ระยะเวลาประมาณ 168 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2243 ถึง พ.ศ. 2411 เป็นสมัยที่มีการฟื้นฟูศาสนาชินโตเป็นการใหญ่ มีการรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของศาสนาชินโต ความสำคัญของพระเจ้าจักรพรรดิผู้สืบเชื้อสายจากพระอาทิตย์ ความสำคัญของชาวญี่ปุ่นที่สืบสายมาจากเทพเจ้า และความสำคัญของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นดินแดนที่เทพเจ้าสร้างขึ้นมา จน ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าศาสนาชินโต พระเจ้าจักรพรรดิ ประเทศญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่น ดีกว่าเหนือกว่า ผู้อื่นโดยประการทั้งปวง ผลก็คือชาวญี่ปุ่นเป็นชาตินิยมขึ้นมาทันที และรุนแรงด้วย

    สมัยที่ 5 เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2411 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นสมัยที่ศาสนาชินโตได้รับการฟื้นฟูต่อจากสมัยที่ 4 โดยจักรพรรดิเมจิ (พ.ศ. 2411-2455) ผู้ทรงเปิดประตูสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ได้ทรงสั่งชำระศาสนาชินโตให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก โดยให้แยกศาสนาชินโตออกจากศาสนาพุทธและศาสนาขงจื้อ ศาลเจ้าต่างๆ ก็ให้มีเฉพาะพิธีกรรมศาสนาชินโตเท่านั้น ส่วนศาสนาอื่นจะมีพิธีกรรมของตนก็ได้ แต่ห้ามปะปนกับศาสนาชินโต ต่อมา พ.ศ. 2425 ได้ทรงแยกศาสนาชินโตออกเป็น 2 แบบ คือชินโตของรัฐกับชินโตของราษฎร์ ทั้งทรงส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นเป็นชาตินิยมดังมีพระบรมราชโองการมายังกองทัพทุกเหล่า มีใจความว่า ”ให้ทุกคนรักชาติ รักความกล้าหาญ และจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ แม้ชีวิตก็สละได้ ต้องเชื่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ให้ถือเท่ากับบัญชาจากสวรรค์Ž” ตั้งแต่นั้นมา ทหารญี่ปุ่นก็ได้รับเกียรติมาก ใครทำร้ายทหารไม่ได้ ทหารจึงเป็นเสมือนตุ๊กตาไขลาน คอยทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาทุกอย่าง และในการรบกับรัสเซียเมื่อ พ.ศ. 2447-2448 ในสงครามโลก ครั้งที่ 1 ญี่ปุ่นก็สามารถเอาชนะรัสเซียซึ่งเป็นประเทศใหญ่กว่าญี่ปุ่นหลายสิบเท่าได้

 

2. ประวัติศาสดา

   โดยมากเมื่อกล่าวถึงศาสนาชินโต ก็เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าไม่มีศาสดาหรือผู้ตั้งศาสนาเพราะศาสนาชินโตเป็นศาสนาที่เกิดสืบเนื่องมาจากขนบประเพณีในการบูชาบรรพบุรุษ และบูชาเทพเจ้าดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อแบ่งศาสนาชินโต สามารถออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

    1. ชินโตที่เป็นของรัฐ (State Shinto) หรือชินโตศาลเทพเจ้า (Shrine Shinto)

    2. ชินโตที่เป็นนิกาย (Sectarian Shinto) ชินโตแบบแรกอาจไม่มีศาสดาก็จริงแต่ชินโตแบบหลังคือที่เป็นนิกายต่างๆ มีศาสดาแน่นอน เช่น นิกายกอนโก มีกอนโกเป็นศาสดาพยากรณ์ เป็นที่น่าสนใจว่าศาสนาที่เกิดใหม่ในญี่ปุ่น มีบุคคลที่อ้างตัวว่าได้เห็นพระเจ้าและพูดแทนพระเจ้า เข้าลักษณะศาสดาพยากรณ์อยู่หลายคน ในที่นี้จะกล่าวเพียง 2 คน คนแรกเป็นสตรี ซึ่งเป็นผู้ตั้งศาสนาเทนริเกียว ในปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนานี้ประมาณ 2 ล้านคน คนที่สองเป็นชายชื่อ กอนโก ไดชิน เป็นผู้ตั้งศาสนากอนโกโย มีผู้นับถือกว่าหกแสนคน ทั้งสองศาสนานี้ ต่างจากศาสนาชินโตมาก แต่กรมการศึกษาของญี่ปุ่นจัดเป็นนิกายของศาสนาชินโตที่แตกแยกออกไป ความจริงยังมีบุคคลผู้ตั้งตัวเป็นศาสดาพยากรณ์อีกหลายคน แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง 2 คน ดังต่อไปนี้


ข้อเปรียบเทียบเรื่องศาสดาพยากรณ์

    1.    มิกิ นากายามา เป็นบุตรีของชาวนา แห่งจังหวัดยามาโตะ เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน คริสตศักราช 1798 (พ.ศ. 2341) เมื่อเธออายุได้ 41 ปี พระเจ้าผู้เป็นบิดาได้ลงมาถือเอาตัวเธอผู้เป็นเสมือนโบสถ์ที่มีชีวิต หรือโบสถ์เดินได้ของพระองค์ เธอได้สั่งสอนโดยอ้างนามของพระเจ้า มีผู้นับถือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 90 ปี ในปัจจุบันศาสนาเทนริเกียว นับเป็นศาสนาใหญ่ศาสนาหนึ่งของญี่ปุ่น มีกิจกรรมก้าวหน้าและทันสมัย ความจริงคำว่า เทนริเกียว ถ้าแปลตามตัวแปลว่าศาสนาเทนรินั่นเอง แต่คำว่าเทนรีในที่นี้หมายถึงพระนามของพระเจ้าซึ่งขึ้นต้นว่า ”เทนริŽ” จากคำว่า เทนริ-โอ-โนะ-มิโกโดŽ อย่างไรก็ตามลักษณะของพระเจ้าในศาสนานี้เป็นผู้สร้างโลก เป็นต้นเดิมแห่งสิ่งทั้งปวงเช่นเดียวกับพระเจ้าในศาสนาอื่นๆ

    2.    กอนโก ไดชิน เป็นผู้ตั้งศาสนากอนโกโย หรือศาสนากอนโกนั้น เกิดเมื่อ ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) และถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 69 ปี เมื่อกอนโกอายุได้ 46 ปี เสียงของพระเจ้าผู้เป็นบิดาแห่งสากลโลกก็ได้ปรากฏลงมาเรียกร้องให้กอนโกดำเนินงานเพื่อช่วยมนุษย์ชาติให้ปลอดภัย ดังข้อความในคัมภีร์ซึ่งอ้างกันว่าเป็นคำของพระเจ้าดังต่อไปนี้

  “บุตรทั้งหลายของพระเจ้าที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ไม่รู้ถึงความรักของพระองค์ ปฏิบัติผิดหรือไม่เชื่อฟังพระประสงค์ของพระองค์โดยไม่รู้ตัว จึงเกิดความทุกข์ยากเดือดร้อน และเกิดความรู้สึกมืดมนต่อพรของพระเจ้า บัดนี้พระเจ้าได้ส่ง กอนโก ไดชิน มาสู่บุตรทั้งหลายของพระองค์เพื่อที่จะให้บุตรเหล่านั้นได้รู้แจ้งความจริงที่ว่า พระเจ้าทรงถือว่าความสุขความเจริญของบุตรทั้งหลายของพระองค์เป็นเสมือนของพระองค์เอง ซึ่งความมีความเป็นของพระองค์เกี่ยวข้องอยู่โดยตรงŽ”

