ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี

วันที่ 08 มค. พ.ศ.2558

 

ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี


6 ธันวาคม 2014 เวลา 23:26 น.
หนังสือ “ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี”  เขียนโดย นพ.โยะชิโนะริ นะงุโม (Yoshinori Nagumo) แปลโดยพิมพ์รัก สุขสวัสดิ์   จัดพิมพ์โดยสนพ. วีเลิร์น

 

ผู้เขียนเป็นนายแพทย์และเป็นผู้อำนวยการใหญ่ในโรงพยาบาลสี่แห่งในญี่ปุ่น  เป็นนักเขียนชื่อดังในญี่ปุ่น และเป็นแขกประจำรายการทีวีหลายรายการ  เป็นประธานกิตติมศักดิ์ของ Anti-Aging Medicine World Congress

ผู้เขียนค้นพบวิธีการลดนำ้หนักด้วยการทานเหลือวันละมื้อ  และพบว่าความหิวเป็นกระบวนการที่ทำให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอด้วยยีนที่ชื่อ เซอร์ทูอิน (Sirtuin) ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะผลิต Growth Hormone ออกมา

ในตอนท้ายผู้เขียนบอกในหน้า 198 ว่า  

“สิ่งที่ผมมุ่งหวังคือการวางแผนสำหรับชีวิตที่มีอายุยืนถึงหนึ่งร้อยปี  โดยยังมีหน้าท้องที่แบนราบและมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูอ่อนเยาว์

บางคนบอกว่าไม่อยากอายุยืนขนาดนั้น...แต่คนที่พูดแบบนั้นพอถึงคราวเจ็บป่วยก็รีบวิ่งโร่มาหาหมอทุกราย

…เมื่อเข้าสู่วัยชรา  ทุกวันจะมีแต่ความทุกข์ทรมาน  ซึ่งเป็นผลจากการละเลยสุขภาพ....

…ผมว่าต้องเลือกแล้วละว่าจะใช้เวลานอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแล้วทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน  หรือจะมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง  มีกำลังวังชา  รูปลักษณ์ภายนอกดูอ่อนเยาว์จนถึงวาระสุดท้าย  แล้วจากไปอย่างสง่างาม”

บทนำ
ผู้เขียนเริ่มทานอาหารเหลือวันละมื้อเมื่ออายุ 45 ปีเพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ  ผ่านไปสิบปีเมื่อเขาไปตรวจร่างกายพบว่าอายุหลอดเลือดของเขาเท่ากับคนอายุ 26 ปี

บทที่ 1:
เขาเล่าว่ามนุษย์ในอดีตไม่ได้มีกินอุดมสมบูรณ์โดยกินสามมื้อเหมือนปัจจุบันนี้  ในอดีตเรากินวันละมื้อก็บุญแล้ว  ดังนั้นร่างกายเราจึงมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง  เมื่อเราหิวไม่มีกินเราจะมียีนที่ชื่อ เซอร์ทูอิน (Sirtuin) ออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆภายในร่างกาย  ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะผลิต Growth Hormone ออกมา  ซึ่งเจ้า Growth Hormone นี้ทำให้เรากลับเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น  ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อการอยู่รอด

ปัญหาก็คือเมื่อร่างกายอิ่ม  กลไกนี้ไม่เกิด  เราจึงแก่ไปเรื่อยๆ

สรุปง่ายๆคือ  การกินมากไปคือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ  และที่สำคัญร่างกายเราไม่ได้ถูกออกแบบให้กินอิ่ม  เราจึงปรับตัวให้การกินอิ่มได้ไม่ดี  ทำให้กระบวนการธรรมชาติของร่ากายเรารวนนั่นเอง

บทที่ 2:
พูดถึงการกินวันละมื้อ  โดยแนะนำรายละอียดจากการที่เขาทำมาแล้วได้ผล  (สำหรับผมแล้วคิดว่าคงทำตามยาก)  แต่หัวใจคือ  ในบทนี้เขาบอกว่าเขาเพลิดเพลินกับการที่ได้ยินเสียงท้องร้องจ๊อกๆ  เพราะว่าเขากำลังรู้ว่าร่างกายเรากำลังซ่อมแซมและปรับตัวให้เยาว์วัยจากกระบวนการที่เล่ามา

บทที่ 3:  
ในหน้า 125-129 คือหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้  เพราะผู้เขียนอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์  เช่น

