ประวัติศาสตร์โลกและมนุษยชาติ

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

ประวัติศาสตร์โลกและมนุษยชาติ

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , ประวัติศาสตร์โลกและมนุษยชาติ

    เพื่อให้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์โลกและมนุษยชาติได้ชัดเจนขึ้น จึงแบ่งยุคของโลกและมนุษย์ออกเป็น 3 ยุค คือ โลกและมนุษย์ในยุคแรก โลกและมนุษย์ในยุคกลาง และโลกและมนุษย์ในยุคสุดท้ายดังนี้

1.) โลกและมนุษย์ในยุคแรก
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้จะไม่ตั้งอยู่ดังเดิมตลอดไป แต่จะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และพินาศไป จะหมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ดังพระดำรั ว่า " มัยบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะเวลายืดยาว โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกพินาศแล้วมนุษย์โดยมากจะไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม เป็นผู้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกายสัญจรไปได้ในอากาศ จะอาศัยอยู่ในวิมานอันงามในภพนั้นเป็นเวลานานแสนนาน ต่อมาเมื่อโลกนี้กลับเจริญขึ้นอีกครั้ง พรหมเหล่านั้นพากันจุติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาอาศัยอยู่บนโลก จะอยู่ในวิมานอันงาม มนุษย์ยุคแรกนั้นเป็นผู้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกายสามารถสัญจรไปมาในอากาศได้ เป็นอยู่อย่างนี้เป็นเวลายาวนาน"

จักรวาลและอาหารในยุคแรก
    ในยุคแรกนั้นจักรวาลทั้งสิ้นเป็นน้ำ มืดมนมองไม่เห็นอะไร ยังไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ดวงดาวทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวัน กลางคืนก็ยังไม่มี การกำหนดเวลาว่าเดือนหนึ่งกึ่งเดือนก็ยังไม่มี ฤดูและปีก็ยังไม่มี เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฏ มนุษย์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่า "มนุษย์" เท่านั้น เมื่อกาลเวลาผ่านมายาวนาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ง้วนดินนั้นมีสีคล้ายเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี มีกลิ่น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้ง ต่อมามีมนุษย์ผู้หนึ่งเป็นคนหยาบพูดว่า นี่คืออะไร แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู ง้วนดินได้ซาบซ่านเข้าไปในร่างกาย เขาจึงเกิดตัณหา คือ ความอยากขึ้น และมนุษย์พวกอื่นก็พากันกระทำตามอย่างมนุษย์
นั้นด้วยการปันง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือแล้วบริโภค

     ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัศมีกายของมนุษย์เหล่านั้นหายไป แล้วดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ ดวงดาวทั้งหลายก็ปรากฏ กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏด้วย มนุษย์เหล่านั้นพากันบริโภคง้วนดินอยู่เป็นเวลายาวนาน เพราะการบริโภคง้วนดินนั้นทำให้มนุษย์มีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ผิวพรรณของมนุษย์เหล่านั้นก็แตกต่างกัน มนุษย์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นก็มีการถือตัวพากันดูหมิ่นมนุษย์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามเพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นเหตุ ง้วนดินจึงหายไป

     ต่อมาก็เกิดมีกระบิดินขึ้นแทน มนุษย์เหล่านั้นพากันบริโภคกระบิดินอยู่เป็นเวลายาวนาน เพราะการบริโภคกระบิดินนั้นทำให้มนุษย์มีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ผิวพรรณของมนุษย์เหล่านั้นก็แตกต่างกัน มนุษย์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นก็มีการถือตัวพากันดูหมิ่นมนุษย์พวกที่มีผิวพรรณไม่งาม เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นเหตุ กระบิดินจึงหายไป

