AQ เรื่องของ adversity quotient ว่าแบบไทยๆ

วันที่ 23 พย. พ.ศ.2550

      เรื่องของ adversity quotient ว่าแบบไทยๆ เราคือ ความอึด โดยเปรียบเทียบ ว่า เออ.. คนเราจะประสบความสำเร็จได้ มันต้องมีความอึดนะ โดยเปรียบเทียบว่าใครอึดกว่า คนนั้นก็มีสิทธิ์ชนะ คนที่อึดน้อย แม้สติปัญญาจะดีแต่ถ้าเกิดไม่อึด มันก็คงจะยากจะประสบคามสำเร็จเหมือนกัน

 

ฝรั่งที่คิดเรื่องนี้ เขาเลยแบ่งคนเป็น 3 ประเภท คือ

1. เป็นนักปีนเขา มุ่งจะไปสู่จุดที่สูงที่สุด

2. เป็นคนตั้งแคมป์ คือไปๆ เดินไปสักพักหนึ่ง เจอที่เหมาะๆ ก็จะขอพักแล้วไม่เอาแล้ว แค่นี้พอแล้ว สบายแล้ว

3. เป็นคนไม่สู้ ไม่เอาจริง

 

      ความจริงของชีวิต คือ ถ้าเกิดฟังว่าเป็นคนตั้งแคมป์นะ บางคนนึกแล้วก็อาจจะมีความรู้สึกว่า ก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ทำไมเราต้องปีนไปถึงยอดเขา ยอดเขามันอาจะไม่น่าอยู่ก็ได้ เอาไปถึงราวๆ สัก เอาที่เหมาะๆมีสนามหญ้าสวยๆ ก็ตั้งแคมป์พักกันเลยดีกว่า สบายกว่ากันเยอะเลย มันก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร ก็เราไม่ได้อยากไปอยู่ยอดเขา ทำไมจะต้องพยายามดิ้นรนไปถึงยอดเขาให้ได้ด้วย บางคนอาจจะนึกอย่างนั้น ก็มีนะ

 

     แต่ความจริงของชีวิตก็คือว่า ถ้ายังไม่ถึงปลายที่สุดแล้วล่ะก็ มันยังเสี่ยงอยู่นะ ถ้าจะเปรียบแล้วไปได้ครึ่งๆ กลางๆ มันไม่ใช่คนตั้งแคมป์หรอก มันเหมือนปีนต้นตาลอยู่ไต่ขึ้นไปถึงกลางต้น แล้วบอกพอแล้วจะขอพักที่นี่แหละ เป็นไง เกาะอยู่กลางต้นตาลนี่นะ เกาะอยู่แล้วบอกจะขอพักที่นี่ เรานึกภาพดูอะไรจะเกิดขึ้น ประเดี๋ยวเถอะ หมดแรงเมื่อไหร่เดี๋ยวก็ตกตุ๊บลงมา มันอันตราย คือจะต้องปีนไปให้ถึงอย่างน้อยก็คาคบข้างบนน่ะ ถึงจะนั่งพักได้ จะมานั่งพักขณะไต่อยู่กลางทางแล้วล่ะก็ มันไม่ไหวเลย มันไม่ใช่ตั้งแคมป์นะ จะไปนั่งพักอยู่กลางต้นตาล เกาะต้นตาลพักมันไม่ไหวหรอก

 

     เหมือนกัน ชีวิตของคนเราความจริงก็คือ เราไม่ได้เกิดแค่ชาตินี้นะ แต่ว่าเราเวียนว่ายตายเกิดกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ใครสร้างบุญก็ไปเกิดในสุคติ อาจจะไปเกิดบนสวรรค์บ้าง เป็นพรหมบ้าง หรือว่าถ้าเกิดทำบาปก็ลงอบาย ตกนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง อสูรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ เทวดาทุกองค์ก็ไม่มีใครไม่เคยตกนรก สัตว์นรกทั้งหมดในอดีตก็ล้วนแล้วแต่เคยเป็นเทวดามาก่อน มันมีขึ้นแล้วมันมีลง ยังเสี่ยงอยู่

 

