ความเป็นมาของกายคตาสติ

วันที่ 30 กค. พ.ศ.2558

 

ความเป็นมาของกายคตาสติ

            ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า “    การเจริญกายคตาสตินี้ จะมีได้ในพระพุทธศาสนา เท่านั้น นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว จะมีไม่ได้เลย” แม้ว่าพวกเดียรถีย์ที่ตั้งตัวเป็นศาสดา ทำการปฏิบัติเผยแผ่ลัทธิแก่ชนทั่วไป ในสมัยใดๆ ก็ตาม ก็มิอาจรู้ถึงวิธีการเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐานนี้ได้ ทั้งนี้ก็เพราะมิใช่เป็นวิสัยของพวกเดียรถีย์เหล่านั้น หากแต่เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ ก็ได้สรรเสริญกายคตาสติกัมมัฏฐานนี้ว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งซึ่งบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อความสังเวชใหญ่ เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ เป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะใหญ่ เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุตติ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสังเวชใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุตติ

 

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญบริบูรณ์ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือกายคตาสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญบริบูรณ์

            ดูภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อกุศลธรรมที่ ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสียได้ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลยและอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละเสียได้ ฯลฯ”1)

 

             ร่างกายนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คอยช่วยเหลือหรือทำให้จิตสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่หากบุคคลไม่เข้าใจกายนี้อย่างถูกต้อง ร่างกายย่อมเป็นภาระหรือเป็นเครื่องกั้นการทำงานของจิต เปรียบเหมือนเครื่องมือซึ่งมนุษย์ทำขึ้น เพื่อใช้ในทางดี แต่ก็กลายเป็นอาวุธร้ายปางตาย เมื่อใช้ในทางผิดเพราะขาดสติ มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าใจธรรมชาติทางร่างกาย ถูกตัณหาและมิจฉาทิฏฐิครอบงำ ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวและความถือมั่นในตัวตน ที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ เป็นการยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย สักกายทิฏฐินี้ เป็นหนึ่งในสังโยชน์ 10 ซึ่งเป็นบ่วงผูกมัดสัตว์ทั้งหลายให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ อันเป็นที่มาแห่งทุกข์และความเดือดร้อนนานัปการ ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้วางหลักเรื่องกายคตาสติ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาในตนเองให้เห็นถึงความเป็นจริง และจะได้ถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่น อันจะเป็นเหตุให้ใจปลอดโปร่ง เป็นใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน

 

------------------------------------------------------------------------

1) อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต, มก. เล่มที่ 33 ข้อ 226 หน้า 220.

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027276964982351 Mins