ระหว่างหนทางสร้างพระบารมี (ตอน ๑)

วันที่ 17 กย. พ.ศ.2547

ระหว่างหนทางสร้างพระบารมี (ตอน ๑)


.....ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เดิมทีเดียวทรงเป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างมนุษย์ทั่วๆ ไป เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เป็นสัตว์ในภูมิโน้นภูมินี้ตามแต่ผลกรรที่ได้สร้างเอาไว้ นับจำนวนชาติที่เกิดไม่ได้ กระทั่งมีอยู่ชาติหนึ่งมีปัญญา มองเห็นความทุกข์ในการเกิดและดำรงชีวิตอยู่ ทั้งของตนเองและของสรรพสัตว์อื่น มีความปรารถนาใคร่พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย และช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ด้วย จึงเริ่มพยายามหาหนทางด้วยการทำความดีในรูปแบบต่างๆ นับตั้งแต่ชาติที่คิดได้นั้นเรื่อยมา

ความดี ได้แก่ สิ่งที่ทำแล้วตนเองไม่เดือดร้อน ผู้อื่นไม่เดือดร้อน เมื่อทำความดีมากเข้า ความดีจะกลายเป็นบุญ

บุญ หมายถึง สิ่งที่ใช้ชำระสันดานให้มีคุณภาพดีขึ้น เป็นความประพฤติชอบทางกาย วาจา และ ใจ

ส่วนคำว่า กุศล หมายถึง บุญที่ทำด้วยความฉลาดมีปัญญา เรามักเรียกรวมคำกันว่าบุญกุศล

บุญกุศลทั้งหลายนี้เอง เมื่อกระทำอย่างยิ่งยวดเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้นๆ บุญกุศลนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่มีกำลังติดตามอุปถัมภ์เจ้าของข้ามภพข้ามชาติ เรียกบุญกุศลที่กลั่นตัวได้อย่างนี้ว่า บารมี

บารมีนี้เองจำนวนนับได้ คือ มี ๑๐ อย่าง แต่ละอย่างเมื่อสะสมสร้างไว้ทีละเล็กละน้อย จะกลายเป็นดวงใสสว่างอยู่ในศูนย์กลางกาย เมื่อผู้นั้นปรารถนาความพ้นทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดสร้างบารมี ดวงบารมีจะค่อยโตขึ้นๆ จนโตเต็มที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้ว (ทำใจให้สงบนิ่งถึงระดับหนึ่ง สามารถมองเห็นบารมีแต่ละดวงได้) เมื่อบารมีทั้ง ๑๐ มีขนาดโตเต็มที่ดังกล่าวแล้วทุกดวง เมื่อนั้นผู้สร้างบารมีจะสามารถเลิกเวียนว่ายตายเกิดเข้าพระนิพพานได้

บารมี ๑๐ ประการ กล่าวเนื้อความโดยย่อ คือ

๑. ทานบารมี เป็นบารมีอันดับแรกที่จะต้องกระทำ เป็นพื้นฐานในการสร้างคุณงามความดีและบารมีอื่นๆ เหมือนพื้นแผ่นดินเป็นที่ให้สิ่งต่างๆ อาศัยตั้งอยู่

ทาน ได้แก่ การให้ การเสียสละ การบริจาค

สิ่งที่บริจาคได้แก่

๑. วัตถุสิ่งของ (ทรัพย์ทั้งที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งไม่เป็นโทษต่อผู้รับ เรียกว่า วัตถุทาน)

๒. ธรรมทาน ให้คำแนะนำที่ดีงาม เปลี่ยนใจผู้รับเป็นสัมมาทิฏฐิ รวมไปถึงอภัยทาน คือบริจาคหรือสละความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างกันทิ้งไปเสีย

ทานที่มีอานิสงส์มาก คือให้ผลบุญมาก ต้องประกอบด้วยความบริสุทธิ์ ๔ อย่าง คือ

๑. วัตถุที่นำมาทำทานบริสุทธิ์ ได้มาโดยไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ใช่สิ่งของที่ทำให้ผู้รับเกิดกิเลส

๒. ผู้รับทานเป็นผู้บริสุทธิ์ เช่น เป็นพระอริยบุคคล หรือบำเพ็ญเพียร เพื่อเป็นพระอริยะบุคคล เป็นต้น

๓. ผู้ให้ทานเป็นผู้บริสุทธิ์ คือเป็นผู้ทรงคุณงามความดีต่างๆ มีศีลบริสุทธิ์เป็นต้น

