วัตถุประสงค์ของทาน ศีล ภาวนา

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2558

 

 

วัตถุประสงค์ของทาน ศีล ภาวนา

     เมื่อถึงตรงนี้เราพอจะทราบถึงความจำเป็นที่ต้องทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาแล้ว ซึ่งพอจะสรุปถึงสาเหตุหรือวัตถุประสงค์ที่ต้องทำได้ดังนี้

1. เพื่อให้ได้ความสุข

2. เพื่อให้เกิดความรักในการทำความดีจนเป็นนิสัย

3. เพื่อกำจัดอาสวกิเลส

 

เพื่อให้ได้ความสุข 

     ทาน หรือการให้ ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ทุกชีวิตไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม การให้จะช่วยแก้ไขปัญหาที่หนักทำให้เบาที่วุ่นวายเคร่งเครียดทำให้ผ่อนคลายทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น อีกด้วย การให้นั้น ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ ที่ให้แล้วจะไม่ได้เป็นไม่มีเพียงแต่ว่าการได้มานั้นหลากหลายรูปแบบจนบางครั้งทำให้แยกแยะไม่ถูกแต่อย่างไรก็ตามที่สัมผัสได้ชัดก็คือทุกครั้งที่ให้เราจะได้ความสบายใจความสุขใจและเมื่อนั้นความสะอาดบริสุทธิ์จะเกิดขึ้นในใจของเราถ้าปราศจากการให้หรือการเสียสละด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้วก็เป็นการยากยิ่งที่คนเราจะพ้นทุกข์พบสุขที่แท้จริงได้เพราะต้นเหตุของความทุกข์ยากก็คือความโลภความอยากได้สุขที่เนื่องด้วยสิ่งภายนอกจนทำให้ชีวิตต้องดิ้นรนแสวงหาทุกวิถีทางอันก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมายความอยากนั้นจะไม่มีทางหมดไปได้เลยหากเราไม่เริ่มต้นด้วยการให้

     ศีล คือ มนุษยธรรมอันมีอยู่ตลอดกาล เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข การรักษาศีล นำมาซึ่งความสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามทุกประการเป็นความดีงามที่ยั่งยืนและเผื่อแผ่กว้างขวางสร้างสันติสุขให้กับโลกได้ นอกจากนี้ศีลยังช่วยแก้ปัญหาต่างๆในชีวิตทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสังคมทั้งปัญหาส่วนตัวและส่วนรวมจนอาจกล่าวได้ว่าไม่มีปัญหาใดในโลกที่ศีลไม่อาจแก้ไขได้แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แม้มนุษย์ทั้งหลายจะรู้ว่าศีลนั้นมีคุณค่าต่างคนต่างปรารถนาจะคบหากับผู้ที่รักษาศีลแต่มนุษย์กลับละเลยที่จะรักษาศีลของตนเอง จึงเป็นเหตุให้ความเดือดร้อนวุ่นวายไม่เคยจางหายไปจากโลกนี้เลยทั้งที่การรักษาศีลนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองไม่ต้องใช้วิชาความรู้ใดๆขอเพียงแต่มีใจที่ดีงามเท่านั้น เพราะการรักษาศีลเป็นการทำบุญด้วยใจอาศัยใจที่เข้มแข็ง อดทน มั่นคงในความปรารถนาดีต่อตนเองและผู้อื่น ใจที่สะอาดมั่นคงเช่นนี้จึงสามารถเป็นฐานที่ตั้งแห่งความดีงามทั้งหลายได้ผู้ที่รักษาศีลจึงได้บุญได้อานิสงส์อย่างมหาศาล

