เมื่อสงฆ์มองสื่อที่สื่อเรื่องสงฆ์

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2556

สื่อวิจารณ์พระสงฆ์ พระมหาพิศุทธิ์ วิสุทโธ วัดสระเกศราชวรมหาวิหร

 

               ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้รับการนำเสนอผ่านทางสื่อสารมวลชนในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง อาจเพราะมีเหตุหรือปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องให้สื่อได้เฝ้าจับจ้องและรายงาน ทั้งการลาสิกขาบทออกมาแต่งงานของของอดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสายปฏิบัติที่อุปสมบทมานานเกือบ 40 พรรษา ทั้งการปรากฏภาพถ่ายและหลักฐานอื่นอันแสดงให้เห็นถึงการประพฤติตนไม่เหมาะสมด้วยสมณเพศ และการบริโภคใช้สอยไม่สมควรแก่สมณสารูปของพระสงฆ์ชื่อดัง ทั้งเรื่องราววิวาทะระหว่างพระสงฆ์กับองค์การการกุศล เนื่องด้วยการขายที่ดินที่มีการมองว่าน่าจะไม่ชอบมาพากล ไปจนถึงเหตุการณ์ระเบิดที่วัดพุทธคยา ในประเทศอินเดีย

               ระหว่างการบริโภคข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ เพ็ญนภา หงษ์ทอง แห่ง Media Inside Out มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนสนทนากับ  พระมหาพิศุทธิ์ วิสุทฺโธ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาชีวิตและความตาย ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ถึงมุมมองและความรู้สึกของพระสงฆ์ เมื่อได้เสพเรื่องราวข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสังคมของท่านเอง และเห็นว่ามุมมอง ความรู้สึก และข้อสังเกตของท่าน น่าจะได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง จึงขออนุญาตท่านนำบางส่วนของการสนทนามาเสนอ ณ ที่นี้


มุมมองต่อการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

               มองเห็นความไม่รู้ ไม่เข้าใจในวิถีของสงฆ์ของสังคมและสื่อ และมองเห็นว่าสังคมเอาความรู้สึก เอาตัวบุคคล มาผสมกับเหตุการณ์ ทุกวันนี้สังคมส่วนใหญ่ใช้ความรู้สึกในการมองพระ ดูเหมือนว่าของใช้ ของบริโภคที่ดูหรูหรา ราคาแพง สินค้าแบรนด์เนมถูกมองว่าผิดไปเสียหมด โดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามหรือไม่ได้ศึกษาว่าที่คิดว่าผิดนั้น ผิดจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้หรือไม่ หรือผิดเพียงเพราะไม่ถูกใจเรา ไม่ตรงกับที่ใจเราคิดว่าพระจะต้องมีวิถีแบบนี้ๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามเรื่องการบริโภคใช้สอยในวัตถุอันปราณีต หรือกำหนดราคาสิ่งของที่สามารถรับจากโยมได้ แต่พระองค์ทรงมีคำสอนให้ภิกษุพิจารณาว่าเราใช้สอยสิ่งต่างๆ เพื่ออะไร จีวร เครื่องนุ่มห่ม หรือเสื้อผ้า มีไว้เพื่ออะไร อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัยมีไว้เพื่ออะไร

               เมื่อมีญาติโยมมาถวายของดีๆ ของมีราคา พระรับได้ไหม รับได้ แต่พระต้องวางท่าทีต่อสิ่งของเหล่านั้นให้ถูกต้อง ให้รู้ว่าของที่ญาติโยมถวายมามีไว้เพื่อประการใด โดยไม่เป็นการรบกวนต่อศรัทธาและฐานะของผู้มาถวาย และต้องไม่ยึดติดในสิ่งของที่ญาติโยมนำมาถวาย ย้อนกลับไปดูสมัยพุทธกาล ญาติโยมถวายอะไรกันบ้าง นางวิสาขาสร้างวัดบุพผารามถวายพระพุทธเจ้า ใช้เงินซื้อที่ดินและสร้างวัดรวม 18 โกฏิ หรือ 180 ล้านกหาปณะ เทียบเป็นเงินปัจจุบันก็คงไม่ใช่แค่พันล้านหรือหมื่นล้าน นี่ยังเป็นรองวัดเชตวันมหาวิหาร ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายพระพุทธองค์ด้วยเงินรวม 54 โกฏิ พระน้านางปชาบดี ก่อนจะบวชเป็นภิกษุณี ถวายจีวรมูลค่า 1 แสนกหาปณะ

