วุฑฒิธรรม

วันที่ 19 กค. พ.ศ.2560

วุฑฒิธรรม

พุทธธรรมทีปนี 1 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , วุฑฒิธรรม , สัปปุริสังเสวะ , สัทธัมมัสสวนะ , โยนิโสมนสิการ , ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ

        วุฑฒิ คือ เหตุแห่งความเจริญ มี 4 อย่าง ได้แก่

1. สัปปุริสังเสวะ คบสัตบุรุษ
2. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่าน
3. โยนิโสมนสิการ ไตร่ตรองโดยอุบายที่ชอบ
4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม

      วุฒิธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องเจริญ หรือธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม เป็นหลักธรรมที่เกื้อกูลต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาให้เจริญขึ้น วุฒิธรรมประกอบด้วยธรรม 4 ประการ คือ

        1. สัปปุริสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) หมายถึง "หาครูดีให้พบ" การคบหากับสัตบุรุษ (คนดีมีคุณธรรม) คือ การแสวงหาครูดี เมื่อพบแล้วก็เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ หมั่นไปมาหาสู่สนทนาไตร่ถามด้วยความมีใจใฝ่รู้จริง ๆ การเลือกครูดีนั้น ต้องพิจารณา 2 เรื่องใหญ่เป็นสำคัญคือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริง และการมีนิสัยดีจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านจะสามารถสอนได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพราะครูคือต้นแบบ และต้นแบบเป็นสิ่งสำคัญ

        2. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) หมายถึง "ฟังคำครูให้ชัด" เมื่อเราได้พบครูดีแล้วสิ่งสำคัญอันดับที่ องก็คือ ต้องฟังคำครูให้เข้าใจ อย่าให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพี้ยนความหมายฟังแล้วต้องได้ "คำจำกัดความ" ของเรื่องนั้น ๆ ออกมาอย่างชัดเจน การให้คำจำกัดความ คือการกำหนดความหมายที่ถูกต้องและชัดเจน ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ เพื่อให้ครูและนักเรียน เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน วิธีการหาคำจำกัดความแบบง่าย ๆ ก็คือ การตั้งคำถามในเรื่องที่เรียนด้วยคำว่า "อะไร"

      3. โยนิโสมนสิการ (ตริตรองธรรม) หมายถึง "ตรองคำครูให้ลึก" เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนแล้ว แต่จะเข้าใจความรู้ของครูได้ลึกซึ้งมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่การนำความรู้กลับมาไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง การตรองคำครูให้ลึก คือ การไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงวัตถุประสงค์ของธรรมะในเรื่องนั้นๆ วิธีการหาวัตถุประสงค์ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการตั้งคำถามว่า "ทำไม"

        4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม) หมายถึง "ทำตามครูให้ครบ" เป็นการปฏิบัติตามธรรมที่สมควรแก่ธรรมที่เราสามารถนำมาปฏิบัติได้ เพราะเมื่อเราได้พบครูดีได้ฟังคำสอน นำมาไตร่ตรองจนสุดท้ายสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และเห็นผลได้จริง คนที่ได้ครูดีแล้วเอาดีไม่ได้ก็เป็นเพราะ "ทำตามคำครูไม่ครบ" เพราะถ้าทำครบ ผลงานก็ต้องออกมาดีเหมือนที่ครูทำ วิธีการที่จะทำตามคำครูได้ครบนั้น มีทางเดียวก็คือ ต้องรับเอานิสัยที่ดีของครูมาเป็นนิสัยของตนให้ได้ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการเรียนธรรมะด้วยแล้ว ต้องเอานิสัยทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดีตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        จะเห็นได้ว่า "วุฒิธรรม 4 ประการ" คือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้แก่พวกเรา เพื่อเป็นหลักในการเรียนรู้วิชาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นทั้งทางโลกและทางธรรม ขอเพียงแต่พวกเราตั้งใจศึกษาให้ครบทั้งอะไร ทำไม อย่างไร และผลเป็นอย่างไรแล้วลงมือปฏิบัติอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แล้วความสุขและความเจริญในชีวิตย่อมบังเกิดขึ้นตามมาทันที

        สรุป วุฑฒิธรรม 4 ข้อนี้ เป็นหลักการส่งเสริมให้ถึงความเจริญก้าวหน้า เริ่มต้นด้วยการแสวงหาครูดี ได้ฟังคำครู ไตร่ตรองคำที่ครูสอน จนนำมาปฏิบัติได้จริง

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010861198107402 Mins