"วุฒิธรรม 4 ประการ" หลักการแสวงหาปัญญา

วันที่ 01 มิย. พ.ศ.2560

"วุฒิธรรม 4 ประการ" หลักการแสวงหาปัญญา
 

สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , "วุฒิธรรม 4 ประการ" หลักการแสวงหาปัญญา , ปัญหา , วุฒิธรรม

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ตรัสรู้ธรรมะได้ เพราะทรงละเว้นความชั่วทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใสอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทำให้ในพระชาติสุดท้าย พระองค์จึงทรงสามารถกำจัดทุกข์และกิเลสที่แช่อิ่ม หมักดอง บีบคั้น บังคับ กัดกร่อนใจ มานับภพนับชาติไม่ถ้วน ให้หมดสิ้นไปจากใจได้อย่างเด็ดขาดถาวร ความชั่วใด ๆ ไม่อาจรั่วรดเข้าไปในใจของพระองค์ได้แม้แต่เสี้ยวอนุวินาที

    เพราะฉะนั้น ธรรมะทุก ๆ คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาตรัสอนชาวโลกนั้นล้วนออกมาจากใจที่ใสะอาดบริสุทธิ์ ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติตามย่อมสามารถบรรลุธรรมอันเป็นเครื่องขจัดทุกข์และกิเลสให้หมดไปได้เช่นเดียวกับพระองค์

    การศึกษาธรรมะทุก ๆ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทำด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ วัดพระธรรมกายจึงต้องวางรูปแบบการเทศน์สอนให้ตรงตามหลักการศึกษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้นั่นคือ "วุฒิธรรม 4 ประการ" ได้แก่

1. สัปปุริสังเสวะ แปลว่า คบสัตบุรุษ
2. สัทธัมมัสสวนะ แปลว่า ฟังธรรม
3. โยนิโสมนสิการ แปลว่า ตริตรองธรรม
4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ แปลว่า ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม

     หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านค้นคว้าเรื่องวุิธรรม 4 ประการ ซึ่งเป็นหลักการแสวงหาปัญญาในพระพุทธศาสนา จนได้คำจำกัดความและคำอธิบายที่ส่องทางปฏิบัติอย่างชัดเจน ดังมีรายละเอียดดังนี้


1. สัปปุริสังเสวะ (คบสัตบุรุษ)
        สัปปุริสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) หมายถึง "หาครูดีให้พบ"

     การที่ใครจะมีความเจริญก้าวหน้าในทางโลกหรือทางธรรมหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นเลือกใครมาเป็นครูสอนตนเอง เพราะว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิต ก็คือ การเลือกครูผิด เพราะนอกจากเราจะได้รับความรู้ผิด ต้องกลายเป็น "บุคคลที่มีมิจฉาทิฏฐิ" แล้ว ยังจะติด "นิสัยไม่ดี" มาจากครูอีกด้วย และเราก็จะกลายเป็นคนประเภทที่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและสังคมไม่หยุดหย่อน ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้ความสำคัญของการหาครูดีให้พบไว้เป็นอันดับแรกของชีวิต

      การเลือกครูนั้น ต้องพิจารณา 2 เรื่องใหญ่เป็นสำคัญ คือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริง และการมีนิสัยดีจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านสามารถสอนเราได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพราะว่าการที่ท่านมีนิสัยดีจริงนั้น ก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าเรื่องที่ท่านกำลังสอนอยู่นั้น ท่านปฏิบัติได้จริงทำไมการเลือกครูจึงสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง นั่นก็เพราะ "ครู คือ บุคคลที่เป็นต้นแบบด้านความรู้และความประพฤติที่ดีให้แก่ผู้เรียน"

   ต้นแบบเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเลือกครูที่ด่าเก่งก็สร้างลูกศิษย์ด่าเก่งออกมาเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าเลือกครูที่พูดเพราะก็สร้างลูกศิษย์ที่พูดเพราะออกมาเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าเลือกครูขี้เมาก็สร้างลูกศิษย์ขี้เหล้าออกมาเต็มบ้านเต็มเมือง เราจะไปศึกษาต่อที่ใดก็ตาม เราจะส่งลูกหลานไปเรียนที่โรงเรียนใดก็ตาม เราต้องคิดเรื่องการเลือกครูให้ดี ถ้าครูเป็นต้นแบบให้เราไม่ได้เสียแล้ว ก็เสียเวลาไปศึกษาในสำนักของท่าน

