กุญชโรปมกถา (ตอนที่ ๒)

วันที่ 22 มีค. พ.ศ.2546

 

 

.....พระธรรมราชานุวัตร (หลวงเตี่ย) ท่านได้แสดงไว้ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพโสภณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๗ เวลา ๐๘.๐๐ น.

 

.....(ต่อจากตอนที่ ๑ ฉบับวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๖)…ความชั่ว คือ ความประพฤติเสียทางกาย ทางวาจาและทางใจ เช่น ความเกียจคร้าน ความเป็นนักเลง การทำมาหากินผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ความเห็นผิดจากคลองธรรมเหล่านี้ แต่ละอย่างเปรียบเหมือนหล่ม ผู้ใดมีความชั่วเหล่านี้อยู่ในตน ผู้นั้นไม่มีความเจริญมีแต่บ่ายหน้าไปสู่ความเสื่อมความล่มจม และทำผู้อื่นหมู่คณะตลอดถึงประเทศชาติ ให้พลอยเสื่อมไปด้วย เพราะคนเกียจคร้านไม่ประกอบการที่ควรประกอบ เช่น ไม่ศึกษาความรู้ ก็โง่เขลา ไม่ประกอบการทำกิน ก็ยากจน เป็นนักเลงต่าง ๆ เช่น เป็นนักเลงสุรา ก็ผลาญทรัพย์และทำลายสุขภาพ อนามัย ตลอดถึงกำลังปัญญาของตนให้ทรามลง และเป็นคนขาดสติ ไม่มียางอายทำความชั่วได้ต่าง ๆ ถึงความเสียชื่อเสียง เป็นนักเลงการพนัน หมกมุ่นกับการพนัน ไม่ทำมาหากิน ทรัพย์เก่าก็ร่อยหรอหมดไป ทรัพย์ใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น แม้ทรัพย์ที่เป็นผลของการพนันจะเกิดขึ้นบ้าง ก็ต้องใช้จ่ายเป็นเครื่องหว่านล้อมป้องกันตัวหมดสิ้นไป ในที่สุดก็ถึงความล่มจมและไม่ใช่จะเลื่อมแต่ตัวเองเท่านั้น ยังชักพาผู้อื่นที่โง่เขลาเห็นแก่จะได้ให้พลอยล่มจมวอดวายไปตามกัน ผู้เป็นนักเลงการพนันชื่อว่าประพฤติผิดธรรมของพระศาสนา และประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมือง ผิดทั้งทางโลกและทางธรรม

 

.....ฝ่ายผู้ทำมาหากินผิดศีลธรรมและผิดกฎหมาย เช่น หากินในทางโจรกรรม แย่งเอาทรัพย์ที่เขาหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงโดยสุจริต หรือฉ้อโกงเอาด้วยอุบาย หรือโดยซึ่งหน้าด้วยการข่มขู่เป็นการหากินดยอาการทารุณโหดร้าย เบียดเบียนเพื่อนร่วมชาติผู้สุจริตให้ได้รับความเดือดร้อนน้ำตาตก ความเห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มีนำให้ประพฤติชั่ว เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ได้ในทุกทาง คนเห็นผิดจากคลองธรรมมีอยู่ แม้ไม่มากเพียงหมู่ละคนเท่านั้น จักนำความเดือดร้อนยุ่งยากแก่ประชาชนผู้อยู่ร่วมหมู่กันไม่มีที่สุด เพราะเมื่อเขาเห็นว่าไม่มีบาปแล้ว จักไม่นึกเกรงบาปกรรมย่อมทำได้ทุกอย่างตามที่เขาพอใจ จะเบียดเบียนใครหรือใครจะเดือดร้อนไม่ต้องคำนึงถึง เมื่อเป็นเช่นนี้จักหาความสงบสุขไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ความชั่วทั้งปวงมีความเกียจคร้าน เป็นต้น จึงนับว่าเป็นทางเสื่อมโดยส่วนเดียว ผู้มีความเกียจคร้าน เป็นต้น จึงเท่ากับติดอยู่ในหล่มแห่งความเสื่อม

 

.....บุคคลจะถอนตนขึ้นจากหล่ม คือ ความโง่เหลา ความยากจน ความเสื่อม ความทุกข์ และความชั่วทั้งปวงได้ ก็เพราะตั้งตนไว้ในคุณธรรม ๓ ประการ คือ ความไม่ประมาท ความตามรักษาจิตของตนและความพยายาม

 

.....ความไม่ประมาทนั้น ได้แก่ ความไม่นอนใจในกิจการที่ควรทำ โดยใจความคือความไม่เลินเล่อ ไม่ลืมตัวเป็นธรรมมีอุปการะมาก บุคคลผู้ไม่ประมาทย่อมมีความขะมักเขม้น ไม่วางใจเสียว่าไม่เป็นไร รีบเร่งทำการที่ควรทำให้สำเร็จลุล่วงไป เช่น เอาใจใส่ในการศึกษาหาความรู้ใส่ตน ทำตนให้เป็นคนฉลาดขึ้น ไม่ปล่อยตนให้เป็นคนงมงายไม่ทันสมัย ทำตนให้เป็นผู้มีความสามารถควรแก่การงาน อันเป็นหน้าที่ของตนอยู่เสมอ เห็นการใดเป็นเหตุแห่งความเสื่อม รีบบำบัดป้องกันแก้ไข ปิดทางเสื่อมเสียมิให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ใส่ใจสังเกตกำหนดหมายอยู่เสมอว่า ความยากจนและความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตนหรือแก่คนอื่นนั้น เกิดเพราะเหตุใดแล้ว ระมัดระวังไม่กระทำเหตุนั้น เป็นการตัดต้นเหตุเสีย ความชั่วทั้งปวงเป็นเหตุแห่งความยากจน เป็นเหตุแห่งความเสื่อม และเป็นเหตุแห่งความทุกข์ร้อนทั้งมวล ผู้ไม่ประมาทย่อมระมัดระวังไม่กระทำความชั่วแม้เล็กน้อย เมื่อมาปฏิบัติบำเพ็ญตนได้ดังนี้ ย่อมบรรลุผลดี คือ เป็นคนมีความรู้กว้างขวาง เป็นคนฉลาด มีความสามารถในกิจการ เจริญด้วยทรัพย์เกียรติยศ เป็นที่นับถือยกย่องของประชุมชน พ้นจากทุกข์ยากเดือดร้อน มีแต่สุขสำราญ

 

.....ความนอนใจทอดธุระก็ดี ความปล่อยใจไปตามกิเลส เช่น ความใคร่ก็ดี เป็นอาการของความประมาท ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น จึงต้องตามรักษาจิตของตนไว้ อย่าปล่อยให้ตกอยู่ในความประมาท

 

.....อันธรรมดาจิตที่บุคคลไม่ควบคุม ย่อมไหลไปตามอำนาจกิเลส เป็นเหตุให้เพลิดเพลินพลุ่งพล่านท้อแท้ มัวเมา เพราะความดีใจบ้าง เพราะความขัดใจบ้าง เพราะความติดขัดบ้าง เพราะความขลาดบาง เพราะความหลงบ้าง จึงนำบุคคลให้ประมาทกระทำผิดทาง คือ ให้ทำการที่ไม่ควรทำบ้าง ให้ละเว้นการที่ควรทำบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมประสพความเสื่อมคลาดจากความเจริญ เพราะฉะนั้นจะปล่อยจิตไปตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องระวังรักษา…(ติดตามตอนจบ ในฉบับวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๖)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010858496030172 Mins