อิทธิบาท4 (วิมังสา)

วันที่ 05 พค. พ.ศ.2558

 

อิทธิบาท4

 

อิทธิบาท4 (วิมังสา)

 

      วิมังสา1) แปลว่า ความตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้นๆ หมายความว่า ใช้ปัญญาสอดส่องเทียบเคียงเปรียบเทียบ ทั้งเหตุทั้งผลในความดีต่างๆ ที่ตนกระทำแล้ว คือ ย้อนกลับไปดูว่าตนได้ทำเหตุปลูกฉันทะ ใช้วิริยะ ได้ตั้งจิตตะในการนั้นๆไว้มากน้อยเท่าไรแล้วได้ผลเท่าไรแม้ในปัจจุบันกำลังทำเหตุ คือ ปลูกฉันทะเป็นต้นไว้เท่าไร ต่อไปคงจะได้ผลเท่าไร

      ถ้าได้ทำเหตุ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ไว้ดีในเบื้องต้น ก็ย่อมได้รับผล คือความสำเร็จในชั้นนั้นๆเป็นลำดับมาและถ้าไม่ละเหตุดังกล่าวนั้นเสียในปัจจุบันก็ย่อมได้ผลคือความสำเร็จในชั้นสูงต่อไปในอนาคตแม้ในการปฏิบัติธรรมสะสางกิเลส ถ้ามีเหตุคือฉันทะเป็นต้นบริบูรณ์ ก็ย่อมจะได้รับผลดีเป็นชั้นๆ ถ้ามีเหตุไม่บริบูรณ์ ก็ย่อมได้รับผลไม่ดี คือละกิเลสไม่ได้
      อีกประการหนึ่ง กิจกรรมใดๆ จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด หรือไม่สำเร็จ เพราะเหตุใดตนเองจะต้องสอบสวนเปรียบเทียบด้วยตนเองเป็นดีที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่า ปฏิมํเสตมตฺตนา จงพิจารณาสอบสวนด้วยตนเอง
  เมื่อบุคคลพิจารณาสอบสวนการกระทำของตนด้วยตน ก็ย่อมเข้าใจตนเอง สามารถปรับตนเอง ให้ถูกต้อง ทำงานให้ถูกต้อง ทั้งคดีโลกคดีธรรม ก็ย่อมสำเร็จกิจตามวัตถุประสงค์ที่ไม่เหลือวิสัยทุกประการ
วิมังสาในแนวทางการปฏิบัติสมาธิ
      ในแนวทางการปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงใคร่ครวญถึงแนวทางการปฏิบัติ ของพระองค์อยู่เสมอ กว่าการตรัสรู้ธรรมของพระองค์จะเกิดขึ้นได้ทรงใช้วิจารณญาณ ในการใคร่ครวญ ทำการทดลองอยู่ถึง 6 ปี ในที่สุด ก็บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
       วิมังสานั้น พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีได้ให้2)ความหมายโดยสรุปไว้คือ “ ทดลอง” ท่านได้ขยายความว่า “ ทดลองในที่นี้ ได้แก่ หมั่นใคร่ครวญสอดส่องดูว่า วิธีการที่ทำไปนั้นมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง รีบแก้ไข อย่างนั้นไม่ดีเปลี่ยนอย่างนี้ลองดูใหม่ เช่น นั่งภาวนาในที่นอนมักจะง่วง ก็เปลี่ยนมานั่งเสียที่อื่น เป็นต้น”
      วิมังสา ในแนวการปฏิบัติพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์3) ได้ขยายความคำว่า วิมังสา ไว้ดังนี้
      “ วิมังสามาแล้ว ตรวจตราปรับปรุงวิธีการ ปรับปรุงใจว่า ทำไมเราถึงนั่งแล้วไม่หยุด ทำไมเมื่อวานนั่งดี วันนี้ทำไมนั่งไม่ดี หรือวันนี้นั่งดีทำอย่างไรถึงจะดีตลอดไป หรือ เราได้ยินได้ฟังคนนั้นเขาหยุดเขานิ่งเขามีความสุข เขาเข้าถึงดวงธรรมภายในทำอย่างไรเราถึงจะเข้าถึงเราตึงเกินไป เราหย่อนเกินไปไหม วิมังสามันก็จะมาตอนนี้”
       ธรรมทั้ง 3 ประการข้างต้น คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ต้องมีวิมังสาเป็นตัวช่วย เพราะถ้ามีฉันทะ ไม่พอดี คือ หย่อนเกินไป ไม่ค่อยจะรักในการปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร หรือมีฉันทะมากเกินไปจนกลายเป็นความอยาก การปฏิบัติจะผิดวิธี และไม่สำเร็จผล เช่นเดียวกันหากมีความเพียรย่อหย่อน ไม่ค่อยได้ทำ หรือมีความเพียรจัดเกินไปจนร่างกายบอบช้ำ การปฏิบัติจะสัมฤทธิผลได้ยาก

