เรื่อง จิ้งจอกอหังการ (ภาค ๒)

วันที่ 25 กค. พ.ศ.2562

เรื่อง จิ้งจอกอหังการ (ภาค ๒)

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ เป็นผู้จบไตรเพทและศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ. รอบรู้ปฐวีวิชัยมนต์. ที่เรียกว่า ปฐวีวิชัยมนต์นั้น คือมนต์กลับใจให้หลง.
อยู่มาวันหนึ่งพราหมณ์คิดว่า จะสาธยายมนต์นั้น จึงนั่งทำการสาธยายมนต์บนหินดาดที่เนินผาแห่งหนึ่ง. นัยว่ามนต์นั้นผู้มีใจวอกแวกความทรงจำไม่ดี ไม่สามารถจะให้สำเร็จได้. เพราะฉะนั้นปุโรหิตนั้นจึงสาธยายในที่เช่นนั้น.
ในเวลาที่ท่านปุโรหิตทำการสาธยาย มีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งนอนอยู่ในโพรงแห่งหนึ่ง ได้ยินมนต์นั้นเหมือนกัน ได้ท่องจำจนแคล่วคล่อง. นัยว่าสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นในอดีตชาติ  ได้เป็นพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งมีความแคล่วคล่องในปฐวีวิชัยมนต์เหมือนกัน.
พราหมณ์ทำการสาธยายแล้วลุกไป กล่าวว่ามนต์ของเรานี้แคล่วคล่องดีหนอ.
สุนัขจิ้งจอกออกจากโพรงกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ผู้เจริญ มนต์นี้แคล่วคล่องแก่ข้าพเจ้ายิ่งกว่า
ท่านเสียอีก แล้ววิ่งหนีไป.
พราหมณ์คิดว่า สุนัขจิ้งจอกนี้อาจทำเรื่องที่ก่อความเสียหายใหญ่หลวงได้  จึงติดตามไปได้หน่อยหนึ่ง.
สุนัขจิ้งจอกนี้ได้หนีเข้าป่าไป มันเห็นนางสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง จึงงับหางไว้
นางสุนัขจิ้งจอกถามว่า อะไรกันนี่
เจ้ารู้จักเราหรือไม่.
สุนัขจิ้งจอกตอบว่า รู้จักสิ
สุนัขจิ้งจอกนั้นร่ายปฐวีวิชัยมนต์บังคับสุนัขจิ้งจอกเป็นร้อย ๆ ไว้ในอำนาจ กระทำสัตว์ ๔ เท้า ตั้งแต่ช้าง ม้า สิงห์ เสือ กระต่าย สุกรและเนื้อ ทั้งหมดไว้ในอำนาจของตนและแล้วได้เป็นพญาสัตว์ ชื่อว่าสัพพทาฐะ ตั้งนางสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเป็นอัครมเหสี. ราชสีห์ยืนอยู่บนหลังช้างสองเชือก. พญาสุนัขจิ้งจอกนั่งบนหลังราชสีห์กับนางสุนัขจิ้งจอกผู้เป็นอัครมเหสี นับเป็นยศอันยิ่งใหญ่.
พญาสุนัขจิ้งจอกมัวเมาด้วยยศใหญ่  เกิดความมานะถือตนคิดชิงราชสมบัติกรุงพาราณสี จึง แวดล้อมด้วยสัตว์จตุบาททั้งปวง เดินทางบรรลุถึงที่ไม่ไกลจากกรุงพาราณสี. มีบริษัทบริวารติดตามถึง ๑๒ โยชน์  พญาสุนัขจิ้งจอกตั้งอยู่ไม่ไกลนัก ส่งสาสน์ไปถึงพระราชาว่า จะมอบราชสมบัติให้หรือจะรบ.
ชาวกรุงพาราณสีต่างพากันสะดุ้งหวาดกลัว ปิดประตูพระนครตั้งมั่นอยู่ภายใน.
พรามหณ์ปุโรหิตเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่ากลัวเลย การสู้รบกับสุนัขจิ้งจอกสัพพทาฐะ เป็น ภาระของข้าพระองค์เอง เว้นข้าพระองค์เสีย ไม่มีผู้ใดสามารถรบกับมันได้ แล้วปลอบใจพระราชากับประชาชน จากนั้น คิดว่าสัพพทาฐะจะทำอย่างไรจึงจะยึดราชสมบัติได้  เราจะลองถามมันดูก่อน จึงขึ้นป้อมที่ประตูเมืองถามว่า ดูก่อนสัพพทาฐะผู้สหาย ท่าน
จะทำอย่างไรจึงจะชิงเอาราชสมบัตินี้ได้.
สัพพทาฐะตอบว่าเราจะให้ราชสีห์เปล่งสีหนาททำให้มหาชนสะดุ้งตกใจกลัวเสียง แล้วจักยึดเอาราชสมบัติ.
พราหมณ์ฟังดังนั้นก็รู้ว่า มีอุบายแก้ จึงลงจากป้อมให้เที่ยวตีกลองประกาศว่า ชาวกรุงพาราณสีทั้งหมด ๑๒ โยชน์ จงเอาแป้งถั่วราชมาศปิดช่องหูเสีย.
มหาชนฟังเสียงป่าวร้องพากันเอาแป้งถั่วราชมาศปิดช่องหูของตน และของสัตว์ ๔ เท้าทั้งหมด จนกระทั่งแมวไม่ให้ได้ยินเสียงของผู้อื่น.
ครั้งนั้นพราหมณ์ขึ้นสู่ป้อมร้องเรียกอีกว่า ดูก่อนสัพพทาฐะ
พญาสุนัขจิ้งจอกถามว่า อะไรเล่าพราหมณ์.
ท่านจักทำอย่างไรอีกจึงจะชิงเอาราชสมบัตินี้ได้.
ข้าพเจ้าจะให้ราชสีห์เปล่งสีหนาทให้พวกมนุษย์ตกใจกลัว จนถึงแก่ความตาย  แล้วจึงจะยึดเอาราชสมบัติ.
พราหมณ์กล่าวว่า ท่านไม่อาจให้ราชสีห์เปล่งสีหนาทได้ เพราะพญาไกรสรสีหราชมีเท้าหน้าเท้าหลังแดงงาม สมบูรณ์ด้วยชาติ จะไม่ทำตามคำสั่งของสุนัขจิ้งจอกแก่เช่นท่าน.
สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์ดื้อด้านอวดดีกล่าวว่า ราชสีห์ทั้งหลาย ตัวอื่นจงยืนเฉย  เรานั่งอยู่บนหลังตัวใด จะให้ตัวนั้นแหละแผดเสียง.
พรามหณ์กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น จงให้แผดเสียงเถิด ถ้าท่านสามารถ.
พญาสุนัขจิ้งจอกจึงให้สัญญาณด้วยการยกเท้าแตะหลังราชสีห์ตัวที่ตนนั่งอยู่ว่า จงแผดเสียง. ราชสีห์นั้นจึงเม้มปากเปล่งสีหนาทบนกระพองเศียรช้าง ๓ ครั้ง อย่างไม่เคยเปล่งมาก่อน.
ช้างทั้งหลายต่างสะดุ้งตกใจ สลัดสุนัขจิ้งจอกให้ตกไปที่โคนเท้า เอาเท้าเหยียบหัวสุนัขจิ้งจอกนั้นแหลกละเอียดไป.
สุนัขจิ้งจอกสัพพทาฐะถึงแก่ความตาย  ณ ที่นั้นเอง. ช้างเหล่านั้นได้ยินเสียงราชสีห์แล้ว ก็หวาดกลัวต่อมรณภัย  ต่างก็สับสนชุลมุนวุ่นวายแทงกันตาย  ณ ที่นั้นเอง.
สัตว์ ๔ เท้าทั้งหมด ที่เหลือตั้งแต่เนื้อและสุกร จนถึงกระต่ายและแมว ยกเว้นราชสีห์ทั้งหลายเสีย ได้ถึงความตาย ณ ที่นั้นเอง. ราชสีห์ทั้งหลายก็หนีเข้าป่าไป. กองเนื้อสัตว์เกลื่อนไปทั้ง ๑๒ โยชน์.
พราหมณ์ลงจากป้อมแล้ว ให้เปิดประตูพระนคร ให้ตีกลองเที่ยวประกาศไปในพระนครว่า ชาวเมืองทั้งหมดจงเอาแป้งที่อุดหูของตนออก ผู้ใดมีความต้องการเนื้อก็จงไปเก็บเอา.
มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคเนื้อสด ที่เหลือก็ตากแห้งทำเป็นเนื้อแผ่นไว้ กล่าวกันว่า นัยว่าการทำเนื้อแผ่นตากแห้งเกิดขึ้นในครั้งนั้นเอง.

