ธรรมชาติของจิต

วันที่ 04 มิย. พ.ศ.2557

 
 
ธรรมชาติของจิต


- ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามได้ยาก
ผู้มีปัญญาพึงพยายามทำจิตนี้ให้หายดิ้นรน
ให้เป็นจิตตรง เหมือนช่างดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้คอยแต่จะกลิ้งเกลือกลงไปคลุกเคล้ากามคุณ
เหมือนปลาซึ่งเกิดในน้ำ ถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำแล้ว
คอยแต่จะดิ้นรนไปในน้ำอยู่เสมอ
ผู้มีปัญญาพึงพยายามยกจิตขึ้น จากการอาลัยในกามคุณ ให้ละบ่วงมารเสีย

 

   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งที่ดิ้นรน กลับกลอกง่าย
บางคราวปรากฏเหมือนช้างตกมัน........ ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงเอาสติเป็นขอสำหรับเหนี่ยวรั้งช้าง คือ จิตที่ดิ้นรนนี้ให้อยู่ในอำนาจ
บุคคลผู้มีอำนาจมากที่สุด และควรค่าแก่การสรรเสริญนั้น คือ ผู้ที่สามารถควบคุมตนเองไว้ในอำนาจได้ สามารถชนะตนเองได้
ผู้ที่ชนะตนเองได้ชื่อว่า เป็นยอดนักรบในสงคราม
เธอทั้งหลายจงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย
จิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม คือ นินทา สรรเสริญนั้น
เป็นจิตที่ประเสริฐยิ่ง ในหมู่มนุษย์นี้ผู้ใดฝึกตนให้เป็นคนอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้ จัดเป็นผู้ประเสริฐสุด

           "ผู้ที่อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะ ความกลัว
         อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะ เห็นว่าพอสู้กันได้
    แต่ผู้ที่อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตนได้ เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด"

   ผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศอยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เปิดประตูแห่งความสุขสงบได้โดยง่าย สามารถปิดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้

   คุณธรรมทั้งมวล มีศีล และสมาธิ เป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น

        ๐ ภิกษุทั้งหลาย เมตตากรุณาเป็นพรอันประเสริฐในตัวมนุษย์ ๐
 
 
 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010487834612528 Mins