ช่องว่างระหว่างวัย

วันที่ 08 กพ. พ.ศ.2551


       มาศึกษากันเรื่องว่า “ช่องว่างระหว่างวัย” จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร คือ คนเรามีวัยต่างกัน ประสบการณ์ชีวิตก็ต่างกัน สิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาแต่ละช่วงก็ต่างกัน แน่นอน ความคิด ความเห็น ความชอบ รสนิยมต่างๆ มันก็ต้องมีความแตกต่างกันบ้างเป็นของธรรมดา เขาจึงเรียกว่า “generation gap” หรือ ช่องว่างระหว่างวัย

 

      ที่ผ่านๆ มา เขาก็มีการกล่าวกันว่า แบ่งกันไปช่วงๆ ๑๐ ปี ครั้งบ้าง ๒๐ ปีครั้งบ้าง แต่เมื่ออาตมาไปญี่ปุ่นนี่นะ เคยมีคนญี่ปุ่นมาคุยด้วย แล้วก็เขาก็บอกว่า เออ.. เดี๋ยวนี้ในญี่ปุ่นเอง เขาบอกว่า ช่วงชั้นแต่ละวัยเขาแบ่งเป็น ๓ปีนะ คือเขารู้สึกว่า ไม่เหมือนกันเก่าเลยว่า ๑๐ ปีคนเราก็เหมือนกับอีกรุ่นหนึ่ง ตอนนี้ห่างกันแค่ ๓ ปี ชักจะคุยกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เพราะว่าสิ่งแวดล้อมสังคมเปลี่ยนเร็วมากเลย นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้น

 

      แต่ว่าอยากให้เราเองสังเกตอย่างหนึ่งว่า มีสังคมอีกสังคมหนึ่ง ที่มีลักษณะพิเศษ คือสังคมของสงฆ์ ซึ่งธรรมทายาทบวชแต่ละปี อย่างเช่นในช่วงพรรษา ผู้ที่มาบวชมีตั้งแต่อายุ ๒๐ จนถึง ๖๐, ๗๐ ก็มี โดยวัยต่างกันตั้ง ๔๐-๕๐ ปี แต่ว่าทางพระเราเองถือว่า พอมาบวชอายุทางโลกถูกลบหมดเลย มาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หลังจากบวชแล้ว เพราะฉะนั้นจะอายุ ๒๐ ก็ตาม ๓๐, ๔๐, หรือ ๕๐,๖๐ หรือแม้แต่ ๗๐ ก็ตาม ก็คือว่า มีอายยุทางธรรมเท่ากัน คือเริ่มต้นนับปีที่หนึ่งเหมือนกัน

 

      อย่างนี้ไม่เกิดช่องว่างระหว่างวัยใหญ่เลยหรือ มันหลากหลายยิ่งกว่าบ้านต่างๆ อีกนะ ไม่ใช่ห่างกันแค่ ๑๐-๒๐ ปี แต่มันต่างตั้ง ๔๐-๕๐ปี แล้วอยู่แล้วเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่า ก็อยู่ค่อนข้างจะราบรื่นนะ ความคิดความแตกต่างระหว่างพระวัย ๒๐ กับวัย ๕๐,๖๐,๗๐ ก็ต้องมีบ้างเป็นของธรรมดา แต่โดยเปรียบเทียบแล้วก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร เล็กๆ น้อยๆ เพราะทุกรูป มีกิจวัตรกิจกรรมเหมือนกัน มีจุดร่วมเดียวกัน คือการประพฤติปฏิบัติธรรม การศึกษาพระธรรมวินัย ตรงนี้จะให้คำตอบเราเองหลายอย่างทีเดียวว่า วิธีการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ไม่ว่าจะในครอบครัว หรือในสังคมที่ทำงานก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราเองจะต้องใส่ใจก็คือว่า จะต้องสร้างกิจกรรมร่วม ถ้าในบ้านเดียวกันแล้ว พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปอีกทาง ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรร่วมกันเลย ลูกก็ดูหนังฟังเพลง hip pop พ่อแม่ก็จะฟังเพลงไทยเดิม รู้สึกไปคนละเรื่องคนละราว มันก็รู้สึกจะเกิดช่องว่างขึ้นแน่ๆ

 

