อเวรกถา (ตอนที่ ๑)

วันที่ 31 พค. พ.ศ.2546

 

 

พระธรรมเทศนา โดยพระธรรมราชานุวัตร ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระเทพโสภณ วัดพระเชตุพน แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันพุธที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๐เวลา ๘.๐๐ น.



นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะ หิ เวเรน อเวรานิ สัมมันตีธะ กุทาจะนัง
อเวเรนะ จะ สัมมันติ เอสะ ธัมโม สันนัตโนติ

 

.....บัดนี้ จะแสดงพระธรรมเทศนาในอเวรกถา พรรณาถึงการไม่ผูกเวร เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มพูนกุศล บุญราศรี ประดับปัญญาบารมี และประคับประคองสติให้มั่นคง อันจักเป็นส่วนดำรงชีวิตให้ดำเนินไปโดยปรกติสุขสืบต่อไป

 

.....ก็หมู่มนุษย์เราที่อยู่ร่วมกัน เรียกว่า สังคม หากอยู่รวมกันน้อย ๆ ก็เป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน อยู่รวมกันมากก็ขยายอาณาบริเวณกว้างออกไปเป็นอำเภอ จังหวัด จนถึงเป็นประเทศ สังคมแต่ละสังคมที่มีมนุษย์อยู่รวมกันแม้เพียงสองคน ก็ย่อมจะต้องมีปัญหา สังคมเล็กก็มีปัญหาน้อย สังคมใหญ่ก็มีปัญหามากเป็นเงาตามตัว ปัญหาสำคัญก็คือความต้องการในปัจจัยเครื่องดำรงชีพ นอกจากปัจจัยที่จำเป็น ๔ ประการ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่มนุษย์ต้องการมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย จนเลยเป็นปัจจัยฟุ่มเฟือย หรือปัจจัยประดับบารมี ให้ผู้อื่นเห็นว่าดีว่างามเป็นสง่าน่าเกรงขาม ผู้ที่ยังไม่มีก็อยากจะมี ผู้ที่มีแล้วก็อยากมีให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงเป็นเหตุให้เกิดการแก่งแย่งแข่งดี ก่อให้เกิดการเบียดเบียนแก่กันและกันขึ้น จนถึงและเลยศีลธรรม คุณธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม

 

....ในปัญหาต่าง ๆ นั้น มีปัญหาที่ควรจักพิจารณาเป็นการเฉพาะหน้า ก็คือข่าวต่าง ๆ ที่ปรากฏทางสื่อสารมวลชน คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ในขณะนี้ก็คือขาวการประทุษร้ายทำอันตรายชีวิต ดูดั่งชีวิตแต่ละคนนั้นเสมือนผักปลา ไม่มีราคาค่างวดแต่ประการใด สังคมมนุษย์กำลังจะกลับกลายเป็นสังคมสัตว์ป่า น่าหวาดกลัว ทั้งที่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก็ได้ร่วมกันกำจัดปัดเป่า ด้วยการป้องกันปราบปรามอย่างรวดเร็วแข็งขัน ข่าวการทำอันตรายมุ่งหมายต่อชีวิตก็ยังมีเสมอ หากพิจารณาสาเหตุแห่งการประทุษร้ายต่อชีวิตนั้น ๆ แล้ว จะเป็นได้ว่าเกิดแต่อำนาจกิเลสฝ่ายต่ำครอบงำจิตใจให้เห็นผิดเป็นชอบ เพราะความโลภ ความอยากได้ในทรัพย์ของผู้อื่น ก็เพราะความอาฆาตมาดร้าย จองเวรจองกรรมและด้วยโมหะความหลงผิด คิดผิด จิตใจจึงวิปริตเห็นชีวิตของฝ่ายตรงข้ามเป็นเหมือนหนี้สินที่ต้องปลดเปลื้อง

 

.....คนเรากว่าจะเกิดมาเป็นคนมีชีวิตอยู่ได้ จะต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาตินานาประการ เมื่อมีชีวิตแล้ว ก็ยังต้องต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตให้ยืนยาวนาน ต่างคนต่างจึงรักและหวงแหนชีวิตเป็นอย่างยิ่ง การที่จะมาทำลายล้างชีวิตผู้อื่นด้วยอำนาจแห่งกิเลสนั้น ย่อมเป็นบาปกรรมอันร้ายแรง ไม่ควรจักประพฤติปฏิบัติเพราะจักเป็นเวรกรรมต่อเนื้องกันสืบต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น ข้อนี้มีอุทาหรณ์ตัวอย่างแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายทรงแสดงไว้ดังนี้

 

.....สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายยังทรงพระชนม์อยู่ ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ณ เชตวันมหาวิหาร ที่ท่านอนาถบิณฑิตเศรษฐีสร้างถวายในนครสาวัตถี มีสตรีคนหนึ่ง วิ่งกระหืดกระหอบอุ้มเด็กวิ่งเข้ามาท่ามกลางพุทธบริษัท แล้ววางเด็กนั้นไว้แทบพระยุคลบาท พลางกราบทูลถวายเด็กนั้น และขอให้พระพุทธเจ้าทรงประทานชีวิตให้แก่เด็กด้วย ขณะเดียวกันนั้นก็มีนางยักษิณีไล่ตามติดมา แต่ไม่สามารถเข้าไปข้างในได้ นางยักษิฯยิ่งแสดงความโกรธกระโดดโลดเต้นอยู่นอกพระวิหาร

 

.....พระพุทธองค์จึงทรงโปรดให้พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ไปนำนางยักษิณีเข้ามาในพระวิหาร สตรีนั้นเมื่อเห็นนางยักษิณีก็กราบทูลด้วยอาการอันกลัวอันตรายว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางยักษิณีมาแล้ว" พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสนาทรงตรัสปลอบสตรีกุลธิดานั้นมิให้สะดุ้งกลัว และตรัสกับนางยักษิณี ซึ่งมายืนอยู่ด้วยความโกรธให้ระงับการจองเวรเสีย เพราะทั้งสองได้จองเวรกันมาหลายภพหลายชาติ

 

.....คือในอดีตชาตินั้น สตรีผู้นี้ได้เป็นภรรยาของบุตรกุฎุมพีชาวนาผู้มีฐานะดีผู้หนึ่ง แต่นางเป็นหญิงหมันไม่มีบุตร ในครั้งนั้นถือกันว่า ธรรมดาสกุลที่ไม่มีบุตรย่อมไม่เจริญ มารดาของบุตรกุฎุมพีนั้นได้แสดงความประสงค์จะจัดหาหญิงอื่นมาให้เป็นภรรยาอีก ส่วนภรรยาทราบเช่นนั้นก็เห็นว่าถ้ามารดาไปหาหญิงที่ไม่ถูกชะตากับตนมา ก็ย่อมอยู่กันไม่เป็นสุข นางจึงไปหากุลธิดาทีตนพอใจมาให้เป็นภรรยาน้อยของสามีเสียเอง

 

…(ติดตามอ่านตอนที่ ๒ ฉบับวันเสาร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๖)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0052290519078573 Mins