 

3. คัมภีร์ในศาสนา

      คัมภีร์ศาสนาชินโตที่สำคัญมีอยู่ 2 คัมภีร์ ดังนี้

1. คัมภีร์โกชิกิิ

2. คัมภีร์นิฮองงิ หรือนิฮอนโชกิ แต่ถ้าต้องการกล่าวอย่างพิสดาร ยังมีคัมภีร์อื่นอีกหลายคัมภีร์ ดังต่อไปนี้

1. คัมภีร์โกโคชูอิ
2. คัมภีร์มันโยซู
3. คัมภีร์ฟูโดกิ
4. คัมภีร์ไตโฮเรียว
5. คัมภีร์เยนงิชิกิ

 

1.    คัมภีร์โกชิกิ (Ko-ji-Ki)

      คัมภีร์นี้มีรากฐานอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี กล่าวถึง นิยาย ตำนาน ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับราชสำนักของพระจักรพรรดิ ส่วนใหญ่เทววิทยาของศาสนาชินโตได้พัฒนาขึ้นจากการตีความในเทพนิยายแห่งคัมภีร์โกชิกิิ มีผู้กล่าวกันว่า คัมภีร์ศาสนาชินโต มีลักษณะเป็นเทพนิยายผสมประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ข้อห้าม การปฏิบัติทางไสยศาสตร์ และการปฏิบัติต่อเทพเจ้า

2.    คัมภีร์นิฮองงิ หรือนิฮอนโชกิ (Nihongi or Nihon Shoki)

      คัมภีร์นิฮอนโชกินี้ ถือว่าเป็นคลาสสิก คือเป็นวรรณคดีชั้นสูง เป็นคัมภีร์รวม 30 เล่ม 15 เล่มแรกว่าด้วยเทพนิยายและนิยายต่างๆ 15 เล่มหลังว่าด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือกันได้มากที่สุด

ทุกคัมภีร์นับแต่คัมภีร์นี้เป็นต้นไป มีความสำคัญรองจากสองคัมภีร์ข้างต้น

3.    คัมภีร์โกโคชูอิ (Kogo shui)

      อิมเบ ฮิโรนาริ เป็นผู้แต่งคัมภีร์โกโคชูอิ เป็นหนังสือที่อธิบายความหมายแห่งถ้อยคำและการปฏิบัติพิธีกรรมโบราณ แสดงถึงความคิดเห็นของผู้แต่งเองเกี่ยวกับศาลเทพเจ้าที่อิเซและอะสุตะ และเกี่ยวกับสถานะแห่งสกุลของผู้แต่งซึ่งสัมพันธ์กับสกุลนากาโตมิ และฐานะแห่งสกุลนากาโตมิ

4.คัมภีร์มันโยชู (Munyo - shiu)

      คัมภีร์ที่ประมวลบทกวีเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ประกอบด้วยบทกวี 4,500 บท เป็นบทนิพนธ์ของบุคคลตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่พระจักรพรรดิจนถึงชาวนา บทกวีเหล่านี้มี ความสำคัญมากในการแสดงถึงความรู้สึกอันยิ่งใหญ่และความรู้สึกแบบธรรมดาๆ ออกมาอย่างตรงๆ ที่สำคัญคือทำให้รู้ถึงความเชื่อถือ ขนบประเพณี และความคิดทางศาสนาของคนสมัยโบราณ

5.    คัมภีร์ฟูโดกิ (Fudoki)

      คัมภีร์นี้แสดงถึงภูมิศาสตร์ส่วนภูมิภาค ฝ่ายปกครองทำรายงานเสนอราชสำนักเพื่อให้พระจักรพรรดิทรงรู้นามเดิมทางภูมิศาสตร์ ความสมบูรณ์ของพื้นที่ นิทานและนิยาย อันเก่าแก่แห่งท้องถิ่น

6.    คัมภีร์ไตโฮเรียว (Taiho-ryo)

      คัมภีร์นี้มีความสำคัญเท่ากับคัมภีร์กฎหมายโบราณที่สำคัญของญี่ปุ่น ข้อความในคัมภีร์นี้ให้ประโยชน์ในการเล่าให้ทราบว่า สำนักราชการแห่งไหนมีความสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบูชาในศาสนาชินโต

7.    คัมภีร์เยนงิชิกิ (Yengi-shiki)

       คัมภีร์นี้เป็นประมวลกฎเกณฑ์ละเอียดลออเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล เป็นคัมภีร์รวม 50 เล่ม เนื้อหาว่าด้วยกฎมณเฑียรบาลแห่งราชสำนักพระจักรพรรดิอย่างละเอียด เช่น กล่าวถึงพระราชพิธี มารยาทเนื่องด้วยราชสำนัก ข้อปฏิบัติอันเหมาะสมตลอดจนการบริหารส่วนภูมิภาค เป็นต้น ที่นับว่าสำคัญคือ 10 เล่มแรก ในคัมภีร์นี้กล่าวถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับ ศาสนาชินโต จึงถือกันว่ามีค่ามากในการช่วยการศึกษาศาสนา กล่าวกันว่าเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายนี้ ก็เท่ากับให้กำเนิดศาสนาชินโตอย่างเป็นทางการ เป็นลายลักษณ์อักษร ตั้งแต่นั้นมา

 

4.    หลักคำสอนที่สำคัญ

     ศาสนาชินโตสอนให้สักการะเคารพบรรพบุรุษ กตัญญูกตเวทีต่อผู้วายชนม์ บูชาปฏิบัติต่อผู้สูงอายุกว่า จงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ ครู และอาจารย์ คือ เทพบิดร องค์พระ-จักรพรรดิมีสิทธิ์ทุกอย่างที่บิดามารดามีต่อบุตร วิญญาณเป็นของไม่ตาย การตายเป็นการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวใหม่ชั่วประเดี๋ยวเดียว เมื่อผู้ที่เคารพถูกดูหมิ่นให้แก้แค้นให้ ไม่ควรอยู่ ร่วมฟ้ากับบุคคลที่ดูหมิ่นผู้ที่ตนสักการะ เมื่อแก้แค้นไม่ได้ให้ทำฮาราคีรีหรือคว้านท้องเสียดีกว่า ความกล้าหาญและไม่กลัวตายคือเสบียงในสงคราม ส่วนได้เสียของพระจักรพรรดิและ ประเทศชาติคือส่วนที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่สุด

