ฝึกลูกรักให้รักการนั่งสมาธิ

วันที่ 25 พค. พ.ศ.2560

ฝึกลูกรักให้รักการนั่งสมาธิ
 

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , ฝึกลูกรักให้รักการนั่งสมาธิ , นั่งสมาธิ , ลูกรัก , ภาวนา

    สมาธิเป็นบทฝึกสำคัญต่อการฝึกควบคุมจิตใจให้แน่วแน่มั่นคง จดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และไม่วอกแวกไปกับสิ่งรบกวนโดยง่าย เด็กที่พ่อแม่คอยสั่งสอนอบรมอย่างดี แต่ไม่เคยฝึกลูกนั่งสมาธิ เด็กจะขาดวุิภาวะในการเป็นผู้ใหญ่ เพราะถึงแม้จะรู้ดีรู้ชั่วแล้วแต่เมื่อถูกยั่วเย้าดัวยอบายมุขหนักเข้า จะห้ามใจตนเองไม่เป็น เพราะไม่เคยฝึกการควบคุมจิตใจให้หนักแน่นในความดีมาก่อน แน่นอนว่าบทฝึกการควบคุมใจให้ไม่ตกไปในอำนาจของความชั่ว ไม่มีอะไรเกินการพาลูกไปวัดเพื่อฝึกทำภาวนา

    การที่จะฝึกให้ลูกรักการทำสมาธิ พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกให้เขาคุ้นกับการนั่งสมาธิตั้งแต่เล็ก เพราะเมื่อใจของเขาคุ้นกับความสงบแล้วเป็นประจำ ไม่ว่าพ่อแม่สั่งสอนอบรมเรื่องใดเขาจะจำได้ดี ชนิดที่ฝังใจ ศีลธรรมที่พ่อแม่ปลูกฝังไว้ภายในก็จะเติบโตอย่างหนักแน่นมั่นคงหากมีวิกฤตการณ์ใดก็พร้อมที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ์ในอนาคตได้อย่างมีสติ

    อย่างไรก็ตาม ยังมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นว่า เราควรจะให้เด็ก ๆ มีอิสระในทางความคิด ไม่ควรสนับสนุนให้มีการฝึกสมาธิแก่เด็กตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบเพราะจะเป็นการกะเกณฑ์เด็ก ๆ มากไป จึงขอยกคำอธิบายเรื่องนี้ของหลวงพ่อรูปหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังว่า แท้จริงแล้วสมาธิมีผลต่อจิตใจของเด็กอย่างไร

   "ก่อนอื่น ขอตั้งคำถามว่า มีใครในโลกนี้บ้างที่ไม่ใฝ่ดี ก็ต้องตอบว่าไม่มีเพราะแม้แต่โจรก็ใฝ่ดี เพราะคิดว่าการเป็นโจรนั้นดี เรื่องของการใฝ่ดีนี้ จึงมีข้อแม้ว่า ถ้าเขาไม่รู้ว่าอะไรคือความดีและความชั่ว อะไรเป็นมาตรฐานของคนดี ความวุ่นวายในสังคมคงเกิดขึ้นเป็นแน่ เพราะโจรก็ตั้งมาตรฐานความดีของเขาเอาไว้ แล้วก็แบกปนไปปล้นเขา เอาเงินมาแบ่งกันกิน นั่นคือดีแบบของโจร

   คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกก็อยากให้ลูกเป็นคนดี แต่จุดเริ่มต้นไม่ได้อยู่ที่รอให้ลูกดีก่อนคุณพ่อคุณแม่ต่างหากต้องทำมาตรฐานคนดีให้ลูกเห็นก่อน พร้อม ๆ กับ อนลูกไปด้วยเริ่มตั้งแต่พูดจาไพเราะ ๆ อ่อนน้อมถ่อมตน ฝึกหัดให้ลูกกราบ ลูกไหว้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย

    เมื่อเด็กต้องทำตามสั่ง แม้เด็กจะยังไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำ แต่ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง เป็นการฝึกเด็กให้อยู่ในกรอบแห่งความดี เมื่อฝึกเด็กไปได้ช่วงหนึ่ง เมื่อเห็นว่าเด็กโตพอจะรับฟังเหตุผลได้แล้ว เราก็ค่อย ๆ บอกเหตุผลให้ฟังว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ครูบาอาจารย์มีความดีอย่างนั้น ๆ เราจึงต้องกราบต้องไหว

    การให้อิสระเด็ก โดยจะไหว้จะกราบก็ให้เด็กคิดเอง ทำเอง โดยที่เราไม่ อนเขาให้ไหว้ให้กราบใคร พอเด็กโตขึ้น เราจะมาหวังให้เด็กมากราบมาไหว้นั้น เป็นไปไม่ได้หรอกถึงแม้เด็กจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อไม่ได้ทำมาจนคุ้น ก็จะรู้สึกเขินที่จะทำ

    บางคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยกราบแม่เลย ทั้ง ๆ ที่ยกมือไหว้คนที่ทำงานได้มากมาย แต่พอให้ไปกราบคุณพ่อคุณแม่ ก็เลยเขิน แม่ก็เขิน ลูกก็เขิน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นความดี แต่ก็กระดากก็เขินจนไม่ได้ทำ เพราะไม่คุ้น

   การกราบการไหว้เป็นการแสดงความเคารพ เป็นเครื่องหมายแสดงว่าเราตระหนักในความดีของคน ๆ นั้น หรือสิ่งนั้นมากจริง ๆ จนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องเข้าไปแ ดงอาการเคารพคือกราบไหว้ จากนั้นก็พยายามเรียนรู้ รู้จักจับจ้องดูวิธีทำความดีของท่าน และทำดีตามอย่างท่าน

    ถ้าเราไม่หัดกราบไหว้มาตั้งแต่ต้น เราก็จะมีทิฏฐิมานะ ความถือตัวมาก บางคนถึงกับมองความดีของคนอื่นไม่เห็น เห็นแต่ความผิดพลาดของเขา พยายามจับผิดเขาทุกวัน

   ปัจจุบันเราจะเห็นว่าบุคคลในวงการต่าง ๆ พยายามจับผิดกัน นักเรียนจับผิดครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จับผิดนักเรียน ผู้ใหญ่กับผู้น้อยก็จับผิดกัน เพื่อนร่วมงานก็จับผิดกันต่างไม่พูดถึงความดีของใคร เพราะมองไม่เห็น ถ้าปล่อยให้สังคมเป็นเช่นนี้ ในไม่ช้าระบบสังคมจะล้มเหลว ก็ต้องแก้ด้วยความเคารพ คือ การจับดี

     ดังนั้น เมื่อลูกเริ่มหัดพูด เราอย่าสอนให้ลูกไปด่าใคร แต่สอนลูกให้พูดแต่คำไพเราะพาลูกเข้าวัด อนลูกให้นั่งสมาธิให้นึกถึงพระพุทธรูปบนหิ้งพระเป็นพุทธานุสติ เป็นต้น ถ้าทำเช่นนี้ ภายหน้าหากเกิดปัญหาอะไรกับลูก ลูกจะสามารถควบคุมตนเองได้ รู้จักสงบใจเป็น

     ถามว่า "สมาธิเปลี่ยนนิสัยคนได้จริง ๆ หรือ ?"

     จริงหรือไม่จริง ก็ลองพิจารณาเหตุผลดูสักนิด

     ธรรมดาคนเราเวลาลืมตา เราเห็นคนอื่นรอบตัว แต่ไม่เห็นตนเอง แม้หน้าของเราเองจริง ๆ แล้วเราก็ไม่เห็น ที่เห็นนั่นคือเห็นเงาหน้าในกระจก

      แล้วทำอย่างไรจึงจะเห็นตนเอง ก็ต้องหลับตาแล้วจะเห็นตนเอง

ถ้าเราทำสมาธิเป็น ทำใจสงบได้ อะไรไม่ดีที่เราทำไปแล้ว เราก็จะรู้ว่าไม่ดีและพยายามปรับปรุงแก้ไขกันไป อะไรที่ดีเราก็ยอมรับ แล้วเราก็ไม่ต้องไปวิจารณ์คนอื่นแต่มาวิจารณ์ตนเอง ปรับปรุงตนเองให้มีมาตรฐานที่ดีจริง ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ"

   จากคำสอนของหลวงพ่อท่าน ได้ทำให้เราเกิดความมั่นใจว่าการสอนลูกให้นั่งสมาธิตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ เท่ากับเป็นการฝึกให้ลูกคุ้นกับความสงบใจตั้งแต่เด็ก แล้วลูกจะเป็นคนดีตลอดชีวิต เพราะเขาสามารถควบคุมจิตใจให้เป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่เย้ายวนใจ และมั่นคงอยู่ในความดีที่คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังไว้ให้แก่เขานั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ปิดเทอมฤดูร้อนปีนี้ อย่าลืมพาลูก ๆ หลาน ๆ ไปฝึกสมาธิ โดยอาจพาไปเข้าค่ายฝึกคุณธรรมภาคฤดูร้อนที่วัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วประเทศ เปิดโครงการอบรมกันเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการฝึกลูกให้คุ้นเคยกับการฝึกสมาธิให้ใจสงบตั้งแต่เด็กนั่นเอง

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011418342590332 Mins