หลักสำคัญของการนั่งสมาธิ (สติคืออะไร)

วันที่ 05 พค. พ.ศ.2558

 

 

หลักสำคัญของการนั่งสมาธิ

 

              หลักสำคัญของการนั่งสมาธิ (สติคืออะไร)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ในการปฏิบัติสมาธิ สิ่งสำคัญที่จะนำใจไปสู่ฝั่งแห่งใจหยุด นั่นคือ สติกับสบาย ทั้ง 2 อย่างนี้จะต้องไปคู่กัน ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมด้วยวิธีการอย่างไรก็ตาม จะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม หลักก็มีอยู่ว่าจะต้องให้สติกับสบายไปคู่กัน เพราะทั้ง 2 ประการนี้ คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ถึงจุดหมายปลายทางคือ ใจหยุด แต่ถ้าหากเรายังไม่สามารถทำ 2 ประการนี้ควบคู่กันไปได้ เราก็จะยืดเวลาในการที่จะทำให้ใจของเราหยุดได้ยากมากขึ้นไปเพียงนั้น ดังนั้น ในบทเรียนนี้เราจึงควรมาศึกษาเทคนิคการมีสติและความสบายให้ไปควบคู่กัน

 

สติคืออะไร 

 

     สติ คือ ความระลึกนึกได้ถึงความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้คิดพูดทำในสิ่งที่ถูกต้องทำให้ไม่ลืมตัวไม่เผลอตัวใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้

     ธรรมชาติของจิตมีการนึกคิดตลอดเวลา การนึกคิดนี้ถ้าไม่มีสติกำกับ ก็จะกลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีสติกำกับแล้วจะทำให้ไม่เผลอควบคุมความนึกคิดได้ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไป ไม่ปล่อยอารมณ์ให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบ

 

หน้าที่ของสติ

 

1.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความระมัดระวังตัวป้องกันภัยที่จะมาถึงตัว คือ ระแวงในสิ่งที่ควรระแวง และระวังป้องกันภัยที่จะมาถึงในอนาคต

2.สติเป็นเครื่องยับยั้งเตือนไม่ให้ตกไปในทางเสื่อมไม่ให้มัวเมาลุ่มหลงไม่ให้เพลิดเพลินไปในสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษต่อตนเองเช่น เพื่อนชวนไปดื่มเหล้าก็มีสติยับยั้งตัวเองไว้ว่าอย่าไป เพราะ เป็นโทษต่อตัวเอง ฯลฯ

3.สติเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ขวนขวายในการสร้างความดี ไม่แชเชือนหยุดอยู่กับที่ไม่ทอดธุระ ไม่เกียจคร้าน ป้องกันโรคนอนบิดติดเสื่อ งานการเบื่อทำไม่ไหว ข้าวปลากินได้อร่อยดี

4.สติเป็นเครื่องเร่งเร้าให้มีความขะมักเขม้น คือ เมื่อเตือนตัวเองให้ทำความดี แล้วก็ให้ทำอย่างเอาจริงเอาจังไม่อืดอาดยืดยาดไม่ทำแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ

5.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความสำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ ตระหนักถึงสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ ตระหนักถึงสิ่งที่ทำแล้ว และยังไม่ได้ทำ

6.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการทำงาน ไม่สะเพร่า ไม่ชะล่าใจว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร

 

 

 

คำอุปมาสติ

 

       สติเสมือนเสาหลัก ปักแน่นในอารมณ์ คือ คนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิด ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเปรียบสติเสมือนเสาหลัก

     สติเสมือนนายประตู คือ สติจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามา กระทบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้น สติก็จะใคร่ครวญทันที ว่าควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ หรือควรหยุดไว้ก่อน ปรับปรุงแก้ไข ให้ดีเสียก่อน

      สติเสมือนขุนคลัง เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อ ว่าของที่ได้เข้ามาและใช้ออกไปมีเท่าไร งบบุญงบบาปของเราเป็นอย่างไร ตรวจตราดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้บาป

      สติเสมือนหางเสือ เพราะสติจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คอยระมัดระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น ไม่ให้ตัวของเราไปทำในสิ่งที่ไม่ควร

 

ประโยชน์ของสติ

 