    ต่อมาก็เกิดมีเครือดินขึ้นแทน มนุษย์เหล่านั้นพากันบริโภคเครือดินอยู่เป็นเวลายาวนาน เพราะการบริโภคเครือดินนั้นทำให้มนุษย์มีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ผิวพรรณของมนุษย์เหล่านั้นก็แตกต่างกัน มนุษย์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นก็มีการถือตัวพากันดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งาม เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นเหตุ เครือดินจึงหายไป ต่อมาเกิดข้าวสาลีขึ้นแทน เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องปลูก เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเช้าเขาพากันไปนำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็นข้าวสาลี
ชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกแล้วก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย

    การสร้างเรือนและปักปันเขตแดนเหล่ามนุษย์ได้บริโภคข้าวสาลีอยู่เป็นเวลายาวนาน จึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นกว่าเดิม มีผิวพรรณแตกต่างกันยิ่งขึ้น และเกิดเพศหญิงและเพศชายขึ้น ตรีก็ได้เพ่งดูบุรุษและบุรุษก็เพ่งดู ตรี ทำให้เกิดความกำหนัดขึ้น จึงมีการเสพเมถุนธรรมกัน มนุษย์พวกที่เสพเมถุนธรรมกันจะไม่เป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ จึงต้องสร้างเรือนขึ้นเพื่อกำบังไม่ให้ใครเห็นการกระทำนั้น

   ต่อมามีมนุษย์ผู้หนึ่งเกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงเก็บข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคทั้งเช้าทั้งเย็นในคราวเดียว เหล่ามนุษย์อื่นก็ถือตามแบบอย่างของมนุษย์เหล่านั้นบ้าง พากันไปเก็บข้าวสาลีมาสะสมไว้เพื่อบริโภคกันมากขึ้นตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ข้าวสาลีจึงงอกขึ้นไม่ทัน บางแห่งก็ไม่งอกขึ้นอีก และมีคุณภาพต่ำลงคือ กลายเป็นข้าวมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง มนุษย์เหล่านั้นจึงได้ตกลงกันว่า พวกเราควรมาแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกันเสียเถิด

การกำเนิดกษัตริย์และการปกครอง
      เมื่อปักเขตแดนแบ่งข้าวสาลีกันแล้ว มนุษย์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ ได้สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาในส่วนของผู้อื่นมาบริโภค การขโมยจึงปรากฏ การติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จจึงปรากฏ การทุบตีด้วยท่อนไม้จึงปรากฏ พวกมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมปรับทุกข์กันและตกลงกันว่า จะสมมุติมนุษย์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ด้วยเหตุนี้อักขระว่า มหาสมมติ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรกและอักขระว่า กษัตริย์ ก็อุบัติขึ้นเป็นอันดับสองและอักขระว่า ราชา ก็อุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม

      ต่อมามนุษย์บางจำพวกคิดว่า บาปธรรมเกิดขึ้นแล้วแก่มนุษย์ทั้งหลายที่ลักขโมยกล่าวเท็จ และทุบตีผู้อื่นด้วยท่อนไม้ เป็นต้น ดังนั้นพวกเราควรไปลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้ากันเถิด อักขระว่าพวกพราหมณ์จึงอุบัติขึ้นส่วนบรรดามนุษย์บางจำพวกที่ยึดมั่นในเมถุนธรรม จึงพากันประกอบอาชีพการงานต่างๆ อักขระว่า แพศย์ จึงอุบัติขึ้น เหล่ามนุษย์ที่เหลือประพฤติตนโหดร้ายทำงานต่ำต้อยคำว่า ศูทร จึงเกิดขึ้น ต่อมากษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ด้วยประสงค์ว่า เราจักเป็นสมณะ คำว่า สมณะ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงประวัติความเป็นมาของโลกและมนุษยชาติไว้ในอัคคัญญสูตรเพียงเท่านี้ ซึ่งที่กล่าวมานี้จัดว่าเป็นโลกและมนุษย์ในยุคแรก ในยุคแรกนี้อายุของมนุษย์จะยืนมากคือ เป็นอสงขัยปีทีเดียว แต่เมื่อมนุษย์ทำอกุศลกรรมด้วยการดูหมิ่นกันบ้างลักขโมยบ้าง อายุของมนุษย์ก็จะลดลงมาเรื่อยๆสิ่งแวดล้อมทุกด้าน เช่น อาหาร เป็นต้น ก็จะเสื่อมคุณภาพลงมาเรื่อยๆ เมื่ออายุของมนุษย์ลดลงจนถึง 80,000 ปี พระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า "ทัฬหเนมิ" มาบังเกิดขึ้น ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้ในจักกวัตติสูตรเนื้อหาในพระสูตรนี้ผู้จัดทำหนังสือแบ่งยุคออกเป็น 2 ยุค คือ ยุคกลางและยุคสุดท้าย ดังนี้


