วัณณุปถชาดก ชาดกว่าด้วยความเพียรไม่เกียจคร้าน

วันที่ 18 สค. พ.ศ.2565

ข้อคิดจากชาดก

วัณณุปถชาดก ชาดกว่าด้วยความเพียรไม่เกียจคร้าน

นิทานชาดก  วัณณุปถชาดก  ชาดกว่าด้วยความเพียรไม่เกียจคร้าน

 

ข้อคิดจากชาดก

วัณณุปถชาดก

ชาดกว่าด้วยความเพียรไม่เกียจคร้าน

 

สถานที่ตรัสชาดก

        .....เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี



สาเหตุที่ตรัสชาดก

        .....ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ประพฤติตนเรียบร้อย ขยันหมั่นเพียรในการศึกษาพระธรรมวินัย และช่วยกิจของสงฆ์อย่างดีเยี่ยมจนเป็นที่รักของเพื่อนพระภิกษุด้วยกัน

        ครั้นศึกษาพระธรรมวินัยได้ครบ ๕ พรรษา แตกฉานในพระปริยัติธรรมดีแล้ว จึงได้ไปขออุบายจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเจริญภาวนาให้ใจสงบ แล้วกราบทูลลาไปทำความเพียรอยู่ในป่าลึก หวังจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

        ตลอดเวลา ๓ เดือนในฤดูเข้าพรรษา พระภิกษุรูปนี้ได้ ตั้งใจเจริญาภาวนา ปรารภความเพียรอย่างเต็มกำลัง แต่มิได้ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถทำใจให้สงบได้แม้เพียงชั่วครู่ มินิตหรือโอภาส คือความสว่าง ก็ไม่เคยเห็น เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะไม่เคยปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมาก่อน และขาดกัลยาณมิตรอยู่ใกล้ชิดคอยแนะนำตักเตือน ชี้แจง ให้กำลังใจ และช่วยแก้ไขข้อบกพร่องอันเป็นอุปสรรคในการเจริญภาวนา

        เมื่อการปฏิบัติธรรมมิได้เป็นไปตามที่คาดหวัง พระภิกษุผู้ตั้งใจปรารภความเพียรอย่างยิ่งก็ท้อใจ คิดว่าตนเองจะเป็นคนอาภัพไม่มีบุญวาสนาเช่นผู้อื่น ถึงแม้จะบำเพ็ญเพียรต่อไปก็คงไม่สามารถบรรลุธรรมในชาตินี้ได้ ควรจะกลับไปปฏิบัติรับใช้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และฟังพระธรรมเทศนาให้ชุ่มชื่นใจดีกว่า คิดดังนี้แล้วจึงเดินทางกลับเชตวันมหาวิหาร

        พระภิกษุทั้งหลาย เห็นพระภิกษุรูปนี้กลับมาอย่างท้อแท้ จึงช่วยกันให้โอวาทนานาประการ แล้วพากันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุรูปนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสนุสสติญาณ แล้วตรัสเล่า วัณณุปถชาดก ดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

        .....ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสี มีพ่อค้าคนหนึ่งบรรทุกสินค้า ไปขายต่างเมืองเป็นประจำ คราวหนึ่ง พ่อค้าและบริวารนำสินค้าบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางข้ามทะเลทรายเป็นระยะทางถึง ๖๐ โยชน์ ในการเดินทางนั้น เนื่องจากผืนทรายเป็นระยะทางถึง ๖๐ โยชน์ ในการเดินทางนั้น เนื่องจากผืนทรายร้อนจัดมาก จึงต้องหยุดพักผ่อนในเวลากลางคัน ต่อเมื่อรับประทานอาหารเย็นแล้ว จึงเดินทางต่อไปได้

เมื่อพ่อค้าและบริวารเดินทางรอมแรมใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง เหลืออีกเพียง ๑ โยชน์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกคืนเดียวก็จะข้ามพ้นเขตทะเลทราย พ่อค้าและบริวารต่างชะล่าใจ เมื่อรับประทานอาหารเย็นแล้ว ก็ใช้น้ำและฟืนจนหมด

ครั้นถึงเวลากลางคืนก็ออกเดินทาง ต้นหน ซึ่งนั่งดูทิศทางจากดวงดาวบนท้องฟ้า เผลอหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย กองเกวียนจึงเดินหลงทาง เช้าวันรุ่งขึ้นก็เดินวนกลับมาอยู่ที่เดิม บริวารทั้งหลายรู้สึกอ่อนล้าและหิวโหย ฟืนและน้ำสำหรับหุงหาอาหารไม่มีเสียแล้ว ต่างพากันท้อแท้ ทอดอาลัยไปตามๆ กัน