     เพราะฉะนั้น ความเจริญหรือตกต่ำของชีวิตคนเรานั้น จึงขึ้นอยู่กับ"การหาครูดีได้พบหรือไม่" เป็นอันดับแรก


2. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม)
      สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) หมายถึง "ฟังคำครูให้ชัด"

    เมื่อเราได้พบครูดีแล้วสิ่งสำคัญอันดับที่สองก็คือ ต้องฟังคำครูให้ชัด อย่าให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพี้ยนความหมาย เพราะถ้าฟังไม่ชัด แล้วจำไปทำผิด ๆ ก็จะก่อให้เกิดปัญหามากมายในภายหลัง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียเงินเสียทอง เสียชื่อเสียง หรือเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

     การฟังคำครูให้ชัด คือ ฟังแล้วอย่าฟังผ่าน ๆ ฟังแล้วต้องได้ "คำจำกัดความ" ของเรื่องนั้น ๆ ออกมาอย่างชัดเจน

     การให้คำจำกัดความ คือ การกำหนดความหมายที่ถูกต้องและชัดเจน ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ เพื่อให้ครูและนักเรียน เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ในเรื่องความหมายหลักการปฏิบัติ ทิศทางการปฏิบัติ และผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ

   การศึกษาเรื่องใดก็ตาม ถ้าผู้สอนไม่ให้คำจำกัดความแก่ผู้เรียนอย่างชัดเจน ก็เท่ากับตกม้าตายตั้งแต่ต้นทันที เพราะเมื่อคำจำกัดความไม่ชัดแล้ว ผู้เรียนจะมีโอกาสเข้าใจผิดจากความถูกต้องส่งผลให้การคิด การพูด และการปฏิบัติย่อมเกิดคลาดเคลื่อนตามไปด้วยผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเกิดความผิดพลาด หรือทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมาทันที

     เพราะฉะนั้น ใครที่เป็นครูสอนเรื่องอะไร หรือใครที่ศึกษาเรื่องอะไร เพื่อป้องกันความผิดพลาด ต้องเอาคำจำกัดความในเรื่องที่เรียนนั้นออกมาให้ได้ ถ้าครูไม่ได้ให้มา ก็ต้องซักถามกับครูให้เป็น ถ้าครูตอบแล้วยังเข้าใจไม่ชัดเจน ก็ต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติมเอง

     วิธีการหาคำจำกัดความแบบง่าย ๆ ก็คือ การตั้งคำถามในเรื่องที่เรียนด้วยคำว่า "อะไร" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "" แล้วเดี๋ยวเราก็จะได้คำจำกัดความออกมา

    ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนมาฟังพระเทศน์เรื่อง "บุญ" ก็ถามคำแรกเลยว่า "บุญคืออะไร" ใครที่เทศน์เรื่องบุญ แล้วว่าไปเรื่อย ๆ เป็นชั่วโมง ๆ ไม่ให้คำจำกัดความก็ขอเตือนว่าระวังตกม้าตาย เพราะถ้าเขาถามขึ้นมาด้วยคำถามง่ายๆ ว่า "What is the Boon (Panna)?"แล้วตอบไม่ได้สิ่งที่เทศน์มาเป็นชั่วโมง ๆ ก็ต้องตกม้าตายด้วยคำถามคำเดียว

    คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยรักการทำบุญก็เช่นกัน ต้องตอบลูกให้ได้ว่า "บุญคืออะไร" การปลูกฝังความรักบุญกลัวบาปจึงจะเกิดเป็นภาพชัดเจนในใจ

    พ่อแม่บางท่านเป็นคนชอบทำบุญ จึงอยากให้ลูกเป็นคนรักบุญเหมือนกับตนเองแต่พอลูกถาม ตอบลูกไม่ได้ว่า "บุญคืออะไร" ก็เลยใช้วิธีบังคับลูกให้มาทำบุญ ซึ่งก็เป็นวิธีที่ใช้ได้เฉพาะช่วงหนึ่งที่ยังบังคับได้อยู่เท่านั้น

