ชราทุกข์ ทุกข์เพราะความแก่

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

ชราทุกข์ ทุกข์เพราะความแก่

แม่บทแห่งธรรม , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , มัชฌิมา ปฏิปทา , ธัมมจักกัปปวัตตสูตร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อริยสัจสี่ , ชราทุกข์ ทุกข์เพราะความแก่  , ทุกข์ , ชราทุกข์

    เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาชราทุกข์ พระพุทธองค์ได้ประทานคำนิยามไว้ว่า ความชราอันใดที่มีสภาวะทำให้อินทรีย์ร่างกายของสัตว์คร่ำคร่า วิกลวิการ วิปริตต่าง ๆ มีผมหงอก ฟันหัก แก้มตอบ ผิวหนังหดหู่เป็นเกลียวเหี่ยวแห้ง ตามืดตามัว หูหนักหูตึง ควรแก่การ มเพชเวทนานั้น ตถาคตเรียกว่า ชราทุกข์ อันชราทุกข์นี้บุคคลทั้งหลายจะเล็งเห็นด้วยมังสจักษุ ก็หาไม่ เว้นไว้แต่บุคคลที่ประกอบด้วยปัญญาจักษุเท่านั้นจึงจะเล็งเห็นโดยแท้ เปรียบประดุจเพลิงไหม้ป่าแล้วดับไป เพลิงนั้นก็มิได้ปรากฏอยู่ ณ ที่ไหม้จะมีเหลือปรากฏแก่ชนทั้งหลายก็เฉพาะเถ้าถ่านเท่านั้น อันชราทุกข์นี้จะปรากฏแก่บุคคลทั้งหลายก็หาไม่ ต่อเมื่อบุคคลทั้งหลายได้เห็นผู้อื่นผู้ใดผมหงอก ฟันหัก แก้มตอบ ผิวหนังเหี่ยวย่น หรือเห็นตามืดตามัว หูตึง จึงรู้ว่าความชราได้ปรากฏขึ้นแล้ว นี้ก็มีอุปมาเหมือนที่เพลิงไหม้ปรากฏฉะนั้น

    ถ้ามิฉะนั้น ชราทุกข์ก็อุปมาเหมือนน้ำท่วมป่าแล้วพัดพากิ่งไม้ใบไม้ หยากเยื่อเชื้อฝอยลอยไปถึงที่ใด ชนทั้งหลายจึงรู้ว่าน้ำท่วมไปถึงที่นั้น หรือมิฉะนั้นชราทุกข์ก็อุปมาเหมือนลม

    พายุที่พัดกรรโชกรุนแรง ทำลายกิ่งก้านพฤกษาหักลงบนทางเท้า เมื่อพายุนั้นสงบลงสิ่งที่เหลือปรากฏแก่สายตาชนทั้งหลาย ก็มีเฉพาะกิ่งพฤกษาหักทับถมกันบนทางเท้าเท่านั้น ที่เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่ามีลมพายุพัด ในทำนองเดียวกัน ชนทั้งหลายเมื่อได้เห็นบุคคลอื่นฟันหัก แก้มตอบ ตามืดมัว หูตึง ร่างกายทรุดโทรม ผมหงอก ผิวหนังเหี่ยวย่น จึงรู้ว่าชรามาถึงแล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือ บุคคลทั้งหลายมองไม่เห็นความชราที่ดำเนินไปตลอดเวลา ไม่ว่าขณะตื่นหรือหลับ กว่าจะมองเห็นก็ต่อเมื่อความชราภาพของอินทรีย์ร่างกายปรากฏให้เห็นเด่นชัดประจักษ์แจ้งแก่มังสจักษุแล้ว

    อนึ่ง ชราทุกข์นี้ย่อมขับอายุสัตว์ทั้งหลายให้น้อยลงข้างหน้า ให้มากขึ้นข้างหลัง ดุจช่างทอหูกพุ่งไปพุ่งมาทีละเส้น ๆ หูกนั้นน้อยลงข้างหน้ามากขึ้นข้างหลัง ข้อนี้ฉันใด ชราทุกข์ก็ชักอายุสัตว์ให้น้อยลงข้างหน้า ให้มากขึ้นข้างหลังฉันนั้น อธิบายว่า ถ้าบุคคลเกิดมาจะมีอายุอยู่ได้ร้อยปี เมื่อล่วงไปวันหนึ่งก็ขาดจากร้อยปีไปวันหนึ่ง เมื่อล่วงไปเดือนหนึ่งก็ขาดจากร้อยปีไปเดือนหนึ่ง เมื่อล่วงไปปีหนึ่งก็ขาดจากร้อยปีไปปีหนึ่ง คือเหลือเพียงเก้าสิบเก้าปี กล่าวได้ว่าความชรานี้ขับอายุแห่งสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรณภาพอยู่ตลอดทุกวันทุกคืนไปมิได้ขาดสายตั้งแต่วันเกิดก็ต้องนับอายุถอยหลังไปสู่ความตายด้วยกันทุกคน