2.) โลกและมนุษย์ในยุคกลาง
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ เป็นผู้ทรงธรรมครองราชย์โดยธรรม ทรงปกครองทวีปทั้ง 4 ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ มีพระราชโอร มากกว่า 1,000 องค์ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ พระองค์ทรงชนะกษัตริย์เหล่าอื่นได้โดยธรรม ชนะได้โดยไม่ต้องสู้รบให้เกิดการนองเลือดแต่อย่างใด

     เมื่อเวลาล่วงเลยไปหลายร้อยปี หลายพันปี จักรแก้วถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง ท้าวเธอทรงรู้ว่าจะมีพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน จึงมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใหญ่ แล้วทรงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ยุคแรกเมื่อพระราชาผนวชได้ 7 วัน จักรแก้วก็ได้อันตรธานไป

     เมื่อจักรแก้วอันตรธานไปแล้ว พระราชาองค์ใหม่จึงเสด็จเข้าไปหาพระราชฤษีผู้เป็นพระราชบิดา แจ้งเรื่องนั้นให้ทราบ พระราชฤษีจึงตรัสว่า "เมื่อจักรแก้วอันตรธานไปแล้ว เจ้าอย่าเสียใจไปเลย ด้วยว่าจักรแก้วหาใช่มรดกสืบมาจากบิดาของเจ้าไม่ ขอให้เจ้าประพฤติจักรวรรดิวัตรเถิด และในวันอุโบสถ 15 ค่ำ ให้ นานพระเศียร รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนประสาทจักรแก้วก็จักปรากฏขึ้นอีกครั้ง"

จักรวรรดิวัตรธรรมสำหรับผู้ปกครอง
    พระราชฤษีจึงตรัสบอกจักรวรรดิวัตรแก่พระราชาองค์ใหม่ว่า "ลูกจงอาศัยธรรมสักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน กำลังพล พวกกษัตริย์ผู้ตามเสด็จ พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทสมณพราหมณ์สัตว์จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม การกระทำสิ่งที่ผิดแบบแผนอย่าได้เป็นไปในแว่นแคว้นของลูก อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูกไม่มีทรัพย์ ลูกพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้น

      อนึ่งสมณพราหมณ์เหล่าใดประพฤติดี ลูกพึงเข้าไปหาตามกาลอันควรแล้วไต่ถามว่า 'ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ'ครั้นลูกได้ฟังจาก สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วสิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นสิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือประพฤติสิ่งนั้นให้มั่น จักรวรรดิวัตรนั้นเป็นอย่างนี้"

ศีล 5 หลักธรรมสำหรับประชาชน
     เมื่อพระราชาองค์ใหม่ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตร และปฏิบัติตามพระดำรัสของพระราชฤษีแล้ว จักรแก้วก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ท้าวเธอทรงลุกจากที่ประทับ พระหัตถ์ซ้ายทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้นตรัสว่า "จักรแก้วจงหมุนไป จงได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่" ทันใดนั้น จักรแก้วจึงหมุนไปทางทิศตะวันออก ท้าวเธอพร้อมด้วยกองทัพ 4 เหล่าเสด็จเข้าไปในประเทศใด พระราชาในประเทศนั้นก็พากันมาเฝ้าแล้วกราบทูลว่า "ทรงโปรดเสด็จมาเถิดราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า"