        อีกประการหนึ่ง ถ้าหากทำไปเรื่อยๆ มีจิตตะ แต่ถ้าไม่ได้พัฒนาแนวทางการปฏิบัติ การปฏิบัติก็จะไม่ก้าวหน้า

        ท่านพระโสณะเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราควรยึดถือเป็นแบบอย่าง เราจึงควรมีวิมังสา หมั่นพิจารณาในการที่จะปรับการปฏิบัติของเราให้พอเหมาะพอสมและให้มีผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้าขึ้น

        ท่านโสณะเป็นพระสาวกผู้เลิศทางด้านการทำความเพียร แต่ในช่วงต้น ท่านทำความเพียรจัดเกินไปจนร่างกายบอบช้ำจึงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ การปฏิบัติของท่านนั้นว่ากันว่าถึงขั้นเลือดตกยางออกกันทีเดียวมีเรื่องเล่าว่าในช่วงต้นท่านได้ทำความเพียร ทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเหตุให้เกิดความง่วงอย่างมาก เมื่อเกิดความง่วงขึ้นท่านจึงเริ่มเดินจงกรม และการเดินจงกรมของท่าน ก็เดินเท้าเปล่า เนื่องจากพระสมัยนั้นไม่ใส่รองเท้า เป็นเหตุให้เท้าของท่านแตกเมื่อเท้าของท่านแตกจนเดินไม่ได้ท่านก็ไม่ละความเพียรยังคงเดินต่อไปด้วยเข่า และ ในที่สุดก็ต้องคลานสถานที่ท่านทำความเพียรจนพื้นที่ที่ทำ ความเพียรเป็นสีแดงด้วยเลือดของท่าน สถานที่นั้นเป็นเหมือนลานเชือดโคท่านพิจารณาเห็นว่าท่านทำความเพียรอย่างหนักประกอบด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ทำให้ท่านบรรลุได้ ด้วยวิมังสาที่ยังไม่สมบูรณ์ของท่าน ท่านจึงคิดว่าสงสัยเรานั้นจะไม่มีบุญได้บรรลุเป็นแน่ เพราะเราถึงทำความเพียรอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่บรรลุ เกิดความท้อใจจึงคิดสึกไปเป็นคฤหัสถ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณจึงทรงเสด็จมาเพื่อเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ท่านด้วยการมาเติมวิมังสาให้สมบูรณ์ โดยใช้อุปมาของพิณ 3 สาย ดังเนื้อเรื่อง ที่จะยกมาเป็นตัวอย่าง4)

      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบปริวิตกแห่งใจของท่านพระโสณะด้วยพระทัยแล้วทรงหายตัวจากภูเขาคิชฌกูฏไปปรากฏตรงหน้าของท่านพระโสณะที่ป่าสีตวัน ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูแล้ว แม้ท่านพระโสณะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระโสณะว่า “ ดูก่อนโสณะ ท่านหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดปริวิตก แห่งใจอย่างนี้ หรือว่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้ปรารภความเพียรเราก็เป็นผู้หนึ่งในจำนวนสาวกเหล่านั้น ก็แต่ว่าจิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นก็โภคทรัพย์มีอยู่ในสกุลของเราอาจเพื่อใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญได้ หรือ มิฉะนั้นเราควรบอกคืนสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญดีกว่า”