   แต่พอลูกโตขึ้น เริ่มมีแนวคิดเป็นของตนเอง ก็จะไม่ยอมทำในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจว่า "บุญคืออะไร" เพราะนึกถึงการทำบุญครั้งใด ก็จะเห็นภาพความเจ้าอารมณ์ ขาดเหตุผลของแม่ขึ้นมาในใจทันที ความพยายามปลูกฝังความรักบุญ กลัวบาปให้แก่ลูกตั้งแต่เล็ก ก็จะ
ล้มเหลวทันที แล้วก็ส่งผลมาถึงความเข้าใจในคุณค่าของพระพุทธศาสนาด้วย

  เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องการปลูกฝังคุณธรรมใดให้แก่ลูกสิ่งแรกที่ต้องบอกให้ลูกรู้ก็คือคำจำกัดความของเรื่องนั้นคืออะไร

    หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำจำกัดความเรื่อง "บุญ" เพราะหากเข้าใจตรงนี้ไม่ชัดเจนแล้ว โอกาสที่จะเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการทุ่มเททำบุญอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า "บำเพ็ญบารมี" ของพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งปรารถนาจะทำตาม ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย


บุญคืออะไร ? 

    บุญ คือ พลังงานบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในใจมนุษย์ทุกครั้งที่ตัดใจไม่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วและตั้งใจคิดดี พูดดี ทำดี เช่น การทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เป็นต้น

    หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านอ่านพระไตรปิฎกหลายรอบจนกระทั่งสามารถให้คำจำกัดความเรื่องบุญได้ และนำหลักฐานจากพระไตรปิฎกมายืนยันด้วยว่า "บุญมีจริง" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนใน "ปุญญาภิสันธานสูตร" ว่า "ทำบุญต้องได้บุญ และบุญเกิดขึ้นเป็นท่อธารบุญทุกครั้ง ที่ตั้งใจละชั่ว ทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใส"การสอนธรรมะที่ขาดความชัดเจนในเรื่องการให้คำจำกัดความ จะก่อให้เกิดปัญหา

    การลดคุณค่าให้ตกต่ำลงได้ในภายหลัง เพราะคนส่วนมากคุ้นเคยกับกิเล มากกว่าธรรมะจึงพร้อมจะดึงธรรมะให้ตกต่ำตามกิเลสในใจของตนเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแม้มีใจเป็นกุศลมาฟังธรรมะ แต่ถ้าจับประเด็นผิดก็มีสิทธิ์ตกนรกได้เช่นกัน

    ยิ่งถ้าความเข้าใจผิดนั้นลุกลามไปถึงขั้นที่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นเพียงกุศโลบายที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เพื่อใช้ในการหลอกลวงมนุษย์ให้อยากทำความดีด้วยแล้ว คุณค่าแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมหมดสิ้นไปทันที ความประเสริฐเลิศล้ำของธรรมะที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือขจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้จริงย่อมถูกดับแสงทันที เช่น การเข้าใจผิดว่านรก - สวรรค์ไม่มีจริง เป็นต้น ซึ่งย่อมส่งผลให้ประชาชนคิดผิด พูดผิด และทำผิดอย่างขยายวงกว้างต่อ ๆ กันไป

   เมื่อประชาชนปฏิบัติผิด ๆ ย่อมได้รับผลผิด ๆ ชีวิตจึงย่ำแย่ลงไป ในที่สุดก็เกิดความรู้สึกว่า ยิ่งนับถือพระพุทธศาสนายิ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร เพียงความรู้สึกในแง่ลบที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็มีผลต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาทันที

     เพราะฉะนั้น ชีวิตชาวพุทธจะเจริญรุ่งเรืองหรือตกต่ำ อายุพระพุทธศาสนาจะยืนยาวหรือสั้นลง ล้วนขึ้นอยู่กับว่า "ครูสอนธรรมะ" นั้น ต้องสามารถให้คำจำกัดความที่ชัดเจนในทางปฏิบัติได้จริง และ "ผู้เรียนธรรมะ" นั้น เมื่อพบครูดีแล้ว ต้องสามารถฟังคำจำกัดความของครูได้ชัดเจน ปฏิบัติได้จริงด้วยเช่นกัน

     ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกำหนด "การฟังคำครูให้ชัด" ไว้เป็นข้อที่สองของ "วุฒิธรรม" เพราะเมื่อพบครูดีแล้ว ความเข้าใจที่ถูกต้องในการฟังธรรม ย่อมส่งผลไปถึงการคิดถูกต้อง การพูดถูกต้อง และการกระทำถูกต้องตามลำดับ คน ๆ นั้นจึงจะได้รับเป็นผลลัพธ์ที่ถูกต้องต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต และนั่นคือที่มาของความซาบซึ้งในพระคุณของครู


3. โยนิโสมนสิการ (ตริตรองธรรม)

     โยนิโสมนสิการ (ตริตรองธรรม) หมายถึง "ตรองคำครูให้ลึก" เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนแล้ว แต่จะเข้าใจความรู้ของครูลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด ก็อยู่ที่การนำความรู้กลับมาไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง เพราะยิ่งมีความลึกซึ้งมากเท่าไร การคิด การพูด การกระทำย่อมได้ผลมากยิ่งขึ้นเท่านั้นด้วย

      การตรองคำครูให้ลึก คือ การไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงวัตถุประสงค์ของธรรมะในเรื่องนั้น ๆ

      วิธีการหาวัตถุประสงค์ ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการตั้งคำถามว่า "ทำไม" หรือที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Why" ถามคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าทำไม ๆ ๆ ๆ ไปสัก 2030 คำถาม เดี๋ยวก็สามารถมองเห็นชัดถึงวัตถุประสงค์ของธรรมะเรื่องนั้น ๆ แล้วการคิด การพูด การปฏิบัติก็
จะไม่ผิดพลาด

    ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราศึกษาเรื่อง "บุญ" เราก็ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า บุญคืออะไรเมื่อเราตอบได้แล้ว คำถามต่อไปที่ต้องถามก็คือ "ทำไมต้องสร้างบุญ" หรือถ้าถามเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ว่า "Why did we make the Boon?" เป็นต้น

    พอเราถามอย่างนี้แล้ว การค้นคว้าแบบเจาะลึกไปให้ถึงวัตถุประสงค์นั้น ๆ ก็จะเกิดขึ้นแล้วก็จะพบคำตอบมากมาย เช่น

        1) บุญสามารถกลั่นกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ทำให้เรามีความสุขใจทุกครั้งที่ได้ทำบุญส่งผลให้มีบุคลิกภาพดี มีอารมณ์ดี ใบหน้ายิ้มแย้มเบิกบาน มีใจผ่องใสเป็นปกติในปัจจุบัน ทำให้เป็นที่รักของคนหมู่มาก มีชื่อเสียงขจรขจายไป คนดีอยากคบหาสมาคมและมีความองอาจภาคภูมิใจในที่ประชุมชน

    2) บุญสามารถสั่งสมไว้ในใจได้ไม่จำกัด ยิ่งมีมากเท่าไร ยิ่งนำความสุขและความเจริญทั้งมนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ บริวารสมบัติ และนิพพานสมบัติมาให้แก่เราได้มากเท่านั้น

     3) บุญสามารถนำติดตัวเป็นเสบียงข้ามภพชาติไปได้ จึงมีอานุภาพในการดลบันดาลให้ไปเกิดในภพภูมิและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การทำความดี เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความสุขและความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

      4) บุญสามารถใช้ในการออกแบบชีวิตได้ เราอยากมีความสุขและความเจริญในชีวิตแบบใด เราก็ต้องสร้างบุญที่มีอานิสงส์อย่างนั้น คนที่มีบุญมากก็จะประสบความสุขมาก คนที่มีบุญน้อยก็จะประสบความสำเร็จน้อย เพราะแม้แต่การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ก็ต้องอาศัยบุญ เป็นต้น

    เมื่อเราลองตอบคำถามนี้ในแง่มุมอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีกสัก 40-50 คำถาม เดี๋ยวก็เจาะลึกเข้าไปถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงได้ชัดเจน และเราก็จะเห็นภาพรวมที่สรุปใจความสำคัญได้ว่า