      ท้าวเธอจึงตรัสว่า "พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงลักทรัพย์ ไม่พึงประพฤติผิดในกามไม่พึงพูดคำเท็จ และ ไม่พึงดื่มน้ำเมา" และตรัสอีกว่า จงครองราชสมบัติตามเดิมเถิด จากนั้นจักรแก้วก็หมุนพาพระเจ้าจักรพรรดิไปในทิศอื่นๆ ท้าวเธอก็ได้ประทานพระราโชวาทแก่พระราชาในประเทศต่างๆ ให้รักษาศีล 5 เช่นกัน

       พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ 2 นี้ทรงครองราชย์โดยธรรม คือ ประพฤติตามจักรวรรดิวัตร และทรงให้ประชาชนในปกครองดำรงอยู่ในศีล 5 สืบต่อมายาวนาน เมื่อถึงวัยชราก็เสด็จออกบวช และมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใหญ่ ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ 3 ผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรมสืบต่อมาเช่นกัน และการปกครองก็สืบเรื่อยมาอย่างนี้จนถึงสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ 7 พระราชาพระองค์นี้ก็เป็นผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม เมื่อพระองค์ย่างเข้าสู่วัยชราจึงมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใหญ่ส่วนพระองค์ก็ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชาผนวชได้ 7 วัน จักรแก้วก็ได้อันตรธานไป

ความเสื่อมในยุคพระราชาพระองค์ที่ 8
      เมื่อจักรแก้วได้อันตรธานไปแล้ว พระราชาองค์ที่ 8 ทรงเสียพระทัย แต่ไม่ได้เสด็จเข้าไปหาพระราชฤษีทูลถามถึงจักรวรรดิวัตร ท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์จึงไม่เจริญเหมือนเมื่อครั้งที่กษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรและปกครองบ้านเมืองอยู่

     เหล่าข้าราชการจึงกราบทูลพระราชาว่า พวกข้าพระองค์จดจำจักรวรรดิวัตรได้ และได้กราบทูลให้พระราชาทราบว่าจักรวรรดิวัตรมีอะไรบ้าง ตั้งแต่นั้นพระราชาจึงปกครองประชาราษฎร์โดยธรรม แต่พระองค์ไม่ได้พระราชทานทรัพย์แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ด้วยเหตุนี้ความขัดสนจึงแพร่หลาย จึงมีการลักขโมยเกิดขึ้น ราชบุรุษจับได้จึงนำมาไต่สวนพบสาเหตุว่าขโมยเพราะไม่มีทรัพย์ พระราชาจึงพระราชทานทรัพย์ให้ ต่อมามีคนลักขโมยของผู้อื่นมากขึ้นและถูกจับได้อีก พระราชาก็ทรงพระราชทานทรัพย์ให้อีก

    ข่าวลือกันไปว่าถ้าใครลักทรัพย์พระราชาก็จะพระราชทานทรัพย์ให้ คนจึงปรารถนาจะลักทรัพย์กันมากขึ้น เมื่อพระราชาทรงทราบจึงดำริว่า หากพระองค์พระราชทานทรัพย์แก่พวกลักขโมยต่อไป พวกคนที่ลักขโมยจะมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงส่งราชบุรุษไปจับมัดตัวพวกคนที่ขโมยเหล่านั้น ให้โกนศีรษะ พาตระเวนไปตามถนนและตรอก พร้อมตีกลอง แล้วนำเขาไปประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ เมื่อประชาชนทราบข่าวนั้น จึงพากันสร้างอาวุธขึ้นคิดว่าเมื่อลักขโมยทรัพย์แล้วก็จะตัดศีรษะเจ้าของทรัพย์บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการปล้นบ้าน นิคมพระนคร ขึ้นอย่างแพร่หลาย พวกโจรพากันจับเจ้าของทรัพย์ที่ขัดขืนตัดศีรษะเสียจำนวนมาก