        คำสอนสำคัญบางประการของศาสนาชินโตมีดังนี้

1. เริ่มด้วยการบูชาความงามของบุปผชาติ ลงท้ายด้วยการฆ่าตัวตาย
2. ความซื่อสัตย์ ความเคารพ และความภักดีต่อผู้ใหญ่ เป็นคุณธรรมอันสูงสุดเหนือ    คุณธรรมทั้งปวง
3. ความภักดีต่อพระจักรพรรดิและเจ้านายของตน เป็นชีวิตอันมีเกียรติสูงส่ง
4. ความดีงามที่เราต้องการ คือ การสืบสายกันมาแห่งบรรพบุรุษด้วยความภักดี ความเมตตาปรานีและความสามัคคีกัน
5. เด็กและคนหนุ่มต้องนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในครอบครัว หญิงสาวต้องนอบน้อม    คนแก่ และหญิงต้องเคารพชาย
6. จงรักและเป็นคนดีต่อมารดาบิดาของตน จงเมตตาปรานี จงสามัคคีระหว่าง ครอบครัวกับญาติพี่น้อง จงซื่อสัตย์ต่อเพื่อน จงรักษาความประพฤติของตนให้    สุภาพ และกระเหม็ดกระแหม่ รักตัวมากเท่าใดจงรักคนอื่นมากเท่านั้น
7. หญิงพึงเคารพต่อชาย ชายพึงซื่อตรงต่อรัฐ บุตรธิดาพึงเคารพต่อมารดาบิดา    ของตน
8. ความจริงเป็นคุณธรรมเบื้องต้นและสุดท้ายของสิ่งทั้งปวง ถ้าปราศจากความจริง คุณธรรมอย่างอื่นก็ไม่มี
9. ใครพูดคำหยาบและทำชั่วแก่ท่าน ท่านอย่าตอบเขาด้วยความชั่ว มีอยู่อย่างเดียว    ที่ต้องทำ คือ การงานอันซื่อสัตย์เพื่อเกียรติในการงานของท่าน
10. ดาบญี่ปุ่นมีคมข้างหนึ่ง มีสันข้างหนึ่ง มุ่งหมายเพื่อใช้ประโยชน์ได้ 2 อย่าง คือ ฟันผู้ถือเองข้างหนึ่งในเมื่อเขามีความผิด และตีศัตรูอีกข้างหนึ่งเมื่อเขารังแกเรา

 

หลักปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุด

     หลักปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุดในศาสนาชินโต คือ การปฏิบัติจริยธรรมทางใจ มี 4 ประการดังต่อไปนี้

1. ให้มีความคิดแจ่มใส (อากากิ โคโกโระ)
2. ให้มีความคิดบริสุทธิ์สะอาด (คิโยกิ โคโกโระ)
3. ให้มีความคิดถูกต้อง (ทาคาชิกิ โคโกโระ)
4. ให้มีความคิดเที่ยงตรง (นาโอกิ โคโกโระ)

  การปฏิบัติให้ดวงใจมีสภาพดังกล่าวสามารถพามนุษย์ไปสู่ความเป็นเทพเจ้าสมกับ ความเป็นเผ่าพันธุ์แห่งสวรรค์ได้ ซึ่งหลักปฏิบัติทั้ง 4 ประการนี้ย่อเข้าให้เป็นภาษาญี่ปุ่นเพียงคำเดียวว่า เซอิเมอิ-ชิน

 

5. หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด

     ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า จอมเทพทั้ง 2 คือ อะมะเตระสุ โอมิ กามิ และสึกิโยมิ ทรงเกิดมาจากปฐมเทพคู่แรกคือเทพอิซานางิ (Izanagi) และเทพีอิซานามิ (Izanami) ตลอดทั้งสิ่งทั้งปวง ก็เกิดมาจากเทพคู่แรกนี้ ดังมีเทพนิยายการสร้างโลกของศาสนาชินโต3) ดังนี้

     เทพทั้ง 2 คือ อิซานางิ และอิซานามิได้รับมอบหมายจากเทวสภาให้มาสร้างประเทศญี่ปุ่น จึงได้เสด็จมายังโลกซึ่งมีน้ำปกคลุมอยู่ เทพทั้งสองได้ประทับยืนอยู่บนสะพานสวรรค์ซึ่งเชื่อมโลกกับสวรรค์ เทพอิซานางิได้ใช้หอกรัตนะสวรรค์กวนน้ำทะเล ครั้นยกหอกขึ้น หยาดน้ำ หยดใหญ่ไหลหยดจากปลายหอก และตรงที่หยาดน้ำนั้นตกได้บังเกิดเป็นเกาะโอโนโกขึ้นมา เทพทั้งสองก็ได้ประทับอยู่บนเกาะนั้น ต่อมาเทพอิซานางิตรัสกับเทพีอิซานามิว่า ขอให้เราแยกกันเดินไปรอบเสาสวรรค์ และเมื่อเราพบกันอีกด้านหนึ่ง ก็ขอให้เราอยู่ด้วยกันและสร้างเด็กขึ้นมาŽ ดังนั้นเทพอิซานางิจึงเสด็จไปทางขวา ส่วนเทพีอิซานามิเสด็จไปทางซ้าย และเมื่อเทพทั้งสองมาพบกันอีกด้านหนึ่ง เทพีอิซานามิทรงอุทานขึ้นว่า ”โอ อิซานางิ พระองค์ช่างเป็นชายหนุ่มที่ดีเลิศ และน่ารักเสียนี่กระไรŽ” ฝ่ายเทพอิซานางิก็ได้ตรัสตอบว่า “โอ อิซานามิ พระองค์ช่างเป็นหญิงสาวที่ดีเลิศ” และน่ารักเหลือเกินŽ เมื่อเทพทั้งสองอยู่ด้วยกันนั้นก็เกิด เกาะขึ้นมาเกาะหนึ่ง จึงตั้งชื่อให้ว่า เกาะฟูตะนะ (Futana) หลังจากนั้นก็เกิดเกาะอื่นๆ ตามขึ้นมาอีก และมีชื่อตามที่เทพเจ้าทั้งสองตั้งให้ ครั้นสร้างเกาะต่างๆ แล้ว เทพเจ้าทั้งสองก็หันมา สร้างทวยเทพและมนุษย์ขึ้นมา ดังในคัมภีร์โกชิกิ บทที่ 196 ที่ว่า เกิดมีเทพเจ้าทั้งหลาย ในสวรรค์ชั้นสูง กลาง ต่ำ เทพเจ้าทั้งหลายบนภาคพื้นแผ่นดิน เทพเจ้าทั้งหลายแห่งพืชผล เทพเจ้าทั้งหลายแห่งภูเขาลำเนาไพร และเทพเจ้าทั้งหลายแห่งสายธาร เป็นต้น ก็เทพเจ้าทั้งหมด ล้วนแต่เกิดหลังจากโลกเกิดขึ้นแล้วเหมือนกันหมด ครั้นสร้างทวยเทพแล้ว ปฐมเทพทั้ง 2 ก็สร้างเทพสำคัญ 3 องค์คือ สุริยเทพี จันทรเทพ (สึกิโยมิ) และพายุเทพ (สุสุโนโว) ก็สุริยเทพีเป็นที่โปรดปรานของเทพอิซานางิมากเพราะไม่เคยนำความเดือดร้อนมาให้เลย จึงทรงตั้งชื่อให้ว่า อะมะเตระสุ โอมิ กามิ ซึ่งต่อมาพระนางทรงได้จันทรเทพเป็นพระสวามี พระนางทรงส่งหลานของพระองค์คือ จิมมู เทนโน มาเป็นจักรพรรดิองค์แรกปกครองประเทศญี่ปุ่น ส่วนพายุเทพเป็นบุตรที่ไม่ดี ในคัมภีร์นิฮองงิ กล่าวว่า เป็นเทพเจ้าแห่งความชั่วร้าย กล่าวคือความชั่วร้าย ทั้งหลายเกิดมาจากเทพสุสุโนโวนี้

    จากอิทธิพลของเทพเจ้า และคำสอนชาตินิยมในศาสนาชินโต ทำให้คนญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษ4) คือ บูชาบรรพบุรุษ รักชาติ รักธรรมชาติ และรักความสะอาด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