      บางคราวเจอหน้ากัน อยากจะแสดงความรักที่มีต่อลูก ก็ไม่รู้จะแสดงอย่างไร ขัดๆ เขินๆ เขินลูกตัวเองก็มีนะ ลูกเองอยากจะแสดงความรักต่อพ่อแม่ ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ขัดๆ เขินๆ ก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างกิจกรรมร่วมให้เกิดขึ้น แล้วกิจกรรมร่วมที่ดีที่สุดเลย ไม่มีอะไรเกินการมาวัดมาปฏิบัติธรรม ถ้าได้มาวัดด้วยกันนะ มาปฏิบัติธรรม นั่งธรรมะ ฟังหลวงพ่อเทศน์สอน มาร่วมงานบุญต่างๆ ถึงคราวมีประเด็นคุยจะมีประเด็นเดียวกันเลย จะเป็นเด็ก ๕ ขวบ ๑๐ขวบ ๒๐ ,๔๐, ๕๐, ๘๐ จนถึง ๑๐๐ อายุเป็นร้อย ก็มีประเด็นคุยประเด็นเดียวกันได้ คือเรื่องของบุญกุศล เรื่องของธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้ามพ้นวัย ข้ามพ้นการเวลา มันทันสมัยเสมอ แล้วยิ่งพูด ยิ่งคุย ใจก็ยิ่งผ่องใส อยู่ในบุญกุศล ใจของคนในครอบครัวทุกคนก็จะหลอมรวมกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

      ในที่ทำงาน ชวนกันมาวัด ก็จะมีประเด็นในการพูดคุยเหมือนๆ กัน จะหลอมรวมรสนิยม ความชอบ ทัศนคติ ทุกคนเข้าด้วยกัน แล้วช่องว่างระหว่างวัย จะหายไปอย่างไม่รู้ตัว หายไปอย่างไม่น่าเชื่อ บ้านก็อบอุ่น ที่ทำงานก็สงบร่มเย็น ทุกอย่างประสานกันได้อย่างดีทีเดียว กิจกรรมร่วมคือการปฏิบัติธรรมมาวัด เป็นสิ่งที่ช่วยได้มากๆ เลย

 

      คราวนี้ ก็ต้องดูรายละเอียดต่ออีกว่า คนเรา.. ในการตัดสินเรื่องต่างๆ ว่า จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย จะชอบหรือไม่ชอบ จะเอาหรือไม่เอา ก็ต้องประกอบด้วย ๒ อย่างหลัก อันแรกคือ เหตุผล อันที่สอง คือ อารมณ์ ตัดสินเรื่องต่างๆ ตัดสินด้วย ๒ อย่าง นี่แหละ

 

      เพราะฉะนั้น เราเอง..เวลาเจอคนที่วัยต่างกัน หรือแม้บางทีอาจจะเป็นวัยใกล้เคียงกันนะ แต่รสนิยมก็อาจจะต่างกันได้ ให้เราอย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินว่า เออ..ไม่ชอบคนนี้เลย หรือไม่เข้าใจว่าเขาทำทำไม อย่าเพิ่งไปสรุปรวบยอดเหมารวมอย่างนั้น แต่ว่า ให้แยกแยะดูว่า สิ่งที่เขาทำแต่ละเรื่อง มันเป็นเรื่องของความถูก ความผิด ดีชั่ว บุญบาป หรือเป็นเรื่องของความชอบพอ เรื่องรสนิยมซึ่งไม่เรื่องที่ว่าถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ว่าแต่ละคนชอบอะไร เช่นบางคนอาจจะอยากไปเล่นกีฬา บางคนชอบอ่านหนัง หรือบางคนชอบฟังเพลง ก็เป็นเรื่องความชอบของแต่ละคน มันไม่ใช่เรื่องถูกผิดดีชั่วอะไร ถ้าเรื่องถูกผิดดีชั่วล่ะก็ อันไหนไม่ถูก อันไหนเป็นเรื่องของบาป เราต้องปฏิเสธ ถ้าเกิดเป็นลูกเต้าเรา น้องเราก็ต้องหาทางสอน อธิบายให้ทราบอันนี้แน่นอน อันไหนเป็นความดีเป็นบุญกุศลก็ชื่นชมไป แต่ถ้าอันไหนเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวล่ะก็ เราก็ไม่ก้าวล่วง รักษาขอบระยะให้ดี ไม่เอาความชอบของเราจะพยายามไปครอบไว้กับใคร ต้องไม่เป็นอย่างนั้น