     ภาวนา หรือการทำสมาธิ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์มากมายสุดจะคณานับ ทั้งประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ เองและผู้คนรอบข้าง อีกทั้งสมาธิยังเป็นของสากลที่ทุกคนในโลกสามารถปฏิบัติได้ สมาธิหาได้เป็นของเฉพาะสำหรับนักบวชหรือฤาษีชีไพรเท่านั้นไม่ แต่สมาธิเป็นของกลางๆ ที่อยู่เหนืออิทธิพลของความเชื่อ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ใดๆ ทุกคนล้วนสามารถแสวงหาโอกาส อันเป็นทางมาแห่งบุญของตนเอง ด้วยการทำภาวนา ได้ทั้งสิ้น ในขณะที่โลกกำลังคุกรุ่นด้วยความไม่สงบอันเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น สงคราม ความ ขัดแย้งทางความคิด การเหยียดผิว ฯลฯ ทุกฝ่ายต่างก็ร่วมมือช่วยกันเพื่อที่จะหาสาเหตุ และกำจัดความ ไม่สงบเรียบร้อยนั้น เท่าที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครรู้ซึ้งถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและหาทางแก้ไขได้ อย่างถูกจุดเลย ดูไปคล้ายกับเส้นผมบังภูเขา โดยแท้ที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดก็ตาม ทั้งดีและ ไม่ดี ล้วนมีต้นเหตุมาจาก ใจŽ ของคนเราเองทั้งสิ้น ใจที่เป็นตัวควบคุมความคิด คำพูด และการกระทำ ของมนุษย์ ใจนี้เองที่มีอำนาจสั่งการทุกสิ่ง และใจนี้แหละที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของโลกทั้งในด้านบวกและลบ หากผู้หนึ่งเริ่มต้นทำสมาธิใจของเขาย่อมได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นในสภาวะที่เป็นสมาธิใจหยุดนิ่งอยู่ท่ามกลางความสงบภายในย่อมปราศจากความคิดคำพูดและการกระทำในด้านร้ายต่อใครๆ กระแสแห่งความสงบและบริสุทธิ์เริ่มก่อตัวขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งครอบคลุมไปทั่วอาณาบริเวณ อานุภาพของคนคนหนึ่งมีได้มากมายถึงเพียงนี้ และถ้าหากเราลงมือทำสมาธิกันทั้งโลก กระแสใจของทุกคนย่อมมีผลถึงกันและกัน คุณภาพใจของทุกคนย่อมได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น เป็นสภาวะใจ ที่อยู่เหนือ ปัญหาทั้งมวล เราจะมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ความแตกต่างก็จะหมดจากโลกนี้ไป คือ มองข้ามความ แตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ไปจนหมดไม่เหลือความแตกต่างใดที่มีผลทำให้มวลมนุษยชาติไม่เข้าใจกันได้โลกก็จะพบกับความสงบสุขที่แท้จริงอันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนั้นสันติภาพของโลกจึงเริ่มต้นจาก สันติสุขภายในของเราเอง
 

เพื่อให้รักการทำความดีจนเป็นนิสัย 

     ทาน ศีล ภาวนา มีความจำเป็นที่จะต้องทำจนติดเป็นนิสัย เพราะมีสาเหตุหลายประการที่ทำให้ เราห่างเหินจากการทำความดีได้ง่าย ดังจะยกตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้

1) กระแสโลก

สังคมโลกนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดึงให้เราเอาใจไปเกาะเกี่ยวทำให้ชีวิตประจำวันของเรามักต้อง ให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านั้น เช่น ภาพยนตร์ งานรื่นเริง สถานที่ท่องเที่ยว อุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ เป็นต้นยิ่งกระแสโลกในยุคปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ยิ่งต้องติดตามสถานการณ์เพื่อปรับตัว ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ นอกจากนี้ในหลายๆแห่งยังเต็มไปด้วยอบายมุขหลากชนิดที่ดึงทั้งกายและใจของเราให้เข้าไปยึดติดสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำลายความคิดที่จะสั่งสมความดีให้หมดไปทั้งสิ้น

2) หน้าที่การงาน 

ความรับผิดชอบที่ต้องมีต่ออาชีพเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเพราะสิ่งนี้เป็นทางมาของโภคทรัพย์ที่จะนำมาหล่อเลี้ยงชีวิตอาชีพที่มีอยู่ในโลกนี้ที่ทำแล้ว ถือ ว่า เป็นความดีก็พอมีอยู่บ้าง แต่ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นอาชีพที่จำเป็นต้องก่อบาปไปพร้อมกันด้วย เรียกว่า บาปประจำอาชีพ เช่น เลี้ยง สัตว์เพื่อนำไปฆ่า มือปืนรับจ้าง เจ้าของบ่อนการพนัน ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ เป็นต้น แม้บางอาชีพจะมี ลักษณะเป็นกลางๆ คือ ไม่ได้ทำทั้งบุญ และบาป แต่ก็ยังมีโอกาสให้กระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบได้

สิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมให้เกิดทัศนคติที่ตรงข้ามกับความดี เนื่องจากความเสพคุ้นในงานอาชีพ ที่ต้องทำเป็นประจำ