               หรือการที่มีผู้ถวายข้าวมธุปยาสพระสงฆ์สมัยพุทธกาล ข้าวมธุปายาสนี่จัดเป็นอาหารที่มีความปราณีตและปรุงได้ยาก เฉพาะผู้มีฐานะมั่งคั่งมีความร่ำรวยเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ เพราะน้ำนมที่จะนำมาหุงข้าวมธุปายาสได้นั้น ต้องรีดมาจากโคที่ผ่านกระบวนการเลี้ยงเป็นพิเศษเพื่อให้ได้น้ำนมที่มีรสหวานหอม เริ่มต้นที่วัว 1,000 ตัว คัดลงมาจนเหลือวัว 8 ตัวที่จะเอามารีดน้ำนมเพื่อหุงข้าวมธุปายาสได้ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าของดีๆ ของปราณีต ราคาสูง ก็มีการถวายพระกันมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งมามีในสมัยนี้ ไม่ว่าจะสมัยไหนโยมที่มีศรัทธาก็จะขวนขวายหาสิ่งของอันปราณีตมาถวายพระ ต่างคนต่างอยากทำทานอันเลิศ แต่ทั้งหมดเหล่านี้เป็นอามิสบูชา พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสรรเสริญว่าดีที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ได้ ทรงสรรเสริญในปฏิบัติบูชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำรงพระพุทธศาสนา

               แล้วควรทำอย่างไรเมื่อโยมถวาย สิ่งสำคัญสำหรับพระ คือ ต้องพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งของที่ได้รับถวายมา มีหน้าที่ทำอะไร แล้วอย่าไปยึดติด อย่าเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งของใช้สอยบริโภค พระพุทธองค์มีข้อกำหนดว่าด้วยการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบธรรม ที่เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิศีล ซึ่งห้ามสงฆ์หลอกลวง อวดอ้างเพื่อให้ได้ซึ่งลาภสักการะ หรือร้องขอในฐานะอันไม่สมควร ขณะเดียวกัน โยมก็อย่างมองของที่ราคาหรือความปราณีต นี่คือสิ่งที่บอกว่าสื่อและสังคมเอาความรู้สึกของตนเข้ามาปนกับเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ราคา มูลค่า ความหรูหรา สิ่งเหล่านี้โลกกำหนด โลกสมมติขึ้นมา แล้วสังคมก็ยึดติดจนบดบังหน้าที่ที่เป็นจริงของสิ่งสิ่งนั้น โยมกำลังเอาสิ่งที่โลกสมมติขึ้นมาแล้วโยมยึดติด แล้วก็นำมาครอบพระ ข้าวเหนียวหมูปิ้งกับหูฉลาม สำหรับโยมอาจจะมีความต่าง แต่สำหรับพระนั่นคืออาหารบิณฑบาตรบริโภคเพื่อให้ร่างกายนี้ตั้งอยู่ได้ ฟองน้ำแตะหูหนีบตราช้างดาวกับฟลิบฟลอบ  สำหรับพระก็คือรองเท้า คือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำหน้าที่เดียวกัน เวลาเห็นพระพายเรือกับพระขับรถ ขับเครื่องบิน ทำไมโยมถึงรู้สึกแตกต่าง ทั้งที่เรือ รถ เครื่องบิน ก็เป็นยานพาหนะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนกัน

หมายความว่าโยมถวายเครื่องบินเจ็ต พระรับมาใช้สอยได้โดยไม่ผิดหรือ
 
               นอกจากพระพุทธองค์จะทรงวางข้อพึงปฏิบัติให้ภิกษุพิจารณาเกี่ยวกับการบริโภคใช้สอยแล้ว ยังมีข้อกำหนดด้วยว่าพระธรรมวินัยนี้เป็นของผู้มักน้อย การมีของใช้สอยบริโภคต้องไม่ให้เกินฐานะของความเป็นพระ หากเป็นของที่ไม่ต้องใช้ ไม่มีความจำเป็น ไม่เป็นประโยชน์ อาจจะพิจารณาตามความเหมาะสม หรือไม่รับไว้ก็น่าจะได้ และต้องรู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอย 
สิ่งสำคัญที่อยากบอกคือหลักในการพิจารณา ให้เข้าใจว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ เห็นพระมี พระใช้ ของที่โยมมองว่าหรูหรา ราคาแพง อย่าเพิ่งรีบด่วนบอกว่าผิด อย่าเพิ่งสรุปว่าพระทำไม่ได้ เวลาสื่อบอกว่าสื่อกำลังตรวจสอบสังคมสงฆ์ กำลังปกป้องพระพุทธศาสนา หลายครั้งก็สงสัยว่าสื่อมีความรู้ความเข้าใจในวิถีของสงฆ์พอที่จะออกมาปกป้องหรือไม่  หรือสื่อกำลังปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยอารมณ์ความรู้สึก