 

      ถ้ารู้จักแยกแยะอย่างนี้ได้ถูก จะวางบทบาทเราได้ถูกต้อง เวลามองใคร ความรู้สึกเหมารวมว่า ชอบไม่ชอบ มันจะไม่พุ่งมาทีเดียว แต่ว่าสามารถแยกตรงนี้ออกมา พอแยกออกปั๊บเราจะเห็นทุกอย่างกระจ่างขึ้น แล้วก็จะเข้าใจเขา พอเราเข้าใจเขา คนเรานี่แปลก เราเข้าใจเขา เขาก็จะเข้าใจเรา แล้วความผสานก็จะเกิดขึ้น ช่องว่างระหว่างวัยก็หดแคบลงแล้ว เดี๋ยวก็หลอมรวมเป็นหนึ่ง

 

    จะเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะต้องฝึกในเรื่องการไตร่ตรองเรื่องเหตุและผลเยอะๆ อย่างพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ท่านจะย้ำกับลูกศิษย์บ่อยๆ ว่า เห็นอะไร ฟังอะไรแล้ว ให้ตั้งคำถามบ่อยๆ นะว่า why คือทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น แล้วหมั่นขบคิดหาคำตอบ เราจะเห็นทุกอย่างชัดเจนขึ้น กระจ่างขึ้น เป็นคนมีเหตุมีผล ถึงคราวคนอื่นเขา ถ้าเกิดเขาไม่เข้าใจที่เราทำ เขาถามปั๊บเราตอบได้ว่า ทำไมเราถึงทำอย่างนี้ เรามีเหตุมีผลอย่างไร หรือถ้าเกิดเราเห็นคนอื่นเขาทำไม่ถูก เห็นลูกทำไม่ถูก เราก็สามารถสอนลูกได้ว่า อย่างนี้ไม่ควรนะ เพราะว่า มันจะเกิดผลเสียยังไง อันไหนเขาทำดีเราก็ชื่นชมได้ ชี้ให้เห็นว่า ดีนะลูก ทำต่อ

 

      ถ้าเราฝึกเป็นคนมีเหตุมีผล แยกแยะได้ชัดเจนอย่างนี้แล้วล่ะก็ เราจะเป็นผู้ที่สามารถให้คำแนะนำ แล้วก็สอนคนอื่นได้ ตอบคำถามคนอื่นได้ถึงพฤติกรรมของตัวเราเอง จะปรับจะแก้อะไรเขา ก็ให้เหตุผลได้ ก็จะไม่ใช่ลักษณะที่ว่า ใช้อำนาจเข้าข่ม เพราะฉันเป็นพ่อนะ ฉันเป็นแม่นะ เธอต้องฟังอย่างเดียว ห้ามเถียง เถียงแล้วโกรธ บางทีโกรธเพราะอะไร เพราะว่า ไม่รู้จะพูดยังไง เลยเอาความเป็นผู้ใหญ่ข่มเข้าไปเลย เด็กก็อึ้ง ไม่กล้าเถียง แต่ในใจก็ต่อต้านไม่ค่อยยอมรับ ก็ยิ่งเกิดเป็นช่องว่างระหว่างวัยเข้าไปกันใหญ่

 

      แต่ถ้าเกิดเราสามารถให้เหตุให้ผลได้อย่างดี คนเรานะ มนุษย์เป็นสัตว์เหตุผล ถ้าคนอื่นมาติดต่อกลับเราแล้วมีเหตุมีผลให้ เราก็มีแนวโน้ม ฟังแล้วมีเหตุมีผลใช้ได้นะ ใจก็เปิดพร้อมที่จะยอมรับแล้ว มันก็ง่าย เพราะฉะนั้น ฝึก ไม่มีคำว่าสายเกินไป เหตุกับผล

      แล้วพวกเราเองที่เป็นชาวพุทธนี่โชคดี เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานเหตุและก็ผลที่สมบูรณ์ด้วย ใครหมั่นศึกษาหลักธรรมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราเอง หูกว้าง ตากว้าง เป็นคนที่มีความคิดเป็นระบบ แล้วก็ไตร่ตรองเข้าใจเรื่องเหตุและผลได้ดีกว่า จับจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จะให้ประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ นี่เป็นอันแรก