     บูชาบรรพบุรุษ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าคนตายแล้ว วิญญาณไม่ได้ตายด้วย เพราะวิญญาณเป็นอมตะ วิญญาณจะสถิตอยู่ในโลกวิญญาณตลอดไป และคอยดูแลญาติพี่น้อง คอยดลบันดาลให้ผู้เซ่นสรวงบูชา ประสบความสุขความสำเร็จดังปรารถนา การบูชาบรรพบุรุษทำให้วิญญาณบรรพบุรุษมีความสุข แต่ถ้าตรงกันข้าม วิญญาณก็เป็นทุกข์ จึงเป็นหน้าที่ของคนที่ยังมีชีวิตอยู่จะพึงบูชาบรรพบุรุษของตน

     รักชาติ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า ประเทศของตน ปฐมเทพคู่แรกสร้างให้มา อีกทั้งเทพีอะมะเตระสุ โอมิ กามิ ยังได้ส่งหลานคือ จิมมู เทนโน มาเป็นจักรพรรดิองค์แรกปกครองประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ดังที่พระนางตรัสกับจิมมู เทนโนว่า ”ข้าคิดว่าแผ่นดินนี้เหมาะสมอย่างแน่นอนที่จะขยายงานของสวรรค์ เพื่อให้ฤาชาปรากฏตลอดไปทั่วสากลจักรวาล แผ่นดินแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางของโลกเป็นแน่แท้Ž” ชาวญี่ปุ่นจึงเทิดทูนพระเจ้าจักรพรรดิมากเพราะสืบสายมาจากพระสุริยเทพี หรือพระอาทิตย์ ดังนั้นกษัตริย์ในประเทศญี่ปุ่นจึงมีราชวงศ์เดียวที่สืบสายกันมาตลอดไม่ขาดสาย ทั้งไม่มีใครเปลี่ยนเป็นราชวงศ์อื่นได้ เพราะไม่ได้สืบสายมาจากจักรพรรดิจิมมู เทนโน และชาวญี่ปุ่นถือว่าวันประสูติของพระเจ้าจักรพรรดิองค์ใดก็ตาม นับเป็น วันสำคัญที่สุดของชาติเพราะเท่ากับเป็นวันบูชาพระสุริยเทพีด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวญี่ปุ่นจึง ภาคภูมิใจต่อประเทศของตนว่าไม่ใช่แผ่นดินธรรมดา แต่เป็นแผ่นดินของเทพเจ้าและภาคภูมิใจ ต่อพระเจ้าจักรพรรดิว่า เป็นเชื้อสายโดยตรงจากพระอาทิตย์พระจันทร์ ทั้งมีความกระหยิ่มใจว่า พวกเขาไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นเผ่าพันธุ์ของเทพเจ้า ดังนั้นชาวญี่ปุ่นจึงรักชาติมาก พยายามสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ และพยายามทะนุถนอมชาติของตนไว้อย่างดี จึงเป็นเหตุให้เกิดลัทธิบูชิโด ซึ่งเป็นวินัยของนักรบขึ้นมา

     การที่ชาวญี่ปุ่นถือว่าพระเจ้าจักรพรรดิเป็นโอรสสวรรค์ ตรงกับความเชื่อของชาวจีน แต่ต่างกันตรงที่ว่า ชาวจีนถือว่ากษัตริย์ทุกองค์ไม่ว่าจะมาจากวงศ์ใด ล้วนแต่เป็นโอรสสวรรค์ ส่วนพลเมืองไม่ได้มาจากสวรรค์ ดังนั้นพระราชาและประชาชนจึงมีบรรพบุรุษต่างกัน เพราะพระราชาเป็นชาวสวรรค์ ส่วนประชาชนเป็นชาวดิน ส่วนญี่ปุ่นถือว่ากษัตริย์ที่มาจาก วงศ์เดียวกันคือ วงศ์จิมมู เทนโน เท่านั้นที่เป็นโอรสสวรรค์ วงศ์อื่นไม่อาจเป็นได้ ชาวญี่ปุ่นก็ สืบสายมาจากสวรรค์ ดังนั้นทั้งพระราชาและประชาชนจึงเป็นเผ่าเดียวกัน บรรพบุรุษเดียวกัน พระราชาและประชาชนจึงเป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน โดยมีพระราชาเป็นหัวหน้าครอบครัว ด้วยเหตุนี้ชาวญี่ปุ่นจึงรักและหวงแหนพระเจ้าจักรพรรดิของตนมาก จะเสียอะไรพอยอมได้ แต่จะไม่ยอมเสียพระเจ้าจักรพรรดิเป็นเด็ดขาด

    รักธรรมชาติ ศาสนาชินโต ได้ส่งเสริมความรักธรรมชาติอย่างลึกซึ้งจนหยั่งรากลึกลง ในดินแดนอาทิตย์อุทัย ทำให้ชาวญี่ปุ่นรักธรรมชาติมาก ถือธรรมชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตัวเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไม่อาจแยกออกจากธรรมชาติได้ เขาจะรู้สึกว่าชีวิตในธรรมชาติรอบตัวเขาก็คือชีวิตที่แล่นอยู่ในตัวเขานั้นเอง ชาวญี่ปุ่นจึงหลงใหลในธรรมชาติมาก ถึงกับมีเทศกาลฟังเสียงแมลงร้องในฤดูใบไม้ร่วง พระเจ้าจักรพรรดิและประชาชนจะคอยเงี่ยโสตฟังเสียงร้องของแมลงต่างๆ หรือในฤดูดอกซากุระบาน ผู้คนจะพากันเที่ยวชมความงามของ ดอกซากุระตามสวนตามทุ่ง หรือแม้ในฤดูอื่น ชาวญี่ปุ่นก็ยังนิยมนั่งดูดอกไม้หรือกิ่งไม้แกว่งไกว ไปมาตามสายลมเป็นเวลานานๆ หรือนั่งชมดวงจันทร์วันเพ็ญเป็นชั่วโมง ก็ความรู้สึกรักธรรมชาติทำให้ชาวญี่ปุ่นรักความงาม ถ้าจะสร้างเทวสถานหรือศาลเจ้า ก็จะเลือกทำเล ที่สวยงามเป็นพิเศษ และสร้างให้มีศิลปะอันงดงาม ชาวญี่ปุ่นจะตบแต่งบ้านเรือนให้สวย แต่งสนามหญ้าให้งาม จะประดิษฐ์อะไรสักอย่างก็จะพยายามทำอย่างประณีตบรรจง พยายามถ่ายชีวิตและธรรมชาติลงในสิ่งเหล่านั้น ก็ในบรรดาความงามทั้งหลายพระอาทิตย์ดูจะเป็นความงดงามมากที่สุด เป็นที่โปรดปรานของชาวญี่ปุ่นมาก ทุกๆ เช้าชาวญี่ปุ่นจะตื่นนอนทันพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อโค้งคำนับและชมความงาม แต่ความนิยมชมชอบของชาวญี่ปุ่นก็เฉพาะพระอาทิตย์อุทัยเท่านั้นไม่รวมไว้ถึงพระอาทิตย์อัสดงด้วย เพราะถือกันว่าพระอาทิตย์ตกเป็นความเศร้าของวัน