อายุมนุษย์ลดลงเพราะไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม
      เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ความขัดสนก็แพร่หลายการลักขโมยทรัพย์จึงแพร่หลาย การใช้อาวุธจึงแพร่หลาย การฆ่าจึงแพร่หลาย อายุและผิวพรรณวรรณะของมนุษย์ก็เริ่มเสื่อมลง จากเดิมมนุษย์ยุคนั้นมีอายุ 8 หมื่นปี บุตรจะมีอายุเพียง 4 หมื่นปีและลดลงเรื่อยๆ ต่อมาการพูดเท็จแพร่หลาย บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 4 หมื่นปีก็มีอายุเพียง 2 หมื่นปี ต่อมาการพูดส่อเสียดก็แพร่หลาย บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 2 หมื่นปีก็มีอายุเพียง 1 หมื่นปี ต่อมาการประพฤติผิดในกามก็แพร่หลาย บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 1 หมื่นปีก็มีอายุเพียง 5,000 ปี ต่อมาการพูดคำหยาบและพูดเพ้อเจ้อก็แพร่หลาย บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 5,000 ปีก็มีอายุเพียง 2,500 ปี บางพวกก็เหลือ 2,000 ปี

   ต่อมาอภิชฌาคือ โลภอยากได้ของคนอื่นและพยาบาทปองร้ายก็แพร่หลาย บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 2,500 ปีก็มีอายุเพียง 1,000 ปี ต่อมามิจฉาทิฏฐิก็แพร่หลาย บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 1,000 ปีก็มีอายุเพียง 500 ปี ต่อมาธรรม 3 ประการคือความกำหนัดที่ผิดธรรม (ไม่เลือกว่าเป็นแม่ ป้า น้า อา เป็นต้น)ความโลภรุนแรงความกำหนัดผิดธรรมชาติ(พอใจในชายกับชาย และหญิงกับหญิง)ก็แพร่หลาย บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 500 ปีก็มีอายุเพียง 250 ปี บางพวกก็เหลืออายุเพียง 200 ปี

      จากที่กล่าวมานี้คือยุคกลางซึ่งเป็นยุคที่โลกและมนุษย์เสื่อมลงมาเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนคนมีอายุ 80,000 ปี ก็ลดลงมาจนเหลือเพียง 250 ปี บางพวกก็มีอายุเพียง 200 ปี ต่อไปจะกล่าวถึงโลกและมนุษย์ในยุคสุดท้ายซึ่งจะเป็นยุคที่เสื่อมจนถึงที่สุดและกลับเจริญขึ้นอีกครั้ง


3.) โลกและมนุษย์ในยุคสุดท้าย
     ในยุคนี้อกุศลธรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆคือ การไม่เกื้อกูลในบิดา มารดา ในสมณะ ในพราหมณ์ การไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุลก็แพร่หลาย บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 250 ปีก็มีอายุเพียง 100 ปี อกุศลธรรมในยุคนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้อายุและวรรณะของมนุษย์เสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมนุษย์มีอายุขัยเหลือเพียง 10 ปี หญิงสาวอายุ 5 ปี ก็มีสามีได้ อาหารที่เลิศที่สุดในสมัยนี้คือ หญ้ากับแก้

     ยุคนี้กุศลกรรมบถ 10 จักหายไปหมดสิ้น อกุศลกรรม 10 จักรุ่งเรือง ผู้คนจะไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า มารดา บิดา น้า ป้า อา ภริยาของอาจารย์ ภริยาของครู โลกจะเจือปนกันเหมือนสัตว์ เช่น แพะ ไก่ แกะสุกร จักมีความอาฆาต พยาบาท มุ่งร้ายกันคิดฆ่ากันอย่างรุนแรงแม่คิดต่อลูก ลูกคิดต่อแม่ เป็นต้น