       ท่านพระโสณะทูลว่า “ อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนโสณะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ท่านเมื่อก่อน ยังอยู่ครองเรือน เป็นผู้ฉลาดในการดีดพิณ ใช่หรือไม่”

        ท่านพระโสณะทูลว่า “ ใช่ พระเจ้าข้า”

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนโสณะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ก็เมื่อใดสายพิณของท่านตึงเกินไป เมื่อนั้น พิณของท่านย่อมมีเสียงไพเราะหรือ ย่อมควรแก่การใช้งานหรือไม่”

        ท่านพระโสณะทูลว่า “ ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า”

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนโสณะ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร เมื่อใดสายพิณของท่านหย่อนเกินไป

        ท่านพระโสณะทูลว่า “ ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า”

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าดูก่อนโสณะ “ ดูก่อนโสณะ ก็เมื่อใด สายพิณของท่านไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ขึงให้ตึงปานกลาง เมื่อนั้น พิณของท่านย่อมมีเสียงไพเราะ หรือย่อมควรแก่การใช้งานหรือไม”่

         ท่านพระโสณะทูลว่า “ อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนโสณะ ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรที่ปรารภมากเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่านความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ดูก่อนโสณะ เพราะฉะนั้นท่านจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอจงตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น”

       ท่านพระโสณะทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทนี้แล้วทรงหายจากป่าสีตวันไปปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏเปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียดฉะนั้นต่อมาท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ ได้ตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และ ได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้นต่อมาท่านอยู่ผู้เดียวไม่ประมาทมีความเพียรตั้งใจแน่วแน่ทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมก็ท่านพระโสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

        พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์มักจะบอกว่าพวกเรามักจะลืมเวลาปฏิบัติจริงจึงมักเดินตามแนวทางเดิมซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและเป็นอย่างนี้ซ้ำๆ โดยที่เราไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงเป็นเหตุให้บางคนต้องยืดเวลาการเข้าถึงธรรมออกไป เป็น 5 ปี 10 ปี บางคนถึง 20 ปี

     เพราะฉะนั้น ให้เราได้ตั้งมั่นในอยู่ในธรรม 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาหรือที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีได้ให้คำสรุปไว้ว่าปักใจ บากบั่น วิจารณ์ และทดลอง ธรรม 4 ประการก็จะบังเกิดขึ้นในตัวของเราทุกคน หากเรามีธรรมทั้ง 4 ประการนี้ครบถ้วนไม่ว่าจะมีภารกิจมากน้อยเพียงใดก็ตามจะสมความปรารถนาเข้าถึงความสุขภายในอย่างง่ายๆเพราะฉะนั้น ให้มีฉันทะมีความรักที่จะเข้าถึงธรรม วิริยะ ความเพียรในทำสมาธิ จิตตะ จิตใจฝักใฝ่ในการทำเพียรอย่างต่อเนื่องและวิมังสาหมั่นทำการทดลองและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางที่ตั้งไว้

 

*************************************************************************

1) คณาจารย์โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, แบบประกอบนักธรรมตรี อธิบายธรรมวิภาค ปริเฉทที่ 1, 

(กรุงเทพฯ : เลี่ยงเชียง, 2536), หน้า 95-96.

 

2) มรดกธรรม กัณฑ์ที่ 2 หน้า 64.
 

3) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 3 ตุลาคม 2536.

 

4) โสณสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต, มก. เล่ม 36 ข้อ 326 หน้า 706.

                **************************************************************************

 

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4 

 

เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010357022285461 Mins