    ชาวญี่ปุ่นถือว่า ศาสนาชินโตเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องนอกเหนือธรรมชาติ ดังนั้นชีวิตกับศาสนาจึงแยกกันไม่ออก ศาสนากับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกันไม่อาจแยกจากกันได้

    รักความสะอาด ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญในศาสนาชินโต เพราะในคัมภีร์ศาสนาชินโตก็บอกไว้ว่า แม้แต่เทพอิซานางิก็ทรงชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ ชาวญี่ปุ่นรัก ความสะอาดมาก พยายามชำระร่างกายทั้งภายในภายนอกให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้า ใครสกปรกถือเป็นบาป ในสมัยก่อนจะมีพิธีชำระร่างกายให้สะอาด จะทำกันเป็นพิธีใหญ่ปีละ 2 ครั้ง พิธีนี้เรียกว่า โอโฮฮาราชิ ทุกคนผู้เข้าในพิธีนี้จะใช้กระดาษขัดสีฉวีวรรณร่างกายให้สะอาดแล้วนำกระดาษไปเผา หรือทิ้งในแม่น้ำหรือทะเล จากนั้นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็จะประกาศในนามผู้แทนของอะมะเตระสุ โอมิ กามิ ว่าทุกคนสะอาดหมดจดแล้ว เมื่อ ชาวญี่ปุ่นไปเทวสถานหรือศาลเจ้า ก่อนที่จะเข้าไปจะต้องล้างมือ ล้างปากก่อน ความสะอาดจะได้ระบายออกไป คล้ายจะเป็นพิธีล้างบาปหรือเหมือนอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำคงคา ความสะอาดจะเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาดใจด้วย

   ส่วนจุดหมายสูงสุดในศาสนาชินโตก็คือ เมื่อตายไปแล้วได้ไปบังเกิดเป็นเทพเจ้าอยู่ในสวรรค์ชั่วนิรันดร วิธีปฏิบัติเพื่อไปเกิดเป็นเทพเจ้า ก็โดยการบูชาและภักดีต่อเทพเจ้า

 

6. ศาลเจ้าและนักบวชของชินโต

   ศาลเจ้าชินโตได้รับการยกย่องว่าเป็นที่สิงสถิตของกามิ และเป็นที่สำหรับสวดมนต์อ้อนวอนจึงถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนมากนิยมสร้างในแถบชนบท เช่น บนภูเขา น้ำตก หรือบนเกาะห่างไกล เพราะเชื่อกันว่าภูเขา น้ำตก และเกาะ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่กามิชอบสถิต

     แต่เดิมมาในสมัยโบราณตอนที่ศาลเจ้ายังไม่ได้สร้างขึ้นมานั้น ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่ากามิอยู่ห่างไกลจากมนุษย์มาก จะมาเยี่ยมมนุษย์ได้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น เวลาประกอบพิธีกรรม และการประกอบพิธีกรรมนั้นจะจัดขึ้นเป็นสถานที่ชั่วคราว ซึ่งเป็นที่สี่เหลี่ยมเล็ก ตอนกลางมีต้นไม้ใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วจึงอัญเชิญกามิให้มาที่ต้นไม้นั้น แต่เมื่อระยะเวลาพ้นไป สถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ชั่วคราวนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นการถาวรและถือว่ามีกามิสถิตอยู่ที่นั้นตลอดมา นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของศาลเจ้า

     ศาลเจ้าของญี่ปุ่นนิยมสร้างให้มีรูปแบบเรียบง่ายเป็นธรรมชาติไม่มีการตกแต่ง ส่วนใหญ่ใช้วัสดุประเภทไม้และกระดาษ ทางเข้ามีประตูโทริ (Tori-i) เป็นประตูใหญ่ที่สร้างด้วยไม้ หรืออาจจะทำด้วยหิน

      ภายในศาลเจ้านิยมสร้างสัญลักษณ์ของกามิคือกระจก แต่บางแห่งอาจจะสร้างรูปเสื้อผ้า หรือดาบ มีสถานที่สำหรับตั้งอาหารเพื่อเซ่นไหว้ เช่น ข้าว ผัก ปลา เป็ด ไก่ รวมทั้งเหล้าสาเก อย่างดี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เซ่นไหว้ด้วยเลือดเพราะถือเป็นของไม่บริสุทธิ์ ไม่มีการบูชาด้วยดอกไม้ แต่นิยมไหว้ด้วยใบซากากิ (Sakaki)

      การทำพิธีเซ่นไหว้มีทั้งทำส่วนตัวและทำเป็นพิธีของชุมชน ซึ่งต้องเซ่นไหว้อย่างสม่ำเสมอโดยนักบวชผู้ทำพิธีกรรมนั้น จะต้องอยู่ในอาการสำรวมและสงบเงียบ

      นักบวชของชินโตมีทั้งชายและหญิง นักบวชหญิงจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ นักบวชชายบางนิกายอนุญาตให้มีครอบครัวได้ ส่วนผู้ทำหน้าที่บริการรับใช้ในวัดจะเป็นผู้ชาย และมีหัวหน้า นักบวชทำหน้าที่ดูแลศาลเจ้ารวมทั้งเป็นประธานในพิธีกรรมต่างๆ

     นอกจากนี้มีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับนักบวชหญิง ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหญิง ผู้ดูแลสุริยเทพี ที่อิเซ (Ise) โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ทำหน้าที่นี้จะเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่มาจากตระกูลสูง ซึ่งตรงข้ามกับพวกร่ายรำทั่วๆ ไป ที่เป็นสามัญชน มีหน้าที่ร่ายรำและเล่นดนตรีถวาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า โดยกระทำในอาคารที่แยกต่างหาก

     พวกนักบวชชายในปัจจุบันนี้จะใส่เสื้อคลุมที่มีแขนใหญ่สีขาว ใส่หมวกทรงสูง ซึ่งเรา จะเห็นได้ในวันที่มีงานสำคัญทางศาสนา ส่วนพวกทำหน้าที่ร่ายรำจะใส่เสื้อขาว ผ้านุ่งสีแดง

      สำหรับการทำความเคารพกามิ ชาวญี่ปุ่นที่นับถือชินโตใช้วิธีตบมือ ตบมือครั้งที่ 1 เพื่อเรียกให้เสด็จมาช่วย ตบมือครั้งที่สองเพื่อเป็นการบอกลา

    อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตสำหรับความเป็นชินโตอย่างหนึ่ง คือ ความเชื่อในเครื่องรางของขลัง วิญญาณและไสยศาสตร์ เป็นเหตุให้เกิดการสร้างรูปสัญลักษณ์ขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งที่ยึดถือ ตามบ้านของคนนับถือชินโตจะมีที่บูชาวิญญาณ และปากทางเข้าหมู่บ้านนิยมสลักตุ๊กตาหิน กามิเพื่อพิทักษ์รักษาหมู่บ้าน ปัจจุบันเราจะพบเห็นได้ตามชนบทของญี่ปุ่น

 

