มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ

วันที่ 25 เมย. พ.ศ.2560

มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ,วาไรตี้,บทความประจำวัน

 

เรื่อง มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ

 

           สถานที่ตรัส พระเชตวัน

        เล่ากันว่า มารดาของพระเถระนั้น เป็นธิดาของ เศรษฐีในกรุงราชคฤห์ ขอบรรพชาแล้วตั้งแต่เวลาที่ตนรู้ความแล้ว, แม้อ้อนวอนอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่ได้บรรพชาจาก มารดาและบิดา เมื่อเติบโตขึ้น แต่งงานไปสู่ตระกูลสามี มีสามีดังเทวดา อยู่ครองเรือนแล้ว.

        ต่อมาไม่นานนักเกิดตั้งครรภ์แต่นางไม่ทราบความ ที่ตั้งครรภ์นั้น ทำให้สามีให้ยินยอมได้แล้ว จึงขอบรรพชา

       ครั้งนั้น สามีนำนางไปสู่สำนักของนางภิกษุณี ด้วย สักการะใหญ่ก็ไม่ทราบเรื่อง ให้บวชในสำนักของนางภิกษุณี ฝ่ายของพระเทวทัตแล้ว.

         ต่อมา นางถูกนางภิกษุณีเหล่านั้น ทราบความที่ นางมีครรภ์แล้ว ถามว่า “นี่อะไรกัน?”

         จึงตอบว่า “แม่เจ้า ดิฉันไม่ทราบว่า ‘นี่เป็นได้ อย่างไร?’ แต่ศีลของดิฉันไม่ด่างพร้อยเลย.”

         พวกนางภิกษุณีนำนางไปสู่สำนักของพระเทวทัต แล้วถามว่า “นางภิกษุณีนี้บวชด้วยศรัทธา, พวกดิฉัน ไม่ทราบเวลาที่นางตั้งครรภ์ของนาง; บัดนี้ พวกดิฉันจะ ทำอย่างไร?”

         พระเทวทัต คิดเหตุเพียงเท่านี้ว่า ‘ความเสียชื่อเสียง จงอย่าเกิดขึ้นแก่พวกนางภิกษุณี ผู้อยู่ในโอวาทของเรา’ จึงกล่าวว่า “พวกเธอ จงให้นางสึกเสีย”

           นางภิกษุณีสาวนั้น ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวว่า “แม่เจ้า ขอแม่เจ้าทั้งหลาย อย่าให้ดิฉันฉิบหายเสียเลย, ดิฉัน มิได้บวชเจาะจงพระเทวทัต, แม่เจ้าทั้งหลาย จงมาเถิด จงนำดิฉันไปสู่พระเชตวัน ซึ่งเป็นสำนักของพระศาสดา.” นางภิกษุณีเหล่านั้น พานางไปสู่พระเชตวัน กราบทูล แด่พระศาสดาแล้ว.

       พระศาสดาแม้ทรงทราบอยู่ว่า ‘ครรภ์ตั้งขึ้นแล้ว ในเวลานางเป็นคฤหัสถ์’ เพื่อจะเปลื้องเสียซึ่งถ้อยคำ ของคนอื่น จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านมหาอนาถบิณฑิกะ ท่านจุลอนาถบิณฑิกะ นางวิสาขา อุบาสิกา และตระกูลใหญ่อื่น ๆ มาแล้ว. ทรงสั่งพระอุบาลี เถระว่า “เธอจงไป, จงชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ให้ หมดจด ในท่ามกลางบริษัท ๔”

        พระเถระให้เชิญนางวิสาขามาตรงพระพักตร์พระราชา แล้วให้สอบสวนอธิกรณ์นั้น.

      นางวิสาขานั้นให้คนล้อมม่าน ตรวจดูมือ เท้า สะดือ และที่สุดแห่งท้องของนางภิกษุณีนั้นภายในม่าน แล้ว นับเดือนและวันดู ทราบว่า ‘นางได้มีครรภ์ในเวลาเป็น คฤหัสถ์’ จึงบอกความนั้นแก่พระเถระ, ครั้งนั้น พระเถระ ทำให้นางเป็นผู้บริสุทธิ์ กลับคืนในท่ามกลางบริษัทแล้ว.