      จะปลอดภัยก็ต่อเมื่อ ต้องเป็นพระอริยบุคคล ขั้นต่ำคือ พระโสดาบัน ถึงจะเที่ยงแท้ว่าไม่ลงอบายอีกแล้ว เกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ จะต้องหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์แน่นอน พระสกิทาคามีเกิดไม่เกินอีกชาติหนึ่ง พระอนาคามีก็ไปเกิดเป็นพรหม ปัญจสุทธาวาส แล้วก็นิพพานในนั้นเลย ไม่มาเกิดอีกแล้ว หรือถ้าเป็นพระอรหันต์ปั๊บ ก็เข้านิพพานไป ต้องเป็นพระอริยบุคคลถึงจะปลอดภัยจากภัยวัฏฏสงสาร ไม่ตกต่ำสู่อบายภูมิอีก

 

      แต่ระหว่างอยู่บนโลกเรา คือที่สำหรับสร้างบารมีโดยตรงเลย ไม่ใช่ที่พัก เราเกิดมาอาศัยกายหยาบนี่ก็เพื่อใช้ในการสร้างบารมีเท่านั้น นี่คือมองในมุมของนักสร้างบารมี ถ้าหากว่ามองในสายตาของชาวโลกล่ะ จะเป็นอย่างไร

 

คนทั่วไปเขาต้องทำมาหากินกันนี่นะ เราก็ต้องยึดหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้ พระองค์บอก ประโยชน์แบ่งเป็น 3 ขั้น คือ

1. ประโยชน์ชาตินี้ จะต้องตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ พึ่งตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ

2. ประโยชน์ชาติหน้า คือ หมั่นสร้างบุญสร้างกุศล มั่นใจได้ว่าเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว เราจะไปสู่สุคติไม่ไปอบายภูมิแน่นอน

3. ประโยชน์อย่างยิ่ง สร้างบุญเต็มที่จนกระทั่งขจัดกิเลสหมดไปจากใจ แล้วเข้าพระนิพพาน

 

      เพราะฉะนั้น แม้คนทั่วไป แม้ไม่ใช่ชาวพุทธ เขาจะเห็นตรงกันอย่างหนึ่งว่า จะต้องตั้งเนื้อตั้งตัวในชาตินี้ให้ได้ คือ ต้องมี ตั้งตัวไม่ได้มันไปไม่รอด นกตัวเล็กๆ ยังอุตส่าห์สร้างรัง บินไปก็เอาเศษหญ้ามาม้วนสร้างรัง หนูตัวเล็กๆ ยังขุดรูอยู่ เราเกิดมาเป็นคนทั้งทีก็ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ไม่ฉะนั้นอายนก อายหนูมัน ต้องบอกตัวเองอย่างนั้น

 

      กระบวนการของความวิริยะอุตสาหะ ความอึด ความสู้ มันต้องเกิดจากความเข้าใจก่อน รู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน กำลังจะไปทางไหนหรือทำอะไรอยู่ พอเกิดความเข้าใจ แล้วก็เห็นประโยชน์แล้วว่า ถ้าเราสู้จะเกิดข้อดีอย่างไร พอเห็นประโยชน์อย่างนี้ ฉันทะจึงจะเกิด พอฉันทะเกิด วิริยะ ความอุตสาหะ ก็จะเกิดตามขึ้นมา แล้วเลือดนักสู้ก็จะเต็มตัว มันต้องเริ่มจากความเข้าใจอย่างนี้ขึ้นมาก่อนเป็นขั้นเป็นตอนไป เลยปูพื้นให้เราเห็นภาพรวมของชีวิตอย่างนี้

 

      แม้คนไม่ใช่ชาวพุทธก็บอกเขาได้ หรือเป็นชาวพุทธแต่เป็นชาวพุทธตามทะเบียนบ้าน หรือชาวพุทธห่างๆ อย่างพวก นรก สวรรค์ ชักจะลังเลๆ ก็ชี้ให้เห็นว่า ชาตินี้เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเดินหน้าสู้ชาตินี้ให้ได้ แล้วชาติหน้ายังไม่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ทำเพื่อเหนียวก็แล้วกัน ถ้าเพื่อว่ามี เราก็ไปดี ถ้าไม่มีก็เจ๊ากันไป ไม่ได้เสียหายอะไร ให้คิดอย่างนี้ และทำไปๆ เดี๋ยวพอใจละเอียดเข้า ก็จะรู้เอง เออ..มันมีจริงๆ นะ นี่ถ้าเข้าถึงเองได้ ยิ่งจบเลย หมดคำถามโดยสิ้นเชิง ต้องเดินไปเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้

 

      ผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้ทั้งชาตินี้ชาติหน้าจนถึงที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า จะต้องมีความวิริยะอุตสาหะ ท่านเรียกว่า วิริยารัมภะ แยกย่อยทั้ง 4 อย่างนะ คือ