7. พิธีกรรมที่สำคัญ

7.1 พิธีบูชาในศาสนา

       พิธีบูชาในศาสนา ในศาสนาชินโตมีการบูชาคือการไหว้เจ้า การไหว้เจ้าของญี่ปุ่นไม่ต้องเสียหมูเห็ดเป็ดไก่เหล้ายา แล้วคนเอามากินกันเหมือนของจีน ชาวญี่ปุ่นจะออกไปไหว้เจ้า เพียงแต่เตรียมการโดยแต่งตัวให้สะอาด แล้วเข้าไปโค้งคำนับตรงหน้าศาลเจ้าซึ่งมีมากมาย อยู่เกือบ 200,000 แห่ง จะมีโทริ (ประตูวิญญาณ) เป็นเครื่องหมายแผ่นดินแห่งศาลเจ้า ก็คือประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง เมื่อคำนับแล้ว ก็จะหลับตาตบมือ เรียกดวงวิญญาณ มารับการไหว้ ถ้าไม่ตบมือก็จะยืนนิ่งๆ เป็นสมาธิเฉยๆ สักครู่หนึ่งก่อนกลับออกไป หรืออาจมีอย่างอื่นๆ อีกบ้าง ตามที่นักบวชหรือผู้เฝ้าศาลเจ้าจะแนะนำให้ทำ ส่วนเครื่องบูชาที่จะนำไปไหว้นั้น นักบวชประจำศาลเจ้า จะเป็นผู้จัดเตรียมบริการอำนวยความสะดวกให้ฟรี และจะเหมือนกันหมดทุกศาลเจ้า คือ มีเหล้าสาเก 4 ถ้วยเล็กๆ ข้าวปั้น 16 ก้อน เกลือ 16 ก้อน ปลาสด ผลไม้ สาหร่ายทะเล และส้มอีกไม่กี่ลูก

7.2 พิธีบูชาธรรมชาติ

        พิธีบูชาธรรมชาติ ชาวญี่ปุ่นถือว่าธรรมชาติต่างๆ บนเกาะญี่ปุ่น เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเทพเจ้า จึงมีฐานะควรแก่การเคารพบูชา ไม่ว่าจะเป็นมหาสมุทร แม่น้ำลำธาร แผ่นดิน พรรณพฤกษา ต้นไม้ ใบหญ้า สัตว์ป่า และของศักดิ์สิทธิ์สูงส่งขององค์จักรพรรดิ คือกระจกเงา ดาบ และอัญมณี ซึ่งถือว่าเป็นเทวสมบัติ มีวิญญาณที่เทพเจ้าประทานมา ล้วนแต่ควรแก่การเคารพบูชาทั้งนั้น ชาวญี่ปุ่นจึงมีความรักธรรมชาติ สงวนป่าไม้ ภูผา พงไพร พืชน้อยใหญ่เสมือนชีวิตของตน

7.3 พิธีบูชาปูชนียบุคคล

     1. การบูชาวีรชน เรื่องความรักชาติ ชาตินิยมเทิดทูนชาติ ดูเหมือนว่าจะหาชาติใดเสมอเหมือนชาติญี่ปุ่นได้ยาก ใครที่แสดงความกล้าหาญ เสียสละชีวิตในสนามรบจะได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นเทพเจ้าควรแก่การเคารพบูชายิ่ง มีศาลเจ้าชื่อ ยาสุคุนิ (Yasukuni Shrine) เป็นที่รวมวิญญาณของวีรบุรุษเหล่าทหารผ่านศึกของชาติ แต่ละปีมีรัฐพิธีบูชาดวงวิญญาณ ผู้กล้าหาญเหล่านี้เป็นประจำเสมอมา

     2. การบูชาองค์จักรพรรดิ ชาวญี่ปุ่นถือว่าองค์จักรพรรดิ หรือองค์มิกาโด หรือ เทนโน (Mika-do, Tenno) เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากดวงอาทิตย์ตลอดมาโดยไม่ขาดสาย องค์จักรพรรดิญี่ปุ่นเท่ากับเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ ชาวญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันหมด ชาวญี่ปุ่นทั้งชาติจึงยกย่องเทิดทูนเคารพบูชาองค์จักรพรรดิยิ่งกว่าชีวิต

    3. การบูชาบรรพบุรุษ มีผู้กล่าวว่าการบูชาบรรพบุรุษของญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับของ จีนแล้วจะเห็นว่าของญี่ปุ่นจะสูงกว่าและศักดิ์สิทธิ์กว่า ดูจะจริง เพราะญี่ปุ่นยอมรับว่าองค์จักรพรรดิของตนสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าเป็นการสืบสายไม่มีขาดช่วง และองค์จักรพรรดิเท่ากับหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ จึงเป็นไปได้ที่คนญี่ปุ่นแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันเป็น เชื้อสายสืบต่อมาจากองค์จักรพรรดิที่เป็นเหล่ากอของเทพเจ้า ความเป็นบรรพบุรุษ จึงติดต่อกันมาเป็นสายเลือดเดียวกัน จึงมีการบูชาบรรพบุรุษทั้งของครอบครัวแต่ละครอบครัวและบรรพบุรุษในครอบครัวรวมอันหมายถึงชาติญี่ปุ่นโดยส่วนรวมด้วย

7.4 พิธีเกี่ยวกับเด็กเกิดใหม่

      พิธีเกี่ยวกับเด็กเกิดใหม่ เมื่อมีทารกเกิดใหม่ อายุได้ 7 วัน ก็จะมีการอุ้มไป ตั้งชื่อต่อหน้าแท่นบูชา ทำพิธีรับขวัญเด็ก และเมื่อเด็กอายุได้ 31 หรือ 32 วัน ก็จะอุ้มเด็กไปไหว้ศาลเจ้านอกบ้านบ้าง ตามวัดบ้าง ตามภูเขาบ้าง ตามประเพณีแล้วไม่ว่าเกิดหรือตายจะนิมนต์ นักบวชมาทำพิธี หากไม่มีหรือหานักบวชไม่ได้หัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีเอง

7.5 พิธีเนื่องในวันนักขัตฤกษ์

     พิธีเนื่องในวันนักขัตฤกษ์ เมื่อวันนักขัตฤกษ์มาถึง ชาวญี่ปุ่นจะจัดให้มีขบวนแห่ มีการบรรเลงดนตรีและเต้นรำ นักพรตมีหน้าที่ทำพิธีอ่านบทสวดเบื้องหน้าแท่นบูชาที่ศาลเจ้าเพื่ออำนวยสวัสดิมงคลให้เก็บเกี่ยวได้ผลดี ให้บ้านเรือนมีความสุข ให้มีผลสำเร็จในการ ออกรบทัพจับศึก ให้การปกครองเป็นไปด้วยดี และให้องค์จักรพรรดิทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนนาน

7.6 พิธีโอโฮฮาราซิ (The Great Purification)

      พิธีโอโฮฮาราซิ (The Great Purification) เป็นพิธีชำระครั้งยิ่งใหญ่ มีคำอธิบายของนักปราชญ์ชื่ออัสตัน (Aston) ว่า โดยพระมหากรุณาธิคุณขององค์จักรพรรดิผู้ได้รับ มอบหมายอำนาจมาจากเทพเจ้าอะมะเตระสุ โอมิ กามิ ให้ประกอบพิธีนี้ด้วยการประพรม (การชำระล้าง) ด้วยน้ำบริสุทธิ์เป็นเบื้องต้น และเซ่นสรวงสังเวย อันเป็นไปเพื่อการทดแทน (บาป) บรรดามุขมนตรีและพลเมืองของพระองค์ผู้กระทำพิธีนี้ ต้องทำความบริสุทธิ์ให้เกิดแก่ตนเองเพื่อปลดบาปออกไปให้พ้นจากคน

 

