ลักษณะการให้ผลของกรรม

วันที่ 12 สค. พ.ศ.2558

 

 ลักษณะการให้ผลของกรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงกรรมและการให้ผลของกรรมไว้ในกุกกุโรวาทสูตร13) คือ

“    ดูก่อนปุณณะ กรรม 4 ประการนี้… กรรมดำ มีวิบากดำมีอยู่ กรรมขาว มีวิบากขาว มีอยู่”

กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวมีอยู่ กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมมีอยู่”

 

มีคำอธิบายดังนี้

1.กรรมดำ มีวิบากดำ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียน บุคคลนั้นย่อมเกิดในโลกที่มีการเบียดเบียน เมื่อเกิดในโลกที่มีการเบียดเบียนเช่นนั้น เขาย่อมได้กระทบกับผัสสะที่มีการเบียดเบียน ย่อมได้เสวยเวทนาอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียน มีความทุกข์โดยส่วนเดียว เช่นเดียวกับสัตว์นรกทั้งหลาย

2.กรรมขาวมีวิบากขาว คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของบุคคลใดไม่เป็นไป เพื่อความเบียดเบียน บุคคลนั้นย่อมเกิดในโลกที่ไม่มีการเบียดเบียน เมื่อเกิดในโลกที่ไม่มี การเบียดเบียน ย่อมกระทบกับผัสสะที่ไม่มีการเบียดเบียน ย่อมได้รับเวทนาอันไม่มี การเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นเทพเจ้าเหล่าสุภกิณหะ

3.กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของบุคคลใด เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนบ้าง ย่อมกระทบกับผัสสะ อันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง เขาย่อมเสวยเวทนา อันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง เกลื่อนกล่นไปด้วยสุขและทุกข์ ดังเช่นมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก วินิบาตบางพวก

4.กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว คือ เจตนาที่จะละกรรมทั้งปวง ทั้งกรรมดำ กรรมขาว และกรรมทั้งดำทั้งขาว กรรมเช่นนี้แหละย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เช่น กรรมของพระอรหันต์

 

           สรุปได้ว่า กรรมดำ คือ อกุศล ทุจริต กรรมขาว คือ กุศล สุจริต กรรมทั้งดำทั้งขาว คือ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งทุจริตและสุจริต กรรมไม่ดำไม่ขาว คือ กรรมของพระอรหันต์ ถือว่าเป็นกิริยา ไม่มีผลเป็นสุขหรือทุกข์อีกต่อไปเรื่องวิบากแห่งกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดซับซ้อนและลึกซึ้งเกินกว่าที่จะคิดตรองตามให้รู้ทั่วถึงด้วยสติปัญญาของปุถุชนธรรมดาทั่วไป ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสถึงวิบากกรรมว่า เป็นอจินไตย ที่ถ้าหากใครคิดก็จะมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ดังที่ตรัสไว้ในอจินติตสูตรว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย 4 อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความ เป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า อจินไตย 4 คืออะไรบ้าง คือ

 

1.พุทธวิสัยแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

2.ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

3.วิบากแห่งกรรม เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

4.โลกจินดา(ความคิดในเรื่องของโลก) เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า”14)

            วิบากแห่งกรรม เป็นของเฉพาะตนจะแบ่งปันเหมือนวัตถุสิ่งของ สืบทอดทางกรรมพันธุ์ ยกให้แก่ผู้อื่นหรือปัดกวาดเช็ดถูชะล้างออกไปจากใจย่อมไม่ได้ และวิบากแห่งกรรมย่อมติดตามบุคคลผู้กระทำไปได้ข้ามภพข้ามชาติ ตราบใดที่วิบากกรรมยังไม่ส่งผล กระทั่งหมดไปหรือกลายเป็นอโหสิกรรมแล้ว วิบากแห่งกรรมนั้นย่อมอยู่ในใจตลอดเวลา โดยรอคอยเวลาแห่งการส่งผลตามแต่โอกาส

------------------------------------------------------------------------

13) กุกกุโรวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค, มก. เล่มที่ 20 ข้อ 88 หน้า 189.
14) อังคุตตรกนิกาย จตุกนิบาต, เล่มที่ 35 ข้อ 77 หน้า 235.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014632026354472 Mins