1. ปากทางเข้าลำไส้เล็กจะมีเซนเซอร์เตรียมรอรับของกินอยู่  ถ้าไม่มีอาหารไหลลงมาเสียที  ลำไส้เล็กจะรีบหลั่งฮอร์โมนสำหรับย่อยอาหารโมลิติน (Molitin)  ออกมา  ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัว  เพื่อส่งของกินที่อาจจะตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเข้าไปในลำไส้เล็ก  เรียกว่า  “การบีบตัวเมื่อหิว”  และเป็นตัวการที่แท้จริงของอาการท้องร้องจ๊อกๆ

2. เมื่อกระเพาะรู้ตัวว่าหิวจะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin)  ออกมา  เกรลินจะถูกหลั่งออกมาจากเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งถูกกระตุ้นเพราะความหิว  โดยจะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)  ทำให้เกิดความอยากอาหาร  ขณะเดียวกันก็จะออกฤทธิ์ที่ต่อมใต้สมอง  ทำให้หลั่ง Growth Hormone  ออกมา  เจ้า Growth Hormone นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  “ฮอร์โมนที่ทำให้กลับไปเป็นหนุ่มสาว”  นั่นหมายความว่าตอนที่ท้องกำลังร้องจ๊อกๆเพราะหิว  คุณจะค่อยๆมีเสน่ห์ขึ้นจากฮอร์โมนที่ทำให้กลับเป็นหนุ่มสาว  ถึงท้องจะร้องก็อย่าเพิ่งรีบกินอาหาร  ให้มาลองเพลิดเพลินกับประสิทธิภาพของการกลับเป็นหนุ่มสาวที่ได้จาก Growth Hormone กันสักครู่หนึ่งก่อน

3. ตอนที่ท้องกำลังร้องจ๊อกๆนั้น  ความสามารถในการอยู่รอดอันยอดเยี่ยมกำลังพลุ่งพล่านขึ้นมา  นั่นก็คือ  “ยีนเซอร์ทูอิน”  ที่มีสมญาว่า  “ยีนต่ออายุขัย”  หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “ยีนที่ทำให้อายุยืน”  จากการทดลองกับสัตว์ทุกชนิดพบว่า  เมื่อลดปริมาณอาหารลง 40% จะทำให้อายุยืนขึ้น 1.5 เท่า  ทว่ายีนนี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขบางประการ  นั่นคือ  “ความหิว”  ตราบใดที่ท้องไม่ร้องจ๊อกเพราะหิว  ยีนนี้ก็จะไม่ทำงาน  ดังนั้น  การกินอาหารทั้งที่ยังไม่หิวจึงหมายถึงการมีของดีอยู่กับตัวแต่ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์  มาทำให้ท้องร้องจ๊อกด้วยการกินอาหารวันละมื้อดีกว่า  แล้วยีนเซอร์ทูอินนี้จะช่วยสแกนยีนในร่างกายอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งค่อยๆฟื้นฟูส่วนที่เสียหาย  กล่าวกันว่าความแก่ชราและโรคมะเร็งก็มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของยีน  ดังนั้นเราสามารถทำให้กลับเป็นหนุ่มสาวและป้องกันโรคมะเร็งด้วยการกินอาหารวันละมื้อ

4. เมื่อหิวแล้วอาหารยังตกไม่ถึงท้อง  ร่างกายจะนำไขมันที่สะสมไว้ในช่องท้องมาเปลี่ยนเป็นสารอาหาร  ทำให้หน้าท้องแบนราบ

บทที่ 4:
พูดถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการกินวันละมื้อ  แต่มีข้อมูลใหม่ว่าการนอนที่ดีคือนอนในช่วงร่างกายผลิต Growth Hormone ได้ดีที่สุดคือระหว่าง สี่ทุ่มถึงตีสอง

ความเห็นส่วนตัว

หลังจากอ่านจบผมคิดว่าสิ่งที่จะทำคือ

1. รอให้ท้องร้องจ๊อกๆบ่อยๆเพื่อซ่อมแซมตัวเองและทำให้เยาว์วัยลง
2. ทานน้อยลง 60% ของแต่ละมื้อ

ส่วนกินมื้อเดียวยังไม่ทำเพราะว่ามัน Hardcore เกินไป

แต่ละท่านอ่านแล้วก็ลองใช้วิจารณญาณดูละกันครับ  แต่ผม search หาข้อมูลสนับสนุนมากพอควรก่อนจะตัดสินใจสรุปเป็น Note นี้มาให้อ่านกันครับ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013541142145793 Mins