   นอกจากนี้ความชราย่อมกระทำอินทรีย์ทั้ง 6 มีจักขุอินทรีย์ เป็นต้น ให้เศร้าหมองขุ่นมัวคร่ำคร่า กระทำอาการ 322 อันได้แก่ เกสา เป็นต้น ให้วิกลวิการ วิปริตผิดปรกติไปต่าง ๆ ร่างกายก็เหี่ยวแห้งน่าเกลียดน่าชัง น่าสงสารน่าสังเวชนักหนา

    แท้จริงแล้ว เรือน คือร่างกายของเรานี้ มีตัณหาเป็นนายช่างปลูกสร้างขึ้น เริ่มตั้งแต่ฐานรากคือกระดูกส้นเท้าทั้งสองเป็นแท่นรองเบื้องต่ำ แล้วต่อกระดูกแข้งกับขาเป็นเสาเรือนสร้างกระดูกเอวขึ้นเป็นรอด สวมกระดูกสีข้างขึ้นเป็นกลอนซ้อนกระดูกสันหลังเป็นอกไก่ แล้วต่อกระดูกไหล่เป็นขื่อ กระดูกคอเป็นดั้ง ยกกระดูกศีรษะขึ้นให้ตรงเป็นช่อฟ้า เกล้ามวยผมเป็นยอดแห่งช่อฟ้า ห้อยแขนซ้ายขวาเป็นป้านลม หนังหุ้มกระดูกอกเป็นฝาเรือน แล้วรัดรึงตรึงตราด้วยตอก และหวายคือเอ็นน้อยและเอ็นใหญ่ต่าง ๆ แล้วฉาบทาด้วยปูนผสมน้ำผึ้งคือ

    เนื้อและเลือด เสร็จแล้วจึงประกอบประตู 9 แห่ง คือ ทวารทั้ง 9 อันได้แก่ จักขุทวาร 2 โสตทวาร 2 ฆานทวาร 2 มุขทวาร 1 ปัสาวะทวาร 1 อุจจาระทวาร 1 ครั้นแล้วจึงสร้างสีหบัญชรทั้ง 5 แห่ง อันได้แก่ จักขุประสาท 1 โ ตประสาท 1 ฆานประสาท 1 ชิวหาประสาท 1 กายประสาท 1 เสร็จแล้วจึงโบกผิวภายนอก อันได้แก่ ตโจ คือผิวหนัง แล้วทาด้วยน้ำยาสีเหลืองและขาว คือขมิ้นและแป้ง เป็นต้น และสร้างดวงจิตขึ้นเป็นเจ้าเรือน คืออัตภาพแห่งตัวเรานี้

    ในขณะที่มีลมพายุพัด ซึ่งหมายถึงความชราเข้ามาเบียดเบียนเรือน คืออัตภาพแห่งตัวเรานี้ก็มิอาจจะตั้งมั่นถาวรอยู่ได้ ย่อมสั่นคลอนขยับไหวไปตามแรงพายุนั้น เป็นเหตุให้คร่ำคร่าชราลงทุกวัน ๆ อิริยาบถทั้ง 4 ก็ย่อมเชื่องช้า ลดความไวว่องคล่องแคล่วลง เคลื่อนไหวไม่สะดวกจะลุกจะนั่งก็ทำเสียงครางครวญ จะยืนเดินก้าวย่างก็ทำเสียงครางครวญ เพราะเสวยทุกขเวทนาประการต่าง ๆ

     อนึ่ง เมื่ออาทิตย์อุทัยขึ้นมาเวลาใด ย่อมแผ่รัศมีส่อง ว่างและร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ บรรดาไม้ดอกไม่ว่าจะอยู่ในน้ำหรือบนบก เมื่อต้องรัศมีอันร้อนแรงแห่งดวงอาทิตย์แล้ว ย่อมเหี่ยวเฉาโรยราร่วงลง ใช่แต่พรรณบุปผชาติเท่านั้นที่จะเศร้าหมองไป แม้ดวงจันทร์อันรุ่งเรืองด้วยรัศมีย่อมอันตรธานสูญสิ้นไปด้วยในยามที่พระอาทิตย์อุทัยขึ้นแล้วฉันใดก็ดี ร่างกายของสรรพสัตว์ทั้งหลายขณะยังอยู่ในวัยวัฒนา แม้จะมีรูปโฉมโนมพรรณโสภาสง่างาม มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงปานใดก็ตาม แต่เมื่อความชราย่างกรายมาถึงแล้ว กรัชกายนั้นย่อมเหี่ยวแห้งหดหู่เศร้าหมองน่าเกลียดชัง ดุจดอกไม้เหี่ยวยามต้องแสงแรงกล้าแห่งดวงอาทิตย์ฉะนั้น ความชราย่อมเบียดเบียนสัตว์ให้เสวยทุกขเวทนาเช่นนี้ ดังนั้นตถาคตจึงตรัสเทศนาชราทุกข์ด้วยประการฉะนี้

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010753035545349 Mins