ข้อปฏิบัติเพิ่มเติมของการเจริญอสุภะ

วันที่ 03 สค. พ.ศ.2558

 

 ข้อปฏิบัติเพิ่มเติมของการเจริญอสุภะ

            การเจริญอสุภกัมมัฏฐานนั้น สำหรับผู้ที่มีนิสัยขลาดกลัวหรือกลัวผี เมื่อเกิดอุคคหนิมิต และขาดอาจารย์คอยควบคุมสอนการปฏิบัติ ก็อาจเข้าใจผิดว่าตนเองถูกผีหลอก เกิดเจ็บป่วยได้ จึงควรทำความเข้าใจในการปฏิบัติให้ดี บางทีก่อนที่อุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติอาจนึกคิดไปว่าศพนี้จะลุกขึ้นนั่ง จะลุกขึ้นยืน จึงควรมีเพื่อนไปร่วมปฏิบัติด้วย และให้ทำความเข้าใจว่า ศพนั้น ที่จริงไม่ต่างกับท่อนไม้ ไม่มีวิญญาณครอง ไม่มีจิตใจ จะลุกขึ้นมาหลอกหลอนไม่ได้ เป็นเพราะใจของเราคิดไปเองวาดภาพไปเอง ในบางกรณีที่ศพยังใหม่ยังสดอยู่ เส้นเอ็นยึดทำให้ลุกขึ้น ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ให้ใช้ไม้ตีให้ล้มลง

 

การพิจารณาอสุภะนั้นนอกจากจะพิจารณาซากศพหรือร่างที่ปราศจากชีวิตดังกล่าว มาแล้ว ยังสามารถพิจารณาความเป็นอสุภะ หรือความไม่สวยงามในร่างกายของมนุษย์ที่ยังมี ชีวิตอยู่ ได้เช่นกัน โดยจะพิจารณาร่างกายของตนหรือผู้อื่นก็ได้ ดังต่อไปนี้

1.พิจารณาเมื่อร่างกายหรืออวัยวะบวมขึ้น ให้พิจารณาโดยความเป็น อุทธุมาตกะ (พองอืด)

2.พิจารณาเมื่ออวัยวะเป็นแผล ฝี มีหนองไหลออกมา ให้พิจารณาโดยความเป็น วิปุพพกะ (น้ำเหลืองไหล แผลแตกปริ)

3.พิจารณาเมื่อแขน ขา มือ เท้า หรืออวัยวะขาดด้วน เพราะอุบัติเหตุหรือเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้พิจารณาโดยความเป็น วิจฉิททกะ (อวัยวะขาดเป็นท่อน)

4.พิจารณาเมื่อมีโลหิตเปรอะเปื้อนร่างกาย ให้พิจารณาโดยความเป็น โลหิตกะ (เลือดไหล)

5.พิจารณาขณะที่แลเห็นฟัน ให้พิจารณาโดยความเป็น อัฏฐิกะ (กระดูก) หากจะกล่าวไปแล้ว ความเป็นอสุภะไม่ได้เป็นเฉพาะเมื่อตายลงหรือเป็นซากศพเท่านั้น ร่างกายที่มี ชีวิตอยู่นี้หากพิจารณาให้ดีก็ไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่เพราะการตบแต่งประดับประดา และความหลงผิดทำให้คิดไปว่าเป็นของสวยงามน่ารักน่าใคร่ จึงเกิดการยึดมั่นถือมั่น หวงแหน

 

            การเจริญอสุภกัมมัฏฐานเป็นไปได้ทั้งในแง่สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากเจริญในแง่สมถะ ก็ให้เห็นความเป็นสิ่งที่น่าเกลียดไม่สวยงาม ปฏิบัติแล้วทำให้ฌานเกิดขึ้นได้ ส่วนในแง่วิปัสสนาให้พิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ ไตรลักษณ์ คือ ให้เห็นว่าตัวของเราก็เป็นสิ่งไม่เที่ยงเหมือนซากศพที่นอนอยู่ต่อหน้านั้นเช่นกัน เพียงแต่ศพนี้ ชายนี้ หญิงคนนี้ตายก่อนเราเท่านั้น

 

            การพิจารณาอสุภะในแง่วิปัสสนานั้น ท่านให้นึกถึงชีวิตร่างกายของเราแม้จะผ่านทุกข์ทรมานได้รับความยากลำบากต่างๆ นานามาเพียงใด ก็ไม่ทุกข์เท่าตอนที่จะตายร่างกายแตกดับ ในขณะนั้นจะทุกข์ที่สุด คือ ทุกข์จนทนอยู่ไม่ได้ ต้องตายไปเช่นศพนี้ ดังพุทธดำรัสที่ว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์2) และพิจารณาศพที่อยู่ตรงหน้าของเรานี้ว่า เมื่อศพนี้ยังมีชีวิตอยู่ เขาหรือเธอ ผู้นั้นไม่เคยปรารถนาที่จะตาย ไม่เคยต้องการจะเจ็บป่วยหรือแก่เฒ่า แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเป็นไปเช่นนี้ ใจปรารถนาแต่กายไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่อาจบังคับบัญชาได้ เขา หรือเธอก็ไม่ใช่เจ้าของร่างกายนี้โดยแท้จริง เพราะหากเป็นเจ้าของร่างกายนี้ก็ต้องไม่แก่ไม่เจ็บ ไม่ตาย ตามคำสั่งตามบัญชา แม้ร่างกายของเราเองก็ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา รูปนามทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อสังขารร่างกายเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยง), ทุกขัง (เป็นทุกข์), อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) จะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร

 

-----------------------------------------------------------------------------

2) สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค, มก. เล่ม 27 ข้อ 43 หน้า 53.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0043777306874593 Mins