3) กระแสบาปอกุศลที่เข้าแทรก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ”บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตเสียจากบาป เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ใจจะยินดีในบาปŽ” ธรรมชาติของกระแสบาปมักจะเข้าแทรกในใจของมนุษย์เสมอเมื่อมีโอกาส หากไม่พยายามหาโอกาสคิด พูด หรือทำในเรื่องบุญแล้วใจมักจะเตลิดไปในเรื่องอกุศลได้

4) ความไม่แน่นอนของชีวิต

ปุถุชนคนธรรมดาไม่มีโอกาสรู้เลยว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึงเมื่อไรดังนั้นเพื่อให้เกิดความ มั่นใจได้ว่าเมื่อละสังขารจากโลกนี้แล้วจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปจึงเป็นเหตุให้ต้องสั่งสมบุญบ่อยๆทำให้เป็นอาจิณกรรมจนติดเป็นนิสัยเมื่อถึงเวลาจะละโลกไปจริงๆใจที่คุ้นอยู่แต่กับบุญก็จะนำให้ไปสู่สุคติ มีความสุขในโลกสวรรค์ต่อไป

5) ความเกิดทำให้ลืมอดีตชาติ

เมื่อเรากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งความทรงจำในอดีตชาติจะถูกลบเลือนไปทำให้จดจำอะไร ไม่ได้เลยต้องมาเริ่มเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ดังนั้นถ้าหากเราสั่งสมบุญให้บ่อยจนติดเป็นนิสัย ซึมซาบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับขันธสันดานแล้วแม้เมื่อมาเกิดใหม่จะลืมอดีตก็ตามก็จะมีความคุ้นเคยกับความดี รักและอยากจะทำความดี และจะพยายามขวนขวายในการสร้างบุญมากเป็นพิเศษ

     ดังมีตัวอย่างของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร เมื่อคลอดออกจากครรภ์ของมารดา ก็เหยียดแขนออกพลางกล่าวว่า ข้าแต่แม่ในเรือนมีทรัพย์บ้างไหม ลูกจะให้ทานŽพระโพธิสัตว์ได้สั่งสมทานมาหลายภพหลายชาติจนติดเป็นนิสัยมีอัธยาศัยรักในการให้อยู่เสมอแม้จะเพียงเพิ่งคลอดออกจากครรภ์มารดาก็ตาม
 

เพื่อกำจัดอาสวกิเลส

      เป้าหมายสูงสุดของทุกๆชีวิต คือ พระนิพพาน ภารกิจนี้ถือว่าเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้เวลานานหลายภพหลายชาติการจะไปถึงได้นั้น ต้องขจัดขัดเกลากิเลสที่ฝังแน่นอยู่ในใจให้หลุดร่อนไปให้หมดการจะกำจัดกิเลสได้ก็ต้องอาศัยบุญ ดังนั้นที่เราทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาก็หวังเอาบุญเป็นที่ตั้ง เนื่องจากการจะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นไม่สามารถกระทำให้สำเร็จได้ภายในชาติเดียวเพราะต้องอาศัยกำลังบารมีที่สั่งสมมามาก สมเด็จพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะนี้ต้องทรงสร้างบารมีมาตั้งแต่เริ่มแรกจนกว่าจะได้ตรัสรู้นั้นนับเป็นเวลานานถึง 20 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัปพอดี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสั่งสมทานเอาไว้เป็นเสบียง เพราะทานจะเป็นหลักประกันได้ว่า เกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติผลแห่งทานนี้จะทำให้ได้โภคทรัพย์สมบัติมาไว้ใช้สอยอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ เพราะศีลจะเป็นหลักประกันได้ว่าในภพเบื้องหน้าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ กายมนุษย์นี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นอัตภาพเดียวที่เหมาะสมที่สุดในการทำความดีเมื่อสมบูรณ์พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติและอัตภาพมนุษย์เช่นนี้โอกาสในการสร้างบารมีก็เปิดกว้าง สามารถทุ่มเททำความดีได้ในทุกรูปแบบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา ก็ทำต่อเนื่องไปได้โดยเฉพาะการทำภาวนาซึ่งมีความสำคัญที่สุดเมื่อปราศจากความห่วงกังวลในเรื่องปากท้อง ผนวกกับการมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บและมีอายุยืนยาวแล้วก็เท่ากับได้โอกาสทองในการเจริญภาวนาทำใจให้หยุดนิ่งเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัวและอาศัยพระธรรมกายนี้ไปปราบกิเลสทั้งหยาบและละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปได้

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00085766712824504 Mins