8. นิกายในศาสนา

          นิกายของศาสนาชินโตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

8.1 ก๊กกะชินโต

     ก๊กกะชินโต ได้แก่ ชินโตแห่งรัฐ กระทรวงมหาดไทยให้ความสนับสนุนและได้วางข้อบังคับให้นักบวชปฏิบัติกิจเฉพาะทางราชการเท่านั้น และห้ามทำพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้นว่า การโฆษณา พิธีแต่งงาน พิธีฝังศพ อนึ่ง ก๊กกะชินโตตั้งอยู่บนอุดมคติว่าความเจริญของชาติ ความปลอดภัยแห่งราชสำนักพระจักรพรรดิ และความผาสุกของประชาชนเป็นพรที่ได้รับ

      ก๊กกะชินโตได้กำหนดแบบฉบับแห่งศรัทธาและพิธีกรรมตามพระบรมราชโองการประกาศในปีที่ 15 แห่งศักราชเมจิไว้ 3 อย่าง ดังต่อไปนี้

      1. การบูชาจักรพรรดิ ได้แก่ ชินโตอันเป็นโครงสร้างของชาติที่มั่นคง ทำให้ชาติญี่ปุ่นเป็นครอบครัวสืบสายมาจากสวรรค์สายเดียวเป็นลำดับมา

     สมเด็จพระจักรพรรดิคืออวตารของสุริยเทพี พระองค์เป็นศูนย์กลางระหว่างพระอาทิตย์กับพลเมือง เป็นผู้ครองอาณาจักร เป็นพระประมุขของศาสนาจักรทั้งสิ้น และเป็นนิมิตหมายแห่งความไม่สูญสลายแห่งเทพอำนาจ พระองค์คือเทพเจ้าผู้สถิตอยู่ในร่างของมนุษย์ เป็นต้น พระบรมราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิ คือ โองการแห่งสวรรค์

     2. การบูชาในฝ่ายราชวงศ์ เป็นรัฐพิธีเกี่ยวกับสมเด็จพระจักรพรรดิและราชวงศ์ ที่ขาดไม่ได้ ในพระราชวังมีศาลเจ้าตั้งอยู่ 4 สถานที่ใน 4 ทิศ ดังนี้

2.1    สถานที่หนึ่ง สร้างอุทิศแด่สุริยเทพี เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีแรกนาขวัญ จำลองมาจากศาลเจ้าอิเซ ที่เมืองนารา ศูนย์กลางแห่งพระจักรพรรดิญี่ปุ่น เชื่อกันว่า สุริยเทพีจะเสด็จมาเป็นประธานพิธีในวันนั้น
2.2    สถานที่สอง สร้างอุทิศแด่วิญญาณของอดีตพระจักรพรรดิเป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชาดวงวิญญาณของอดีตพระจักรพรรดิ
2.3 และ 2.4 สถานที่สามและสถานที่สี่ กำหนดเป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธี อื่นๆ สุดแต่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงกำหนดตามพระราชอัธยาศัย

    3.การบูชาในครอบครัว กำหนดให้พลเมืองปลูกศรัทธาลงในศาสนาชินโตเพื่อรวมโครงสร้างของชาติเหมือนกันหมดทั่วประเทศ

     ครอบครัวญี่ปุ่น (แม้นับถือศาสนาพุทธ) ทุกบ้านจะตั้งที่บูชาชินโตที่แท่นบูชา มีศาลเจ้า เล็กๆ มีเครื่องสังเวย เช่น โทริ (ประตูวิญญาณ) กระจก กระดาษสีขาว เชือก อาหาร ผลไม้ และบางทีก็มีเหล้าสาเกด้วย เป็นต้น

      ชาวญี่ปุ่นผู้เคร่งครัดในศาสนา ตื่นนอนแต่เช้า ชำระร่างกายให้สะอาด เข้าไปนั่งหน้าแท่นบูชาโค้งคำนับ ตบมือ 2 ครั้ง โค้งคำนับเป็นสมาธิขณะหนึ่ง เสร็จแล้วจึงออกไปประกอบหน้าที่การงานประจำวัน

       เด็กเกิดใหม่อายุได้ 7 วัน ก็อุ้มไปตั้งชื่อตรงหน้าแท่นบูชาแล้วจึงทำพิธีรับขวัญเด็ก ครั้นเด็กอายุได้ 31 หรือ 32 วัน ก็พาเด็กไปไหว้ศาลเจ้านอกเมือง ตามวัดบ้าง ตามภูเขาบ้าง ชาวญี่ปุ่นโบราณมีประเพณีที่ว่า การเกิดหรือการตายต้องนิมนต์นักบวชไปทำพิธี หากไม่มีนักบวช หัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้ทำพิธีเอง

     ก๊กกะชินโตหรือชินโตแห่งรัฐในสมัยใหม่ ได้มีการปรับปรุงคำสอนใหม่เป็นลัทธิชาตินิยมกว้างขวางและรุนแรงออกไปเป็นระยะ จากขอบเขตแห่งโครงสร้างชาติออกไปเป็นการสร้างทวีป และจากทวีปออกไปถึงโลก

8.2 เกียวหะชินโต

      เกียวหะชินโต ได้แก่ ชินโตฝ่ายประชาชน กระทรวงศึกษาธิการให้ความสนับสนุนและควบคุม เกียวหะชินโตไม่มีกิจพิธีเกี่ยวข้องกับทางราชการ แยกออกมาตามพระบรมราชโองการในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ

       ความในพระบรมราชโองการนั้น ปรารภถึงองค์การศาสนาต่างๆ อันตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักฐานแล้ว มีศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ เป็นต้น ชินโตจึงควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นหลักฐาน ไม่เกี่ยวข้องปะปนกับองค์การศาสนาอื่น เพื่อความเป็นระเบียบในหมู่พลเมืองตามนโยบายของรัฐที่ให้ถือว่าชินโตเป็นโครงสร้างชาติ ส่วนศาสนาอื่นที่เข้ามาใหม่เป็นเพียงเครื่องประกอบโครงสร้างเท่านั้น

     เกียวหะชินโต หมายถึง กลุ่มกระบวนการทางศาสนาที่อิงอยู่กับศาสนาประจำชาติ ของญี่ปุ่น แต่แยกเป็นกลุ่มอิสระหรือนิกายต่างๆ ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มีกำเนิดตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา โดยจัดเป็น 13 นิกาย และทั้ง 13 นิกายนั้น จัดเป็น 5 หมวดใหญ่ ดังนี้

หมวดที่ 1    นิกายชินโตบริสุทธิ์ มี 3 นิกาย คือ ชินโต ฮองเกียวกุ โตเกียว ชินริเกียว และ ไตซาเกียว
หมวดที่ 2    นิกายชินโตผสมขงจื๊อ มี 2 นิกาย คือ ซูเซหะ และโตเซเกียว
หมวดที่ 3    นิกายบูชาภูเขาเป็นเทพเจ้า มี 3 นิกาย คือ ยิกโตเกียว ฟูโซเกียว และ มิตาเกะเกียว
หมวดที่ 4    นิกายทำให้บริสุทธิ์หรือลัทธิชำระบาป มี 2 นิกาย คือ ชินซูเกียว และมิโซงิ
หมวดที่ 5    นิกายรักษาโรคด้วยความเชื่อมี 3 นิกาย คือ ฟูโรชิเกียว คองโกเกียว และ เทนริเกียว

 