๔. เจตนาให้การทำทานบริสุทธิ์ เช่น ก่อนทำ มีใจคิดว่าต้องการทำเพื่อพัฒนา จิตใจให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น จึงเต็มใจทำ ขณะกำลังทำ เต็มใจทำด้วยความไม่เสียดาย มีความเคารพในทานที่ทำตลอดจนเคารพผู้รับทานด้วย หลังจากทำแล้ว ก็ตามระลึกถึงความปีติด้วยทุกครั้ง ไม่เคยนึกเสียดายอีกเลย ไม่นึกหวังว่าจะทำทานแล้วจะได้สิ่งตอบแทนเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ได้ชื่อเสียงเกียรติยศอันใด การนึกเช่นนั้นเป็นการบริจาคไม่จริง ไม่ขาดจากใจกลายเป็นการค้ากำไร ลงทุนเพื่อให้ได้สิ่งตอบแทนเกินกว่า ควรทำทานเพื่อพัฒนาจิตใจ เช่น กำจัดความตระหนี่ ให้มีเมตตากรุณา รวมทั้งให้เป็นบ่อเกิดของคุณงามความดีอื่นๆ

ทานบารมีที่เป็นขั้นต้น ได้แก่ การเสียสละสิ่งไม่สำคัญมาก เช่น ทรัพย์สินเงินทอง

ทานอุปบารมี เป็นทานบารมีขั้นกลาง เสียสละได้แม้สิ่งที่รักมากๆ เช่น บุตร ภรรยา เลือดเนื้อ อวัยวะ

ทานปรมัตถบารมี เป็นทานบารมีขั้นสูงสุด แม้ชีวิตก็สละได้

การบริจาคเสียสละทุกสิ่งเหล่านี้ ถ้าให้เกิดอานิสงส์อันยอดเยี่ยม ต้องตัดใจให้ได้ อย่างเด็ดขาด ไม่หวนเสียดายอีกเลยแม้แต่น้อย เหมือนสายน้ำที่ไหลไปไม่หวนคืน หรือเหมือนหม้อน้ำคว่ำน้ำทิ้ง ไม่ให้เหลือค้างอยู่เลยแม้แต่หยดเดียว การบริจาคก็ต้องขาดจากใจดังที่เปรียบนี้

๒. ศีลบารมี เป็นที่ตั้งแห่งกุศลกรรมทั้งปวง ผู้ปรารถนาประกอบคุณงามความดีระดับใดก็ตามจะต้องเป็นผู้มีศีลเป็นพื้นฐาน ศีล คือความปกติของกาย และวาจา กายวาจาที่ปกติ คือ กายวาจาที่ไม่ทำความชั่ว จะเรียกว่าศีลคือการสละความชั่วออกจากกมลสันดานจากการกระทำทางกาย ทางวาจา ก็คงไม่ผิด

ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่า การเบียดเบียนผู้อื่น การคดโกง ลักขโมยทรัพย์ผู้อื่น การประพฤติผิดทางเพศต่อผู้อื่น

ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ

ผู้รักษาศีลเป็นประจำ จะไม่เสื่อมจากกุศลธรรม ได้รับประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกเป็นผู้ที่ไม่มีภัยกับผู้ใด ไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะมีผู้ใดคอยปองร้าย มีคนเชื่อถือเคารพไว้วางใจ ทางธรรม ถ้าจะปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนา ใจก็จะมีกำลัง ไม่มีวิปฏิสารเดือดร้อนใจ เพราะไม่ได้ทำบาปอกุศลสิ่งใดไว้ จะทำความเพียรได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่รักษาศีล

ศีลบารมีก็มีเป็น ๓ ระดับ ทำนองเดียวกัน คือ ขั้นปกติ ขั้นสูงขึ้น และขั้นสูงที่สละได้กระทั่งชีวิต เหมือนสัตว์ชนิดหนึ่งชื่อจามรี (คล้ายวัวมีขนยาวอยู่แถบประเทศทิเบตดินแดนที่มีหิมะ) มันรักขนหางของมันมาก ถ้ามันเดินไปถูหนามเกี่ยวเอาไว้ มันจะไม่ดึงหางออกจากหนามเพราะเกรงขนขาด มันยอมยืนนิ่งอยู่กับที่ ให้ขนหางหลุดจากหนามเอง ถ้าไม่หลุดมันก็จะยืนยอมตายอยู่อย่างนั้น มันรักขนหางเท่าชีวิต คนเราถ้าจะถือศีลให้ได้บุญมากๆ จนแก่กล้าเป็นบารมี ก็ต้องรักศีลเท่าชีวิตยอมตาย ไม่ยอมให้ศีลขาด เหมือนจามรียอมตาย ไม่ยอมให้ขนหางขาด

 

ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)
โดย อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.032267034053802 Mins