พระพุทธศาสนาในต่างแดน

วันที่ 22 มิย. พ.ศ.2558

 

 

พระพุทธศาสนาในต่างแดน

ถ้าตามข่าวสารในต่างประเทศประจำ ก็จะเห็นว่าคนสนใจพระพุทธศาสนาในออสเตรเลีย, อเมริกา, ฝรั่งเศส   และอังกฤษกำลังเพิ่มขึ้นจนเป็นข่าวปกติ     รัฐบาลประเทศเหล่านี้ได้เปิดประตูต้อนรับพระธรรมทูตจากเอเชียอย่างเต็มที่    เพราะพระสงฆ์เหล่านี้เข้าไปช่วยสอนให้ประชาชนของเขาซึ่งกำลังบ้าทุนนิยมอยู่เป็นคนดีขึ้น
                ผมมีเกร็ดข่าวเสริมเล็กๆ น้อยๆ มาเพิ่มเติม  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนดัง ประเดิมที่ประเทศออสเตรเลีย   มีข่าวว่า เลเซล โจนส์  ซึ่งกำลังดังจากการเป็นนักกีฬาเหรียญทองที่เพิ่งแข่งเสร็จที่กรุงเอเธนส์  ประเทศกรีซ หันมาสนใจพระพุทธศาสนา  เธอให้สัมภาษณ์ว่าเพิ่งเริ่มจะสนใจ โดยเฉพาะการทำสมาธิ   เพื่อลดความเครียดและแสวงหาความสุขทางใจ ส่วนในอังกฤษมีข่าวออกมาตั้งแต่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา   ว่าอดีตนักฟุตบอลของทีมลิเวอร์พูลและแอสตัน วิลล่า ชื่อสตัน คอลลี่มัวร์ ก็หันไปสนใจฝึกสมาธิทางพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่าสามารถลดความเครียดในชีวิตประจำวันได้

                สมเด็จพระสันตปาปา จอห์น ปอล ที่สองซึ่งเป็นประมุขของคริสตจักร นิกายโรมันคาทอลิก
ทรงมองเห็นกระแสดังกล่าว ครั้งได้ประทานสัมภาษณ์แก่วิตโดริโอ เมสซุรี่  นักเขียนและนักสื่อมวลชนที่มีชื่อของอิตาลี  เมื่อ ค.ศ. 2536 อันเป็นช่วงที่มีการเฉลิมฉลองครบ 15   นับแต่ที่พระองค์ได้ ทรงรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตปาปา       จึงทรงตั้งพระทัยวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาพระพุทธศาสนาอย่างตรงๆ     ต่อมาบทประทานสัมภาษณ์ซึ่งมีหลายตอนนี้มาพิมพ์รวมเล่มในรูปหนังสือชื่อ Crossing the Threshhold of Hope (London, Jonathan Cape, 1994)  มีทั้งหมด 244 หน้า (รวมดรรชนีคำศัพท์)
                ตอนที่ทรงวิพากษ์วิจารณ์คำสอนพระพุทธเจ้า (ซึ่งทรงเข้าพระทัยผิดๆ อยู่มาก) อยู่ในบทที่ 12 มีทั้งหมด 7   หน้า (ตั้งแต่หน้า 84-90) 
                สาเหตุที่ทรงวิจารณ์พระพุทธศาสนา   มีกล่าวชัดในบทประทานสัมภาษณ์ กล่าวคือทรงต้อง การเตือนสติชาวคริสต์ทำนองว่าไม่ควรด่วนเข้าไปนับถือคำสอนพระพุทธศาสนา   แต่ควรใช้วิจารณญาณ (For this reason, it  is  not  inappropriate  to  caution  those  Christians  who   enthusiastically welcome certain ideas originating in the religious traditions of the Far East,  pp.89-90) ที่เป็นดังนี้ เพราะกระแสคนหันมานับถือพระพุทธศาสนา   และช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันในยุโรป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมักเป็นชาวคริสต์มาก่อน   หลายคนเคยเป็นบาทหลวงระดับสูง ต่อมาก็มีฝรั่งนักวิชาการชาวพุทธหลายคนทั้งพระ ทั้งฆราวาส ซึ่งเคยเป็นชาวคริสต์มาก่อน ได้เขียนตอบโต้พระองค์ลงวารสารต่างๆ มากมาย  ที่โดดเด่นก็ คือ กลุ่มพระสงฆ์ชาวอิตาเลี่ยนในอิตาลี นำโดย พระฐานวโร  ได้เข้าเฝ้าเพื่อทูลชี้แจงให้สมเด็จพระสันตปาปาทรงทราบด้วยซ้ำว่าทรงอธิบายพระพุทธศาสนาผิดๆ 
                ยุโรปตอนนี้จึงเหมือนอินเดียครั้งพุทธกาล   ศาสนาเดิมที่ผู้คนนับถือคือศาสนาพราหมณ์ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาก็มีผู้เคยนับถือศาสนาพราหมณ์มานับถือ  และขวนขวายเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่
                ที่จริงแล้ว    พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเดือดเนื้อร้อนพระทัยว่าใครจะหันมานับถือศาสนาของพระองค์หรือไม่  ทรงสอนให้ผู้ฟังเทศน์ของพระองค์รู้จักไตร่ตรองหาเหตุผลให้รอบคอบก่อนถึงจะเชื่อ       หลายคนที่หันมานับถือคำสอนของพระองค์เคยให้ความอุปถัมภ์ศาสนาอื่นมาก่อนก็มี   พระองค์ก็ทรงแนะให้คนเหล่านี้กลับไปคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ     มิหนำซ้ำพระองค์ยังคงแนะให้บรรดาผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเหล่านี้ยังคงอุปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่นๆ ที่ตนเคยนับถือตามปกติไปด้วย 
                แต่เดิม  ศาสนาคริสต์ถูกลัทธิมาร์กซ์โจมตีอย่างรุนแรงมาร์กซ์ได้ประณามศาสนาว่า คือยาเสพติด เพราะสอนให้ประชาชนศรัทธาแบบหัวปักหัวปำโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรอง    หลายอย่างขัดแย้งหลักวิทยาศาสตร์ เช่น โลกแบน, โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ฯลฯ   นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบความจริงใหม่ ๆ หลายคนถูกศาสนจักรลงโทษจนตายในคุก

                แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่ยุโรป พระพุทธศาสนาได้สอนให้ปัญญาชนชาวยุโรปได้เข้าใจความหมายของ Religion  เสียใหม่ว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าคือคำสอน     ซึ่งทรงสอนให้ผู้ฟังใช้ปัญญาพิจารณาอย่างถ่องแท้ก่อนจะปลงใจเชื่อ     ไม่ใช่เทวโองการ (Gospel)จากพระเจ้าซึ่งแย้งไม่ได้ พระสงฆ์หรือพุทธสาวกก็มิใช่มิชชันนารี   ซึ่งมีภารกิจหลักคือจาริกไปชี้ชวนให้ใครต่อใครมานับถือพระศาสนา    พระสงฆ์หรือพุทธสาวกมีหน้าที่เพียงอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ คนที่สนใจฟังเท่านั้น     ใครไม่สนใจฟัง ชาวพุทธก็ไม่เคยใช้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญบังคับให้นับถือ   ไม่เคยตั้งกองทุนให้การศึกษาฟรี  แล้วสร้างเงื่อนไขให้ผู้รับทุนเปลี่ยนมาเป็นชาวพุทธ   ไม่เคยสร้างที่พักอาศัยให้หรือแจกทานให้อาหารฟรีๆ  แล้ววางเงื่อนไขให้คนมาขออาศัยตนต้องหันมานับถือศาสนาในภาวะจำยอม 
                ความใจกว้างและมีหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรม   เชิญชวนให้มาพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติเองและเน้นให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนนับถือ  ทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับจากวิญญูชนไปทั่วโลก    นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ดัง ๆ  ระดับโลกจำนวนมาก  เช่น โซเพน ฮาวเออร์, ไอน์สไตน์   ต่างหันมานับถือพระพุทธศาสนา

                นับแต่พระพุทธศาสนาเข้ายุโรปสมัยศตวรรษที่ 19    ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงสถิติว่าคนยุโรปและอเมริกาชาติต่าง ๆ หันมาเข้าวัดในพระพุทธศาสนามากขึ้นบ้าง  ประกาศตนเป็นพุทธมามกะมากขึ้นบ้าง   สถานปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาซึ่งรวมทั้งวัดวาอารามเพิ่มขึ้นที่นั่นที่นี่ประจำบ้าง 
                 เดือน ธ.ค.   ที่ผ่านมาก็มีข่าวออกมาอีกว่า   ดาราฮอลลี้วูดอังกฤษ ชื่อ ออร์นันโด  บลูม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แสดงนำในหนังเรื่อง The Lord of the Rings ได้ทำพิธีประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อหน้าสาธารณชนอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว 


