จากวัดปากน้ำถึงวัดบวรฯ จับแรงสะเทือนมติมส.

วันที่ 03 มีค. พ.ศ.2558

 

 

จากวัดปากน้ำถึงวัดบวรฯ จับแรงสะเทือนมติมส.


จากวัดปากน้ำถึงวัดบวรฯ จับแรงสะเทือนมติมหาเถรสมาคม : ไตรเทพ ไกรงูรายงาน


              “ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีพระลิขิตลงวันที่ 26 เมษายน 2542 นั้น ชี้ชัดว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือ หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ”

 

              คือหัวข้อสำคัญในการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือวาระดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความกระจ่างแก่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ

 

              และในเวลาอันรวดเร็วแบบม้วนเดียวจบ มส.มีบทสรุปหลังการประชุมว่า "ธัมมชโย ไม่อาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีพระลิขิตลงวันที่ 26 เมษายน 2542"
  


              มติ มส.ครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามความคาดหมายของวัดพระธรรมกาย ซึ่งรู้มาล่วงหน้ามานานถึง 4 ปีแล้ว ถ้าจับความเคลื่อนไหวกันให้ดี จะพบว่าไม่มีปฏิกิริยาในแนวระดมลูกศิษย์แสดงพลังเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มาแต่อย่างใด อย่างมากที่เห็นก็คือ การออกประกาศตอบโต้สภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยยืนยันว่า หล่วงพ่อธัมมชโยไม่ปาราชิก และเรื่องจบไปแล้ว

 

              ที่บอกวัดพระธรรมกายรู้ล่วงหน้ามานาน 4 ปีแล้วว่า มส.คิดอย่างไรกับวัดพระธรรมกายนั้นก็เพราะว่า เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2554 พระราชภาวนาวิสุทธิ์ อธิมุตธรรมวรากร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี หรือ หลวงพ่อธัมมชโย ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพญาณมหามุนี ศรีธรรมโกศล โสภณภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

 

              เป็นสัญญาณจากมหาเถรสมาคม ที่ส่งถึงวัดพระธรรมกายโดยตรง นั่นก็คือการให้คำรับรองสถานภาพของพระธัมมชโยเรียบร้อยไปแล้ว

 

              กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงสายสัมพันธ์อันยาวนานแน่นแฟ้นระหว่างวัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกาย ที่ผ่านมานั้น สังคมพุทธรับรู้กันว่า หลวงพ่อสดพระมงคลเทพมุนี แห่งวัดปากน้ำคือต้นธารของธรรมกาย หากแต่คงน้อยคนนั้นที่จะทราบว่า เจ้าอาวาสวัดปากน้ำองค์ปัจจุบันคือ พระอาจารย์ของพระธัมมชโยโดยตรง

 

              โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2512 นายไชยบูลย์ สุทธิผล หรือ พระเทพญาณมหามุนี บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีพระเทพวรเวที (ปัจจุบันคือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพัฒน์ธรรมคณี เป็น พระกรรมวาจาจารย์ พระวิเชียรกวี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ธมฺมชโย" แปลว่า "ผู้ชนะโดยธรรม"

 

              ความสำคัญของพระอุปัชฌาย์ คือมีหน้าที่หลัก 2 อย่างคือ เป็นผู้รับผิดชอบและรับรองผู้บวชในพิธีบรรพชาอุปสมบทและเป็นผู้รับปกครองดูแล แนะนำ ตักเตือนและติดตามความเป็นอยู่ของผู้ที่ตนบวชให้ เหมือนบิดาปกครองดูแลบุตร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “พระอุปัชฌาย์ที่จะพิจารณาเหมือนบิดาปกครองดูแลบุตร”

 

              แน่นอนที่สุดว่า มติ มส.ครั้งนี้ เป็นที่ถูกใจของศิษย์วัดพระธรรมกาย แต่ขัดความรู้สึกศิษย์วัดบวรฯ เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ว่ากันว่า พระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่กับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 กำลังจะเป็นเงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งสายวัดบวรเชื่อว่า สามารถทำให้สมเด็จพระรัชมังคลาจารย์  (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ซึ่งกำลังจะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 เพราะถือว่ามีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน ต้องรักษาการไปอีกนานหลายปีได้เช่นกัน
 


              ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลรักษาการขณะนั้นได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักพระราชวัง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมศิลปากร กรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะศิษย์วัดบวรฯ เป็นต้น เพื่อประชุมวางแนวทางกำหนดงานพระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่สำนักนายกรัฐมนตรี

 

              การประชุมวันนั้นได้กำหนดงานพระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ไว้ในวันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2557 แต่ถูกคัดค้านจากคณะศิษย์วัดบวรฯ อย่างรุนแรง

 

              ในวันเดียวกันนั้นเอง เป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นั่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้กำหนดงานพระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เลื่อนออกไป นั่นหมายถึง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำก็ยังต้องรักษาการสมเด็จพระสังฆราชต่อไปอีกเช่นกัน

 

              ในอีกด้านหนึ่ง กลับมีกระแสข่าวหนาหูว่า "มส.เตรียมร่างมติเสนอให้มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 โดยไม่ต้องให้กำหนดงานพระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่จะมีขึ้นในปี 2558 ผ่านพ้นไปก่อน เช่น ธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติในอดีต”

 

              ทั้งนี้ ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช นั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ตามมาตรา 7 ใจความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง วรรคสอง เมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระสังฆราชไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบตามมติของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

 

              ส่วนใน พ.ศ.2559 ศิษย์สายวัดปากน้ำรู้ข่าวว่า คณะศิษย์สายวัดบวรฯ จะเสนอให้รื้อฟื้นพิธีหนึ่งขึ้นมาในพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งจะส่งผลให้รักษาการสมเด็จพระสังฆราชต้องรักษาการต่อไปอีก 5 ปี รวมกับปี 2558 เข้าด้วยจะเป็นเวลา 6 ปี

 

              กรณีการจะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่ หรือไม่นั้น ในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์อะไรตายตัว

 

              ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ.2396 รัชกาลที่ 4 ทรงไม่โปรดที่จะแต่งตั้งพระสงฆ์รูปใด ให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเลยตลอดรัชกาล จนถึงกลางสมัยรัชกาลที่ 5 กว่าจะมีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2434 ทิ้งระยะเวลาที่สยามไม่มีพระสังฆราชตั้งแต่ปี พ.ศ.2396-2434  นับรวมปีที่สยามประเทศไม่มีพระสังฆราชในตอนนั้นนานถึง 38 ปี

 

              นั่นคือประวัติศาสตร์ปีที่ผ่านมายาวนานถึง 162 ปี ที่ยามนี้ ชาวพุทธทั้งหลายคงเฝ้ามองกันอย่างจดจ่อว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า กงล้อประวัติศาสตร์จะหมุนซ้ำรอยเดิม

 

              เป็นความจดจ่อ ที่ต้องจับตาไปพร้อมกับแรงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นที่สะท้อนออกมาจากรอบรั้ววัดปากน้ำ กับวัดบวรฯ ไปพร้อมๆ กัน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012402335802714 Mins