ธรรมทาน (๓) แม้ความชื่นชมยินดีในบุตรธิดา

วันที่ 15 มิย. พ.ศ.2554

 

               แม้ความชื่นชมยินดีในบุตรธิดา ความยินดีในทรัพย์สมบัติ ในสตรีในการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี เป็นต้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่ยินดียังต้องตกอยู่ในห้วงสังสารวัฏ แล้วก็ต้องได้รับทุกข์ต่างๆ ที่ตามมา ส่วนความอิ่มใจซึ่งเกิดขึ้นภายใน ของผู้แสดงธรรมก็ดี ของผู้ฟังธรรมก็ดี ย่อมก่อให้เกิดความเบิกบานใจ มีปีติน้ำตาไหล เกิดขนลุกชูชัน ความอิ่มใจนั้นสามารถนำใจให้เข้าถึงฌาน ได้บรรลุธรรม กระทั่งเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

 

ความยินดีในธรรมนี้เองประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง

 

               ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหาความทะยานอยาก คือ ความเป็นพระอรหันต์ประเสริฐกว่าทุกอย่าง เพราะครอบงำทุกข์ในวัฏฏสงสารได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดา จึงตรัสว่า ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง

 

              ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเกิดขั้นได้ ด้วยการแสดงธรรมและการฟังธรรมเท่านั้น ให้ข้าวปลาอาหารเป็นทานเพียงอิ่มเดียว เท่ากับให้ชีวิตยืนยาวนานไปถึง 7 วัน แต่การให้ธรรมะเป็นทาน ส่งผลดีให้กับชีวิตยาวนานยิ่งกว่านั้น สามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ที่ได้รับ จากมิจฉาทิฏฐิเป็นสัมมาทิฏฐิ

 

               จากที่เคยเป็นคนเลว เปลี่ยนมาเป็นคนดี ทำให้ชีวิตที่มีความทุกข์มาเป็นชีวิตที่มีความสุข มีชีวิตที่ดีขึ้น พบความสุขในปัจจุบัน ได้หนทางสวรรค์ ได้หนทางนิพพาน สุขในสวรรค์ สุขในพระนิพพาน แม้ทรัพย์สมบัติมหาศาล ก็ไม่สามารถซื้อได้ แต่การให้ธรรมทาน ด้วยจิตที่ศรัทธาเลื่อมใส บุญนั้นมากมายไม่มีประมาณไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน

 

 ให้ธรรมทาน เป็นรากฐานของปัญญา
ชีวิตจะมีค่า เพราะดวงปัญญาสว่างไสว
สุขทั้งชาตินี้ ชาติหน้า อีกยาวไกล
ตลอดไปตราบถึงซึ่งนิพพาน  

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011865178743998 Mins