                ผมได้ข่าวจากหนังสือพิมพ์ Lanka Daily News ในลังกาตั้งแต่ 23 ต.ค.  ที่แล้วว่าปัจจุบันพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เติบโตเร็วที่สุดในแคนาดา  ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างที่สุดในอเมริกาเหนือ  พระพุทธศาสนาเข้าแคนาดาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และมาบูมขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2503-2513 (1960s) เป็นต้นมา   ช่วงนั้นมีการสำรวจพบว่าวัดชาวพุทธมีแค่ 18 วัด มีชาวแคนาดาปฏิบัติธรรมราวๆ 10,000 คน    แต่เมื่อสำรวจผู้นับถือพระพุทธศาสนาอีกครั้งในพ.ศ. 2528 ชาวพุทธมีเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน     หกปีหลังจากนั้นคือพ.ศ. 2534 รัฐบาลสำรวจคร่าวๆ อีกครั้งพบว่าผู้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะมีเพิ่มเป็น 163,415 คน รัฐมาสำรวจครั้งล่าสุดอีกครั้ง  เมื่อพ.ศ. 2544  พบว่าพุทธมามกะแท้ ๆ มีไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน   แซงหน้าจำนวนผู้นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาซิกข์ ซึ่งเคยตามหลัง จำนวนผู้นับถือยังเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ทุกปี 
                ผลสำรวจยังบอกว่าวัด, สถานที่ปฏิบัติธรรม  หรือศูนย์กลางของชาวพุทธในแคนาดาตอนนี้มีเกือบๆ    จะถึงหนึ่งพันแห่งทั่วประเทศ  เมืองที่มีชาวพุทธมากที่สุดคือ ออนตาริโอ, บริติชโคลัมเบีย และควิเบก   ข่าวยังลงด้วยว่าแม้จำนวนคนนับถือจะยังอยู่เรือนแสน   แต่จำนวนผู้แสดงความสนใจและเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาบ้างแล้วมีหลายล้านคนทั่วประเทศ
                เมื่อ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา โฆษกประจำรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย  กระพือข่าวว่า
องค์ทะไลลามะจะได้รับอนุญาตให้เข้ารัสเซีย   หลังจากถูกแบนเพราะเกรงจะกระทบความสัมพันธ์กับจีน   หลังจากรัสเซียเซ็นสัญญามิตรภาพกับจีน เมื่อ พ.ศ. 2544  แต่ชาวรัสเซียก็แสดงจุดยืนชัดเจน  ว่าองค์ทะไลลามะจะมาเยือนด้วยภารกิจศาสนา เมื่อกระแสประชาชนเรียกร้องหนักขึ้น  รัสเซียก็ยอมอนุญาตให้ท่านเข้ารัสเซียแต่โดยดี  ปลาย พ.ย.ที่ผ่านมา   ท่านทะไลลามะจึงมีโอกาสแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทและประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกที่เมืองกัลมิเกีย  ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกประมาณหนึ่งพันไมล์ 
                ชาวรัสเซียหลายคนในเมืองนี้มีบรรพบุรุษเป็นชาวมองโกลซึ่งอพยพจากทางตะวันตกของจีนเข้าสู่รัสเซียเมื่อราว 4 ร้อยกว่าปีมาแล้ว พระพุทธศาสนาที่นำเข้ามาจึงเป็น พระพุทธศาสนาแบบทิเบต    ผลปรากฏว่า มีชาวพุทธและผู้สนใจทั่วๆ ไปชาวรัสเซียแห่กันมาฟังธรรมล้นหลามเป็นจำนวนหลายพันคน
                ผู้สื่อข่าวรายงานลงใน Ireland Online    ว่าจากจำนวนประชากรของเมืองนี้   ทั้งหมดราว 3 แสนคน  ประมาณครึ่งหนึ่งนับถือพระพุทธศาสนา รัสเซียมีประชากรราว 144 ล้านคน ในจำนวนนี้มีราว 1 ล้านคน ที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ 
                ผมดูภาพรวมพระพุทธศาสนาจากข่าวสารต่างๆ แล้วก็รู้สึกได้ว่าวัฒนธรรมแบบพุทธกำลังเติบโตและเบ่งบานในหลาย ๆ  ประเทศของทวีปยุโรป, ออสเตรเลีย และอเมริกาบางแห่ง เช่น รัสเซียแม้จะเติบโตช้า   แต่ปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ก็เริ่มมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น   ผมคิดว่าปัญญาชนในประเทศทุนนิยมทั่วโลกเวลานี้คงเอือมระอากับ “ทุนนิยมเสรี”  หรืออีกชื่อหนึ่งว่า กระแสโลกาภิวัตน์กันไม่น้อยและก็คงเห็นชัดเจนแล้วว่ามีแต่ศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยเปลี่ยนให้มนุษย์มีความเป็นผู้เป็นคน(ใจสูง) มากขึ้น   ท่ามกลางกระแสสังคมที่มีแต่นายทุนจอมตะกละตะกรามแสวงหากำไรสูงสุดอยู่ทุกแห่ง ดังนั้น  จึงเริ่มผ่อนปรนให้ผู้นำศาสนาทำงานได้สะดวกขึ้น

 

 

ที่มา : ดร.ปฐมพงษ์   โพธิ์ประสิทธินันท์   คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล 

http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=buddhiststudies&id=61

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011314312616984 Mins