วัตถุประสงค์ของการรักษาศีล

วันที่ 10 มีค. พ.ศ.2558

วัตถุประสงค์ของการรักษาศีล

     หากเราเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการรักษาศีลว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างไรจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรักษาก็จะทำให้เราสามารถรักษาศีลได้อย่างถูกต้องรักษาแล้วเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ที่แท้จริงของศีลไม่ใช่เป็นเพียงแค่การรักษาแบบทำตามกันมาหรือว่ารักษาไปอย่างนั้น ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย

การรักษาศีล มีวัตถุประสงค์สำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติปัจจุบัน ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

2. เพื่อให้เกิดความสุข ความดีงาม ในการดำเนินชีวิต

3. เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็นและความดีงามแก่ครอบครัว และสังคม

4. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติต่อไป ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น

5. เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมที่สูงขึ้นไป ได้แก่ สมาธิ และปัญญาอันจะทำให้บรรลุ มรรคผลนิพพานได้

     วัตถุประสงค์ข้อ 1,2,3 เป็นวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุขไม่ต้องประสบพบเจอกับความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือความเสื่อมเสีย ในภพชาติปัจจุบัน เพราะผู้ที่ไม่รักษาศีล มักเบียดเบียน หรือทำความเดือดร้อนให้กับตนเอง หรือผู้อื่น และเมื่อทำแล้ว ความเดือดร้อนที่เป็นผลจาก การกระทำนั้น ย่อมย้อนกลับมาหาตัวเอง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยสังคามวัตถุสูตรว่า

     “ ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบผู้ด่าย่อมได้รับการด่าตอบและผู้ขึ้งเคียดย่อมได้รับความขึ้งเคียดตอบ ฉะนั้น เพราะความหมุนกลับแห่งกรรมผู้แย่งชิงนั้นย่อมถูกเขาแย่งชิง ”หากแต่ละคนในสังคมรักษาศีลไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันครอบครัวหรือสังคมนั้นย่อมมีความสงบสุขเรียบร้อยไม่เกิดความวุ่นวายการรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมอย่างนี้

    วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เป็นวัตถุประสงค์สำหรับป้องกันความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นในภพชาติเบื้องหน้าเพราะการไม่รักษาศีลย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิและหากเกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้งก็จะมีอายุสั้นเป็นผู้ที่ไม่สมประกอบร่างกายพิกลพิการ เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นประจำสิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้นการรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อป้องกันความทุกข์ในภพชาติเบื้องหน้าอย่างนี้

     วัตถุประสงค์ข้อที่ 5 การรักษาศีลเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรม คือสมาธิและปัญญา โดยสมาธิจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยศีลที่บริสุทธิ์เป็นพื้นฐานหากไม่มี ศีล สมาธิ ก็เกิดไม่ได้เพราะศีลเป็นเครื่องช่วยควบคุมกายกับวาจาในขณะที่สมาธิเป็นเครื่องช่วยควบคุมใจดังนั้นเมื่อกายกับวาจาไม่สงบใจก็ยากที่จะสงบได้เมื่อใจไม่สงบแล้วสมาธิก็ยากที่จะเกิดและเมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญารู้แจ้งในเรื่องความจริงของชีวิตก็ย่อมไม่เกิดขึ้นไปด้วยเมื่อไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถกำจัดกิเลสอาสวะเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานได้เมื่อไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต้องประสบกับความทุกข์ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอยู่ร่ำไปแต่เมื่อรักษาศีลได้เป็นอย่างดีสมาธิก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้และเมื่อสมาธิเกิดปัญญาก็เกิดตามมาเมื่อปัญญาเกิดก็สามารถจะกำจัดกิเลสอาสวะ และบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ดังนั้นการรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพานอย่างนี้


จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030379215876261 Mins