1.ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ โดยการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการกันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เช่น จะดูหนังสือก็สนใจคิดติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น จะทำสมาธิใจก็จรดนิ่ง สงบตั้งมั่น ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก เพราะฉะนั้น เมื่อใดมีสติ เมื่อนั้นมีสมาธิ เมื่อใดมีสมาธิ เมื่อนั้นมีสติ เสมือน ความร้อนกับแสงสว่างที่มักจะไปคู่กัน

2.ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา จึงมีความโปร่งเบา ผ่อนคลาย เป็นสุขโดยสภาพของมันเอง พร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม

3.ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด เพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระมีพลัง เพราะมีสติควบคุม เสมือนเรือที่มีหางเสือควบคุมอย่างดี ย่อมสามารถ แล่นตรงไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยไม่วกวน

4.ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริบูรณ์

5.ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพราะมีสติจึงไม่เผลอไปเกลือกกลั้วบาป อกุศลกรรม ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยปัญญาหรือเหตุผลที่บริสุทธิ์

 

 

 หลักการฝึกสติ

 

      ในการฝึกสติหรือทำสติให้เกิดขึ้นนั้นเราควรทำให้เกิดมีขึ้นทั้งในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน และในขณะที่เรานั่งสมาธิ เมื่อเกิดขึ้นนั้น จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.กำหนด คือ การเจริญสติอยู่กับปัจจุบันไม่คิดถึงอดีตหรือใฝ่ฝันถึงอนาคต เปรียบเสมือนบุรุษผู้ถือหม้อน้ำมันเดินมามีบุรุษคนหนึ่งถือดาบเดินตามไปข้างหลังโดยบอกว่าถ้าทำน้ำมันจะตัดศีรษะให้ขาด1) บุรุษนั้นก็ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้น้ำมันไหลมีสติจดจ่อไม่วอกแวก ฉะนั้น

2.จดจ่อ คือ การจับจ้องอารมณ์อย่างแนบแน่นไม่กำหนดรู้อย่างผิวเผินเหมือนการเล็งธนูแล้วยิ่งให้พุ่งเข้าไปสู่เป้าด้วยกำลังแรงจนธนูปักตรึงอยู่กับที่

3.ต่อเนื่อง คือ การมีสติไม่ขาดช่วงในทุกขณะเหมือนการหมุนอย่างต่อเนื่องของพัดลมที่ค่อยๆ มีกำลังแรงขึ้น

4.เท่าทัน คือ การกำหนดอารมณ์ทุกอย่างได้ทันท่วงทีในขณะปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้เผลอสติลืมกำหนดรู้และไม่ปล่อยให้จิตเผลอไผลเลื่อนลอยไป

 

     1)สติกับการดำเนินชีวิต

     การฝึกสติเป็นสิ่งที่เราควรฝึกให้มีในทุกการกระทำและในทุกอิริยาบถ เพราะนอกจากจะทำให้เราสามารถทำกิจต่างๆ ได้อย่างสำเร็จด้วยดีแล้ว ยังเป็นการฝึกให้สติอยู่กับเนื้อกับตัวของเราด้วย พระพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า

     “ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่า เราเดิน หรือเมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า เรายืน หรือเมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอน อนึ่งเมื่อเธอนั้น เป็นผู้ตั้งกายไว้แล้วอย่างใดๆ ก็ย่อมรู้ชัดอาการกายนั้น อย่างนั้นๆ

    เป็นผู้ทำสัมปชัญญะ (ความเป็นผู้รู้พร้อม) ในการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับมาข้างหลัง ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการแลไปข้างหน้า แลเหลียวไปข้างซ้ายข้างขวา ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการคู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และความเป็นผู้นิ่งอยู่”2)

    สติที่เราฝึกในชีวิตประจำวันจะทำให้เราอยู่กับความคิดที่เป็นปัจจุบัน ไม่ตกอยู่ในภาพของอดีตหรืออนาคตตลอดเวลา เพราะว่าโดยปกติเมื่อมนุษย์รับอารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจแล้ว ก็มักจะใส่ใจต่อทุกสิ่งที่มากระทบ และตอบสนองด้วยอำนาจของกิเลสที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ และส่งผล ให้เกิดเป็นความทุกข์ มีความทะยานอยาก เร่าร้อน วิตกกังวลเป็นต้น

   