        พ่อค้าเห็นดังนั้น จึงคิดว่า ถ้าเราละความเพียรเสียอีกคน หมู่คณะก็จะถึงแก่ความตายเป็นแน่แท้ จึงออกเดินสำรวจดูบริเวณโดยรอบ พบว่ามีหญ้าแพรกกอหนึ่งขึ้นอยู่ แสดงว่าได้รับความชื้นจากแหล่งน้ำเบื้องล่าง จึงกลับไปบอกบริวารให้มาช่วยกันระดมขุดพื้นทรายใต้กอหญ้านั้น ครั้นขุดไปจนลึกถึง ๖๐ ศอกแล้วก็ยังไม่พบน้ำ กลับพบแต่แผ่นหินขวางอยู่ เหล่าบริวารเห็นดังนั้นก็พากันหมดหวัง ทอดอาลัยยิ่งขึ้น ต่างละความเพียรมิได้คิดหาหนทางอื่น

        พ่อค้านายกองเกวียนมิได้ท้อใจ ลองแนบหูฟังที่พื้นหิน ได้ยินเสียงน้ำไหลอยู่เบื้องล่าง จึงบอกคนรับใช้คนสนิท ให้เอาฆ้อนเหล็กทุบหินจนแตก ก็ปรากฏเป็นลำน้ำพุ่งขึ้นมาราวกับลำตาล ทุกคนดีใจเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ที่ได้น้ำมาดื่มกิน หุงหาอาหารรับประทานครั้นตกกลางคืน จึงได้ออกเดินทางอีกครั้ง และถึงที่หมายในวันรุ่งขึ้นอย่างราบรื่น

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส วัณณุปถชาดก จบแล้วได้ตรัสคาถาว่า

        “ ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำในทางทรายนั้น ณ ที่ลานกลางแจ้งฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจฉันนั้น ”

 

ประชุมชาดก

.....พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจ ๔ โดยอเนกปริยาย ภิกษุผู้ละความเพียรสามารถทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ได้เข้าถึงธรรมกายอรหัต บรรลุความเป็นพระองค์ ณ ที่นั้นเอง


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า

คนรับใช้คนสนิท ได้มาเป็นพระภิกษุรูปนี้

หมู่คณะในกองเกวียน ได้มาเป็นพุทธบริษัท

พ่อค้าหัวหน้ากองเกวียน ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

ข้อคิดสำหรับผู้นำ

        ๑ . คนส่วนมาก เมื่อเห็นว่างานใกล้สำเร็จ มักจะประมาททำให้เกิดความเสียหาย เพราะคาดไม่ถึง ดังคำที่ว่า “ เรือล่มเมื่อจอด ” ดังนั้น ผู้นำที่ดี ควรจะติดตามควบคุมงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะ เมื่อใกล้เสร็จ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

        ๒ . ผู้นำที่ดีจะต้องให้กำลังใจเป็น เพราะทุกคนต้องการกำลังใจ แม้ผู้ที่สะสมบุญบารมีมากพอที่จะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังต้องการกำลังใจเช่นกัน

วิธีให้กำลังใจประการหนึ่ง คือ เตือนให้คำนึงถึงความดีที่เคยทำมาก่อนแล้ว

        ๓ . ผู้นำที่ดีต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างเดียว การเป็นกัลยาณมิตรนั้น ต้องทำหน้าที่สำคัญ ๔ ประการ คือ

                ๑ . เป็นพ่อแม่ คอยปกป้องผองภัยให้แก่ลูก

                ๒ . เป็นเพื่อน คอยเตือนสติให้ได้คิด

                ๓ . เป็นแพทย์ คอยดูแลเมื่อเจ็บไขได้ป่วย

                ๔ . เป็นครูผู้ส่องประทีปภายใน คือ ให้ปัญญา ความรอบรู้

ข้อคิดสำหรับผู้ใต้บังคับบัญชา

        ๑ . ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้นำอย่างเคร่งครัด

        ๒ . ต้องอดทนเมื่อพบอุปสรรค ไม่ท้อถอย ไม่ทอดอาลัยตายอยาก ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา เป็นต้น

        ๓ . ต้องมีความเพียร เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดแล้ว ต้องทำให้ถึงที่สุด ทำให้สำเร็จตามที่ตั้งใจ ไม่ทำครึ่งๆ กลางๆ

 

 

นิทานชาดก วัณณุปถชาดก ชาดกว่าด้วยความเพียรไม่เกียจคร้าน

นิทานชาดก
วัณณุปถชาดก
ชาดกว่าด้วยความเพียรไม่เกียจคร้าน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023405134677887 Mins