จบเรื่อง จิ้งจอกอหังการ (ภาค ๒)

 

ประเด็นน่าสนใจ
รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งไม่เพลี่ยงพล้ำ
พราหมณ์ปุโรหิตรู้กำลังของศัตรู รู้กำลังของตนเอง และรู้วิธีการสู้รบของสุนัขจิ้งจอก จึงกำหนดวิธีรับมือ ในที่สุดก็สามารถรบชนะได้โดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อของฝ่ายตน
หลักการรู้เขารู้เรา นอกจากใช้ในการกำหนดยุทธวิธีการรบแล้ว   ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้ในวงการอื่นได้อีกด้วย  ตั้งแต่การต่อสู้ช่วงชิงทางการเมือง การดำเนินกิจการทางธุรกิจ จนถึงการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ หรือแม้วงการอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้
            ไม่เพียงการต่อสู้ช่วงชิงเท่านั้น แม้การผูกมิตรไมตรีกับผู้อื่น ก็สามารถนำหลักการรู้เขารู้เรา มาเป็นส่วนเสริมให้สำเร็จได้ 
ธรรมเครื่องผูกมิตร คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา
            ทาน การให้ รู้ความประสงค์ของผู้รับ รู้กำลังของผู้ให้ ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์
            ปิยวาจา ถ้อยคำเป็นที่รัก รู้อัธยาศัยของผู้ฟัง รู้ความสามารถในการกล่าวถ้อยคำของตน กล่าววาจาสุภาษิต
            อัตถจริยา ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ รู้ความยินดี ในการงานที่ควรทำและไม่ควรทำ รู้กำลังความสามารถของตน ช่วยเหลือในคราวที่เหมาะสม
            สมานัตตตา เป็นผู้เสมอในธรรม รู้สถานะของอีกฝ่าย เข้าใจหลักในการวางตน ทั้งมีความอดทนอดกลั้น ประพฤติเหมาะสมกับทุกผู้คน
            ผูกมิตรไมตรีหนึ่งคน เท่ากับลดทอนศัตรูไปหนึ่งคน

Cr.ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01378249724706 Mins