          เวลาต่อมา นางคลอดบุตรมีบุญมาก ซึ่งได้ตั้ง ความปรารถนาไว้ แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรง พระนามว่า ‘ปทุมุตตระ.’

          วันหนึ่ง พระราชาเสด็จไป ณ ที่ใกล้สำนักของนาง ภิกษุณีทรงสดับเสียงทารก จึงตรัสถามว่า “นี้เสียงอะไร ?” เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า “พระเจ้าข้า บุตรของนางภิกษุณี เกิดแล้ว, นั่นเป็นเสียงของบุตรนางภิกษุณีนั้น,”    ทรงนำกุมารนั้นไปสู่พระราชมณเฑียรของพระองค์ ได้ประทานให้แก่แม่นมทั้งหลาย ในวันตั้งชื่อ คนทั้งหลาย ตั้งชื่อกุมารนั้นว่า ‘กัสสป’ เพราะความที่กุมารนั้น เป็นผู้ที่พระราชาทรงให้การเลี้ยงดู ด้วยข้าวของเครื่องใช้ตามแบบพระกุมาร จึงรู้กันว่าชื่อ ‘กุมารกัสสป.’

       เมื่อเติบใหญ่ พระกุมารนั้นทุบตีเด็กในสนามกีฬา แล้ว, พวกเด็กกล่าวว่า “พวกเราถูกคนไม่มีแม่ไม่มีพ่อ ทุบตีแล้ว.” จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นสมมติเทพ พวกเด็กย่อมว่าหม่อมฉันว่า ‘ไม่มีมารดา และบิดา’, ขอพระองค์จงตรัสบอกมารดาแก่หม่อมฉัน,”

         เมื่อพระราชาทรงแสดงหญิงแม่นมทั้งหลาย ตรัสว่า “หญิงเหล่านี้เป็นมารดาของเจ้า.”

       จึงกราบทูลว่า “มารดาของหม่อมฉันไม่มีมากเท่านี้, มารดาของหม่อมฉันพึงมีคนเดียว, ขอพระองค์ตรัสบอก มารดานั้นแก่หม่อมฉันเถิด.”

        พระราชาทรงดำริว่า ‘เราไม่อาจลวงกุมารนี้ได้’ จึงตรัสว่า “พ่อหนู มารดาของเจ้าเป็นภิกษุณี, เจ้า อันเรา นำมาจากสำนักนางภิกษุณี”

        พระกุมารนั้นเกิดความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว ด้วยเหตุ เพียงเท่านั้น กราบทูลว่า “ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ ทรงให้หม่อมฉันบวชเถิด”

        พระราชาทรงรับว่า “ดีละ พ่อหนู” แล้วยังกุมารนั้น ให้บวชในสำนักของพระศาสดา ด้วยสักการะเป็นอันมาก.

       กุมารกัสสปนั้น ได้อุปสมบทแล้ว ปรากฏชื่อว่า ‘พระกุมารกัสสปเถระ.’ ท่านเรียนกัมมัฏฐานในสำนัก พระศาสดา เข้าไปสู่ป่า พยายามแล้วไม่สามารถจะให้ คุณวิเศษบังเกิดได้ จึงคิดว่า ‘เราจะเรียนกัมมัฏฐานให้ มากขึ้นอีก’ มาสู่สำนักของพระศาสดา อยู่ในป่าอันธวัน แล้ว,

       ครั้งนั้น ภิกษุผู้ทำสมณธรรมร่วมกัน ในสมัย พระกัสสปพุทธเจ้า บรรลุอนาคามิผลแล้ว บังเกิดใน พรหมโลก มาจากพรหมโลกถามปัญหา ๑๕ ข้อ กับ พระกุมารกัสสปนั้นแล้ว ส่งไปด้วยคำว่า “คนอื่นยกเว้น พระศาสดาเสีย ที่สามารถเพื่อจะพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ ไม่มี. ท่านจงไป, จงเรียนเนื้อความของปัญหาเหล่านี้ ในสำนักของพระศาสดาเถิด.”

        ท่านทำเหมือนอย่างนั้น บรรลุพระอรหัตผลในเวลา ที่พระศาสดาทรงแก้ปัญหาจบ.