       ในยุคนี้จะเกิดสัตถันตรกัปคือ กัปที่โลกพินาศเพราะคนฆ่าฟันกันตายใน 7 วัน กล่าว คือ คนจะฆ่ากันและกันเพราะคิดว่าเป็นสัตว์ แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่ง ลดสังเวชในการฆ่ากันเอง จึงหนีไปอยู่ในป่าดง ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพอยู่ตลอด 7 วัน เมื่อพ้น 7 วันแล้ว พวกเขาพากันออกจากป่าดง แล้วต่างสวมกอดกันและกัน ดีใจร่าเริงที่รอดชีวิต จึงตั้งใจทำกุศลกรรม ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ บำเพ็ญกุศลกรรม อายุมนุษย์จึงยืนขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 80,000 ปี

       ในยุคที่มนุษย์มีอายุ 80,000 ปีนี้เอง จะมีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสังขอุบัติขึ้นและจะมีพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์จุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จโปรดสัตว์โลก จะมีผู้ตรัสรู้ธรรมตามพระองค์จำนวนมาก ตั้งแต่ยุคนี้เป็นต้นไปมนุษย์จะบำเพ็ญกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งเป็นเหตุให้อายุและวรรณะของมนุษย์เจริญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมนุษย์มีอายุถึงอสงไขยปี และดำรงอยู่อย่างนั้นยาวนาน จากนั้นโลกและมนุษยชาติก็จะเสื่อมลงอีก อายุของมนุษย์ก็จะลดลงเรื่อยๆ จนถึง 10 ปี กัปก็จะพินาศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นกัปก็จะเจริญอีก


4.) สรุปอกุศลธรรมเป็นเหตุแห่งความเสื่อม
      จากประวัติศาสตร์โลกและมนุษยชาติที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้โลกและมนุษยชาติเสื่อมลง คือ อกุศลธรรมส่วนกุศลธรรม จะเป็นเหตุให้โลกและมนุษยชาติเจริญขึ้นอีกครั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดอกุศลธรรมขึ้นนั้นมีดังนี้ เช่น กิเลส ในตัวมนุษย์ การคบคนพาลความแตกต่างกัน ความผิดพลาดทางการปกครอง และความยากจน เป็นต้น

4.1) กิเลส ในตัวมนุษย์เป็นต้นเหตุแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย
       กิเลส ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์อัน ได้แก่ ตัณหาคือความอยาก การถือตัว ความเกียจคร้าน ความโลภ ฯลฯ กิเลส เหล่านี้รวมอยู่ใน 3 ตระกูลใหญ่คือ โลภะ โทสะ โมหะ จะเป็นตัวบังคับให้มนุษย์ทำอกุศลกรรม ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จการดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เป็นต้น เมื่อทำกุศลกรรมแล้วก็จะทำให้ตัวมนุษย์เองเสื่อมลงคืออายุขัยลดลง วรรณะเสื่อมลง เป็นต้น นอกจากนี้โลกยังเสื่อมลงด้วย กล่าวคือสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น อาหาร จะลดคุณภาพลง อาหารดีๆ จะค่อยๆ หายไป แล้วเกิดอาหารใหม่ขึ้นมาแทนซึ่งหยาบกว่าเดิม คุณภาพต่ำกว่าเดิม

4.2) การคบคนพาลเป็นเหตุให้อกุศลธรรมแพร่หลาย
      จากเนื้อเรื่องจะเห็นว่า มนุษย์ยุคแรกจะอยู่กันอย่างสุขสบาย มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากตัว แต่จุดเปลี่ยนแปลงอยู่ที่มีมนุษย์ผู้หนึ่งเป็นคนหยาบไปชิมง้วนดินเข้า แล้วเกิดความอยากขึ้น จากนั้นก็มีมนุษย์อื่นๆ ทำตาม ต่อมาเมื่อกินง้วนดินมากเข้ารัศมีกายของมนุษย์ก็หายไป บังเกิดดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นต้นขึ้นแทน นอกจากนี้ก็ยังมีคนพาลซึ่งเป็นต้นแบบที่ไม่ดีในด้านอื่นๆ เกิดขึ้นอีก เช่น การสะสมอาหาร ลักขโมย พูดเท็จ เสพเมถุนธรรมการทุบตีกัน การฆ่ากัน เป็นต้น เมื่อมีต้นแบบเกิดขึ้น ต่อมาก็มีคนอื่นทำตามจนแพร่หลายเมื่อทำแพร่หลายโลกและมนุษย์ก็เสื่อมลงเร็วขึ้น