               กรณีพระอาจารย์มิตซูโอะ วันแรกหนังสือพิมพ์พาดหัวเลย “ช็อค พระอาจารย์มิตซูโอะสึก” ช็อคอะไร ช็อคทำไม แม้จะไม่ระบุชัดแต่น้ำเสียงก็เต็มไปด้วยความผิดหวัง หรือเสียความรู้สึกที่พระที่บวชมาถึง 38 พรรษา สึกมาเพื่อแต่งงาน มันมีน้ำเสียงของอคติในเชิงต่อว่าแฝงอยู่ ทั้งที่ท่านไม่ได้ปฏิบัติผิดพระธรรมวินัยแต่อย่างใด  ท่านบวชได้ ท่านก็สึกได้ ไม่มีพระธรรมวินัยระบุไว้ว่าห้ามพระสงฆ์ที่บวชนานสึก ท่านมิตซูโอะไม่ใช่พระสงฆ์รูปแรกที่บวชนานแล้วสึก ก่อนหน้านี้ก็มีพระที่บวชนานๆ จนมีตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์แล้วลาสิกขาหลายต่อหลายท่าน หลายท่านสึกไป ก็ยังสามารถดำรงตนในเพศฆราวาสได้อย่างมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อประเทศ เช่น อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริญ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
พอสื่อเอาอารมณ์ความรู้สึกมาใช้ ข้อมูลไหนที่มันสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของสื่อหรือของสังคมก็ถูกหยิบยกมาให้ความสำคัญ ซึ่งอันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับข่าวของพระสงฆ์ ดูข่าวอื่นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อย่างกรณี เค วอเตอร์ อารมณ์ความรู้สึกของสังคม ไม่เอา ไม่อยากได้ น่าจะมีคอร์รัปชั่น พอมีข้อมูลอะไรไปในทางนั้นสื่อหยิบมาใช้ทันที โดยไม่ได้ตรวจสอบ

แล้วสื่อควรทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาหรือไม่
 
               การปกป้องพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง 4 ต้องถามว่า แล้วสื่อเป็นพุทธบริษัทหรือไม่ อาตมาเห็นด้วยอย่างยิ่งที่สังคมทุกสังคมต้องถูกตรวจสอบ และดีใจที่สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบสังคมสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ แต่สื่อจำเป็นต้องทำตามที่กระแสสังคมคิดหรือ สื่อมีอาวุธอยู่ในมือ สื่อชี้นำสังคมได้ หากจะนำเสนอหรือตรวจสอบสังคมพระ สื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยอันเป็นข้อปฎิบัติของสงฆ์จนมีความรู้มากพอที่จะเข้ามาตรวจสอบหรือยัง และขณะที่ตรวจสอบนั้นสื่อทำหน้าที่ของสื่อ หรือสื่อทำหน้าที่พุทธบริษัท สื่อกำลังขายข่าว หรือกำลังปกป้องพระพุทธศาสนา

               เมื่อสองวันก่อน เกิดระเบิดขึ้นที่วัดพุทธคยาข้างต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เนื้อหาบอกให้รู้ว่า อาจเกี่ยวพันกับความขัดแย้งที่ศาสนิกชนของศาสนาอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่ออ่านข่าวแล้ว อาตมาไม่รู้สึกว่าสื่อกำลังทำหน้าหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนา เพราะมันเหมือนกับสื่อรายงานข่าวระเบิดทั่วไป ทั้งที่มันมีประเด็นภัยคุกคามพระพุทธศาสนา สถานที่ตรงนั้นไม่เพียงแต่เกี่ยวโยงกับพระพุทธศาสนา แต่เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของโลก มันต่างกับเวลาที่เราอ่านข่าวที่ตัวสื่อเองกำลังถูกคุกคาม มันมีอารมณ์ มีน้ำเสียงของการปกป้องสังคมสื่ออย่างเห็นได้ชัด  