      2) สติกับการฝึกสมาธิ

     สติที่เราฝึกได้อย่างต่อเนื่องในกิจกรรมต่างๆ จนเป็นมหาสติย่อมเอื้อต่อการปฏิบัติสมาธิ นั่นคือ ใจของเราจะไม่ฟุ้งซ่าน และถ้าหากเราได้ฝึกสติในการนึกถึงภาพนิมิต หรือการวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายบ่อยๆ ย่อมจะทำให้ใจของเราหยุดนิ่งอย่างถูกส่วนได้อย่างรวดเร็วขึ้น

     สติในการปฏิบัติสมาธิ นี้ เป็นการสังเกตดูสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในความคิด โดยวางใจเป็นกลางๆ ไม่ปรุงแต่งภาพ ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น และสตินี้เอง ยังหมายถึง ความสามารถที่จะรักษาภาพนิมิต รักษาอารมณ์เบาสบายให้ได้อย่างต่อเนื่อง

      สติในการทำสมาธิตามที่พระมงคลเทพมุนีแนะนำไว้นั้นมีเป้าหมาย คือ มุ่งให้ใจหยุดนิ่ง ณ กึ่งกลางกายฐานที่ 7 หมายความว่า หากทำสมาธิด้วยการนึกภาพนิมิตที่กึ่งกลางกาย ก็ให้นึกไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยภาพนิมิตที่นึกจะเป็นภาพเดิม หรืออาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ้างก็ได้ สำคัญแต่จะต้องให้ภาพนิมิตที่ นึกนั้นตั้งมั่นอยู่ ณ ศูนย์กลางกาย ด้วยเทคนิคการนึกที่เคยได้อธิบายไปแล้ว

       หากกำหนดนึกทั้งบริกรรมภาวนา และบริกรรมนิมิตในขณะเดียวกัน ก็ให้นึกควบคู่กันไปอย่างสบาย ไม่ปล่อยใจไปคิดเรื่องอื่นๆ แต่จะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า คำภาวนาอาจจะเลือนหายไปได้เอง ซึ่งถ้าหากคำภาวนาหายไป แต่ใจยังคงนึกถึงนิมิตได้อย่างต่อเนื่อง หรือยังคงวางอย่างสงบนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้ นั่นถือว่าสติยังไม่เลื่อนไหลไปไหน เพียงแต่ใจอยากจะวางคำภาวนาไปเองโดยธรรมชาติเท่านั้น

       สติมักจะมาคู่กับสัมปชัญญะ คือ ในการทำสมาธิ สัมปชัญญะ จะเป็นการทำอารมณ์ให้ต่อเนื่อง สงบ เบาสบายไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำได้เช่นนี้ แสดงว่าใจของเรามีพร้อมทั้งสติ และสัมปชัญญะเป็น เบื้องต้น หากรักษาสภาวะเช่นนี้ต่อไปได้ ใจยิ่งเบาสบายยิ่งขึ้น จนกระทั่งในที่สุดใจจะหยุดนิ่งเป็นสมาธิได้เอง

       แน่นอนว่าหากสติที่เราใช้กำหนดกำหนดนิมิต ณ จุดศูนย์กลางกายคลาดเคลื่อนไป ด้วยนิวรณ์ ทั้งหลาย มีความง่วงหลับเป็นต้น สติก็จะหย่อน ภาพนิมิตดังกล่าวก็จะหายไป หรืออาจจะทำให้มีภาพ แห่งความคิด หรือเรื่องราวต่างๆ แทรกเข้ามาได้ ทำให้อารมณ์แห่งสมาธิ ไม่ต่อเนื่อง ความตั้งมั่นแห่งจิตย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้น สมาธิของเราจะไม่ก้าวหน้า และไม่เข้าถึงจุดแห่งใจหยุดนิ่ง ดังนั้น การฝึกให้มีสติสัมปชัญญะในขณะทำสมาธิเป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามฝึกฝน เอาไว้เสมอทั้งในขณะปฏิบัติสมาธิ และในชีวิตประจำวันเพื่อที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำสมาธิได้ในที่สุด

 

****************************************************************** 

1) สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 364 หน้า 457.

 

     2) ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 14 ข้อ 276-277 หน้า 212-213.
 


********************************************************************             
 
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4

 

เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.058881386121114 Mins