      อันที่สอง เรื่องของอารมณ์ คนเราไม่ได้มีเหตุผลอย่างเดียว บางทีมีอารมณ์ด้วย มันประกอบเข้ามา เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจตรงนี้ สิ่งมีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งก็คือว่า คนแต่ละคน จะเป็นใครก็แล้วแต่ กิเลสมัน ๓ ตัวเหมือนกันน่ะ คือ โลภ โกรธ แล้วก็หลง ดีกรีอาจจะต่างกันบ้าง รายละเอียดอาจจะต่างกันบ้าง แต่ตัวหลักๆ มัน ๓ ตัวเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราเองทำความเข้าใจในอารมณ์ในความรู้สึกของเราดีนะ ใครรู้จักตัวเองดี คนนั้นจะรู้จักคนอื่นได้ดี ฉะนั้นจะศึกษารู้จักคนนั้น ก็ไม่ต้องเริ่มจากใครเลย ให้เริ่มจากตัวของเราเอง หมั่นสังเกตตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง จนกระทั่งกระจ่างเมื่อไหร่ปั๊บ เราจะเข้าใจคนอื่น เห็นแสดงท่าทางอย่างนี้ พูดอย่างนี้นะ จะรู้เลยว่าเขาคิดอย่างไร เราจะเข้าใจ เมื่อเราสามารถเข้าใจตัวเองได้ดีแล้ว

 

      แล้วพอเข้าใจเขาอย่างนั้นเหรอ สบายเลยคราวนี้ เราก็เหมือนขับรถ ถ้าเราไม่เข้าใจรถ จะควมคุมรถนะให้ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาก็ลำบาก แต่พอเราเข้าใจซะแล้ว เหมือนกับปั่นจักรยาน ยังปั่นไม่เป็นมันจะเกร็งใช่ไหม พอเกร็งแล้วขึ้นไปขี่ ที สองที รถก็จะคว่ำ แต่พอเราเองปั่นคล่องเป็นอย่างไร อาจโยกซ้าย โยกขวาก็ไม่มีปัญหา เพราะตัวเรากับจักรยานมันประสานกันอย่างดี จักรยานเอียงมาทางซ้าย เราก็โยกตัวมาทางขวาก็ได้สมดุลพอดี แม้จะมีล้อ ๒ ล้อ ก็ไม่ลำบากในการขับขี่เลย

 

      คนเหมือนกัน พอเราเข้าใจคน พอเรารู้จักอัธยาศัยของคนเมื่อไหร่ปั๊บ เราก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนทุกคนได้เป็นอย่างดี พอเหมาะพอสม เขามาอย่างนี้เราควรจะตอบสนองกลับไปอย่างไรที่ทำให้มันรับกันได้ ตรงไหนเป็นเรื่องอารมณ์เราก็ปรับได้พอดี ตรงไหนเป็นเรื่องของถูกผิดดีชั่ว เราก็มีวิธีการที่จะแนะจะสอนได้อย่างพอดิบพอดีกับคนแต่ละคน

 

      ถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะก็ ช่องว่างระหว่างวัย เจเนอเรชั่น แท็บ เนี่ย มันหายไปไหนก็ไม่รู้ ไม่มีปัญหาอีกแล้ว จะเป็นพ่อแม่ลูก เด็กผู้ใหญ่ พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ทุกอย่างราบรื่นหมดเลย เพราะฉะนั้น ทวนอีกครั้งนะว่า การแก้ช่องว่างระหว่างวัยก็คือ ศึกษาให้เข้าใจเรื่องเหตุและก็ผล โดยเริ่มจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนาของเรา แล้วศึกษาให้เข้าใจในอารมณ์ของคน โดยเริ่มต้นจากการมีสติ หมั่นสังเกตตัวเอง ให้เข้าใจตัวเอง แล้วจากนั้น ให้สร้างกิจกรรมร่วมของในทุกกลุ่มชุมชน จะในครอบครัวก็ตาม ที่ทำงานก็ตาม คือการมาวัด การประพฤติปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะ ให้ทุกคนมีประเด็นข้อสนทนา ประเด็นความสนใจที่ร่วมกัน เหมือนกัน อย่างนี้ล่ะก็ ทุกสังคมจะเล็กจะใหญ่ก็ตาม จะสมัครสมานสามัคคี ไม่มีช่องว่างเลย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012598685423533 Mins