4.3) ความแตกต่างเป็นตัวกระตุ้นกิเลส จึงเป็นเหตุให้มนุษย์ทำอกุศลธรรม
      จากเนื้อเรื่องจะเห็นว่า เมื่อสัตว์เริ่มมีผิวพรรณต่างกัน คนมีผิวพรรณงามก็จะดูหมิ่นคนมีผิวพรรณไม่งามบ้าง หรือเมื่อเพศชายและเพศหญิง เกิดขึ้นก็มีการเพ่งดูกัน จึงเป็นเหตุให้เสพเมถุนธรรมกันบ้าง และเป็นเหตุให้มีการประพฤติผิดในกาม คือ ล่วงละเมิดลูกเมียของผู้อื่นบ้าง

4.4) ความผิดพลาดทางการปกครองเป็นเหตุให้มนุษย์ทำอกุศลธรรม
     จากจักกวัตติสูตรจะเห็นว่าในยุคของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ที่ 17 ทรงยึดมั่นในธรรม คือ จักรวรรดิวัตร เป็นเหตุให้บ้านเมือง งบสุขและเจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อถึงยุคของพระโอรสของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ที่ 7 ช่วงแรกพระองค์ไม่ได้ประพฤติตามจักรวรรดิวัตร ปกครองประชาราษฎร์ตามมติของพระองค์เอง จึงทำให้บ้านเมืองไม่เจริญ ข้าราชการจึงถวายคำแนะนำให้พระองค์ประพฤติจักรวรรดิวัตร พระองค์ก็ทรงปฏิบัติตาม แต่ว่าไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโดยพระราชทานทรัพย์ให้แก่คนไม่มีทรัพย์ให้เขามีทุนในการประกอบอาชีพ เป็นเหตุให้ความขัดสนแพร่หลาย เมื่อคนขัดสนไม่มีกินจึงผลักดันให้เขาจำเป็นต้องทำอกุศลธรรมด้วยการลักขโมย

4.5) ความยากจนผลักดันให้มนุษย์ทำอกุศลธรรม
     นอกจากกิเลส ในตัวซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้มนุษย์ทำอกุศลธรรมแล้ว จะเห็นว่าความยากจนหรือความขัดสนทรัพย์นั้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งด้วย เพราะเมื่อยากจนไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ ก็ต้องดิ้นรนแสวงหาปัจจัย 4 มาหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ เมื่อไม่ได้มาโดยชอบธรรมก็ต้องหามาโดยไม่ชอบธรรม คือ การลักขโมย เป็นต้น

       สำหรับกุศลธรรมที่มนุษย์ประพฤติแล้วเป็นเหตุให้โลกและมวลมนุษยชาติเจริญนั้นมีหลายประการ เช่น ศีล 5, กุศลกรรมบถ 10, จักรวรรดิวัตร เป็นต้น เมื่อมนุษย์ยึดมั่นในกุศลธรรมเหล่านี้ ก็จะเป็นต้นแบบที่ดีให้คนอื่นทำตาม และเมื่อมีการชักชวนกันปฏิบัติอย่างแพร่หลายก็จะเป็นเหตุให้อายุขัย วรรณะ ของมนุษย์เจริญขึ้น เป็นเหตุให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อาหารประณีตขึ้น ทำให้โลกเจริญขึ้นตามลำดับ

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0023479501406352 Mins