    ตั้งแต่วันที่พระเถระตอนเป็นทารกจากไปแล้ว น้ำตา ไหลออกจากนัยน์ตาทั้งสองของนางภิกษุณีผู้เป็นมารดา ตลอด ๑๒ ปี. นางมีความทุกข์เพราะพลัดพรากจากบุตร มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตาทีเดียว เที่ยวไปเพื่อภิกษา พอเห็น พระเถระในระหว่างแห่งถนน จึงร้องว่า“ลูก ลูก” วิ่งเข้าไป เพื่อจะจับพระเถระ ซวนล้มลงแล้ว. เต้านมของนางหลั่ง น้ำนมอยู่ ลุกขึ้นมีจีวรเปียก ไปจับพระเถระแล้ว

       พระเถระคิดว่า ‘ถ้ามารดานี้จะได้ถ้อยคำอันไพเราะ จากเรา, นางจะฉิบหายเสีย; เราจะพูดกับมารดานี้ ทำให้ แข็งกระด้างทีเดียว’

        พระเถระจึงกล่าวกับนางภิกษุณีผู้เป็นมารดานั้นว่า “ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่? จึงไม่อาจตัดแม้สักว่าความรักได้”

      นางคิดว่า ‘โอถ้อยคำของพระเถระหยาบคาย,’ จึงกล่าวว่า “ลูก ลูกพูดอะไรกัน?” ถูกพระเถระว่าเหมือน อย่างนั้นนั่นแหละอีก จึงคิดว่า ‘เราไม่อาจอดกลั้นน้ำตา ไว้ได้ตลอด ๑๒ ปี เพราะเหตุแห่งบุตรนี้, แต่บุตรของ เรานี้ มีหัวใจแข็งกระด้าง, จะมีประโยชน์อะไรด้วยบุตรนี้’ ตัดความเสน่หาในบุตรแล้ว บรรลุพระอรหัตผลในวันนั้น นั่นเอง.

       ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พระกุมารกัสสปและพระเถรี ผู้สมบูรณ์ ด้วยอุปนิสัยอย่างนี้ ถูกพระเทวทัตทำให้ฉิบหายแล้ว, ส่วนพระศาสดาได้เป็นที่พึ่งของท่านทั้งสองนั้น โอ ! น่าอัศจรรย์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็น ผู้อนุเคราะห์โลก.”

         พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไรหนอ ?”

         เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า “ด้วยเรื่องนี้,”

        จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นปัจจัย เป็นที่พึ่ง ของคนทั้งสองนี้ ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่, แม้ในกาลก่อน เราก็ได้เป็นที่พึ่งของคนทั้งสองนั้นเหมือนกัน” ดังนี้แล้ว จึงตรัสนิโครธชาดกนี้ว่า :-

“เจ้าหรือคนอื่น พึงคบเนื้อชื่อว่า ‘นิโครธ’ ผู้เดียว

อย่าเข้าไปคบเนื้อชื่อว่า ‘สาขะ’;

ความตายในสำนักของเนื้อชื่อว่า ‘นิโครธ’ ประเสริฐกว่า,

ความเป็นอยู่ในสำนักของเนื้อชื่อว่า ‘สาขะ’

นั้นจะประเสริฐอะไร.”

ทรงประชุมชาดกว่า

“เนื้อชื่อว่า ‘สาขะ’ ในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต ในบัดนี้,

แม้บริษัทของเนื้อชื่อว่า ‘สาขะ’ นั้น

ก็เป็นบริวารของพระเทวทัตนั่นแหละ,

แม่เนื้อตัวถึงวาระได้เป็นพระเถรี, บุตรได้เป็นกุมารกัสสป,

ส่วนพระยาเนื้อนามว่า ‘นิโครธ’

ผู้ไปสละชีวิตแก่แม่เนื้อตัวมีครรภ์คือเราเอง,”

      เมื่อจะทรงประกาศความที่พระเถรีตัดความรักในบุตร แล้วทำที่พึ่งแก่ตนเองแล จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะ บุคคลอาศัยคนอื่น ไม่สามารถเพื่อจะมีสวรรค์หรือมรรค เป็นที่ไปในเบื้องหน้าได้, ฉะนั้นตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน, คนอื่นจะทำอะไรได้” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่าตนแลเป็นที่พึ่งของตน, บุคคลอื่นใครเล่า พึงเป็นที่พึ่งได้เพราะบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้พึ่งที่บุคคลได้โดยยาก.
       เมื่อจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.      

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012080192565918 Mins