การพัฒนาประสบการณ์ภายใน

วันที่ 24 มิย. พ.ศ.2558

 การพัฒนาประสบการณ์ภายใน

1.  "เอาสิ่งล่าสุดเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ หมายถึงว่า เราต้องจำวิธีการนะ ว่าตอนนั้นที่เราทำได้ผลดีที่สุด ได้ดีที่สุดนั้นเราทำอย่างไร จึงมีประสบการณ์อย่างนั้น แล้วก็จำเพื่อจะได้เอามาทำต่อ เราจะได้ไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ต่อจากจุดที่เราทำได้ถูกต้องแล้วมีประสบการณ์ที่ดี ดีมากๆ จนเราประทับใจ เราต้องจำวิธีการเอาไว้ อย่าจำเอาอารมณ์อย่างเดียว”9)

2. ”ถ้าเกิดฟุ้งก็ให้ดูไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดต่อว่าคืออะไร ประกอบด้วยอะไร เกิดอย่างไร อยู่ที่ไหนให้ดูไปเรื่อยๆ โดยไม่ปฏิเสธภาพที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องคิดอะไรเลย ให้ภาพเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันไม่ให้เราดูนานหรอก ใจก็จะเริ่มคุ้นกับภาพภายใน ซึ่งชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ให้ดูไปเรื่อยๆ จากชัดน้อย ชัดมาก ก็ดูไปเรื่อยๆ จนชัดมากๆ ถ้าเกิดเป็นแสง จากแสงน้อย แสงมาก พอเราเฉยๆ ไม่ปฏิเสธภาพที่เกิดขึ้น ไม่ปรุงแต่ง ใจก็จะเริ่มหยุดนิ่งเฉยๆ”

3.  ”เมื่อรักษาอารมณ์สบายได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยไม่คำนึง ว่าจะได้อะไร เห็นอะไร หรือเป็นอะไร ไม่ช้าก็จะเข้าถึงความถูกส่วน พอถูกส่วนใจก็จะหยุด พอหยุดก็ตกศูนย์วูบเข้าไป ดวงธรรมก็บังเกิดขึ้น”

4.  วิธีการปฏิบัตินั้น ต้องทำอย่างสบายๆ ความจริงแล้วไม่ว่าจะอยู่ในห้องหรือนอกห้อง มันเป็นหน้าที่ของเราโดยเฉพาะ หน้าที่ของทหารอาสาสมัครกองทัพธรรม ที่จะศึกษาวิชชาธรรมกายค้นหาที่สุดแห่งธรรม เป็นหน้าที่ทั้งในห้องและนอกห้องและนอกห้องจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของเราตลอดเวลา เหตุที่ประสบการณ์ ต่างกัน ทั้งๆ ที่หน้าที่ติดตัวเราตลอด เพราะว่านอกห้องเราทำอย่างสบาย ๆ มีความสุขในการทำ ในห้องนี้เราทำตั้งใจมากเกินไป10)

5.  เรื่องความกังวลอะไรต่างๆ ให้มันคลี่คลายออกไปให้หมด การพึงใจในประสบการณ์ของเราในแต่ละช่วงแต่ละตอน ทุกหนทุกแห่ง จะสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นจะเป็นการพัฒนาประสบการณ์ของเราให้สูงขึ้นๆ ให้ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ แค่เราทำความพึงพอใจในประสบการณ์ที่เรามีอยู่ พูดง่ายๆ คือสันโดษในสิ่งที่เรามีอยู่ด้วยความพึงพอใจ ถ้าเราพึงพอใจแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ใจเราไม่ได้กระสับกระส่าย ไม่ทุรนทุราย ไม่มีความรู้สึกว่าเรามีคู่แข่ง เพราะฉะนั้นใจของเราจะสบาย พอใจสบายเข้าจิตมันก็ละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับ มันก็ค่อยเป็นค่อยไปเรื่อยๆ11)

 

        แม้ว่าประสบการณ์ภายในเป็นสิ่งที่เราควรศึกษา เพื่อความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจำไปเป็นเพียงทฤษฎีเพื่อถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง หรือเป็นความจำเพื่อนำไปสอบ สิ่งสำคัญก็คือประสบการณ์ทั้งปวงล้วนต้องอาศัยการปฏิบัติจึงเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์เรียกว่า “    ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ” คือ พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนั้น หลังจากที่นักศึกษาได้ศึกษาแล้ว ควรนำความรเหล่านี้ไป เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติให้ได้มากที่สุด ด้วยการหยุดนิ่งเฉยๆ โดยไม่สนใจว่าประสบการณ์ ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ถ้าทำได้เช่นนี้การศึกษาของเราก็จะเอื้อต่อความก้าวหน้าของการประพฤติปฏิบัติที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

 

 

 

--------------------------------------------------------------------------

9)  พระเทพญาณมหามุณี, พระธรรมเทศนา,19 ตุลาคม 2537.
10) , 11) พระเทพญาณมหามุณี, พระธรรมเทศนา, 4 สิงหาคม 2537..

 

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0063337842623393 Mins