1. จะต้องหมั่นละอกุศลที่เกิดขึ้นในตัว ให้ลดน้อยลงแล้วหมดไปในที่สุด

2. อกุศล ความไม่ดีนี่นะ ที่ไม่มีก็อย่าให้เกิดขึ้นนะ พยายามเพียรพากเพียรป้องกัน

3. กุศลใด ที่ยังไม่มีก็ต้องทำให้เกิดขึ้น

4. กุศลที่มีอยู่แล้ว ก็รักษาเอาไว้ แล้วทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นี่ท่านให้ไว้อย่างนี้

อุตสาหะ ความอึด ความสู้ มันแบ่งได้เป็นระดับๆ ทั้งทางโลก หรือเกี่ยวกับชาตินี้เป็นหลัก ทั้งทางธรรม

 

     ทางธรรม บางคนจะตั้งเป้าเอาไว้เท่าไหร่ ก็สามารถทำได้ ตามความพึงพอใจ ตามเป้าแต่ละคน แต่ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปตั้งเป้า ว่าเราจะเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกทุกคน ก็ไม่ได้ต้องถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยจะต้องตั้งเป้าว่า เราจะต้องพึงตัวเองได้ แล้วก็เอาเวลาที่มีอยู่นั้นนะ แบ่งขึ้นมา แล้วก็มาสร้างบุญสร้างกุศลด้วย เพื่อเป้าหมายในชาติหน้า และเป้าหมายอย่างยิ่ง ตามหลักวิริยารัมภะ 4 ประการ ที่กล่าวไปแล้วนั้น ตรงนี้เป็นของจริง

 

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้นเลยว่า ถ้าหากไปตั้งเป้าว่าจะเป็นคนรวยที่สุดในโลก แล้วทุ่มเวลาทั้งชีวิตลงไป จนไม่เหลือเวลาสำหรับการสร้างบุญสร้างกุศล การฝึกใจเลย อันนี้กับผิดหลัก หลักมีอยู่ว่า ยังไงๆ การเพียรละอกุศล แล้วสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในใจของเราเอง ต้องมีสร้างกุศลติดตัวต้องทำ

 

 

     ทางโลก อย่างน้อยเป็นพื้นฐานต่ำสุด ต้องพึ่งตัวเองได้ แล้วก็ต่อยอดขึ้นไป ไม่เฉื่อยชา ไม่ขี้เกียจเกียจคร้าน ไม่เอาสบาย แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องรวยที่สุดในโลกนะ เอาแค่ที่ว่าเต็มฝีมือของเราเอง โดยไม่กระเทือนถึงเรื่องของการฝึกตัว

 

     ถ้า คู่ขนานทั้งโลกทั้งธรรมไปได้อย่างนี้แล้ว เราจะได้ทั้งประโยชน์ชาตินี้ ได้ทั้งประโยชน์ชาติหน้า แล้วในที่สุดก็จะไปถึงเป้าหมายปลายทาง คือ ประโยชน์อย่างยิ่ง ไปถึงที่สุดแห่งธรรมกันได้ กันทุกๆ คน

 

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจภาพรวมอย่างนี้นะ ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ ฝรั่งที่ต้นคิดเกี่ยวกับเรื่อง adversity quotient เขาก็อาจจะยังไม่ทราบด้วยซ้ำไป เขาก็มองว่า คือ การทำมาหากิน การประกอบกิจต่างๆ นี่เป็นหลัก แต่ถ้าเราเองศึกษาหลักธรรมทางพุทธศาสนาแล้ว จะได้ภาพที่กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น

 

    เพราะฉะนั้น สู้กันนะ ไม่ว่าจากการร่ำเรียนเขียนอ่าน การประกอบกิจการงานต่างๆ รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติธรรม การสร้างบุญสร้างกุศล เพราะเราเกิดมาสร้างบารมี แล้วก็เดินหน้าสร้างบารมีกันไปทุกชาติๆ ๆ จนที่สุด เข้าถึงที่สุดแห่งธรรมกัน จะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องอาศัยความอึด มหาอึดเลย เรียกว่าทะลุเกณฑ์ adversity quotient กันไปเลย ถึงจะทำได้ แต่เราเลือกแล้วว่าจะทำ เพราะฉะนั้น ต้องอึดแล้วก็สู้กัน ทุกๆ คน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018741714954376 Mins