               หรือเมื่อเทียบกับกรณีของหลวงปู่เณรคำ สื่อค้นคว้าหาข้อมูล สื่อทำทุกอย่างในการตรวจสอบท่าน อันเป็นสิ่งที่เป็นการปกป้องพระพุทธศาสนา แต่สื่อไม่ทำการค้นคว้าแบบนั้นกับกรณีระเบิดวัดพุทธคยา เป็นเพราะอะไร สื่อจะบอกว่าสื่อต้องเขียน ต้องนำเสนอในสิ่งที่สังคมสนใจ ด้วยข่าวระเบิดวัดพุทธคยา ชาวพุทธในไทยอาจไม่สนใจเท่าข่าวการตรวจสอบพระดัง แต่สื่อมีเครื่องมือ มีอาวุธ สื่อสามารถสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้นมาได้ เสื้อเหลือง เสื้อแดง นั่นก็ผ่านกระบวนการของสื่อ สื่อมีบทบาทในการสร้างปรากฏการณ์ในสังคมได้ กรณีหลวงปู่เณรคำก็ผ่านกระบวนการสื่อ ทำให้เรื่องราวใหญ่โต สังคมติดตามได้ต่อเนื่อง แต่กรณีระเบิดวัดพุทธคยา สื่อไม่ใช้เครื่องมือ ไม่ใช้กระบวนการของสื่อเพื่อทำให้สังคมมองเห็นความสำคัญว่าศาสนาพุทธกำลังถูกคุกคาม

อยากเห็นสื่อทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างไร
 
                อยากเห็นการรายงานข่าวที่มีฐานของความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาและวิถีของสงฆ์มากกว่านี้ ไม่ใช่รายงานข่าวแบบใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวนำ  จริงๆ สื่อควรทำอย่างนี้กับการรายงานข่าวทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ หากพิจารณากันจริงๆ แล้ว วิธีคิดของสื่อในการรายงานข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์ก็ไม่ต่างจากการรายงานข่าวอื่นๆ คือ เน้นเรื่องที่คนสนใจ ข่าวดีๆ หาพื้นที่ลงยาก แต่ข่าวร้ายๆ ข่าวไม่ดี มีพื้นที่ให้ตลอด

               หากสื่ออยากดำรงตนในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมชาวพุทธที่ต้องการปกป้องพระพุทธศาสนา นอกจากการตรวจสอบ จับจ้อง ซึ่งควรต้องเป็นไปอย่างมีความรู้ความเข้าใจกรอบวิถีชีวิตของสงฆ์แล้ว สื่อควรเข้ามาร่วมสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ให้สังคมด้วย มีรายการโทรทัศน์สักรายการ หรือคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์สักคอลัมน์หนึ่งได้ไหม ที่จะทำหน้าที่ในการเผยแพร่หรือเชื่อมต่อโลกของสงฆ์เข้ากับโลกของฆราวาส สื่อตามดูชีวิตคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมได้ สื่อก็ควรตามดูชีวิตของสงฆ์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมได้ พระนักเทศน์ พระนักกิจกรรม พระนักเผยแพร่ ลองไปดูซิ เวลาท่านทำงานท่านทำกันอย่างไร การเผยแผ่ศาสนาทุกวันนี้พระทำกันอย่างไร พระเรียนหนังสือกันอย่างไร เคยเห็นกันไหมบรรยากาศพระตอนเรียนบาลี ตอนสอบนักธรรม บรรยากาศการรอฟังผลสอบบาลีของพระเป็นอย่างไร

               อยากเห็นสื่อทำหน้าที่เชื่อมโลกของพระกับโลกของสังคมภายนอก อย่าลืมว่าทุกวันนี้สังคมกับวัดแยกออกจากกัน วัดไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนเหมือนสมัยก่อน การที่สื่อจะมาทำหน้าที่เชื่อมวัด เชื่อมโลกของพระเข้ากับโลกของประชาชนไม่เพียงแต่จะทำให้สังคมเข้าใจสงฆ์แล้ว ยังจะทำให้สื่อมีความรู้ความเข้าใจสงฆ์มากขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มคุณภาพการทำหน้าที่ตรวจสอบสังคมสงฆ์ของสื่อให้มากยิ่งขึ้น 
 

               พระมหาพิศุทธิ์ วิสุทฺโธ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร นิสิตปริญญาโทสาขาวิชาชีวิตและความตาย มหาวิทยามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อุปสมบทภายหลังได้รับปริญญาสาขาศิลปศาสตร์บัณฑิต  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปัจจุบันพรรษา 7

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013420617580414 Mins