9.  สัญลักษณ์ของศาสนา

     1. โทริ ได้แก่ ประตูอันมีเสา 2 เสา มีไม้ 2 อันวางอยู่ข้างบน ซึ่งมีประจำอยู่ที่ศาลเจ้าเกือบทุกแห่ง (ศาลเจ้าเล็กๆ อาจไม่มีโทริ) เป็นเครื่องหมายการเข้าสู่บริเวณศาลเจ้าของศาสนาชินโต

     2. กระจก อันมีรูปลายดอกไม้

   ทั้ง 2 สัญลักษณ์นี้พอจะให้รู้ว่าเป็นศาสนาชินโตได้ในบางกรณี แต่สัญลักษณ์ที่มีมาแต่โบราณเป็นสมบัติสืบทอดกันมากับบัลลังก์แห่งพระจักรพรรดิและมีความหมายทางคุณธรรม น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์กว่า นั่นก็คือ สิ่งที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ซานชูโนะ-ซิงกิŽ อันได้แก่ สมบัติ 3 ประการ คือ

1)    กระจก (ยะตะ โนะ คางะมิ)
2)    ดาบ (คุสะนะงิ โนะ ซิรุคิ)
3)    รัตนมณี (ยาสะกะนิ โนะ มาคะ ตามะ)

   กระจก เป็นเครื่องหมายแห่งปัญญา ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระสุริยเทพี-อะมะเตระสุ โอมิ กามิ ได้มอบให้หลานชื่อ นินิคิโน มิโกโด มาปกครองเกาะญี่ปุ่น โดยเหตุนี้ กระจกอาจเป็นเครื่องหมายแห่งพระสุริยเทพีนั้นก็ได้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ ศาลเจ้าอิเซ

   ดาบ เป็นเครื่องหมายแห่งความกล้าหาญ ในฐานะเป็นการปรากฏแห่งเทพเจ้าปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าอะสุตะ

  รัตนมณี เป็นสัญลักษณ์แห่งการบำเพ็ญประโยชน์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ประจำ ณ พระราชวังแห่งพระจักรพรรดิ

    สรุปแล้วสมบัติทั้ง 3 นี้ก็เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง คุณธรรมทั้ง 3 คือ ปัญญา กล้าหาญ และการบำเพ็ญประโยชน์ อันเป็นคุณธรรมสำคัญในศาสนาชินโตนั่นเอง นับว่าเป็นการพัฒนาศาสนาชินโตในด้านคุณธรรมได้เป็นอย่างดี

 

10. ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

    ศาสนาชินโตของรัฐถูกยุบเลิกไปแล้ว ตั้งแต่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการ ไม่บังคับให้คนญี่ปุ่นต้องเคารพบูชาเทพเจ้า และนับถือพระเจ้าจักรพรรดิดังเทพเจ้าอีกต่อไป จึงเป็นเรื่องส่วนตัวที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ดังนั้นศาสนาชินโตในปัจจุบันจึงอาจแบ่งได้ เป็น 5 ลักษณะ คือ

1.    ชินโตแห่งราชสำนัก (Imperial Shinto) เป็นเพียงพิธีกรรมสำหรับราชสำนักเท่านั้น
2.    ชินโตศาลเจ้า (Shrine Shinto) เป็นพิธีกรรมสำหรับประชาชน
3.    ชินโตนิกาย (Sectarian Shinto) มีนิกายมากมาย แต่นิกายใหญ่มีอยู่ 13 นิกาย
4.    ชินโตนิกายใหม่ (Neo-Sectarian Shinto) เป็นชินโตแบบที่ 3 นั่นเอง เพียงแต่ได้รับรองให้เป็นศาสนาตั้งแต่ พ.ศ. 2488 เป็นต้นมาหลังจากศาสนาชินโตรัฐถูกยุบแล้ว
5.    ชินโตชาวบ้าน (Popular Shinto) เป็นเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์และพิธีกรรมที่ ชาวบ้านนิยมปฏิบัติกันมา

   เพราะฉะนั้น ศาสนาชินโตในปัจจุบันจึงลดความสำคัญลงมาก เพราะแตกแขนงออกไป จึงมีอิทธิพลต่อชาวญี่ปุ่นน้อยลง จนชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยหันไปนับถือศาสนาพุทธ อาจกล่าว ได้ว่า ศาสนาพุทธโดยเฉพาะนิกายเซน มีอิทธิพลต่อชาวญี่ปุ่นมากกว่าศาสนาชินโต แต่ ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่แม้จะนับถือศาสนาพุทธ ก็ยังไม่ยอมเลิกนับถือศาสนาชินโต ทั้งนี้ก็เพราะการนับถือศาสนาชินโตเป็นการรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไว้ ส่วนที่นับถือศาสนาพุทธก็เพื่อตอบสนองความสนใจในโลกหน้าและเพื่อสร้างคนให้เป็นคนดี ควรค่าแก่ความ เป็นพลเมืองดีของชาติ หรือนับถือศาสนาชินโตเพื่อความเป็นบ้าน และการนับถือศาสนาพุทธ เพื่อความเป็นเมือง หรือการนับถือศาสนาชินโตเพื่อชาตินี้ ส่วนการนับถือศาสนาพุทธเพื่อ ชาติหน้า

     สาเหตุสำคัญที่ทำให้ศาสนาชินโตเสื่อมลง มาจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ

    1. ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสนาชินโตของรัฐถูกยุบเลิก อนุชนรุ่นใหม่รู้เรื่อง    ศาสนาชินโตน้อยลงตามลำดับ เพราะไม่มีการสอนตามโรงเรียนและในสถาบัน    การศึกษาต่างๆ

   2. ชาวญี่ปุ่นต้องการเป็นคนทันสมัย จึงนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้อย่างประเทศ ตะวันตก จนประเทศญี่ปุ่นก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ผู้คนไม่ค่อยมีเวลามาสนใจศาสนา อิทธิพลของศาสนาชินโตจึงลดลงตามลำดับ จนมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ประกาศตนไม่นับถือศาสนาใดเลย ความเป็นชาตินิยมจึงลดลงมาก ดังนั้นในปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นจึงมีความเป็นอยู่ต่างๆ กัน จนมีชาวญี่ปุ่นบางคนเห็นว่า ถ้าหากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ ประเทศญี่ปุ่นจะต้องประสบความหายนะแน่นอน จึงเริ่มช่วยกันฟื้นฟูศาสนาชินโต แต่ก็ยังได้ผลน้อย เพราะชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่มีอย่างอื่นอยู่ในจิตใจแทนศาสนาชินโตแล้ว

    ปัจจุบัน ศาสนิกศาสนาชินโตมีประมาณ 3,162,800 คน ( Encyclopaedia Britanica 1994 : 269) นอกจากนี้ก็ยังมีศาสนิกชินโตอีกมากในฮาวาย รัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา และอีกแห่งหนึ่งคือ ประเทศบราซิล ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้มีชาวญี่ปุ่นไปตั้งรกรากทำมาหากินอยู่มาก เช่นกัน

 

 


1) เสฐียร พันธรังสี. ศาสนาเปรียบเทียบ, 2516 หน้า 575.
2) Hume Robert E. The World's Living Religions, 1957 p. 170-173.
3) โจเซฟ แกร์. ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร แปลจาก What great religion believe โดยฟื้น ดอกบัว, 2533 หน้า 135-136.
4) ดอกบัวขาว. นานาศาสนา, 2507 หน้า 110-116.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0030126333236694 Mins