ความตายที่ใช้ในการเจริญมรณานุสติ

วันที่ 28 กค. พ.ศ.2558

 

ความตายที่ใช้ในการเจริญมรณานุสติ

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านได้กล่าวถึงความตายหรือมรณะไว้ว่ามี 4 ชนิด คือ

1.สมุทเฉทมรณะ คือ การปรินิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลาย ตายครั้งเดียว เป็นการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง

2.ขณิกมรณะ คือ การดับของสังขาร รูปนามทุกขณะ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป (อุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ) เป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ยังเกิดดับสืบต่อกันไป

3.สมมติมรณะ คือ ความตายที่ชาวโลกสมมติกัน เช่น นาฬิกาตาย รถตาย ต้นไม้ตาย เหล็กตาย เป็นต้น

4.ชีวิตินทรียุปัจเฉทมรณะ คือ ความตายในภพหนึ่งๆ ชาติหนึ่งๆ เมื่อชีวิตรูปนามดับสิ้นลงไป

 

            การเจริญมรณานุสติ ไม่สามารถทำได้กับสมุทเฉทมรณะ ขณิกมรณะ และสมมติมรณะ เพราะสมุทเฉทมรณะมีได้น้อย มีแต่เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น เราจึงไม่สามารถเห็นได้ทั่วไป ส่วนขณิกมรณะ (การเกิดดับเป็นไปทุกขณะ) เราไม่สามารถเห็นความจริงของการเกิดดับนั้น ส่วนสมมติมรณะนั้น ก็ไม่ทำให้เราเกิดความสังเวชใจ การพิจารณาความตายจึงต้องพิจารณา ชีวิตินทรียุปัจเฉทมรณะ อันเป็นความตายที่เกิดกับทุกคน เห็นได้ชัด มีการตายเกิดขึ้นทุกวัน

สำหรับความตายในภพชาติหนึ่ง หรือชีวิตินทริยุปัจเฉทมรณะ สามารถแบ่งตามกาลได้ 2 อย่าง คือ กาลมรณะ และอกาลมรณะ

            1.กาลมรณะ ได้แก่ ความตายไปตามกาลเวลา คือ ตายเพราะสิ้นบุญ สิ้นอายุ หรือเพราะสิ้นทั้งสองอย่าง ความตายเพราะสิ้นบุญ คือ แม้จะมีปัจจัยที่จะทำให้มีอายุอยู่ต่อไปได้ แต่ก็มีวิบากกรรมเก่ามาตัดรอนทำให้ต้องตาย ความตายเพราะสิ้นอายุ คือ มีชีวิตอยู่จนหมดช่วงอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ในยุคนั้นๆ เช่น ในปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ย คือ 75 ปี ก็มีอายุยืนไปจนหมดอายุขัยและตายในที่สุด เพราะความไม่มีสมบัติ เช่น คติ กาล และอาหาร เป็นต้น ผู้ที่มีชีวิตอยู่นานจึงตาย เรียกว่าตายไปตามกาลเวลาหรือตายในเวลาควรตาย เปรียบเหมือนอสรพิษที่มีฤทธิ์ร้ายแรง ได้กัดบุคคลคนใดคนหนึ่งให้ถึงซึ่งความตาย ไม่มียา แก้พิษ พิษของงูนั้น เรียกว่าถึงที่สุดฉันใด ผู้ที่มีอายุอยู่นาน สิ้นอายุแล้วก็ตายไปก็ฉันนั้น ฯ

            อีกอย่างหนึ่ง นายขมังธนูยิงลูกธนูออกไป ลูกธนูนั้นจะต้องไปจนสุดกำลัง ในเมื่อ ไม่มีสิ่งใดกีดขวาง ฉันใด ผู้ที่มีชีวิตอยู่นาน ก็ตายด้วยสิ้นอายุฉันนั้น ลูกธนูที่มีสิ่งกีดขวางก็ไปไม่ถึงที่สุดฉันใด พวกมีสิ่งขัดขวาง ก็ตายในเวลายังไม่ถึงที่สุดแห่งอายุฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง เสียงภาชนะทองเหลืองที่มีผู้ตี จะต้องดังไปจนสุดเสียง ในเมื่อไม่มีสิ่ง ขัดขวาง ฉันใด บุคคลก็ต้องตายในเวลาแก่ เวลาสิ้นอายุ ในเมื่อไม่มีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง พืชที่บุคคลหว่านลงในที่นาดี ถ้าฝนตกดี และไม่มีสิ่งเบียดเบียนจักงอกงามดี ฉันใด สัตว์ทั้งหลายถ้าไม่มีอันตรายมาแทรกแซงก็จะอยู่ไปจนกระทั่งสิ้นอายุ ฉันนั้น

 

            2.อกาลมรณะ ได้แก่ ความตายก่อนเวลา คือ ตายในเวลาที่ยังไม่ควรจะตาย เป็นการตัดช่วงเจริญวัยของชีวิต เพราะมีกรรมมาตัดรอนให้ตายแต่เยาว์วัยหรือเมื่อยังหนุ่มสาว เช่น เจ็บป่วยตาย ถูกฆ่าตาย ฆ่าตัวตาย ตายด้วยอุบัติเหตุ เป็นต้น ผู้ที่ตายด้วยโรคอันมีลม หรือดี หรือเสมหะเป็นสมุฏฐาน หรือสิ่งทั้งสองกำเริบ หรือ ฤดูแปรปรวน การรักษาร่างกายไม่ดี หรือผู้อื่นทำร้าย หิว กระหาย ถูกงูกัด ถูกยาพิษ ถูกไฟไหม้ จมน้ำ ถูกศาตราตาย เหล่านี้ เรียกว่าตายในเวลายังไม่ควรตายทั้งนั้น เปรียบเหมือนผู้ที่ถูกงูกัด ถ้าได้ยามากำจัดเสียก่อน พิษงูนั้นก็หมดไป เรียกว่าหมดไปในเวลายังไม่ควรหมด ฉันใด ผู้ที่ตายในเวลายังไม่หมดอายุ ก็เรียกตายในเวลาไม่ควรตายฉันนั้น หรือเหมือนระฆังที่มีผู้ตี ถ้ามีสิ่งมาขัดขวางเสียก่อน เสียงก็กังวานไม่สุดเสียงต้องหยุดลงฉันใด พวกมีสิ่งขัดขวาง ก็ตายในเวลายังไม่ถึงที่สุดแห่งอายุฉันนั้น ทั้งกาลมรณะและอกาลมรณะ ล้วนสงเคราะห์เข้าด้วยความขาดแห่งชีวิตินทรีย์จึงใช้ในการเจริญมรณานุสติได้ การระลึกถึงความตาย กล่าวคือความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ดังกล่าวมานี้ เรียกว่า มรณานุสติ


------------------------------------------------------------------------

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0033950805664062 Mins