    "วัตถุประสงค์หลักของการทำบุญ ก็คือ เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดจากวิบากกรรมในอดีต เพื่อสั่งสมความสุขและความเจริญในปัจจุบัน และเพื่อการขจัดอาสวกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งมวลให้หมดสิ้นไป"

   นี่เป็นตัวอย่างของวิธีการตรองคำครูให้ลึกที่ทำให้เรามีความเข้าใจถูกในเรื่องที่ครูสอนได้อย่างถูกต้องชัดเจนลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป และนั่นคือทางมาแห่งปัญญาที่จะคิดถูก พูดถูกและทำถูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงวาง "การตรองคำครูให้ลึก" ไว้เป็นลำดับที่สามของ "วุฒิธรรม"


4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม)
      ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม) หมายถึง "ทำตามครูให้ครบ"

    เมื่อเราหาครูดีพบแล้ว ฟังคำครูชัดแล้ว ตรองคำครูลึกแล้วสิ่งที่ต้องทำให้ได้ก็คือต้องปฏิบัติจริงให้ได้เหมือนครู มิฉะนั้นเราจะเป็นได้แค่คนขี้โม้ คนฉาบฉวย คนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ นั่นคือ เก่งทฤษฎี แต่สอบตกปฏิบัติ ชีวิตนี้จึงยากจะประสบความสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นคนโง่

       ตรงนี้มีเรื่องต้องหยุดคิดกันว่า ครูที่ดีจริงนั้น ท่านสามารถสอนให้ศิษย์รู้จริงได้และสามารถทำเป็นต้นแบบที่ดีจริงให้ศิษย์ดูได้ แต่ทำไมลูกศิษย์เป็นร้อยคนไปเรียนจากครูคนเดียวกัน แต่กลับทำได้ไม่เหมือนกัน

      ลูกศิษย์บางคนกลับมาทำตามที่ครูสอนแล้วก็ประสบความร่ำรวย แต่ลูกศิษย์บางคนยิ่งทำยิ่งล้มละลาย บางคนก็ทำได้แต่ของกระจอก ก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ไปวัน ๆ ชาตินี้จึงไม่มีอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน

       คนที่ได้ครูดีแล้ว แต่เอาดีไม่ได้ ก็เป็นเพราะ "ทำตามคำครูไม่ครบ" เพราะถ้าทำครบผลงานก็ต้องออกมาดีเหมือนที่ครูทำ

         วิธีการที่จะทำตามคำครูได้ครบนั้น มีทางเดียว ก็คือ ต้องรับเอานิสัยที่ดีของครูมาเป็นนิสัยของตนให้ได้

     ใครเรียนความรู้เรื่องอะไรกับครูท่านใด ก็ต้องไปเอานิสัยที่ดีจากครูท่านนั้นมาให้ครบถ้าเรียนเรื่องการค้าจากครูท่านใด ก็ต้องไปเอานิสัยทำการค้าที่ดีจากครูท่านนั้นมาให้ครบถ้าเรียนเรื่องก่อสร้างจากครูท่านใด ก็ต้องไปเอานิสัยทำการก่อสร้างที่ดีจากครูท่านนั้นมาให้ครบ

      ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการเรียนธรรมะแล้ว ต้องเอานิสัยทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดีของพระบรมครูมาให้ได้

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบการทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน เริ่มตั้งแต่พอท่านตัดสินใจออกจากวังก็ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน พอถึงคราวค้นธรรมะแม้ต้องทรมานกายอย่างสาหัสก็ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน พอถึงวันตรัสรู้ ท่านตัดสินใจเด็ดขาดเป็นสัจจวาจาเลยว่า "แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่เอ็นหนังหุ้มกระดูกก็ตามที ถ้าหากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่ตรงนี้"

      เมื่อกาลเวลาล่วงมาสองพันห้าร้อยกว่าปี พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) ท่านก็มาเป็นต้นแบบการทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันให้แก่พวกเรา เมื่อท่านเรียนภาคปริยัติจบแล้ว พอถึงคราวลงมือปฏิบัติภาวนา ท่านพูดชัดเลยว่า "ถ้าคืนนี้ไม่เข้าถึงธรรมก็ให้ตายไปเถอะ"

     พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านทำตามคำครูได้ครบ ท่านจึงเข้าถึงธรรมในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีพุทธศักราช 2460 หลังจากนั้นท่านก็สอนวิธีปฏิบัติให้แก่ประชาชนในยุคนั้น ทำให้มีผู้เข้าถึงธรรมได้จริงตามมา แล้ววิธีปฏิบัติก็สืบทอดต่อ ๆ กันมาจนกระทั่งถึงรุ่นของพวกเรา ทำให้พวกเราเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนนั้นสามารถเข้าถึงธรรม จึงเกิดกำลังใจที่จะทุ่มชีวิต ปฏิบัติธรรมตามพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านไป ซึ่งก็คือ"การทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ครบ" นั่นเอง

     ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกำหนด "การทำตามครูให้ครบ" ไว้ใน "วุฒิธรรม" เป็นข้อสุดท้าย เพราะความสำเร็จของคนนั้น นอกจากหาครูดีให้พบ ฟังคำครูให้ชัดตรองคำครูให้ลึกแล้ว ยังต้องมีนิสัยทุ่มชีวิตทำจริงเหมือนกับครูด้วย จึงจะสามารถปฏิบัติได้ผลดีจริง

     ดังนั้นความรู้พื้นฐานของการสร้างทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาประการที่ 1 ก็คือ การเทศน์สอนอบรมคน โดยอาศัยหลัก "วุฒิธรรม 4 ประการ" เป็นพื้นฐานสำคัญ จึงเป็นเหตุให้ "ผู้ที่มาอบรมที่วัดพระธรรมกายรู้สึกว่าตนเองได้รับปัญญาอย่างเต็มที่" คือ "ครบถ้วนชัดเจน และลึกซึ้ง" ว่า อะไร (What) ทำไม (Why) อย่างไร (How to) และผลเป็นอย่างไร (Result) เมื่อเขารู้สึกว่าตนเองได้รับปัญญาอย่างเต็มที่ จึงเกิดความอยากมาวัดอีกเมื่อมาวัดอีกก็ได้ศึกษาธรรมะอีก ทำให้เขาเกิดความเข้าใจที่ลุ่มลึกไปตามลำดับ ๆ ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จนกระทั่งเกิดเป็นความซาบซึ้งในพระคุณของพระรัตนตรัยต่อไป

   ยิ่งเมื่อเขาได้เห็นผู้นำของวัดพระธรรมกายและหมู่คณะตั้งใจทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลกด้วยแล้ว จึงทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า การสร้างวัดพระธรรมกายมีประโยชน์อย่างไรต่อชาวโลก จึงทำให้เขาเกิดความซาบซึ้งในมโนปณิธานของหมู่คณะและยินดีที่จะช่วยงานต่าง ๆ ของวัดพระธรรมกายให้ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากหน่วยงานใดของวัดพระธรรมกายมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น จะต้องถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติตามหลักวุิธรรม 4 ประการนี้ให้ได้ เพื่อให้ผู้มาใหม่ได้รับปัญญาอย่างเต็มที่จนกระทั่งเกิดความเข้าใจอย่างลุ่มลึกในภาคปฏิบัติไปตามลำดับ ๆ

     หากผู้ที่มาใหม่เกิดศรัทธา ยินดีที่จะทุ่มเทสร้างบุญบารมีไปด้วยกัน ก็จัดสรรงานที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ เวลา อายุ และประสบการณ์ของเขา เพียงเท่านี้หน่วยงานนั้นก็จะมีกำลังสำคัญในการช่วยงานพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกมาก

    นี่คือขุมทรัพย์ทางปัญญาในการสร้างทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้พวกเรา ขอให้เพียงแต่เราตั้งใจศึกษาให้ครบทั้ง อะไร ทำไม อย่างไร และผลเป็นอย่างไร แล้วลงมือปฏิบัติอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ความสุขและความเจริญในชีวิต ย่อมบังเกิดขึ้นตามมาทันที และนั่นก็จะเป็นนิมิตหมายว่า พระพุทธศาสนาจะมีอายุยืนยาวต่อไปอีกนานแสนนานจากการฝึกฝนอบรมตนเองตาม "วุฒิธรรม 4 ประการ" อย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน และนี่คือความรู้พื้นฐานแรกที่ต้องปลูกฝังให้แก่ทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้จงได้

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 002 สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0087000846862793 Mins